“ผมว่าไม่แปลกนะที่สมัยก่อนนักข่าวจะก้าวมาเป็นนักเขียน”

นักหนังสือพิมพ์ที่ผันตัวเองจนกลายเป็นตำนานนักเขียนรางวัล “ซีไรต์” พ่วงท้ายได้รับเกียรติถูกยกย่องให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์

หนอนหนังสือน้อยคนจะไม่รู้จัก อัศศิริ ธรรมโชติ เจ้าของรางวัลวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ปี 2524 จากรวมเรื่องสั้น “ขุนทอง…เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง”

เขาเกิดที่โรงพยาบาลศิริราช แต่ไปเติบโตเป็นชาวอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จบประถมศึกษาโรงเรียนสาธุการ เรียนชั้นมัธยมศึกษา 1-5 โรงเรียนไกลกังวล แต่ไม่ทันจบ ครอบครัวที่ยึดอาชีพประมงประสบภาวะขาดทุน เขาต้องมาเรียนต่อกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยากะว่าจะเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทว่าสอบไม่ติด ทิ้งชีวิต 2 ปีไปกับการเป็นลูกจ้างชั่วคราวสำนักงานสถิติแห่งชาติประจำจังหวัดสกลนคร

กลับมาเริ่มต้นเรียนใหม่ด้วยการสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฉายแววนักเขียนเมื่อส่งเรื่องสั้น “สำนึกพ่อเฒ่า” ประกวดชิงรางวัลพลับพลามาลีของชุมนุมวรรณศิลป์รั้วจามจุรีได้อันดับ 3 หลังสำเร็จปริญญาตรีร่วมกับโดม สุขวงศ์ ทำนิตยสารเกี่ยวกับภาพยนตร์ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งสุจิตต์ วงษ์เทศ ชวนไปทำงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ก่อนขยับเป็นนักข่าวการเมืองสังกัดหนังสือพิมพ์สยามรัฐเผชิญเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นำไปสู่ต้นเรื่อง “ขุนทอง…เจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” ที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือชาวกรุง

เปลี่ยนชีวิตนักหนังสือพิมพ์หันมายึดอาชีพนักเขียนเต็มตัว

อัศศิริเท้าความว่า เป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็กอาจเป็นเพราะสภาพแวดล้อม ลุงเป็นมหาเปรียญ มีหนังสือสะสมไว้ที่บ้านเยอะ จำได้ว่าชอบการ์ตูน ชอบวาดรูป เป็นคนช่างฝัน มีจินตนาการ พอเจอหนังสือก็อ่านไปเรื่อยๆ ไม่ได้คิดอะไร แต่หัวหินเป็นเมืองท่องเที่ยว มีเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินเสด็จไปประทับบ่อย มีห้องสมุดของพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ อยู่ที่หลังโรงเรียนเก่า ได้ไปนอนหลับบ้าง เที่ยวเล่นบ้างแล้วก็เปิดหนังสืออ่าน เด็กยุคนั้นไม่ค่อยมีสิ่งบันเทิงเริงรมย์อะไรมาก มีวิทยุกับหนังกลางแปลง

นักเขียนรางวัลซีไรต์เล่าว่า พอโตขึ้นเริ่มหันมาอ่านหนังสือของยาขอบ พนมเทียน ทมยันตี  เมื่อเราชอบ วันหนึ่งเราก็คิดว่า น่าจะเขียนได้ เหมือนนักเขียนทั่วไปที่ลองเขียน ได้อ่านของสุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน ก็พยายามเลียนแบบ เขียนๆ ไป มันก็เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น พอมาเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สมัยก่อนเรียกว่า สื่อสารมวลชน มีสาขาหนังสือพิมพ์ ตอนแรกไม่ได้คิดอะไร คิดว่าชอบหนังสือ มันเกี่ยวกับนักเขียน อ่านประวัตินักเขียนหลายคน ทั้งหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ยาขอบ หลายคนล้วนแต่เป็นนักหนังสือพิมพ์ สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ก็เป็นแหล่งชุมนุมของนักเขียนถึงเลือกเดินทางนี้

“นักหนังสือพิมพ์ กับนักเขียน ยุคนั้นมันแยกกันไม่ออก เพราะใช้วิธีการสื่อสารด้วยการเขียน ใช้ปากกา สมัยผมก็ปากกาลูกลื่น โทรศัพท์หมุนนะ พิมพ์ดีดแบบตั้งโต๊ะ นักข่าวสมัยก่อน ต้องเขียนหนังสือด้วย ข่าวสารสมัยก่อนต้องจด ไม่มีเทป ต้องเรียนวิธีย่อความ การทำข่าว คือ การจับประเด็น ข่าวแถลงเป็นชั่วโมง มากมาย ต้องจับให้ได้ว่าประเด็นคืออะไร มันก็ต้องเขียนให้เป็น มีหัวหน้าข่าว มีรีไรเตอร์ คอยแก้สำนวนอีกที มันถึงเป็นแหล่งสร้างนักเขียนขึ้นมา”

เมื่อเรียนจบนิเทศศาสตร์ อัศศิริว่า หนังสือพิมพ์สมัยก่อนไม่ค่อยมีประกาศเปิดรับสมัคร มีแต่แนะนำกันมา จากประชาชาติไปอยู่ที่สยามรัฐ เพราะมองว่า เป็นแหล่งรวมนักเขียน เราจะได้แสดงฝีมือในการเขียนหนังสือได้ เรามีความมั่นใจอย่างนั้น อาจารย์คึกฤทธิ์ ปราโมชก็เป็นนักคิดนักเขียน เป็นแบบอย่างให้เรา ตอนนั้นเรียกได้ว่า เป็นรุ่นท้ายๆ ที่นักเขียนกับนักหนังสือพิมพ์เริ่มจะแยกกันแล้ว ที่สยามรัฐไม่ได้เน้นเรื่องข่าวเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะใช้วิเคราะห์วิจารณ์หนังสือ วิจารณ์หนังจนเราเริ่มเชี่ยวชาญข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้นก็ก้าวไปเป็นนักข่าวการเมือง

ผู้อาวุโสวงการน้ำหมึกบอกว่า สมัยนั้นการเมืองเป็นเรื่องใหญ่ เราก็อาศัยประสบการณ์ สามัญสำนึกความถูก ผิด ความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพ ไม่ไปเอารัดเอาเปรียบรีดไถใคร มีจริยธรรม เข้มแข็ง เพราะอาจารย์คึกฤทธิ์เป็นแบบอย่าง เป็นหัวเรือใหญ่ แม้ว่ารายได้เงินเดือนจะไม่ดีนัก ทว่าการทำงานกลับมีข้อจำกัด เพราะข่าวใส่จินตนาการไม่ได้เลยมาออกทางเขียน ตัดสินใจเขียนเรื่องสั้น ใส่จินตนาการ แต่งเติมความเห็น เป็นทางออกของนักหนังสือพิมพ์ นักข่าวสมัยก่อนที่บีบให้เป็นนักเขียน ได้แสดงตัวตน ใส่ความคิดเห็น

“ผมก็คงจะเป็นอย่างนั้น เหตุการณ์ 6 ตุลาไปทำข่าวอยู่ที่ธรรมศาสตร์ มึนงงว่า บ้านเมืองเราทำไมเป็นอย่างนี้ ผมก็ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย หรือฝ่ายขวา เศร้าใจว่า มันไม่น่ารุนแรงอย่างนี้ ตกเย็นมีการปฏิวัติ มีการปิดหนังสือพิมพ์ เป็นอาทิตย์ หรือเป็นเดือนจำไม่ได้ ผมเก็บเอาภาพเหตุการณ์มาทำเรื่องสั้น แม้สิ่งที่เราเห็นมันยิ่งกว่าหนัง ยิ่งกว่านิยาย คนตายเป็นเบือ  รู้สึกว่า บ้านเมืองเราไม่น่าจะมารุนแรงอย่างนี้ มันเป็นเรื่องการเมือง ชีวิตมันมีค่ามากกว่าสิ่งอื่นใด ชีวิตของคนหนุ่มสาวแม้ว่าไม่ได้มีอุดมคติ อุดมการณ์เดียวกัน ก็เพียงแต่มีความคิดเห็นอย่างนั้นต่อบ้านเมือง ยุคนั้นมันขาวกับดำ เผด็จการเป็นสีดำ ประชาธิปไตยเป็นสีขาวอย่างชัดเจน ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่มันซับซ้อน ต้องทำความเข้าใจกันมาก”

เรื่องขุนทอง … เจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสางถือกำเนิดขึ้นมา อัศศิริมองว่า มันเป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวสมัยนั้น เมื่อตอน 14 ตุลา 16 ขุนทองเป็นเพลงกล่อมเด็ก ต่อมา เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ แต่งเรื่องในสมัยรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร เปิดนโยบายคืนสู่เหย้าให้นิสิตนักศึกษาที่เข้าป่าได้กลับมา แต่ยังไม่มีใครไว้ใจ  เนาวรัตน์ก็แต่งเป็นกลอนท่อนหนึ่งระบุ “แม่พายเรือไปรอรับ ขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสาง  ผมก็เอาตรงขุนทองเจ้าจะกลับเมื่อฟ้าสางมาแต่งเรื่องสั้นเป็นร้อยแก้ว มันก็เป็นเรื่องหนึ่งใน 10 กว่าเรื่องของผม และผมก็คงจะโชคดีที่สยามรัฐ ตอนนั้นมันอยู่ใกล้หนังสือชาวกรุงเลยได้ไปลงที่นั่น เขียนๆ ไป ก็มีพรรคพวกมาขอไปรวมเล่ม”

เจ้าของตำนานวรรณกรรมยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนหัวเราะเล่าต่อว่า พรรคพวกเอาไปพิมพ์เยอะเลยเหลือเอาไปกองขายอยู่สนามหลวง 3 เล่ม 10 บาท ปรากฏว่า มีการคัดหนังสือเข้าประกวดชิงรางวัลซีไรต์เลยได้รางวัลขึ้นมา จัดพิธีใหญ่โตที่โรงแรมโอเรียลเต็ล มีเจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดินเสด็จ ประทานรางวัล เป็นรางวัลที่โด่งดัง ภาพของเราเลยเปลี่ยนจากนักหนังสือพิมพ์เป็นนักเขียน นับแต่นั้นเลยเป็นนักเขียนเต็มตัว แต่จริงๆ เราก็มีความเป็นนักข่าวน้อยอยู่แล้ว บุคลิกนักข่าวมันต้องลุยๆ ตื้อคนเก่ง บุกไปทุกที่ให้ได้ข่าว

“ผมว่าไม่แปลกนะที่สมัยก่อนนักข่าวจะก้าวมาเป็นนักเขียน เพราะตั้งแต่ยาขอบ มาลัย ชูพินิจ ก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ อาจารย์คึกฤทธิ์ ก็เป็นนักหนังสือพิมพ์ อาจเนื่องจากบางเมืองเวลานั้นเสรีภาพมันน้อย การแสดงออกทางความคิดถูกจำกัด นักข่าวถูกลิดรอน ทำให้วรรณกรรมมีบทบาทสูง เดี๋ยวนี้อาจไม่ใช่ มีปัจจัยเยอะไปเทียบกันไม่ได้ ผมเคยไปพูดที่คณะนิเทศศาสตร์บ่อยๆ ถึงสมัยก่อนเครื่องมือมันจะโบราณ แต่เขามีจิตใจที่แจ่มชัดในการต่อสู้เพื่อนำพาบ้านเมืองจนรอดมาได้ หนังสือพิมพ์มีบทบาทมาก ด้วยความสำนึกในหน้าที่ ปัจจุบันผมเข้าใจ เห็นใจนะ เพราะสังคมมันสลับซับซ้อนมากขึ้น ขาวกับดำ มันไม่ชัด มันมีสีเทา บ้านเมืองเราไม่ได้เห็นต่างกัน แต่เราเห็นคนละอย่าง”

