“ผมตั้งปณิธานตลอดว่า ผมอยู่ตรงไหน ผมจะทำให้เต็มที่”

 

ผ่านสนามบ่มเพาะประสบการณ์ชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์มาอย่างโชกโชน

เริ่มต้นจากผู้หมวดนักรบชายแดนกินนอนกลางป่า ก่อนเปลี่ยนเส้นทางเข้าเมืองหลวง กระทั่งผลพวงจากปฐมบทพาให้เขากลับคืนสังกัดเก่า ติดอาร์ม ช้างศึก ขึ้นนั่งบริหารขยับขับเคลื่อนหน้างานเสริมทัพของหน่วย

พล...กัญชล อินทราราม ผู้บังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน คาดหวังจะพัฒนาองค์กรเพิ่มเติมเต็มในส่วนที่ขาด ไม่จะเป็นงบประมาณ อาวุธยุทโธปกรณ์ อุปกรณ์เครื่องมือ เครื่องใช้ตามฐานและโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร

ด้วยอุดมการณ์และจิตวิญญาณที่ครั้งหนึ่งเคยสัมผัสคลุกคลีอยู่เคียงข้างกำลังพลนักรบป่า

ไม่ได้มาแสวงหาผลประโยชน์ หรือเพียงเพื่อมาเอาตำแหน่งแล้วจากไป

 

ลูกชายนายพลเอกทหาร เริ่มต้นหน้างานตำรวจนักรบป่า

“ผมอยากจะทำงานที่มันท้าทาย” กลายเป็นความใฝ่ฝันวันเด็กของ พล.ต.ต.กัญชล อินทราราม ลูกชาย พล.อ.สุรพล อินทราราม ผู้ที่มีเลือดนักรบเต็มกาย เกิดกรุงเทพมหานคร จบมัธยมโรงเรียนรัตนาธิเบศร์ โรงเรียนแห่งแรกของจังหวัดนนทบุรี อยากเป็นตำรวจ แม้มีพ่อรับราชการทหาร เจ้าตัวมองว่า จะได้ไปคนละแนวและลบคำครหาจากปากชาวบ้านว่า มีพ่อหนุน ที่สำคัญการเป็นตำรวจเหมือนได้ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก

สอบเข้าเตรียมทหารและจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 42 เลือกลงเป็นตำรวจชายแดน ส่วนหนึ่งเพราะพ่อเป็นทหาร ขณะที่ตัวเองอยากจะซึมซับการทำงานตามแนวชายแดน บรรจุตำแหน่งผู้บังคับหมวด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 11 ค่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชา จังหวัดจันทบุรี ท่ามกลางสถานการณ์ชายแดนกัมพูชาที่กำลังคุกรุ่น

เขาเล่าว่า ทำหน้าที่เฝ้าชายแดนไม่ให้มีการรุกล้ำจากผลกระทบภายในกัมพูชาที่แตกทัพ ป้องกันการรุกล้ำอธิปไตย ตั้งฐานปฏิบัติการที่บ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี  สมัยนั้นเชื้อมาเลเรียชุกชุมมาก  ถ้าใครเป็นตำรวจนอนไม่กางมุ้งไม่เกิน 7 วัน เรียบร้อย เป็นไข้มาเลเรียแน่ อยู่ตรงนั้นแม้ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดยิงปะทะกัน แต่เราต้องประชาสัมพันธ์ผลักดันชาวกัมพูชาที่หนีเข้ามาในอธิปไตยไทยให้กลับออกไป

นำหน่วยลาดตระเวนชายแดน ควงแขนปกครองแบบรุ่นพี่รุ่นน้อง

“ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราษฎรหนีสงครามภายในเขมร  ครั้นเราจะไล่ยิงสกัดเพื่อไม่ให้พวกเขาเข้ามา ก็จะดูไม่มีมนุษยธรรม เราได้แต่ประชาสัมพันธ์ให้พวกเขาอยู่ตามชายขอบบ้านเรา ผมอยู่เฝ้าชายแดนตอนนั้นเป็นผู้บังคับหมวดปกครองตำรวจในระดับหมวด มีกำลังพลเต็ม 44 นาย ภารกิจ คือ เฝ้าตรวจ เฝ้าระวัง ตามแนวชายแดน ควบคู่กับการจับกุมคดีอาชญากรรมที่เป็นความผิดต่อรัฐ เช่น การตัดไม้ทำลายป่า การกระทำผิดต่างๆ อะไรพวกนี้ มันก็สนุกนะ ตอนนั้นผมยังหนุ่ม”

