“คุณพ่อนี่แหละคือ ไอดอลด้านการทำงานของผม”

 

เส้นทางชีวิตที่อาจไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน

หมวดนิว...สิทธิศักดิ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ ลูกชายคนเดียวของ พล...พิสิฏฐ์ พิสุทธิ์ศักดิ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยคิดก้าว วัดรอยเท้า ผู้พ่อที่เป็นเสมือนตำนานนักสืบคนหนึ่งในยุทธจักรสีกากี

ทว่าปัจจุบันกลับพลิกผันให้ผู้บังเกิดเกล้าปลื้มอก ปลื้มใจในการประดับ ดาวเงินบนบ่า เตรียมเดินหน้าสานอุดมการณ์ความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

อาจไม่ดี ไม่เก่ง ไม่เด่น เท่าพ่อ แต่แนวคิดและจิตวิญญาณของ ร้อยตำรวจตรีหนุ่มป้ายแดง คนนี้ไม่หยิ่งหย่อนกว่าคนอื่น

เมื่อได้รับโอกาสบ่มเพาะวิชาความรู้จากสถาบันอันทรงเกียรติ สถาบันเดียวกับที่วางรากฐานให้ครอบครัว “พิสุทธิ์ศักดิ์ สวมเครื่องแบบตำรวจด้วยความภาคภูมิใจ

 

แรกเกิดชื่อ กองปราบตามต้นสังกัดติดอาร์มของพ่อ

“ชีวิตผมเปลี่ยนไปแล้ว เป็นนิวเวย์” ผู้หมวดหนุ่มมาดเข้มหัวเราะกับโชคชะตาพาให้เดินตามรอยบิดาเป็นตำรวจ ทั้งที่แรกเกิดจะมีชื่อจริงว่า “กองปราบ” ต้นสังกัดของพ่อ ก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานชื่อเป็น “สิทธิศักดิ์” ในเวลาต่อมา เจ้าตัวยอมรับว่า สมัยเด็กไม่ค่อยเห็นพ่ออยู่บ้าน จริงจังทุ่มเทต่อหน้าที่การงานจนแทบไม่ค่อยมีเวลาให้ครอบครัว ตั้งแต่เริ่มต้นเรียนอนุบาลกุ๊กไก่ไปต่อโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ฝ่ายประถม ส่วนใหญ่แม่ไปส่ง บางวันมีคนขับรถของพ่อไปส่งบ้าง ถ้าไม่มีใครว่างก็จะเป็นน้า การเรียนไม่ค่อยดี เพราะติดเกมตามประสาเด็ก

พอจบประถมสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เขาโยกตามเพื่อนส่วนใหญ่ไปอยู่สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน มีโอกาสปรับตัวมากขึ้นจากที่ผลการเรียนไม่ดี เป็นเด็กเรียนดีได้ แม้เคยเปรียบเทียบกับครอบครัวเพื่อนอื่นเหมือนกัน ทำไมพ่อไม่ค่อยอยู่บ้าน แต่ไม่ได้น้อยใจ เพราะรู้ว่า พ่อทำงาน ไปทำคดี แทบจะไม่ได้เจอกัน ยิ่งตอนย้ายไปภูธรอยู่ขอนแก่น เดือนหนึ่งพ่อถึงกลับบ้านสักครั้ง ต้องอยู่กับแม่

กระทั่งพ่อย้ายลงมาอยู่กองบังคับการปราบปราม ลูกชายหัวแก้วหัวแหวนยังบอกว่า ไม่เจอหน้าพ่ออยู่ดี เห็นจากในหน้าหนังสือพิมพ์ที่พ่อเป็นข่าวไปจับคดีสำคัญมากมาย แต่ไม่วายกระทบถึงเรา เพราะลูกคนที่พ่อไปจับดันเรียนอยู่ที่เดียวกันกับเรา เมื่อรู้ว่าเป็นลูกพ่อก็พาเพื่อนร่วมแก๊งมารุมทำร้ายระบายอารมณ์ใส่แทน ฐานที่พ่อเราไปจับพ่อเขา

 