ศิลปินแห่งชาติยกตัวอย่างว่า อีกฝ่ายเห็นเป็นกงจักร อีกคนบอกว่าไม่ใช่ มันเป็นดอกบัว ฝ่ายนั้นเถียงว่า กงจักรอย่าเข้าไปใกล้มันจะตัดคอ อีกคนยังยืนกรานบอกเป็นดอกบัวต้องเอาไว้บูชา บ้านเมืองปัจจุบันเป็นแบบนี้ ถึงได้เกิดแตกแยกทุกวันนี้ คงเหมือนชะตากรรมคนเราที่มีขึ้นมีลง เสรีภาพมันซับซ้อนบางทีมากไปก็ไม่ดี ตามประสบการณ์ส่วนตัวมองว่า เสรีภาพต้องควบคู่กับความรับผิดชอบ

ทุกวันนี้ อัศศิริแทบจะวางปากกาจะงานเขียนอิสระที่ตัวเองรักเพราะเนือยไปตามวัย ผลงานที่ปรากฏออกมามากมาย บรมครูเรื่องสั้นยอมรับว่า ชอบทุกเรื่องที่เขียนแนวสะท้อนสังคมตามที่เป็นอยู่ในยุคสมัยของเรา ผิดกับปัจจุบันมีอะไรมากที่นักเขียนอย่างเรามึนงง อาทิ เหตุการณ์ภาคใต้ เคยถามนักเขียนหลายคนเหมือนกัน เขาก็บอกว่า ยังเขียนไม่ถูก มันสลับซับซ้อน ไม่ใช่ ขาว ดำ เมื่อก่อนมีพระเอก ผู้ร้าย ชัดเจน เดี๋ยวนี้ พระเอกอาจเป็นผู้ร้ายก็ได้ มันคาดไม่ถึงอะไรแบบนี้

“ผมยังมีความเชื่อว่า เรื่องชีวิตคน ถ้าเขียนให้ดีจะประทับใจคน นักเขียนถ้าจะมานั่งเล่าก็เขียน แต่เดี๋ยวนี้มันน่าเห็นใจนักเขียนต้องต่อสู้กับสื่ออย่างทีวี นิยาย เรื่องสั้นที่ดัดแปลงมาจากเรื่องจริงยุคผม มันเป็นยุคขาดแคลนข่าวสาร หนังสือพิมพ์มีบทบาทสูง ข่าวสารถูกจำกัด เครื่องไม่เครื่องมือไม่ค่อยมี เดี๋ยวนี้ข่าวสารมันล้น มาทางน้ำ ทางฟ้าแล้วขาดการสังเคราะห์ อันนี้สำคัญ ไม่ใช่แค่ประเทศเรา แต่เป็นทั้งโลก แถมทำให้โลกวุ่นวาย รับข่าวสารมาแล้วแต่ใครจะรับผิดชอบ วันนี้มาอย่าง พรุ่งนี้อีกอย่างทำให้นักเขียน ไม่ค่อยมีเวลาแสดงอะไร มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยด้วยข่าวสารของโลก เหมือนโลกมันพูดกัน แล้วได้ยิน ได้เห็นหมด”

เขายังห่วงด้วยว่า อนาคตไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหน เทคโนโลยีก้าวหน้าที่น่ากลัว ความลับไม่มี เป็นยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงหมด การเมืองเปลี่ยน เศรษฐกิจเปลี่ยน ศิลปะเปลี่ยนจากสิ่งที่เราคุ้นเคย มาเป็นคอมพิวเตอร์ เป็นอินเตอร์เน็ต และไม่รู้ว่าจะพาเราไปไหน คอมพิวเตอร์ก็วาดรูปได้ แปลเป็นล่ามให้เราได้ งานเขียนที่เรารู้จัก เช่น นั่งเขียน นั่งพิมพ์ก็จะน้อยลงไป

 

RELATED ARTICLES