อดีตผู้บังคับหมวดค่ายเจ้าพระยาบดินทรเดชาเล่าอีกว่า ยังแข็งแรง มีกำลังนำหมู่ นำหมวดเดินลาดตระเวนขึ้นลงภูเขาตามเส้นทางในระยะไกล ถามว่า ใช้หลักการอะไรคุมกำลังพล ความจริงไม่มีอะไร แค่ใช้แนวเดียวกับสมัยเราเป็นนักเรียนปกครองดูแลปกครองผู้ใต้บังคับบัญชาภายในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พยายามทำให้รู้สึกเหมือนรุ่นพี่ปกครองรุ่นน้อง

“ตำรวจตระเวนชายแดนไม่ค่อยมีดื้อ ตำรวจตระเวนชายแดนส่วนใหญ่จะมีระเบียบวินัย เชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชา เพราะอยู่กันเป็นหมวด เป็นหมู่ ไม่ได้ต่างคนต่างอยู่ เราอยู่ด้วยกันในฐานปฏิบัติการ กินนอนด้วยกัน ความรักความผูกพันจะมีมาก แล้วจะช่วยเหลือเกื้อกูลเห็นใจกันตลอด” พล.ต.ต.กัญชลย้อนความหลังเมื่อครั้งสวมเครื่องแบบนักรบป่า

ขยับกลับเข้ามานั่งทำงานเมืองกรุง มุ่งสัมผัสงานสืบสวนครั้งแรก

นำทีมลาดตระเวนอยู่ตะเข็บชายแดนตั้งฐานบัญชาการอยู่กลางภูเขานาน 4 ปี ถึงเวลาขยับกลับมาเข้าสู่บทตำรวจนครบาลที่เคยร่ำเรียนมาด้วยการวางปืนหันไปจับพิมพ์ดีดเริ่มหน้าที่พนักงานสอบสวนตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลสำราษฎร์ แล้วโยกเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางรัก

เป็นจังหวะกองบัญชาการตำรวจนครบาลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างใหม่ ยุบกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ และกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี ขยายเป็นกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 -9 เปิดโอกาสให้เขานั่งเก้าอี้สารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 4 ยุคบุกเบิก ที่มี พ.ต.อ.มันทาร อภัยวงศ์ คุมหน่วย

เขายอมรับว่า ไม่เคยทำงานสืบสวนมาก่อน เพิ่งมาสัมผัสชีวิตนักสืบครั้งแรก ได้เรียนรู้ประสบการณ์ และวิชาจากนักสืบรุ่นพี่ อาทิ ชาญ แสงเสียงฟ้า ปกรณ์ กิตติวัฒน์ รณศิลป์ ภู่สาระ ทวีป โพธิ์แก้ว ทุกคนล้านมีความรู้ความสามารถช่วยแนะนำเพิ่มพูนความรู้ให้เรามีทักษะในการสืบสวนมากยิ่งขึ้น แถมยังได้ พล.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ขณะนั้นเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 และพ.ต.อ.วิวัฒน์ วรรธนะวิบูลย์ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4 ปรมาจารย์นักสืบรุ่นใหญ่จากตำนานสืบสวนเหนือมาช่วยติวเข้มอีกด้วย

 

สู่เกมจับตายวายร้ายตีนแมว เกี่ยวประสบการณ์คับแก้ว

ผ่านยุค พ.ต.อ.มันทาร อภัยวงศ์ เป็นหัวเรือ มีการปรับทัพให้ พ.ต.อ.ฉัตรกนก เขียวแสงส่อง ขึ้นเป็นหัวหน้าทีม ทุ่มเทสรรพกำลังเสริมเขี้ยวเล็บให้นักสืบนครบาล 4 เปิดเกมรุกในการบุกจับโจรย่านชานเมืองเกือบหมดเกลี้ยงแทบไม่เป็นรองหน่วยอื่น ครั้งนั้น สารวัตรกัญชล อินทรารามยังร่วมกับ ร.ต.อ.พิษณุ พ่วงพร้อม รองสารวัตรหนุ่มในแผนก ตามรอยตีนแมวประวัติลักทรัพย์ยาวเหยียดนำไปสู่เกมจับตายนายพลเพียร เวชบุญ ดาวโจรรุ่นใหญ่

เปลี่ยนหัวหน้าทีมมาหลายคนจากฉัตรกนก เขียวแสงส่อง เป็นวีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ปกรณ์ กิตติวัฒน์ สรรค์หกิจ บำรุงสุขสวัสดิ์ เขายังอยู่ทำหน้าที่นักสืบแห่งกองบังคับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 4 ทำคดีเยอะแยะมากมาย ตั้งแต่ ฆาตกรรม ชิงทรัพย์ร้านทอง คดีที่มีความหลากลาย มีความยุ่งยากที่บางทีศักยภาพโรงพักอาจไม่ไหวจำเป็นต้องทุ่มกำลังกองสืบสวนเข้าไปช่วยคลี่คลาย

“พวกเรากองสืบมีกำลังมากกว่า มีเทคโนโลยีมากกว่า ลงไปช่วยสมัยนั้นสนุกมาก ยอมรับนะว่า บางทีอาจต้องมีมาตรการเด็ดขาดเพื่อความสงบสุขของสังคม  พวกผู้ร้ายที่เป็นกลุ่มเป็นแก๊ง พวกเราหวังว่าจะได้ปรามพวกผู้ร้ายรุ่นหลังจะได้กลัว ถ้ารักที่จะเป็นโจร เป็นขโมย จงระวังตัวให้ดี” นายตำรวจนักสืบนครบาลเก่าอธิบายหลักการปฏิบัติการนอกเครื่องแบบสมัยก่อน

วนเวียนใช้ชีวิตนอกเครื่องแบบ สนุกจนแทบลืมยศถาบรรดาศักดิ์

คลุกคลีอยู่กับงานสืบสวนเหมือนคลุกฝุ่นจมอยู่กับการไขคดีไม่มีโอกาสเจริญก้าวหน้า ทำเอาเขาวนเวียนเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 4 สลับเป็นสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว โยกเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 3 กลับมาเป็นสารวัตรสืบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว และเป็นสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาล 4 อีกรอบ สนุกอยู่กับงานสืบสวนรวมระยะเวลาการเป็นสารวัตรถึง 11 ปี

พล.ต.ต.กัญชลว่า ท่านกฤษฎา พันธุ์คงชื่น ท่านเป็นนักสืบอาชีพสอนงานตลอด เวลาลงตรวจที่เกิดเหตุ ท่านจะตรวจไปสอนไป ทำพวกเรามีความรู้มากเลย ทำซึมซับเวลาออกไปทำงาน  บางทีออกไปทำงานเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน สนุกกับงานสืบสวนจนเพลิน ลืมนึกถึงยศถาบรรดาศักดิ์ ประกอบกับกองสืบอยู่กันอย่างพี่น้อง ช่วยเหลือกันทำให้สังคมสงบสุขถึงไม่คิดจะย้ายไปไหน

อยู่กันเกือบรากงอก ขยับอีกทีหลุดวงโคจรนักสืบเลื่อนเป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลประชาสำราญ เป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลร่มเกล้า ระลอกนี้ไม่นานได้ขึ้นเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลอุดมสุข หมุนเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลบางนา ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลดุสิต และผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลมีนบุรี

 

ขึ้นรองผู้การนานแค่ 5 ปี คืนวิถีติดอาร์มทัพ ช้างศึก

ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 3 กลับมาทำงานป้องกันปราบปรามที่ชอบนาน 5 ปีถึงขึ้นเป็นผู้บังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน “ไม่น่าเชื่อ คิดว่าเป็นเรื่องที่เขาลิขิตไว้แล้วนะ มาเป็นผู้บังคับการในหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน เป็นที่ที่ผมเริ่มต้นสังกัดตอนจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจครั้งแรก แปลกดีเหมือนกัน ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ” พล.ต.ต.กัญชลว่า

