เมื่อเร็วๆนี้มีตำรวจไปค้นบ้านนักธุรกิจชาวจีน จนถูกยิงออกมาเป็นข่าวใหญ่โตไปถึงต่างประเทศ ทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่า การค้นแบบมีหมายค้น และค้นแบบไม่มีหมายค้น กฎหมายวางหลักไว้อย่างไร และถ้าค้นแล้วไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย ก็ไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเจ้าของบ้านเป็นผู้ทำผิดกฎหมาย ตำรวจก็ไม่มีสิทธิจับตัวไปสถานีตำรวจได้ หากจับไปก็อาจมีความผิดตามปอ. มาตรา 157 ได้ นอกจากนี้ เมื่อจับตัวไปแล้วก็จะต้องนำไปส่งสถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ หรือนำส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ จะนำไปขังไว้ที่อื่นไม่ได้ มิฉะนั้น ก็จะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบ มาตรา 310 (ข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นให้ปราศจากเสรีภาพในร่างกาย) เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงต้องให้ความสำคัญกับการค้น การจับ และนำตัวผู้จับไปส่งสถานีตำรวจ ไม่ใช่ไปส่งเซฟเฮ้าส์
ตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2547
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุดังกล่าวในฟ้อง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลวังทองหลางได้จับกุมนายว. ในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาลาท่าน้ำริบคลองแสนแสบบริเวณชุมชนบึงพระราม 9 บ่อ 3 แล้วควบคุมตัวไปที่ใต้สะพานข้ามคลองแสนแสบห่างศาลาท่าน้ำประมาณ 400 เมตร แต่ต่อมาไม่นานได้ปล่อยตัวไป มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า นายว.เป็นบุคคลต้องสงสัยว่าได้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ จำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจตรวจค้นและจับกุมเพื่อส่งพนักงานสอบสวนได้โดยชอบนั้น เห็นว่า โจทก์มีนายว.เป็นพยานยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปขอตรวจค้นตัวพยาน แต่ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า นายว.โยนสิ่งของลงไปในลำคลองนั้น ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ตอบคำถามค้านว่า สิ่งของที่โยนลงไปนั้นไม่ทราบว่าเป็นอะไรเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นและไม่ได้ลงไปเก็บ ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกไพโรจน์ โชติวรรณ พยานโจทก์ที่ว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้แจ้งทางวิทยุให้พยานซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาทราบว่าจำเลยที่ 1 ได้ออกไปสืบสวนหาข่าวผู้ลักลอบจำหน่ายยาเสพติดบริเวณชุมชนบึงพระราม 9 ต่อมาประมาณ 2 ชั่วโมง จำเลยที่ 1 ได้วิทยุแจ้งแก่พยานว่าได้ตรวจค้นผู้ต้องสงสัย ไม่พบการกระทำความผิดและได้ปล่อยตัวผู้ต้องสงสัยไป จึงรับฟังไม่ได้ว่านายว.ได้โยนสิ่งของซึ่งมีไว้เป็นความผิดลงในลำคลองตามที่จำเลยที่ 1 ต่อสู้ ดังนั้น เมื่อผลการตรวจค้นไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย กรณีไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่านายว.ได้กระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองอีกต่อไปอีก ซึ่งย่อมทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจจับกุมนายว. จึงเป็นการสมควรที่จำเลยที่ 1 จะต้องปล่อยตัวนายว.ไป การที่จำเลยที่ 1 ยังจับกุมนายว.จากศาลาท่าน้ำนำตัวไปไว้ที่ใต้สะพานข้ามคลองแสนแสบเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 157 ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 310 ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรก เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย หรือรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 290 มาตรา 297 หรือมาตรา 298 นั้น