“ความยากของมัน คือ การเขียนข่าวความจริงอีกด้านให้สังคมรับรู้”

ลุกคลีอยู่ในสนามข่าวสมรภูมิใต้กว่า 5 ปีแล้ว

แวลีเมาะ ปูซู ถือเป็นมือเขียนสารคดีเกาะติดสถานการณ์ดินแดนปลายด้ามขวานเมืองไทยของสำนักข่าวอิศรา ภายใต้ร่มสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ที่แตกหน่อมาจากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

เธอเป็นมุสลิม เกิดยะรัง ปัตตานี มีพี่น้อง 6 คนเป็นชาย 3 หญิง 3 เริ่มต้นศึกษาในโรงเรียนสอนศาสนูปถัมภ์ ฝันอยากเป็นครู แต่ตอนหลังเห็นภาพการทำงานด้านสื่อมวลชนของ รอซีดะห์ ปูซู พี่สาวจึงซึมซับและอยากเดินรอยตาม

เจ้าตัวถึงเลือกเรียนสายศิลป์ตอนมัธยมปลายเพื่อปูทางสู่อาชีพสื่อมวลชน วางเป้าไปสอบคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา แต่พอเอาเข้าจริงกลับสอบไม่ติด ต้องเบนเข็มไปเรียนหลักสูตรอนุปริญญา สาขาวารสารศาสตร์ และการประชาสัมพันธ์ ภาคค่ำ ที่ราชภัฏยะลา ก่อนต่อยอดเรียนนิเทศศาสตร์อีก 2 ปีจนได้ปริญญาตรีสมความตั้งใจ

เรียนจบเมื่อปี 2550 เดินตามพี่สาวที่เป็นนักข่าวสังกัดสำนักข่าวไทย ประจำจังหวัดปัตตานี ลงสัมผัสบรรยากาศคนข่าวในศูนย์ข่าวอิศรา ที่ตั้งกองบรรณาธิการอยู่เรือนรับรองมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี กระทั่งไปเจอวัสยศ งามขำ คณะกรรมการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ทาบทามให้ลองมาช่วยทำข่าวดู มี ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ และเสริมสุข กษิติประดิษฐ์ สนับสนุน

แวลีเมาะเล่าว่า เราสนใจงานด้านนี้อยู่แล้ว เขาเลยให้ลองทำดู แต่แม้จะจบนิเทศศาสตร์มาก็จริง ทว่าเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์มากกว่า ไม่เคยทำข่าวมาก่อน แถมต้องมาจับงานด้านสารคดีอีก ถือเป็นงานยากสำหรับเราตอนแรก ดีที่มีเสริมสุข คอยเป็นพี่เลี้ยง เราพยายามเอาความยากของสารคดีมาเป็นความง่ายด้วยการนำเรื่องราวของเพื่อนใกล้ตัวที่เกิดเหตุการณ์มาเขียนสะท้อนเป็นชิ้นแรก คิดคนอื่นไม่ออก เพราะเราไม่รู้ว่า เขาพร้อมจะให้ข้อมูลกับเราหรือไม่ เนื่องจากเราเป็นนักข่าวน้องใหม่

“ถึงเลือกเอาเพื่อนสนิทที่สูญเสียพ่อมาจับเขียนเล่าเรื่องว่า มีพี่น้องกี่คน กว่าแม่เขาจะส่งเสียจนเรียนจบต้องก้าวผ่านอะไรมาบ้าง นำเสนอเรื่องราวการสูญเสียแบบนี้ ชิ้นแรกจำได้ว่า ได้ค่าเรื่อง 800-1,500 บาท แม้จะไม่เยอะ แต่มันเป็นความภูมิใจมากกว่า ไม่ใช่จบปริญญาตรีแล้วต้องได้เงิน 7,000-8,000 บาท คิดว่า ค่อย ๆ ก้าวไปดีกว่า” คนข่าวสาวแดนใต้บอกถึงผลงานชิ้นแรก

เธอบอกอีกว่า หลังจากนั้นก็เริ่มจับทางได้ จากที่เสมือนเป็นเด็กฝึกงานให้ศูนย์ข่าวอิศรา ใช้เวลา 3-4 เดือนจับงานด้านสัมมนาบ้าง ข่าวรายวันบ้าง ก็เริ่มขยับหาประสบการณ์เรื่อย ๆ ตามข่าวเรื่องเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบ เขียนเป็นสกู๊ปสารคดีชีวิต รวมถึงตามข่าวรายวัน มี อับดุลเลาะ หวังหนิ นักข่าวรุ่นพี่ช่วยประคอง และใช้วิธีเก็บเบื้องหลังจากข่าวรายวันมาต่อยอดเป็นสารคดีเจาะลึกเรื่องราวปลีกย่อยมานำเสนอ

ตลอด 5 ปีที่อยู่ในสนามข่าวสถานการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ แวลีเมาะแสดงความเห็นว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ  คงที่ ตั้งแต่เราเริ่มเอาเรื่องราวมาเขียนเป็นชิ้นเป็นอันสักเรื่อง มันก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้สิ่งที่เขียนอยากสื่อให้เห็นสิ่งดี ๆ ในพื้นที่ เราวาดหวังว่า ชิ้นงานชิ้นหนึ่งที่สะท้อนสู่สังคมมันจะเกิดผลกลับมาอย่างน้อยให้เห็นว่า คนในพื้นที่อยู่กันอย่างไร ยอมรับว่า ในแง่ของการช่วยเหลือครอบครัวหนึ่งที่ได้รับความเดือดร้อนตรงนี้ทำประสบความสำเร็จพอสมควร เพราะว่า หลังจากเรานำเสนอเรื่องราวของเด็กที่ได้รับผลประทบผ่านสำนักข่าวอิศรา ครอบครัวของผู้สูญเสียก็ได้รับการช่วยเหลือในทางที่ดีขึ้น

“ถามว่าลำบากใจไหมที่เราเป็นมุสลิม แล้วต้องไปคุยกับครอบครัวไทยพุทธที่ได้รับผลกระทบ ก็ลำบากใจอยู่ แต่พอได้พูดคุย พวกเขาก็เข้าใจว่า คนมุสลิมแค่ส่วนน้อยที่ต้องการอย่างนั้น แถมเราเป็นผู้หญิง พี่สาวก็ทำข่าวมา 15ปี รู้สึกว่า ปูซู มันขายได้ในพื้นที่ เราเป็นน้องรอซีดะห์ ความไว้เนื้อเชื่อใจมันจะมากกว่า หลายคนจะบอกว่า ไทยพุทธกับมุสลิมอยู่ด้วยกันมาหลายสิบปีไม่มีอะไร คนที่เข้ามาสร้างสถานการณ์ส่วนใหญ่จะเป็นคนนอกพื้นที่ เราก็อยู่มาตั้งแต่เด็ก ๆ เรามองว่า มีเรื่องของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ปี 47 เกิดความสูญเสีย ก็มีการตั้งคำถามว่า คนกลุ่มนั้นมาทำอะไรที่นี่ บ้านเรามันเกิดอะไรขึ้น มีหลายครั้ง รู้สึกเสียใจเหมือนกัน เวลาเห็นเด็กที่สูญเสียพ่อแม่ เพราะไม่รู้ว่า ชีวิตเขาจะอยู่อย่างไร”

อย่างไรก็ตาม สมัยแรก ๆ ที่อยู่ในสนามข่าว เธอเองหวาดหวั่นอยู่ไม่น้อยกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่ปัจจุบัน ความรู้สึกของความกลัวมันหายไปแล้ว แวลีเมาะเล่าว่า ตอนใหม่ ๆ ช่วงฝึกข่าวในศูนย์ข่าวอิศรา ตอนตามข่าวเหตุการณ์รายวันประจำ มีอยู่วันจำไม่ลืมเลย เป็นเหตุการณ์ปะทะของเจ้าหน้าที่กับกลุ่มก่อความไม่สงบที่บ้านสะนิง ตำบลบาราเฮาะ เมืองปัตตานี เราก็ตามเข้าไปด้วย เห็นลูกปืนวิ่งผ่านหัวไปจนหมอบกันเกือบไม่ทัน เป็นเหตุการณ์ยิงกันสด ๆ เหมือนสงคราม คิดว่า น่าจะพอแล้วสำหรับการเข้าไปในที่เกิดเหตุจริง ๆ เลยมองว่า ต้องเอาความปลอดภัยของตัวเองดีกว่า ช่วงหลังถึงระวังมากขึ้น

มุสลิมสาวเล่าอีกว่า การทำงานระยะหลังจะเน้นสไตล์วิเคราะห์เจาะลึกข่าวมากกว่า พร้อมถ่ายทอดเกี่ยวกับเรื่องราวเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์เป็นซีรีส์ ไม่หนักมาก มีเวลามาคิดมาเกลาความรู้สึกของคนที่ไปสัมภาษณ์ เกลาความคิด อารมณ์ของคนที่เราไปพบเจอมา ทำให้รู้สึกว่า เราชอบงานเขียนแบบนี้ หากจะถามว่า ปัญหาภาคใต้จะจบหรือไม่ คิดว่า ไม่จบ และคงอยู่อย่างนี้ ตราบใดที่มีผลประโยชน์เข้ามา ความเป็นสื่อก็ลำบากเหมือนกันเวลาจะนำเสนอ เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายได้ไม่ได้ ตีแผ่มากเกินไปก็ไม่ได้ เป็นปัญหาของสื่อที่นี่ไม่น้อย “ความยากของมัน คือ การเขียนข่าวความจริงอีกด้านให้สังคมรับรู้ นอกเหนือจากสื่อกระแสหลักนำเสนอ หรือประโคมข่าว และความรู้สึกของผู้ให้สัมภาษณ์ในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจจนยอมเผยข้อเท็จจริง”

แวลีเมาะทุ่มเททำงานข่าวหวังสร้างสันติสุขในพื้นที่บ้านเกิดนำเสนอผลกระทบของครอบครัวผู้สูญเสีย กระทั่งอาสาเข้าไปเป็นเครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เครือข่ายย่อยของมูลนิธิเพื่อนหญิง เพื่อนำเอาเรื่องราวชีวิตลูกผู้หญิงมาเขียนต่อให้สำนักข่าวอิศราได้ โดย

ยึดหลักการทำงานแบบกล้าเปิดใจ ค้นหาความจริงทั้งสองฝ่าย ไม่ฝักฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“เราชอบงานเขียน เพราะได้เกลาความคิด ถ่ายทอดของเรื่องคนๆหนึ่งผ่านสู่ตัวอักษร และเชื่อว่าเรื่องราวที่นำเสนอจะเกิดการเคลื่อนไหวบางอย่าง ให้พื้นที่เกิดความสงบสุขได้” พิราบสมรภูมิใต้บอกความฝัน

RELATED ARTICLES