นายพลหน่วยติดอาร์มช้างศึกบอกว่า หน้างานสนับสนุนไม่ถึงกับต้องเรียนรู้ใหม่ เพราะเรามีพื้นฐานแต่เด็กอยู่แล้ว อาจมีเหลี่ยมนิดหนึ่ง จากที่เราจะต้องถือปืนออกลาดตระเวน หรือการเป็นพนักงานสอบสวน การเป็นนักสืบ เราต้องเปลี่ยนบทบาทมาเป็นฝ่ายสนับสนุน  สนับสนุนในเรื่องต่าง ๆ เรื่องรถรา ม้าใช้ ดูว่า หน่วยไหนอยากจะได้อะไร ก็ร้องขอ แต่เราจะเข้าใจตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ดีว่า โดยแก่นแท้ของตำรวจตระเวนชายแดนต้องการอะไร

“ความจริง พวกเขาไม่ได้ต้องการอะไรหรอก ตำรวจตระเวนชายแดนอยู่ทุกวันนี้ด้วยความเสียสละ อดทน ดำรงตนอย่างมีเกียรติ นี่คือสิ่งที่ผมสัมผัสมาตั้งแต่ต้น ก็ยังเหมือนเดิม ศักดิ์ศรีของตำรวจตระเวนชายแดนเป็นอย่างนี้ เขาต้องการวัสดุอุปกรณ์ในการทำงานที่มันให้ดีหน่อยแค่นั้นเอง ยกตัวอย่าง ทางพื้นที่ภาคใต้ก็ต้องการรถที่มันคุ้มครองตัวเขาได้ ต้องการวัสดุอุปกรณ์ เรื่องของเงินทอง พวกเขาอยู่อย่างพอเพียง ของพวกเขาอยู่แล้ว ไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้”

 

วาดนโยบายเติมเต็มส่วนที่ขาด ลุยพื้นที่ให้เห็นภาพความเป็นจริง

ผู้บังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนวาดแผนไว้ว่า ต้องผลักดันเติมเต็มในส่วนที่ผู้ใต้บังคับบัญชาต้องการ  รับเอามาพิจารณา อะไรที่มันไม่เหนือไปกว่าที่เราจะจัดหาให้ได้  ต้องจัดหาสนับสนุนให้เ แต่ด้วยความที่พวกเขาไม่ค่อยร้องขอ เราต้องลงไปดูให้เห็นกับตา การไปดูในแต่ละที่รับว่า เป็นเรื่องที่ลำบากมากกว่าจะเดินทางไปถึง  บางที่ไม่ใช่นั่งรถเข้าไปแล้วถึงเหมือนในเมือง หรือตามตัวจังหวัด หน่วยตำรวจตระเวนชายแดนหลายแห่งจะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร ถิ่นที่ไม่มีหน่วยงานราชการไปถึงง่ายๆ เราก็จำเป็นต้องไป

  “อยู่ในถิ่นที่ถนนไม่ถึง ต้องขึ้นรถไปลงเรือ บางทีเรือไปไม่ถึง ต้องเดินไปอีก ขึ้นช้างอีก อย่างทางภาคเหนือต้องขึ้นช้างไป ขึ้นภูเขาไป ถ้าเข้าไม่ถึงจริง ๆ ต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ผมจะเน้นส่วนนี้มากหน่อย เพราะผู้บังคับบัญชามักเข้าไปไม่ถึงสภาพความเป็นจริง ขณะที่พวกเขาร้องขอไม่ได้ เมื่อผมเป็นตัวแทนผู้บังคับบัญชา ระดับกองบัญชาการ เป็นผู้สนับสนุน ผมต้องไปดูให้เห็นกับตาว่า พวกเขาขาดเหลืออะไร”

พล.ต.ต.กัญชลให้เหตุผลว่า เมื่อมีภาพของความเป็นจริง เราจะนำไปพิจารณาดูแลพวกเขา ให้พวกเขาได้มีวัสดุอุปกรณ์ที่พอเพียง ปลอดภัย ทั้งหมดไม่ยากในการทำงบประมาณ แต่ต้องใช้เหตุผลดูว่า อะไรที่สมควร อะไรที่ควรได้ 1-5 เราจัดลำดับ อะไรที่ดูแล้วยังไม่สำคัญ เอาไว้หลังๆ อย่างอะไรที่ต้องรีบปฏิบัติ  เช่น รถโฟล์วิว ใช้สำหรับขึ้นภูเขาไปที่ฐานปฏิบัติการ หรือไปตามโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนก็อยู่ในความรับผิดชอบของเราเหมือนกัน

 

ศึกษาปัญหาเพื่อเอามาแก้ไข โดยเฉพาะสุขศาลาพระราชทานที่ห่างไกล

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 220 โรงเรียนทั่วประเทศ  พล.ต.ต.กัญชลอธิบายว่า หลายแห่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล คนที่อยู่ในหมู่บ้าน ไม่สามารถที่จะเข้ามาเรียนในตัวอำเภอ ในตัวจังหวัดได้ ไกลมาก ตำรวจตระเวนชายแดนถึงไปตั้งโรงเรียน เอาครูตำรวจตระเวนชายแดนไปสอน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนประถม แล้วยังมีสุขศาลาพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอยู่ประมาณ 20 แห่ง เป็นสถานที่ที่การเดินทางไปอนามัยไกล หรือไปไม่ถึง ต้องตั้งสุขศาลา พระราชทาน และต้องขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

สำหรับการดำเนินงาน “สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” เกิดจากพื้นที่ชายแดนเป็นพื้นที่พิเศษ ห่างไกลความเจริญ ทุรกันดาร การคมนาคมมีปัญหา หรือบางพื้นที่เป็นที่เสี่ยงภัย มีปัญหาด้านความมั่นคง ประชาชนตามแนวชายแดนมักจะประสบปัญหาในการเข้าถึงบริการต่าง ๆ ทางด้านสวัสดิการที่ทางรัฐบาลจัดให้ โดยเฉพาะด้านสุขภาพอนามัย แม้จะมีระบบบริการสาธารณสุขของรัฐกระจายอยู่ทั่วทุกตำบล แต่ยังพบว่ามีหมู่บ้านห่างไกลอีกจำนวนมากที่รถยนต์ ไม่สามารถเข้าถึง หรือเข้าถึงได้บางฤดูกาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้

การขาดโอกาสในการเข้าถึงสถานบริการสาธารณสุขของประชาชนในถิ่นทุรกันดารตามแนวชายแดนนี้จะส่งผลให้ประชาชนเหล่านี้ไม่ได้รับบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างสะดวก ทั่วถึงและเป็นธรรม ขาดความรู้ความเข้าใจในการป้องกันและรักษาโรค ทำให้มีสุขภาพที่ไม่สมบูรณ์แข็งแรง ถ้าเป็นวัยเด็กจะทำให้มีปัญหาด้านการเจริญเติบโตทางร่างกายและสมอง ถ้าเป็นวัยผู้ใหญ่จะทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ทั้งโรคติดต่อและไม่ติดต่อ เนื่องจากไม่ได้รับการรักษาอย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง หรือได้รับยา เวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับคนในเขตเมืองกลายเป็นประชากรที่ไม่มีคุณภาพและอาจก่อให้เกิดผลกระทบระยะยาวต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามมา

 

ย้อนปูมเรื่องราวโครงการ สานพระราชปณิธานกรมสมเด็จพระเทพฯ

เมื่อกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นเพื่อสอนหนังสือให้แก่ประชาชนชายแดนเหล่านั้นให้ได้รู้ภาษาไทยจะได้ติดต่อทำความเข้าใจกันได้สะดวก กระทั่งพบว่าประชาชนด้อยโอกาสห่างไกลจากสวัสดิการ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนจึงริเริ่มที่จะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือด้านสุขภาพอนามัยของประชาชนที่หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดูแลไม่ทั่วถึง โดยให้บริการตรวจรักษาแก่นักเรียน และประชาชนที่เจ็บป่วยในพื้นที่เขตบริการโรงเรียน มีห้องพยาบาลเป็นพื้นที่ให้บริการและประสานความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่

ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร พระองค์ได้พบเห็นประชาชนตามแนวชายแดนที่ประสบปัญหาการเข้าถึงสาธารณสุข จึงทรงมีพระราชดำริที่จะพัฒนาห้องพยาบาลในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และพัฒนาศักยภาพครูพยาบาลตำรวจตระเวนชายแดนให้เป็น “สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน” ด้วยพระราชปณิธานที่มุ่งหวังให้พสกนิกรผู้ยากไร้ สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน ได้คุณภาพมาตรฐานและเท่าเทียม ทั่วถึง พัฒนาให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

จากพระราชปณิธานข้างต้น หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานโครงการสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ร่วมกับภาคเอกชนได้แก่ คณะนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 46  และบริษัททีโอที จำกัด มหาชน ได้น้อมนำกระแสพระราชดำริเป็นแนวทางในการดำเนินงานเพื่อก่อตั้งสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โดยการปรับปรุงห้องพยาบาลของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน จัดหายาและเวชภัณฑ์ให้เพียงพอสอดคล้องกับสภาพปัญหาการเจ็บป่วยของนักเรียน และประชาชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูพยาบาลตำรวจตระเวนชายแดนผู้ปฏิบัติงานในสุขศาลาพระราชทาน ให้มีความรู้และทักษะในด้านการตรวจรักษาพยาบาลเบื้องต้น

ต้องเป็นสถานบริการสาธารณสุข ให้เข้าถึงประชาชนที่ต้องทุกข์ขาดโอกาส

เป้าหมายในการให้บริการของสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อให้นักเรียนและประชาชนที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานทั้งในยามปกติและฉุกเฉิน นอกจากนี้ยังต้องการให้ นักเรียน และประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ด้านสุขภาพที่ถูกต้อง เหมาะสม และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อการดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัวและชุมชน เริ่มต้นดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2549

การจัดอาคารสถานที่ตั้งสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นครั้งแรก จำนวน 9 แห่ง ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ปัจจุบันขยายไปยังโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนแห่งอื่นๆ ที่มีปัญหาการขาดโอกาสเข้าถึงบริการสาธารณสุขตามแผนยุทธศาสตร์สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของนักเรียน และชุมชนในถิ่นทุรกันดารอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เน้นการแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานในพื้นที่ และชุมชนจะเป็นแนวทางที่ดีต่อไปในอนาคต

สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นสถานบริการสาธารณสุขที่ให้บริการขั้นพื้นฐานแบบผสมผสาน เป็นแหล่งเรียนรู้และสื่อสารสุขภาพ รวมทั้งเป็นศูนย์ประสานการพัฒนาสุขภาพของชุมชนที่จัดให้มีขึ้นในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน มีสถานะเป็นหน่วยบริการสุขภาพที่เชื่อมต่อระหว่างสถานีอนามัยกับศูนย์สาธารณสุขมูลฐานชุมชน  เป็นหน่วยพยาบาลทำหน้าที่ให้บริการรักษาพยาบาลเบื้องต้น การปฐมพยาบาล และการป้องกันเฝ้าระวังโรค และเป็นศูนย์การเรียนรู้และสื่อสารสุขภาพสำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนสุขศึกษาในโรงเรียน และการให้บริการข้อมูลข่าวสารความรู้แก่ชุมชน

 

เปิดรองรับทั่วประเทศแล้ว 21 แห่ง ตามแหล่งทุรกันดารเดินทางลำบาก

ปัจจุบันมีสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนให้บริการอยู่ทั่วประเทศในพื้นที่ที่ห่างไกลทุรกันดาร และเสี่ยงภัย ทั้งสิ้น 21 แห่ง ประกอบด้วย พื้นจังหวัดกาญจนบุรี 4 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทีไล่ป้า ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี สุขศาลาพระราชทาน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านปิล๊อคคี่ อำเภอทองผาภูมิ สุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค ตำบลไล่โว่ อำเภอสังขละบุรี และสุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนหลวงประกอบนิติสารและท่านผู้หญิงถวิล ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ ในพื้นจังหวัดเพชรบุรี 1แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านโป่งลึก ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  2 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ตำบลบึงนคร อำเภอหัวหิน และ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านป่าหมาก อำเภอสามร้อยยอด  พื้นที่จังหวัดเชียงราย 1 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนรู้ตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยกุ๊ก อำเภอเวียงแก่น จังหวัดน่าน 1 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี 21 ตุลาคม 2543 ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ

พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 3 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแสนคำลือ ตำบลถ้ำลอด อำเภอปางมะผ้า สุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนรู้บ้านปอหมื้อ ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง และสุขศาลาพระราชทานศูนย์การเรียนรู้บ้านโกแประ ตำบลแม่คง อำเภอแม่สะเรียง  ในจังหวัดเชียงใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงประไพ ศิวะโกเศศ และ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนรางวัลอินทิรา คานธี อำเภออมก๋อย พื้นที่จังหวัดตาก 3 แห่ง  ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเลตองคุ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน บ้านแม่จันทะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้มผาง และสุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ม.ร.ว.เฉลิมลักษณ์จันทรเสน อำเภอแม่ระมาด

จังหวัดนราธิวาส 3 แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทานโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านละโอ ตำบลศรีบรรพต อำเภอศรีสาคร สุขศาลาพระราชทาน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านไอร์บือแต ตำบลช้างเผือก อำเภอจะแนะ และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนลีนานนท์ อำเภอสุคิริน พื้นที่จังหวัดยะลา   แห่ง ได้แก่ สุขศาลาพระราชทา โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านไบ้ ตำบลบุดี อำเภอเมืองยะลา

 

ยืนยันเป็นงานที่รู้สึกรัก อยากปักหลักพัฒนาหน่วยเก่า

หลายแห่งที่ พล.ต.ต.กัญชลลงพื้นที่ไปสำรวจปัญหาตามโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนและสุขศาลาพระราชทานที่ห่างไกลอยู่กลางถิ่นทุรกันดาร เจ้าตัวยืนยันว่า จะให้เข้าถึงปัญหาจริง แต่ละแห่งขาดแคลนอะไร มีปัญหาอะไร ไม่ต้องมาโลกสวย เราจะได้ดูแลสนับสนุน เท่าที่พบ คือ ขาดแคลนครูตำรวจตระเวนชายแดน ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ ขาดแพทย์สนาม เวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะต้องมีแผนการลำเลียงผู้ป่วยออกนอกพื้นที่ให้ถึงอนามัย หรือโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด ตรงนี้จำเป็นต้องมาระดมกันวางแนวคิดแก้ปัญหา ผลักดันตรงนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม

“จริงๆ แล้วเป็นงานที่ผมชอบ แล้วก็รัก อยากจะอยู่นาน ๆ อยากพัฒนาหน่วยเดิมที่ผมเคยอยู่ เป็นงานที่ไม่ต้องไปอะไรมาก พยายามจะทำงานในหน้าที่ ได้ช่วยเหลือประชาชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดาร ช่วยเหลือเด็กนักเรียนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารจริง ๆ บางทีเราก็มีพรรคพวก  มีขนม มีสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ มีการแสดงเจตจำนงที่จะบริจาคให้ถึงมือเด็กนักเรียน เราก็จะเป็นตัวแทนนำมามอบให้ถึงมือเด็ก” ผู้บังคับการสนับสนุน กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนแสดงความรู้สึก

“ผมได้อยู่กับงานที่ผมรักแล้ว ผมตั้งปณิธานตลอดว่า ผมอยู่ตรงไหน ผมจะทำให้เต็มที่ ไม่ได้อยู่ไปวันๆ รอย้าย บางคนมาแล้วก็แบบรอขยับ เหมือนมาแล้วซังกะตาย ไม่ทำงาน มาอยู่รอรอบหน้าแล้วค่อยไป มาอยู่ไปวันๆ ไม่พัฒนาอะไร ผมไม่ใช่ ที่ผมมานี่ ผมพัฒนา เริ่มจากผลิตน้ำดื่มตราช้างศึก เป็นน้ำดื่มประจำหน่วยห้ามจำหน่าย มีไว้แจกจ่ายในกิจการของกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนตามภารกิจต่าง ๆ เสมือนแบรนด์ของพวกเราเอง น้ำดื่มช้างศึก น้ำดื่มของตำรวจตระเวนชายแดนพร้อมจะเข้าไปช่วยเหลือประชาชน” พล.ต.ต.กัญชลทิ้งท้าย

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES