แก๊สน้ำตาฆ่าใครไม่ได้

 

แก๊สน้ำตาฆ่าประชาชนได้จริงหรือ

กลายเป็นข้อครหาหนักหนาสาหัส “ปั่นความชิงชัง” จากภารกิจการสลายผู้ชุมนุม รุมเคียดแค้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในภาคสนาม

รบกันด้วย โลกออนไลน์ ใช้กระแสโซเชียลลงทัณฑ์ นักรบชุดฟาติกสีน้ำเงิน

ร้อนถึง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมด้วย พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ณัฐ สิงห์อุดม รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน พล.ต.ต.มานพ สุคนธ์ธนพัฒน์ ผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน เลือกสนามบุณยะจินดา เชิญสื่อมวลชนไปชมสาธิตการยิงแก๊สน้ำตาที่ใช้ควบคุมฝูงชนในสถานการณ์การชุมนุมที่ผ่านมา

พิสูจน์ให้เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจนำอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี

ยืนยันอุปกรณ์ที่ใช้ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

“หากไม่ทำอะไร จะมีความรุนแรงกว่านี้” พล.ต.ท.ภัคพงศ์ให้เหตุผลความจำเป็นต้องใช้แก๊สน้ำตา ระหว่างจำลองวิถีการยิง

มี พ.ต.ท.ศรายุทธ อรุณฉาย รองผู้กำกับการควบคุมฝูงชน 1 กองบังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชย เป็นวิทยากรสาธิตยิงแก๊สน้ำตา ชนิด ICL-830 cartridge with tear gas projectile ขนาด 38 มิลลิเมตร “แบบวิถีโค้ง”

เจ้าตัวอธิบายว่า การยิงแก๊สน้ำตามีระยะยิงอยู่ที่ 50 เมตร 100 เมตร และ150 เมตร แต่ละครั้งจะมีการคาดคะเนจุดตก เพื่อให้ลมพัดเอาควันไปยังจุดที่เป็นเป้าหมาย

ไม่มีการเล็งใส่ตัวบุคคล

ระบุด้วยว่า  ตัวปลอกกระสุนของแก๊สน้ำเป็นโลหะจะยังคงค้างอยู่ในลำกล้องปืน ไม่สามารถลอยไปทำอันตรายกับผู้ชุมนุมได้ ส่วนที่ลอยออกไปมีเพียงส่วนที่เป็นตัวกระบอกบรรจุก๊าซน้ำตา ทำจากพลาสติกสีน้ำเงิน ภายในบรรจุสารแก๊สน้ำตา สามารถลุกไหม้ได้ด้วยตัวเอง

ไม่ใช่ชนิดระเบิดเหมือนที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงปี 2551

“ดังนั้นชนิดที่ใช้ในปัจจุบันไม่เป็นอันตราย” นายตำรวจที่คร่ำหวอดอยู่กับหน่วยควบคุมฝูงชนมานานการันตี การยิงแก๊สน้ำตาของเจ้าหน้าที่ เป็นการยิงเพื่อให้ควันไปยับยั้งการคุกคาม ไม่มีการยิงใส่ตัวชุมนุมโดยตรง เจตนาเพื่อต้องการให้ผู้ชุมนุมสลายตัวไป”

เขายอมรับว่า บางครั้งทิศทางลมมีผลต่อวิถีของกระสุนแก๊สน้ำตา ทำให้ไม่ไปตกในจุดเป้าหมาย และอาจโดนถูกผู้ชุมนุมได้เช่นกัน แต่เป็นเพียงมีรอยช้ำแดงเท่านั้น

พ.ต.ท.ศรายุทธยังบอกว่า ก่อนออกปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งจะมีการสั่งกำชับการปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ฝึกเสมอ และจะมีการทบทวน เน้นย้ำให้ปฏิบัติตามหลักที่ฝึกมาตามแบบมาตรฐานสากล

“เพราะตำรวจไม่ใช่คู่ขัดแย้ง แต่มีหน้าที่ควบคุมให้สถานการณ์บ้านเมืองสงบ”

 

 

 

 

RELATED ARTICLES