จริยธรรมตำรวจ

 

เหมือนต้องมาท่อง “ตำราเรียน” กันใหม่

องค์กรตำรวจภายใต้กฎเกณฑ์ กฎระเบียบ ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ ความจริงมีมาตั้งแต่ก้าวเข้า สวมเครื่องแบบสีกากี มานานนับร้อยปี

แล้วทำไมต้องออก “ตำราหยุมหยิม” เป็น “กฎเหล็ก” มาตอกย้ำเตือนความทรงจำ

เพราะตำรวจย่อหย่อนยาน “ลืมตัว” อย่างนั้นหรือ

ราชกิจจานุเบกษาเพิ่งลงประกาศ ประมวลจริยธรรมข้าราขการตำรวจ พุทธศักราช 2564 มีผลบังคับใช้วันที่ 2 กันยายน 2564

แต่ตำรวจทั้งสำนักน่าจะรู้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นระเบียบปฏิบัติมาเนินนาน

ประมวลจริยธรรมข้าราชการตำรวจฉบับดังกล่าวอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 76 วรรคสาม บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อให้หน่วยงานของงรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น

 ตำรวจถึงต้องมีหลักมาตรวัดของเกณฑ์มาตรฐาน “ในฝัน” ตามรัฐธรรมนูญ

สรุป “กฎเหล็ก” ที่ข้าราชการตำรวจพึงปฏิบัติตนเพื่อรักษาจริยธรรมมี 7 หัวข้อ

1.ยึดมั่นในสถาบันหลักของประเทศ ได้แก่ ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยการแสดงออกถึงความภูมิใจในชาติและรักษาผลประโยชน์ของชาติ

ปฏิบัติตามหลักศาสนาที่ตนนับถือ เคารพในความแตกต่างของการนับถือศาสนา ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

เทิดทูนรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์

2.ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วยความโปร่งใส

ไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมที่มีนัยเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

รับผิดชอบต่อหน้าที่ มีความพร้อมรับการตรวจสอบและรับผิด มีจิตสำนึกที่ดี คำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน เคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

3.กล้าตัดสินใจและยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องชอบธรรม กล้าคัดค้านและดำเนินการแก้ไขในสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามอำนาจหน้าที่ ใช้ดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอคติ

ไม่ยอมกระทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมเพียงเพื่อรักษาประยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

ไม่คบหารือสนับสนุนแก่ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อในทางเสื่อมเสีย อันอาจกระทบกระเทือนต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชน

วางตัวเป็นกลางในฐานะผู้รักษากฎหมายในกระบวนการยุติธรรม

4.คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีจิตสาธารณะ ร่วมมือ ร่วมใจ และเสียสละในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม และสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่สังคม

5.มุ่งสัมฤทธิ์ผล ประสิทธิภาพ และคุณภาพของงาน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรวดเร็ว เที่ยงธรรม ทันต่อสถานการณ์ คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นที่ตั้ง รักษาผลประโยชน์ของรัฐ มีมาตรฐานการทำงานที่เป็นสากล พัฒนตนเองอย่างต่อเนื่อง

เชื่อมั่นในระบบการทำงานเป็นทีม

ให้บริการประชาชนด้วยความเต็มใจ

เปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเหมาะสมตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

6.ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ปราศจากอคติ ยึดถือความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติโดยการไม่ใช้ความรู้สึกพึงพอใจหรือไม่พึงพอใจส่วนตัวต่อบุคคลหรือกลุ่มบุคคลอันเนื่องมาจากชาติกำเนิด เพศ ศาสนา หรือความเชื่อ เชื้อชาติ สัญชาติ อายุ การศึกษา ความเห็นทางการเมืองหรือความเห็นอื่น

เคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยอมรับความแตกต่างของบุคคล หรือสถานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม

พึงวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

7.ดำรงตนเป็นแบบอย่างข้าราชการที่ดี รักษาภาพลักษณ์ของทางราชการและความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ พึงปฏิบัติตนให้เป็นที่เชื่อถืออืศรัทธาแก่ประชาชน ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความสุขภาพ อ่อนน้อมถ่อมตน

ไม่อ้างหรือใช้อำนาจโดยปราศจากเหตุผล

ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พระบรมราโชวาท หลักคำสอนทางศาสนามาปรับใช้

ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีด้วยการเคารพกฎหมายและมีวินัย

ทั้งหมดถ้าปฏิบัติได้เชื่อว่าศรัทธาและความเชื่อมั่น “องค์กรตำรวจ”จะอยู่ในใจของชาวบ้านเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

 

 

RELATED ARTICLES