หลังพิษมรสุมเพื่อนรุมทำร้าย ถูกส่งให้ไปเรียนมวยไทยป้องกันตัว

“ผมเรียนอยู่ราวประถม 3 ประถม 4 งงมาก คุณพ่อจับใครมา ผมไม่รู้หรอก ผมยังเด็กมาก ไม่คิดว่า ลูกของคนที่คุณพ่อจับจะอยู่โรงเรียนเดียวกัน จู่ ๆ ก็มารุมทำร้าย ถามว่า หนักไหม สมัยนั้นผมเป็นเด็กก็ถือว่า หนักอยู่ มีกระชากคอเสื้อ ยกพวกมารุม คู่กรณีตัวใหญ่น้ำหนัก 100 กว่ากิโล บางคนเอาเก้าอี้มาฟาด เพื่อนฝั่งผมต้องเข้ามาช่วยห้าม ช่วยปราม สะบักสะบอม หน้าตาบวมปูด ปากแตก” เจ้าตัวย้อนวีรกรรมวัยประถม

กลับมาถึงบ้านเล่าเรื่องราวให้พ่อฟังอย่างละเอียดบวกกับสภาพยับเยินของใบหน้า เขาบอกว่า พ่อไม่ได้โกรธแค้นอะไร แต่ส่งให้ไปเรียนมวยไทย สอนให้รู้จักการป้องกันตัว “คุณพ่อสอนด้วยว่า อย่างน้อยพ่อก็ภูมิใจที่เราไม่ใช่ฝ่ายที่ไปรุมเพื่อน ถึงแม้ว่า เราจะโดนอัดกลับมาก็ตาม พ่อจะเสียใจมาก ถ้าเราไปอยู่ฝั่งที่ไปรุมเขา กำชับด้วยว่า ห้ามไปแก้แค้นเด็ดขาด แค่สอนให้ป้องกันตัว ถึงให้ไปเรียนมวยไทยเพื่อใช้ป้องกันตัวเอง”

ผลพวงจากผลการทำงานของพ่อ หมวดนิวยังต้องเจอผลกระทบอีกรอบเมื่อสมัยเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น บิดาไปจับแก๊งวัยรุ่นขาใหญ่ย่านฝั่งธนบุรี ปรากฏว่า มีคนมาตามหาตัวถึงหน้าบ้าน แต่ดันผิดคิว มีลูกชายบ้านตรงข้ามรับเคราะห์โดนแทงบาดเจ็บแทน ไล่ถามความไปมาถึงรู้ว่า มือมีดปรี่เข้ามาถามว่า ลูกตำรวจใช่ไหม แต่เด็กคนนั้นยังไม่ทันตอบอะไรก็ถูกเสียบทันที หลังจากวันนั้น พ่อของเขาไม่ให้ขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอสไปโรงเรียนอีกเลย ชีวิตจึงถือว่า โชกโชนจากฉากวีรกรรมนายตำรวจกองปราบปรามของพ่อ

 

โชคชะตาชีวิตพลิกผัน ในวันที่น้าสาวถูกคุกคาม

ส่วนความฝันตอนเด็ก หมวดนิวไม่ได้มีความคิดจะเป็นตำรวจตามแบบพ่ออยู่ในหัว เขาอยากเป็นสถาปนิก เป็นช่างภาพด้วยความที่ชอบเล่นกล้องตระเวนถ่ายรูปไปทั่ว ไม่คิดจะมาทำงานอะไรใกล้เคียงกับการเป็นข้าราชการทหารตำรวจ เขาสารภาพว่า เห็นพ่อ คือ แค่ต้นแบบ แต่ไม่อยากเป็นแบบ บ้านของพ่อ ผู้ชายทุกคนต้องเป็นตำรวจ ทหาร ก็เกิดความคิดแย้งว่า ทำไมต้องเป็นตำรวจ ทหารกันทุกคนด้วยหรือ

ในที่สุดเด็กหนุ่มต้องมาเจอเหตุการณ์ทำให้เปลี่ยนทัศนคติ หลังจากน้าสาวไปห้างฟู้ดแลนด์แล้วเจอนักเลงขาใหญ่ในถิ่นหาเรื่องทะเลาะกันบริเวณลานจอดรถแบบไม่ให้เกียรติผู้หญิง ข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ขู่จะทำมิดีมิร้าย ก่อนที่น้าจะนำเรื่องกลับมาเล่าให้ฟังที่บ้าน “ มันบอกกับน้าสาวผมว่า จอดรถอย่างนี้ได้ยังไง ห้าวนักหรือ เดี๋ยวกูจับข่มขืนเลย ผมมานั่งคิด ทำไมสังคมไทยอันตรายขนาดนี้เชียว ถ้าอย่างนี้เราควรจะต้องมีอาชีพอะไรสักอย่างที่ดูแลคนในครอบครัวได้ อารมณ์ตอนนั้น คือ ผมห่วงคนในครอบครัวก่อน ยังไม่ได้คิดอะไรไกลเลย คิดแค่ว่า ทำไมต้องแบบนี้”

เด็กชายคนเดียวของบ้านเริ่มหันไปปรึกษาแม่ถึงความเป็นไปได้ว่า ถ้าอยากเป็นตำรวจมีทางไหนบ้าง เขายังไม่กล้าไปถามพ่อ เพราะตอนนั้นพ่อไม่อยากให้เป็นตำรวจ บอกเป็นอาชีพที่เหนื่อย ลำบาก ไม่เหมือนตำรวจในการ์ตูน หรือในภาพยนตร์ ก่อนจะได้รับคำตอบจากแม่ว่า มีอยู่ 2 สาย คือ สอบเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ หรือจะเป็นนักเรียนร้อยอบรม ถ้าเรียนไม่เก่ง สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจไม่ได้ก็ไปรอเรียนหลักสูตรนายร้อยอบรม

ได้รับสัญญาณไฟเขียว แต่ต้องเดินคนเดียวไม่มีใครช่วย

เมื่อตัดสินใจแน่วแน่กับทางเดินชีวิตในอนาคต ประกอบกับฝ่ายแม่สนับสนุน เขารวบรวมความกล้าไปบอกพ่อ เสาหลักของบ้านพิสุทธิ์ศักดิ์มองอย่างชั่งความคิดแล้วถามลูกชายกลับว่า “แน่ใจแล้วหรือ” แต่ไม่ได้ขัดอะไร ให้ข้อแนะนำด้วยซ้ำว่า ถ้าจะเป็นตำรวจต้องไปสายตรง สอบเป็นนักเรียนเตรียมทหารไปเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ “คุณพ่อย้ำว่า ต้องสอบเข้าด้วยตัวของเราเอง ไม่มีการช่วยอะไรทั้งนั้น ทั้งคุณลุง ทั้งคุณพ่อเป็นตำรวจ ทหารใหญ่ๆ อยู่แล้ว แต่สมัยก่อนคุณพ่อสอบได้ที่ 1 เตรียมทหารก็ได้ด้วยตัวเอง และสอบถึง 2 ปี ลูกก็ต้องทำได้ด้วยตัวเอง”

สัญญาณไฟเขียวของพ่อขับเคลื่อนแรงบันดาลนำไปสู่บันไดไขว่คว้าดาวเงินแปดแฉกบนบ่า ประเดิมประลองบททดสอบสนามแรกเมื่อตอนจบชั้นมัธยม 3 แบบไม่จริงจังเท่าใดนัก ถือเป็นการชิมลางจึงไม่แปลกอะไรที่ผลออกมาไร้ชื่อ “สิทธิศักดิ์ พิสุทธิ์ศักดิ์” ติดบอร์ดในการสอบข้อเขียนเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร เขาบอกว่า ปีแรก ถือเป็นการเตรียมตัว เนื่องจากไม่ได้เต็มที่ แถมคิดไปเองว่า เป็นเด็กสาธิตปทุมวัน โรงเรียนมัธยมลำดับต้นของประเทศ ไม่น่ายากเกิดความสามารถของเรา ทำให้เราคิดผิด

“พอสอบไม่ติด กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผมแค้นว่า ตัดสินใจติวเข้ม แต่ก็ยังพลาดอีก ขาดไปแค่ไม่กี่คะแนน พอมาปีสุดท้าย โชคดีอายุน้อยสอบได้ 3 ปี เป็นช่วงเพื่อนที่มัธยมเตรียมจะยื่นเอกสารเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ผมมี 2 ทางเลือกว่าจะเอายังไงดี ตอนแรกเรียนแผนศิลป์ ภาษาฝรั่งเศส ไม่ได้ตรงกับวิชาที่จะสอบเข้าเตรียมทหารที่เน้นวิทยาศาสตร์ในการสอบ เป็นอุปสรรคที่ต้องคิดหนัก”

พยายามนำไปสู่สูตรสำเร็จ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 74 

ความมุ่งมั่นของเจ้าหนุ่มเกิดขึ้นด้วยการทิ้งทุกอย่างที่เคยนอกลู่นอกทาง เลิกเล่นเกม ไม่มีคำว่า ดูหนัง  ทุกเย็นต้องกลับมาเรียนพิเศษวิชาฟิสิกส์กับเคมีเหมือนที่แผนวิทย์เรียน เนื่องจากไม่มีพื้นที่ฐาน  เสาร์-อาทิตย์ต้องไปเข้าสถาบันกวดวิชาที่จังหวัดราชบุรี ปิดเทอมต้องไปเข้าค่าย “เป็นอะไรที่ทรมานมาก ไม่มีวันไหนผมนอนก่อนตี 2 ไม่มีวันพัก เรียนอย่างเดียว คิดว่าเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว ต้องทำให้เต็มที่”

ในที่สุดสิ่งที่พยายามมาตลอด 3 ปีประสบความสำเร็จ เขาสอบติดโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 58 ในโควตาของเหล่านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 74 แต่พอเข้ารั้วเตรียมทหารครั้งแรก หมวดนิวบอกว่า เป็นที่สุดแห่งความลำบากในชีวิตแล้ว ยอมรับว่า เราอยู่สังคมที่แบบพูดตรง ๆ คือ ลูกคุณหนู ลูกคนเดียว พ่อแม่ดูแลเหมือนไข่ในหินมาตลอด อยู่โรงเรียนมัธยมกลางสยาม ไม่เคยเจออะไรหนักแบบนี้ แค่ดันพื้น 10 ทีเหมือนจะตายแล้ว เพื่อนทุกคนมาจากต่างสารทิศไม่มีใครพูดภาษากลาง พูดภาษาตัวเองทั้งนั้น ภาษาใต้ ภาษาเหนือ ภาษาอีสาน แทบจะไม่มีคนกรุงเทพฯ

“ไม่เคยเจอสภาพแวดล้อมแบบนี้มาก่อน เหนื่อย โดนจวกทุกวัน ตอนนั้นคนที่เป็นนักเรียนเตรียมทหาร ส่วนใหญ่น่าจะถอดใจ ต้องแบบมีโมเมนต์มานั่งจ้องหน้าเพื่อนเวลาพักจากการฝึกว่า เฮ้ยมึง กูจะลาออกว่ะ แล้วอีกฝั่งก็จะบอกว่า เฮ้ยมึง อย่าเพิ่งเลย เดี๋ยวไว้พรุ่งนี้ค่อยลาออก  พรุ่งนี้ๆ ไปเรื่อย ๆ ก่อนอ้อนวอนอย่าไปลาออกเลย ให้อยู่ด้วยกัน ผลัดกันมาเรื่อย ๆ ผ่านนักเรียนเตรียมทหารมาได้ ส่วนที่โดนหนักเพราะความเป็นลูกคุณพ่อ ลูกคุณลุงไม่เกี่ยวนะ ที่นั่นทุกคนเริ่มจากศูนย์เหมือนกันหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกใครก็ตาม คุณก็ต้องโดนเหมือนกับที่เพื่อนโดน”

 

ผ่านอีกบททดสอบ ข้อสอบในชีวิตจริงกลางเวหา

ผ่านการฝึกหนักมาตลอด 3 ปีจบไปเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เขาพบว่า เป็นอีกวัฒนธรรม คำพูดแรกที่ผู้ช่วยผู้บังคับหมวดบอกไม่เคยลืม  “ฝากไปเล่นแบบทหารมาแล้ว 3 ปี ให้พึงระลึกเสมอว่า เป็นแค่การฝากเรียน ต่อไปนี้จะเป็นชีวิตของตำรวจ” นายร้อยตำรวจป้ายแดงย้อนวันเก่าว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจ เหมือนเป็นอีกโมเมนต์ที่สอนเรื่องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเน้นที่สุด คือ ประชาชน ทุกคำสอนต้อง คำนึงถึงประชาชน  สอนให้ทุกคนคิดเป็น คิดด้วยเหตุผล ไม่ใช่ฟังคำสั่งเพียงอย่างเดียว ปลูกฝังตั้งแต่ปีแรก

เขาเล่าว่า ชีวิตนักเรียนโรงเรียนนายร้อยตำรวจเหนื่อยสุด คือ ชั้นปี 2 เพราะต้องเตรียมตัวฝึกร่ม ต้องออกกำลังกายตลอดทั้งปี เพื่อเสริมสร้างร่างกาย โดนเทสต์ร่างกายทุกสัปดาห์ให้ดูว่า พร้อมจะไปฝึกร่มแค่ไหน บางคนถอดใจ ไม่ขอฝึกก็มี ไม่ได้บังคับ แต่เราต้องทำ เมื่อเพื่อนไปฝึก เราต้องทำให้ได้เหมือนเพื่อน ไม่ได้ใช้โทรศัพท์ ไม่ได้ทำอะไร ตัดขาดจากโลกภายนอก วันๆ ได้แต่ฝึก ออกกำลังกายแล้วก็นอน รู้ตัวอีกที ถึงเวลาโดดร่มแล้ว

เหินฟ้าท้าเวหาครั้งแรก หมวดนิวรู้สึกว่า ค่อนข้างโชคดี เพราะยืนคนแรก ต้องโดดคนแรก เป็นจังหวะที่ต้องสู้กับตัวเองที่สุด คิดว่า เราต้องโดดออกไป เพราะถ้าเราไม่โดด เพื่อนจะช้าไปหมดแล้วจะหลุดจากสนาม สู้กับตัวเองอย่างเดียว มีพ่อกับแม่และญาติไปร่วมลุ้นกันทั้งบ้าน ถึงเวลาจริงไม่ทันได้คิดอะไร ตื้อไปหมด คิดแค่อย่างเดียวว่า ต้องเอาตัวเองออกมาจากเครื่องบิน คือ โดดออกไป เพราะรู้สึกว่า ในเครื่องบินอึดอัดมาก กลั้นใจออกมาโดดเลย โล่งตั้งแต่ร่มกางแล้ว

 

ประทับใจพ่อแม่สมมติ ฉุดไปสัมผัสวิถีคนพื้นบ้าน

ก่อนผ่านหลักสูตรโดดร่ม ลูกชายอดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังประทับใจที่ได้เข้าสัมผัสโครงการพ่อแม่สมมติสอนให้นักเรียนนายร้อยตำรวจติดดินเข้าไปสัมผัสชาวบ้าน ตัวเขาได้โอกาสไปอยู่กับผู้ใหญ่บ้านเจ้าของนาเกลือในจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดโลกทัศน์เรียนรู้วิถีชีวิตครอบครัวพ่อแม่สมมติอยู่กันอย่างไร “พ่อสมมติผมเป็นผู้ใหญ่บ้าน ต้องดูแลรับผิดชอบพื้นที่เสมือนเป็นตำรวจคนเดียวในหมู่บ้าน เพราะใกล้โรงพัก ทำให้ผมได้เข้าไปเรียนรู้ บางทีไปช่วยคัดสำนวนการสอบสวนให้ นอกจากนี้ยังมีอาชีพทำนาเกลือ ผมก็ต้องไปดูการทำนาเกลือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ความทรงจำที่ดีไม่เคยลืม”

“เพื่อนผมบางคนได้ไปอยู่บ้านที่ไม่ชอบตำรวจจะใช้งานหนัก เช่น ให้ช่วยตัดหญ้าทั้งวันทั้งคืน แต่พวกเราก็ทำให้พวกเขาเห็นว่า ทำได้ ทนได้จนยอมรับในความเป็นตำรวจ พิสูจน์ให้เห็น จากเดิมที่มีอคติก็เริ่มดีขึ้นว่า ตำรวจไม่ได้แย่อย่างที่คิด ขอให้เราช่วยอะไร เราก็ทำ ตั้งแต่ช่วยกวาดบ้าน ถูบ้านจนพวกเขารู้สึกเหมือนว่า เราเป็นลูกเขา เป็นส่วนหนึ่งในครอบครัวพวกเขา”

ผู้หมวดหนุ่มเลือดผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มองโครงการพ่อแม่สมมติเป็นโครงการที่ดีมาก ให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้สัมผัสชาวบ้านก่อนจะลงสู่สนามจริงในอนาคต หลายคนเปลี่ยนความคิดจากไม่ชอบกันและกันหันมารู้สึกรักและผูกพัน กระทั่งจบโครงการหลายครอบครัวเดินจูงมือมาน้ำตาซึมที่ต้องจากลา ทุกวันนี้เขายังไปเยี่ยมบ้านพ่อแม่สมมติทุกปี

 

ลงฝึกงานโรงพักภูธร สะท้อนมุมมองแปลกใหม่

สู่ชั้นปี 3 เปิดประตูบานแรกสู่ความเป็นตำรวจจริง ๆ ของนักเรียนนายร้อยสามพรานที่ต้องฝึกงานฝ่ายป้องกันปราบปราม สืบสวน และอำนวยการตามโรงพักภูธร สำหรับเขาได้ไปลงฝึกสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ ให้รู้จักคิดว่า ตำรวจในมุมมองประชาชนเป็นยังไง ตำรวจจะต้องทำงานยังไงให้กับประชาชน วันแรกรุ่นพี่ทุกคนจะให้เกียรติตามความเชื่อที่ว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจฝึกนักเรียนนายร้อยตำรวจมาดี โดยเฉพาะหลักยุทธวิธีตำรวจ

ทุกครั้งที่มีการตั้งจุดตรวจ ผู้หมวดหนุ่มเล่าว่า จะมีคำถามแบบไหนถูกต้องตามยุทธวิธีที่นักเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการอบรมมา อาจด้วยโรงพักบางแก้วแทบไม่มีใครจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ จริง ๆ เราก็อยากฝึกงานแบบนี้ อยากรู้ความคิดว่า พวกเขามองนักเรียนนายร้อยตำรวจเป็นอย่างไร อาจมองอีกมุมที่เราไม่เคยรู้  แต่พี่ทุกคนดีหมด สอนเราเหมือนเป็นน้องคนหนึ่ง ทั้งที่ไม่ได้เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ไม่ได้แอนตี้เรา  ไม่ได้มองเราเป็นคนละพวก

เจ้าตัวได้รับมุมคิดของรุ่นพี่ที่เคยอยู่มาทุกตำแหน่ง บางคนเป็นชั้นประทวนมาก่อนแล้วสอบชั้นสัญญาบัตรได้ ถ่ายทอดประสบการณ์ทั้งชีวิตที่เจออะไรมาบ้าง เจอนายแบบไหน เจอคนแบบไหน เจอเคสแบบไหนที่เราต้องเรียนรู้ในการรับมืออย่างไร ปกติเราอยู่แต่ในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เห็นแค่นายตำรวจปกครองในโรงเรียน พอได้ฝึกงานไปเห็นการปฏิบัติของนายตำรวจข้างนอกแล้ว ถึงรู้ว่า โลกตำรวจในความจริงเป็นแบบนี้

ปลายสนามสอบสวนสุดท้าย ได้ครูพี่เลี้ยงสอนข้อกฎหมาย

แล้วเวลาในรอบรั้วโรงเรียนนายร้อยตำรวจพัดผ่านทิวสนสามพรานผ่านไปอย่างรวดเร็ว หมวดนิวขึ้นชั้นปี 4 เตรียมตัวจบหลักสูตร ขั้นตอนสุดท้ายต้องไปฝึกงานสอบสวนที่โรงพักเตาปูน ภาพเก่าในอดีตวัยเด็กคืนกลับมาอีกครั้งเมื่อไปรายงานตัวแล้วมีนายตำรวจพูดถึงผลงานของพ่อในภารกิจจับกุมคดีสำคัญพัวพันคนใหญ่คนโตของพื้นที่ ทว่าเป็นเพียงสัมผัสทางความคิด ไม่ได้ทำให้เขาวิตกจริตเกินความจำเป็น เนื่องจากเหตุการณ์ทุกอย่างจบไปหมดแล้ว

การเริ่มต้นเรียนรู้งานสอบสวนของเขาได้ต้นแบบครูที่ดี เก่งข้อกฎหมายเป็นเบ้าหลอมสอนการทำสำนวนคดีด้วยความที่จบเนติบัณฑิตยสภาจะทำอะไรต้องตรงทุกอย่าง “เรียกได้ว่าเป็นตำรวจต้นแบบของผมเลย ใครจะมาใส่ให้บิดเบี้ยวไม่ได้ ผมคิดว่า ได้พี่เลี้ยงดีนะ แบบที่อยากได้แบบนี้ เป็นที่ปรึกษาให้ได้ดี เสริมองค์ความรู้ที่ไม่เข้าใจ บางอย่างที่ไม่ได้มีใครสอน ผมถาม พี่เขาตอบได้ทุกเรื่อง ไม่ได้กั๊ก สนิทกันมาก เป็นพี่เลี้ยงที่คอยสอนผมรู้ทุกเคสว่า ควรที่จะทำอย่างไร”

อดีตนักเรียนนายร้อยตำรวจฝึกงานสอบสวนโรงพักเตาปูนได้เรียกความมั่นใจให้ตัวเองด้วยการขอพี่เลี้ยงทำสำนวนเอง เป็นสำนวนฟ้องใบแดงคดียาเสพติด ขอทำคนเดียว ปกติคนอื่นจะไปขอทำตอนฝึกงานจบแล้ว เขาปั่นสำนวนที่จับผู้ต้องหายาเสพติดมาส่งตอนตี 2 พิมพ์สำนวนส่งทั้งเล่มเสร็จตอน 6 โมงเช้าพาให้รู้สึกว่า นี่แค่คดีเดียว ถ้าอนาคตรับวันละ 3-4 คดี หรือ 5-6 คดี ต้องมานั่งทำสำนวนแบบนี้ได้หรือ รู้เลยว่า เส้นทางข้างหน้าต้องเจออะไร เห็นภาพทันที

ผู้พ่อเป็นไอดอลเพียงคนเดียว เห็นความเคี่ยวเข็ญและขยันมาทั้งชีวิต

ถึงกระนั้น หลังฝึกงานสอบสวนเสร็จแล้วทุกคนยังต้องกลับไปสอบใบประกอบวิชาชีพตามนโยบายของ พล.ต.ต.ณรงค์ ทรัพย์เย็น รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เมื่อสมัยเป็นผู้บังคับการปกครอง โรงเรียนนายร้อยตำรวจที่วางรากฐานไว้เป็นใบประกอบวิชาชีพตามมาตรฐานสากลเหมือนแพทย์ วิศวกร สถาปนิกที่จบออกไปแล้วสามารถทำงานได้ทันที ป้องกันข้อครหาเวลาเกิดปัญหาโต้เถียงต่อสู้กันเรื่องคดีความกับคำถามว่า เอาหลักอะไรมาพิสูจน์ แต่เมื่อนักเรียนนายร้อยตำรวจมีใบประกอบวิชาชีพแล้วจะยืนยันได้ชัดเจนตามหลักสากล

หนุ่มนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 74 มองถึงอนาคตของตัวเองว่า อยากทำงานด้านป้องกันปราบปราม หากพ้นจากหน้างานสอบสวนที่ทุกคนต้องไปเริ่มปูพื้น ลองดูงานเบื้องหน้าที่เราต้องไปเจอกับคน เพราะเราเป็นพนักงานสอบสวนแล้วเห็นสายป้องกันปราบปรามส่งผู้ต้องหามาให้  คราวนี้เราอยากจะรู้ว่าอีกมุมว่า ถ้าไปเป็นฝ่ายป้องกันปราบปรามก่อนจะส่งผู้ต้องหามามอบพนักงานสอบสวนบ้างต้องทำยังไงบ้าง

อย่างไรก็ดี การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอาชีพตำรวจเขา มีไอดอลคนเดียวคือ พ่อที่เห็นมาตลอดชีวิตว่า  เป็นคนขยัน สอบได้เป็นที่ 1 โรงเรียนเตรียมทหาร เป็นที่ยากมาก พ่อทำงานสายบู๊มาเกือบทั้งชีวิตราชการ มีแค่ช่วงเดียวที่ไปขึ้นผู้บังคับการอำนวยการ แต่เห็นถึงความขยัน เลิกงานกลับบ้าน อาบน้ำ ลงมาอ่านเอกสารทบทวนหน้างานรับผิดชอบ กว่าจะนอนก็เที่ยงคืน พอตี 3 ตื่นมานั่งอ่านเอกสารอีก 6 โมงเช้าก็อาบน้ำ เตรียมตัวไปทำงาน วนอยู่อย่างนี้ทุกวัน

ยึดหลักคำสอนเอาไปคิด เตรียมฟิตเผชิญโลกความเป็นจริง

“ปีนั้นคุณพ่อได้รางวัลงานอำนวยการดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับในตัวคุณพ่อจริง ๆ ขยันมาก คุณพ่อนี่แหละคือ ไอดอลด้านการทำงานของผม ไม่ต้องมองใครไกลเลย หลังจากผมจบออกมา คุณพ่อก็สอนไว้เสมอว่า เริ่มต้นพี่เลี้ยงงานตำรวจสำคัญมาก บางทีเราอาจจะเห็นสิ่งที่พี่เลี้ยงแนะนำ สิ่งที่ผิดกลายเป็นสิ่งที่ถูกได้ อย่างรุ่นเก่าอาจจะมีพี่เลี้ยงที่พาออกนอกลู่นอกทาง แล้วเราอาจจะเห็นว่าเท่ คุณพ่อจะบอกว่า มันไม่ใช่ เราต้องรู้ว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย อย่าไปมองว่าเป็นสิ่งที่เท่”

ลูกชายอดีตนายพลคนดังยึดคำสอนของพ่อบังเกิดเกล้าต้นแบบของเขาเสมอว่า เราต้องดูด้วยว่า ไอ้เท่ เบื้องหลังมาอย่างไร พี่เลี้ยงถึงมีส่วนสำคัญ ถ้าได้พี่เลี้ยงที่ดีจะดีไปตลอดการทำงานของเรา แล้วเรื่องการเป็นตำรวจ เราต้องรู้ให้จริง ต้องรู้ข้อกฎหมายที่จะสามารถตอบประชาชนได้ ประชาชนทั่วไปไม่รู้ว่า การทำงานของตำรวจเป็นอย่างไร เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องพูดให้ประชาชนฟัง พูดแบบไม่ใช่พูดตัดรำคาญ ให้คิดเสมอว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมา ให้คิดว่า เป็นญาติเรา ถ้าญาติเราเดือดร้อนแบบนี้บ้าง เราจะพูดดี หรือไม่ดีกับเขา

“ถ้าเขาเป็นคนเดือดร้อน ใจเขาก็ร้อนอยู่แล้ว เขาแค่อยากจะได้คำตอบว่า ควรที่จะต้องทำยังไงต่อ หรือว่า ทำไมมันถึงเกิดอะไรอย่างนี้ ทำไมมันถึงช้า ทำไมมันถึงจะต้องรอ ทำไมมันถึงจะต้องอย่างโน้น อย่างนี้ อย่างนั้น ต้องยอมรับว่า เขาไม่รู้ เราต้องพูดกับเขาดี ๆ ไม่ใช่ไปตวาดใส่ เพราะเขาไม่รู้ แล้วเราไปตวาด ๆ เขาร้อนใจอยู่แล้ว ยิ่งร้อนไปอีก ไฟเจอไฟก็ยิ่งไปกันใหญ่ ควรจะพูดดีๆ กับเขา มันจะได้หาจุดที่เป็นตรงกลางได้ เราก็จะมีความสุขกับการทำงานว่า เราได้ช่วยคน”

ยันไม่ทำลายชื่อเสียงของบิดา ต้องรักษาไม่ให้เสื่อมแล้วพาเสียใจ

“คุณพ่อยังสอนด้วยว่า โลกของการเป็นตำรวจไม่ได้สวยหรู มันมีขวากหนามตลอด บางทีมันอาจจะต้องเจอสิ่งที่ทำให้เราน้อยใจบ้าง แต่ต้องยืนด้วยตัวของเราเองให้ได้ เจนเนอเรชั่นของพ่อ แม่ ลุงจบไปแล้ว ไม่สามารถจะมาปกป้องเราได้ ดังนั้นเราเลือกทางเดินอันนี้เอง ยืนได้ด้วยลำแข้งของเราเอง การที่เราเป็นตำรวจที่ทำในสิ่งที่ถูกต้อง มันก็เหมือนเป็นเกราะป้องกันเรา ให้เรายืนด้วยตัวของเราเองได้ มันอาจจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้เราน้อยใจบ้าง มีวิธีการที่เราคิดว่า สิ่งนี้เราทำถูกต้องแล้ว แต่ในอนาคตมันจะต้องเป็นสิ่งที่ดี มันจะต้องดีกับตัวเรา” หมวดนิวว่า

ถามว่า รู้สึกต้องแบบชื่อเสียงของพ่อไว้หรือไม่ ทายาทหนุ่มคนเดียวของบ้านสีหน้าจริงจังว่า ไม่เรียกแบกดีกว่า แต่เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจเราจะทำอะไรอย่างนี้ต้องนึกถึงคนจะต้องมองว่า เราเป็นลูกพ่อ การที่เราทำอะไรผิด ไม่ต้องให้คนอื่นมอง เราต้องอายแก่ใจแล้วว่า สิ่งที่เราทำ อาจไม่ถึงขั้นต้องทำให้พ่อเสื่อมเสียชื่อเสียง แค่ว่า ถ้าพ่อเรารู้ พ่อเราจะเสียใจแค่ไหน  หากวันหนึ่งเราอยากทำตัวไม่ดีขึ้นมา ทำอะไรที่ละเมิดกฎหมายขึ้นมา

“เห็นอยู่ว่า คุณพ่อ คุณแม่รักเรามาก ภูมิใจกับเรามาก ในวันที่เราจบกว่าจะจบออกมา ไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งสอบ ทั้งเรียนมา 7 ปี ถ้าวันหนึ่งเกิดทำอะไรพลาด โดยที่เราตั้งใจแล้วโดนออกจากราชการ หรือโดนตราหน้า คุณพ่อ คุณแม่ ญาติจะเสียใจที่เราเป็นแบบนี้ใช่ไหม ผมถึงต้องระลึกไว้เสมอว่า เป็นลูกคุณพ่อ ครอบครัวปูมาดีแล้ว เราควรจะทำตัวให้ดี เหมือนกับที่คุณพ่อคุณแม่สอนมา” เจ้าตัวทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES