(27)  กำพล  วัชรพล –  ทองเติม  เสมรสุต

 

มอยู่ไทยรัฐไม่นาน ประมาณ 1 ปี 6 เดือน ถ้าบวชพระก็ถือว่าเป็นนวกะ ไม่เคยสนทนากับเจ้าอาวาสแม้แต่ครั้งเดียว  เพราะ ผอ.กำพล วัชรพล ท่านคุ้น ๆ กับระดับหัวหน้าข่าวและคนเก่าเท่านั้น

ระยะหลัง “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” มานั่งที่เก้าอี้ตัวเดิมที่โต๊ะข่าวภูมิภาค  ผมแว่วข่าวว่ามีผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่ายคนใหม่ แต่ผมไม่ถามเรื่องนี้กับพี่เขา เพราะไม่ใช่เรื่องของเรา และพี่เฉลิมชัยก็ไม่เคยมาเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของผม

เคยเห็น ผอ.กำพลเข้ามาในห้องกองบรรณาธิการ 2 – 3 ครั้ง มาคุยกับพี่เฉลิมชัยซัก 5นาทีแล้วก็ออกไป  ผอ.กำพลไม่เคยมายุ่มย่ามสั่งงานอะไรกับกองบรรณาธิการ ส่วนใหญ่จะนั่งในห้องทำงานของท่าน แต่สามารถรับรู้เรื่องราวทุกหน่วยงานในไทยรัฐ

แม้จะไม่ได้อยู่ในสายตาของ ผอ.กำพล แต่ผมสนใจและศึกษาการสู้ชีวิตของชายลูกน้ำเค็มคนนี้ ซึ่งสำเร็จการศึกษาแค่ชั้นประถมปีที่  4 ของโรงเรียนวัดใกล้บ้าน ชื่อโรงเรียนวัดดอนไก่ดี อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร

จากศูนย์ขึ้นสู่จุดสุดยอดสูงลิ่ว จากกระเป่าเรือเมล์ปล่องเขียว จากลูกประดู่ยศพลทหาร   ประจำเรือรบหลวงสีชัง ผ่านสงครามอินโดจีน สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับเหรียญชัยสมรภูมิ   เหรียญกล้าหาญ สวมเครื่องแบบทหารเรือนานถึง  6 ปี  ติดยศจ่าโท ลาออกจากราชการเมื่ออายุ  28  ปีแล้วเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์จนมีทรัพย์สินเป็นพัน ๆ  ล้าน

ไต่บันไดจากนักข่าวหนังสือพิมพ์หลักไทยที่มี “เลิศ อัศเวศน์” เป็นบรรณาธิการแล้วสร้างตัวเองจนเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ “ข่าวภาพ” จากรายสัปดาห์จนกระทั่งเป็นรายวัน มีพี่ใหญ่   “อุทธรณ์ พลกุล” เป็นบรรณาธิการ

“จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ยึดอำนาจจาก “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” เมื่อเดือนตุลาคม   2501 จอมพลสฤษดิ์สั่งปิดหนังสือพิมพ์ข่าวภาพรายวัน พนักงานตกงานระนาว ระดับมันสมองของข่าวภาพถูกจับเข้า ไม่มีการแจ้งข้อหาและไม่มีกำหนดคุมขังกี่วันกี่เดือน

ยุคนั้นใครมี “หัวหนังสือพิมพ์” อยู่ในมือ เหมือนมีสมบัติไว้ในครอบครอง เพราะการขอหัวหนังสือพิมพ์เป็นเรื่องยากเย็นนัก ผอ.กำพลจึงไปเช่าหัวหนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง”ออกที่จังหวัดอ่างทองเอามาออกในกรุงเทพฯ ทำอยู่ 2 ปี เจ้าของเสียงอ่างทองเอาหนังสือพิมพ์ไปทำเอง

พ.ศ.2505 “ไทยรัฐ” แจ้งเกิดในโลกหนังสือพิมพ์ เป็นหัวหนังสือพิมพ์ที่ ผอ.กำพลไปดำเนินการขออนุญาตมาไว้ก่อนแล้ว เพราะการเช่าหัวหนังสือพิมพ์คนอื่นมันเหมือนกับการขอยืมจมูกคนอื่นมาหายใจ นี่คือความรอบคอบและมองเห็นการณ์ไกลของ ผอ.กำพล

ไม่นานนักไทยรัฐก็ติดตลาด สำนักงานในซอยวรพงษ์ บางลำพู เริ่มคับแคบ ถนนในซอยก็เล็ก ขนาดรถ  คันแล่นสวนทาง อีกคันต้องจอดรอให้อีกคันผ่านไป การส่งหนังสือพิมพ์ไปให้เอเย่นต์ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จึงไม่สะดวกด้วยประการทั้งปวง

พ.ศ. 2512 ถนนวิภาวดีรังสิตเป็นเพียงโครงการสร้างถนน “กรุงเทพฯ –  สระบุรี” ยังไม่ได้ลงมือก่อสร้าง แต่มีไม้สีแดงปักไว้เป็นแนวเท่านั้น ว่ากันว่า ผอ.กำพลมาดูลู่ทางการสร้างถนนสายนี้ โดยจอดรถที่ตลาดหมอชิต ถนนพหลโยธิน แล้วเดินเท้าเข้ามา

มีการซื้อที่ดินตรงนั้น โดย “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” เป็นคนดำเนินการกับเจ้าของเดิม แล้วลงมือก่อสร้างอาคารไทยรัฐ พอถนนกรุงเทพฯ – สระบุรี สร้างเสร็จและเปลี่ยนชื่อเป็นถนนวิภาวดีรังสิต อาคารหลังนั้นก็ตั้งตระหง่านเป็นหลังแรกบนถนนกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทยสมัยนั้น จึงได้เลขที่บ้านเป็น “เลขที่ 1”

ไทยรัฐย้ายจากซอยวรพงษ์มาอยู่วิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 13  พฤศจิกายน  2513 และครองความเป็นยักษ์ใหญ่ตราบเท่าทุกวันนี้จากมันสมองและสองมือของ ผอ.กำพล โดยแท้

ผอ.กำพลมาทำงานทุกวัน เหมือนกับนายห้างแสง เหตระกูล ของเดลินิวส์ยุคสี่พระยาแต่ที่มาล่วงหน้าก่อน ผอ.กำพล เป็นรถตู้ออกจากบ้านถนนสุโขทัย นำสุนัขเชาเชาตัวใหญ่ ขนสีทองพองฟูฝูงหนึ่ง โชเฟอร์รถตู้ชื่อ “ปื้ด” (ไม่ใช่ “ไอ้ปื้ด” ลม ๆ แล้ง ๆ  ของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) มีหน้าที่รับส่งสุนัขตัวละเหยียบหมื่นบาท

มาถึงไทยรัฐพอประตูรถเปิด เชาเชาทั้งฝูงจะวิ่งขึ้นไปที่ห้องทำงานของ ผอ.กำพล มีอยู่ตัวหนึ่งที่เข้าไปในห้อง นอกนั้นจะวิ่งกันอยู่แถวนั้น ตัวที่เข้าห้อง  ผอ.กำพลได้นั้นเป็นตัวโปรดของ ผอ.กำพล ซึ่งสมาชิกเชาเชาทุกตัวรู้กันดี และไม่มีใครแย่งชิงเป็นนัมเบอร์วันหจากเจ้านาย

เคยมีคนไทยรัฐเดินทะเล่อทะล่าอีท่าไหนไม่รู้ โดนเชาเชางับที่ขา เลยถูกพรรคพวกแซวว่า ผอ.กำพลต้องเอาหมาไปฉีดยา กลัวติดเชื้อจากเอ็ง

วันลอตเตอรี่ออก ผอ.กำพลจะมีความสุขมากกว่าวันอื่น ไม่ใช่ท่านเป็นนักเล่นหวย คอยลุ้น  2 ตัว 3  ตัวก็หาไม่ แต่ทุกคนในไทยรัฐจะเห็นนายใหญ่ของเขาไปยืนที่หน้าแท่นพิมพ์ คอยรับเงินจากเด็ก ๆ ที่มารอรับหนังสือพิมพ์ หลังจากเสร็จสิ้นการออกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่กี่นาที

เด็กหอบหนังสือพิมพ์ออกทางประตูด้านหลัง คนละ 20-30 ฉบับก็นับว่าหนักเอาการ  วิ่งขายได้กำไรไปให้ครอบครัว ผอ.กำพลก็มีความสุขกับการรับเงินค่าหนังสือพิมพ์จากเด็ก โดยไม่เกี่ยงจะเป็นแบงก์หรือเหรียญ

ไม่ว่าจะอยู่เมืองไทยหรือเมืองนอก ผอ.กำพลบริหารงานไทยรัฐอย่างไม่ขาดตอน ล่วงรู้ทุกเรื่องและตัดสินใจอย่างรวดเร็ว

เมื่อต้นปี 2524 เกิดอุบัติเหตุกลางดึกบนถนนงามวงศ์วาน ข้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ชายหนุ่มที่สิ้นใจคาพวงมาลัยเป็นพระเอกหนังไทยยอดนิยมแห่งยุค เขาคือ “จตุพล  ภูอภิรมย์” ซึ่งได้รับการตัดสินให้เป็นดาราชายยอด ประจำปี 2523 จากภาพยนตร์เรื่อง  “เงาะป่า” แต่ยังไม่ทันได้รับตุ๊กตาทอง  จตุพลก็ลาโลกไปอย่างกะทันหัน แฟนหนังไทยช็อกตาม ๆ  กัน

ไทยรัฐกรอบแรกขายดีเป็นเทน้ำเทท่า เอเย่นต์ในกรุงเทพฯ  และปริมณฑล นำรถมารับหนังสือพิมพ์เองถึงหน้าแท่น  รายละพันสองพันฉบับ เด็ก ๆ ที่เคยขายแต่ฉบับลอตเตอรี่ก็มาซื้อเงินสดไปวิ่งขายเองด้วย พิมพ์เท่าไหร่ไม่พอขาย เพราะมันเป็นข่าวใหญ่และใหญ่มาก

จู่ ๆ แท่นพิมพ์ก็หยุดกะทันหันไปชั่วขณะ ไม่นานนักประมาณว่าไม่เกิน 5 นาที ก็เดินเครื่องได้ตามเดิม

เชื่อไหมครับ เช้าวันนั้น ผอ.กำพลอยู่เมืองนอกรู้ข่าวนี้ทันที โทรศัพท์มาสอบถามสาเหตุกับฝ่ายผลิตก็ได้ความว่า การที่ต้องหยุดเครื่องเพราะมีการเปลี่ยนเพลท เอาผลการออกรางวัลสลากออมสินไปใส่ ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามปกติของวันออกหวยออมสิน

แต่ ผอ.กำพลถือว่าวันนั้นไม่ปกติ  การหยุดเครื่องเพียง 5 นาที ทำให้ไทยรัฐขาดรายได้อันควรจะพึงได้เป็นหมื่นฉบับ มีการสั่งลงโทษผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ “หยุดแท่น” ครั้งนี้ด้วย เป็นการสอนบทเรียนให้พนักงานโดยตรงว่า ในสภาวะที่ทุกคนเคยชินกับคำว่า “ปกติ” แต่ในมุมมองของผู้บริหารมืออาชีพ  ผอ.กำพลบอกว่า “มันไม่ปกติ” กองบรรณาธิการกับกองการผลิตจะต้องปฏิบัติอย่างไร การเปลี่ยนเพลทเอาผลการออกรางวัลสลากกินออมสินไปใส่ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน    พอจำนวนหนังสือพิมพ์มันอิ่มตัวในตลาดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ก็สามารถหยุดเครื่องเปลี่ยนเพลทได้

อย่างที่รู้กันว่า ผอ.กำพลเรียนจบแค่ประถม 4 แม้จะประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างสูงส่ง แต่ ผอ.กำพลคำนึงถึงความสำคัญของการศึกษาตลอดเวลา เมื่อปี 2521 ไทยรัฐไปสร้างอาคารเรียนให้ ร.ร.บ้านหัวช้าง ต.ท่าศาลา อ.เมืองลพบุรี  แล้วมอบให้ทางราชการ เป็น ร.ร.ไทยรัฐวิทยาแห่งแรก

ผอ.กำพลมีแนวความคิดต่อยอดว่า ต่อ ๆ ไปต้องมี ร.ร.ไทยรัฐวิทยาอีก ควรมีองค์กรเข้ามาอุปถัมภ์ดำเนินการกับโรงเรียนเหล่านี้โดยตรง จนกระทั่งวันเกิดตัวเองครบรอบ 60 ปี   วันที่ 27  ธันวาคม 2522 “มูลนิธิหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” จึงแจ้งเกิดในวงการศึกษาด้วยเงินส่วนตัวของ ผอ.กำพล ประเดิม 1  ล้านบาท และเปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิไทยรัฐ” ในเวลาต่อมา  เป็นองค์กรสาธารณกุศล ดูแล ร.ร.ไทยรัฐวิทยาทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีกว่า  100 แห่ง

ผมอยู่ไทยรัฐขณะมี ร.ร.ไทยรัฐวิทยา หลังที่ 8 อยู่บ้านมะขาม ต.มะขามสูง อ.เมืองพิษณุโลก มีพิธีส่งมอบให้ทางราชการ  นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มารับมอบด้วยตนเองที่พิษณุโลก

การเฉลิมฉลองยิ่งใหญ่มาก ตามประสายักษ์ใหญ่ไทยรัฐ ศิลปินดาราทุกภาคส่วนไปร่วมงานมากมาย และที่ฮือฮามากคือ มีหนังจอยักษ์ของ “แอ๊ด เทวดา” ไปสร้างความตื่นตะลึงให้ชาวเมืองสองแคว

แม้ผมจะอยู่ไทยรัฐไม่นานนัก แต่ผมไม่เคยลืมบุคคลอีกคนหนึ่ง

ครับ “ทองเติม เสมรสุต” หัวหน้ากองการผลิต หรือ “น้าเติม”  ของไทยรัฐ

ผมรู้จักกับน้าเติมเพราะต้องลงไปที่ห้องฝ่ายผลิตชั้นล่าง เพื่อประสานงานหน้าข่าวภูมิภาคซึ่งผมดูแลอยู่ โผล่เข้าห้องฝ่ายผลิตต้องเจอน้าเติม เพราะน้ามีโต๊ะทำงานอยู่ด้านหน้าของห้องจะเข้าไปข้างในต้องผ่านโต๊ะน้าเติม ผมยกมือไหว้น้าทุกครั้งที่เข้าออกจนคุ้นหน้าคุ้นตากัน

เย็นวันหนึ่ง เลิกงานผมจะกลับบ้าน เดินผ่านห้องฝ่ายผลิต ยกมือไหว้น้าเติม ก็ได้ยินเสียงน้าเรียกเข้าไปในข้างใน น้าเติมถามว่าผมกินเหล้าหรือเปล่า ตอบไปตามตรงว่าผมเป็นคนกินเหล้าครับ

น้าเติมชี้ไปที่เก้าอี้หน้าโต๊ะทำงาน พอผมนั่ง น้าเติมก็หยิบแก้วมาวางตรงหน้าผม พร้อมกับรินแบล็กเลเบิลใส่พอประมาณ คีบน้ำแข็งใส่สองก้อน เทโซดาลงไปคลุกเคล้ากันดี น้าเติมชงให้ผมเสร็จ ผมไหว้ขอบคุณ ยกแก้วไปกระทบกับแก้วของน้าเติม ซึ่งน้านั่งละเลียดมาก่อนแล้ว

เป็นแก้วแรกที่น้าเติมชงให้ผม ถือว่าเป็นเกียรติอย่างยิ่ง เพราะแก้วต่อไปในวันนั้นและอีกหลายวันต่อมา ผมรินเองชงเองตามอัธยาศัย

ที่ไทยรัฐ นอกจาก ผอ.กำพลกับน้าเติมแล้ว ผมไม่เคยเห็นใครที่สามารถกินเหล้าในสำนักงานได้ และก็น่าจะมีผมนี่แหละเป็นคนที่สาม

น้าเติมมีตู้เย็นเล็ก ๆ อยู่ด้านข้างโต๊ะ เอาไว้สำหรับแช่โซดาทำน้ำแข็งก้อน น้าเติมจะมีความสุขหลังจากผ่านงานหนักประจำวันจากแบล็กโซดาเย็นเจี๊ยบ

ผมกับน้าเติมถ้อยทีถ้อยดื่ม สนทนากันตามประสาน้าหลาน ไม่มีกับแกล้มครับ แต่วันหนึ่งน้าหยิบขวดเล็ก ๆ บรรจุผงสีเหลืองมาวางบนโต๊ะ ถามผมว่าเคยกินเหล้า “ตาเกล่า”ไหม เหล้าเม็กซิกันหรือยังไงนี่แหละ สีขาวกลิ่นฉุนกึกเหมือนเหล้าเถื่อนไทยแลนด์ ฝรั่งจะเอาเกลือป่นทาไว้ที่ขอบแก้วด้านหนึ่ง ดื่มตาเกล่าอีกด้านแล้วค่อยมาเลียเกลือว่ากันว่า มันละมุนละไมไปอีกแบบอีกรสชาติ ผมตอบว่าเคยครับ

น้าเติมกำมือซ้ายแล้วเทผงสีเหลือง ใส่ตรงรอยบุ๋มระหว่างนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ มือขวายกแก้วแบล็กโซดาขึ้นดื่มแล้วเลียผงสีเหลืองนั้น น้าเติมบอกว่าวิธีดื่มเหมือนตาเกล่านั่นแหละเพียงแต่เป็นแบบไทย ๆ

ผมลองมั่ง เข้าท่าดีเหมือนกันครับ น้าเติมอธิบายความว่า  ผงสีเหลืองนั้นเรียกว่า “สะล่ามอง” เป็นยาหอมของพม่าแก้ลมวิงเวียนคลื่นเหียนอาเจียน คนในภาคเหนือนิยมกันมาก ทำจากเครื่องเทศมีชะเอมรวมอยู่ด้วย  มิน่ามันถึงมีรสค่อนข้างหวานแต่ชื่นใจ น้าเติมสั่งคนขับรถส่งหนังสือพิมพ์ซื้อมาจากเชียงใหม่เป็นประจำ

กินเหล้าคนเดียวมันไม่อร่อยครับ แต่คนที่ร่วมวงสุราต้องเป็นคนรู้ใจกัน พูดจากันรู้เรื่อง ผมกับน้าเติมจึงถ้อยทีถ้อยดื่ม ถ้อยทีถ้อยสนทนา ส่วนใหญ่น้าจะถามว่า ทำไมผมถึงลาออกจากเดลินิวส์ ทำไมลาออกจากเสียงปวงชน  ผมก็ตอบไปตามความจริง โดยไม่มีการบิดเบือนเพื่อเอาดีใส่ตัวเอง

ผมไม่กล้าถามเรื่องที่เกี่ยวกับตัวน้า แต่ก็พอรู้ปูมหลังมาบ้าง นอกจากเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องการพิมพ์ระบบออฟเซท น้าเติมเป็นนักหนังสือพิมพ์เก่า ในอดีตมีหนังสือพิมพ์ชื่อ “สุวัณณะภูมิ” เขียนอย่างนี้ครับ น้าเติมร่วมกับเพื่อนน้ำหมึกอีก 3 คน “อิศรา อมันตกุล”

“เสนีย์ เสาวพงศ์”  “วิตต์ สุทธิเสถียร”  สร้างหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ขึ้นมาในบรรณพิภพ

หนัก ๆ เข้าผมเกรงใจน้าเติม เลิกงานแล้วบางทีผมก็ออกประตูหลังไทยรัฐไปขึ้นรถเมล์ที่สวนจตุจักร บางครั้งออกประตูหน้าก็พยายามเดินเลี่ยงไม่ให้ผ่านห้องน้าเติม ผมรู้ว่าน้าเติมไม่ได้คิดอะไรเลยเถิด แต่กลัวคนในไทยรัฐนั่นแหละจะมองผมในภาพลักษณ์มอซอ นาน ๆ จึงจะแวะไป ไม่บ่อยนักแค่อาทิตย์ละสองสามวัน

เย็นวันหนึ่ง ผมกับน้าเติมกำลังกระทบแก้วกันอย่างมีความสุข ขณะที่ ผอ.กำพลก็มีความสุขกับการเตะตะกร้อกับลูกน้องฝ่ายยานพาหนะที่ลานกว้างด้านหน้าไทยรัฐ หลายคนเป็นลิเกเก่าที่  ผอ.กำพลรับมาเป็นพนักงานขับรถ

คนขับรถคนหนึ่งเข้ามาในห้องน้าเติม บอกว่า ผอ.กำพลขอเหล้าแก้วหนึ่ง น้าเติมจัดการชงแบล็กโซดาเย็นเจี๊ยบให้ทันที ผอ.กำพลเตะตะกร้อไปจิบเหล้าไปด้วย อยากรู้ไหมครับแล้วกับแกล้มของ ผอ.กำพลคืออะไร

ข้างรั้วไทยรัฐด้านหน้า มีร้านอาหารตามสั่งอยู่ร้านหนึ่ง เป็นร้านประเภทเพิงหมาแหงนไม่หรูหราอะไร ผอ.กำพลให้ลูกน้องไปซื้อกับแกล้มเหล้าร้านนั้น

กะเพราทอดกรอบครับ กะเพราอย่างเดียวไม่มีเนื้อสัตว์เจือปน จะว่าขี้เหนียวก็ไม่เชิง ออกไปในทางมัธยัสถ์มากกว่า มหาเศรษฐีพันล้านกินง่ายอยู่ง่าย ไม่เคยลืมเงาตัวเอง.

 

RELATED ARTICLES