“หน่วยงานของผม มีแต่เป็นคุณแก่ประชาชน ไม่มีโทษต่อประชาชน”

 

แทบจะเรียกได้ว่าเป็น “ลูกหม้อ” ของหน่วย “เวหา” เจ้าของฉายา “ม้าขาว”

พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร ผู้บังคับการกองบินตำรวจ ตั้งหน้าตั้งตาลุยงานทำหน้าที่ผู้นำฝูงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพของหน่วยที่ตัวเองฟูมฟักมานานหลายปีให้ดีที่สุด ภายใต้วิสัยทัศน์ “ปฏิบัติการบินอย่างมืออาชีพเป็นสากล เพื่อความมั่นของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความปลอดภัยของประชาชน”

นับเป็นภารกิจของฮีโร่ที่ “ปิดทองหลังพระ” กันมานาน สร้างตำนานผ่านหลายยุคหลายสมัย คืออีกหน่วยที่สร้างความภาคภูมิใจของเหล่าผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

นิตยสาร COP’S ฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกองบินตำรวจ ผู้ที่หลายคนใฝ่ฝันอยากมานั่งไต่เวหาไม่แพ้หน่วยกองทัพอากาศ

พลิกปูมหน่วยนักรบเวหา กว่าจะมาเป็นกองบินตำรวจ

ย้อนประวัติของกองบินตำรวจ เริ่มตั้งแต่ปี 2493 กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยบินโดยให้ขึ้นตรงกับกองตำรวจนครบาล วังปารุสกวัน และให้เก็บรักษาเครื่องบินไว้ที่ สนามเสือป่า ต่อมา กรมตำรวจขอใช้สถานที่ในกองทัพอากาศดอนเมืองเป็นที่ตั้งหน่วยใหม่ เรียกชื่อว่า กองสื่อสารทางอากาศ ขึ้นกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ในปี 2504 กรมตำรวจจัดตั้งหน่วยขึ้นมาอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ กองกำกับการบินลำเลียง ขึ้นกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ก่อนจะทำลองตั้ง “กองบินตำรวจ” ขึ้นอีก 6 ปีต่อมา และแต่งตั้งให้ พ.ต.อ.พิชิต รักษนาเวศ หัวหน้าฝ่ายอำนวยการตำรวจตระเวนชายแดนทำหน้าที่ผู้บังคับการกองบินตำรวจ

หลังจากนั้นได้สร้างอาคารที่ทำการต่าง ๆ ขึ้น ตั้งแต่ปี 2511 แล้วเสร็จในปีถัดมา บนเนื้อที่ 222 ไร่ ตั้งอยู่แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งในปัจจุบัน กระทั่งวันที่ 18 พฤศจิกายน 2512 ได้มีพระราชกฤษฎีกาตั้ง กองบินตำรวจ ขึ้นเป็นหน่วยงานระดับกองบังคับการขึ้นตรงกรมตำรวจ มีชื่อย่อ บ.ตร.

ได้ลูกหม้อหัวใจนักบริหาร จบสามพรานก่อนมาเป็นพลร่ม

ย่างเข้าสู่ปีที่ 47 ของการก่อตั้งกองบินตำรวจ พล.ต.ต.กำพล กุศลสถาพร นั่งผู้นำบริหารหน่วยเต็มตัว มีความตั้งใจอย่างเต็มเปี่ยมที่จะพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถของฝูงเวหาสีกากีไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครในภูมิภาคนี้ ด้วยประสบการณ์ที่ยาวนานทำให้เขาตอบโจทย์ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ได้ดีกว่าใคร เป็นเหตุแก้ไขได้ตรงจุด

พล.ต.ต.กำพล เป็นคนกรุงเทพ พ่อรับราชการกรมโยธาธิการ เรียนจบมัธยมปลายโรงเรียนหอวัง ก่อนมาสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 “จริงๆ ผมไม่ได้คิดจะเป็นตำรวจ ตอนแรกอยากเป็นป่าไม้คุณพ่อบอกว่าเป็นป่าไม้ก็ได้อยู่แต่ดูไม้ แต่คนทำผิด จับแล้วก็ต้องส่งตำรวจ ถ้าอยากเป็นจริงๆ ทำไมไม่เป็นตำรวจไปเลย ได้ดูแลทุกอย่างตั้งแต่จับไปเลย ก็น่าสนใจดี คือ ครอบครัวผลักดันอยากให้เป็นตำรวจมากกว่า”

ออกพ้นรั้วสามพรานเลือกบรรจุลงเป็นตำรวจพลร่ม กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เจ้าตัวให้เหตุผลว่า  แรงบันดาลใจที่สำคัญ คือ ตอนเป็นนักเรียน ท่านสาโรจน์ ปัญญา ตอนนั้นเป็น ผู้บังคับค่ายพลร่มนเรศวรเข้ามาพูดคุยจึงอยากเป็นตำรวจพลร่มชายแดน อยู่ได้ 3 ปี ตัดสินไปเรียนบินเพื่อมาเป็นนักบิน

อยากขับเครื่องปีกหมุน ชิงทุนไปเรียนฝึกเฮลิคอปเตอร์

“มันเป็นความใฝ่ฝันของเด็กหนุ่มคนหนึ่งตอนนั้นว่า ถ้าได้บิน มันก็เท่ดี แต่ที่อยากเป็นข้อแรกไม่ใช่ว่าเท่ คิดว่า เป็นตำรวจพลร่ม มันต้องมีเครื่องบิน แล้วทีนี่พลร่มจะไปโดดแต่ละครั้งมันต้องรอนักบิน ตอนนั้นหน้าค่ายนเรศวรจะมีโรงเก็บอากาศยาน บ้านพักกับโรงบินห่างกันแค่ 20-30 เมตร ผมก็ไปเลย คุยกับพี่นักบินทุกวัน เขาเลยชวนขึ้นเฮลิคอปเตอร์นั่งไปกับเขา” พล.ต.ต.กำพลเล่าเรื่องราวที่ผ่านมา

ผู้บังคับการกองบินตำรวจบอกว่า จังหวะนั้นพอดีกรมตำรวจมีทุนให้นายตำรวจชั้นสัญญาบัตรไปสอบรับทุนไปเรียนบิน แต่ต้องกลับมาทำงานใช้ทุนอีก 8 ปี ได้ไปเรียนที่โรงเรียนการบินทหารบก เรียนขับเฮลิคอปเตอร์ ที่เลือกเฮลิคอปเตอร์ เพราะไปถามแฟน เขาก็ถามว่า มันต่างกันตรงไหน เราบอกว่า นักบินเครื่องบินมีโอกาสที่จบไปจะไปอยู่สายการบิน ทำงานแอร์ไลน์ รายได้ดี หาเลี้ยงครอบครัวได้

“ถ้าเป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ ตลาดไม่เยอะต้องรับราชการ ตังค์น้อย แต่ภูมิใจ ได้รับราชการ ทำงาน แฟนให้เวลาคิด 1 วินาที ผมก็เลือกเฮลิคอปเตอร์ แฟนเลยบอกว่า ตัวเขาทำงานเอกชนอยู่แล้ว มีเงินเดือนเลี้ยงครอบครัว อยากให้ผมทำหน้าที่เพื่อประเทศชาติมากกว่า และเขาคงห้ามเราไม่ได้ ให้เลือกตามที่อยากจะเป็นมากกว่า แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะมาเป็นแบบนี้มาถึงจุดนี้”

ประทับใจได้ช่วยเหลือชาวบ้าน สร้างตำนานฮีโร่กู้ผู้ประสบภัย

นายพลเจ้าเวหายอมรับว่า ตอนแรกคิดว่า ถ้ามีโอกาสจะกลับไปเป็นนายเวร หรือไปอยู่ตำรวจตระเวนชายแดน พอมาอยู่ไปเริ่มเข้าใจหน้าที่งานตรงนี้ เห็นได้เลยว่า หน้าที่ของตำรวจ นอกจากป้องกันปราบปรามแล้ว ก็ยังมีหน้าที่ช่วยเหลือประชาชน ปรากฏว่า ช่วงที่เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์ มีสิ่งที่ประทับใจอยู่ 3 เรื่อง เรื่องแรก คือ ได้ช่วยชาวบ้าน พาหมอในโครงการมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีไปช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วย แล้วไม่มีโอกาสมาหาหมอในเมือง เพราะอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ก็ได้ทำตรงนี้

พล.ต.ต.กำพลขยายความต่อว่า อีกเรื่องคือ ได้ส่งตำรวจตระเวนชายแดนที่ทำหน้าที่เฝ้าแนวชายแดนจริงๆ ที่ปะทะบาดเจ็บ รู้สึกว่า ชีวิตพวกเขามีค่า เห็นการปะทะ มีการบาดเจ็บ ล้มตาย เราเป็นเฮลิคอปเตอร์ขนส่งยังต้องติดปืน แต่เป็นปืนเล็กไปเท่านั้น เพราะเราจะเป็นลักษณะเหมือนการส่งกำลัง หรือว่า การรับกำลังกลับ การส่งคนกลับ คนป่วย คนตาย หน่วยตอนนั้นกำลังอยู่ที่หน่วยบินกาญจนบุรี เป็นหน่วยบินที่มีภารกิจการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งป้องกันรักษาป่า ส่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ด้านความมั่นคงตลอดแนวชายแดนเยอะที่สุดในประเทศ

ส่วนความประทับใจสุดท้ายของชีวิตนักบิน พล.ต.ต.กำพลว่า คือ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย เคยบินช่วยผู้ติดอยู่บนอาคารเพรสซิเด้นท์ทาวเวอร์ที่ถูกไฟไหม้ หรือที่โรงแรมรอยัลจอมเทียน ช่วยเหลือปู โลกเบี้ยว บอลลูนตกหลงป่าเขาใหญ่ อีกทั้งช่วงเหตุการณ์เกิดภัยพิบัติสึนามิ บอกได้เลยว่า ช่วงชีวิตที่บินเฮลิคอปเตอร์คุ้มค่าที่สุด คือภารกิจที่ได้ช่วยเหลือเหตุการณ์เหล่านี้

ถวายงานเป็นนักบินพระที่นั่ง เกินฝั่งฝันแห่งความภาคภูมิใจ

ถึงกระนั้น พล.ต.ต.กำพล ยังมีโอกาสถวายงานรับใช้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ เวลาเสด็จฯ ทรงงาน รวมถึงสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามราชกุมารี ที่ทรงงานต่อแทนสมเด็จย่า และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดาร “ก่อนหน้าผมเป็นนักบินอยู่ในขบวนอารักขา บินรับใช้เรื่อยมา กระทั่งปีนี้ มีโอกาสออกมาถวายงานเป็นนักบินพระที่นั่งบินถวายงานสมเด็จพระเทพฯ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดไม่ได้”

นับเป็นพันธกิจของหน่วยหลักที่สำคัญ ที่เจ้าตัวกำหนดไว้ว่า ต้องปฏิบัติการบินเป็นพระราชพาหนะและถวายความปลอดภัยแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ พระบรมวงศานุวงศ์ และพระราชอาคันตุกะของทุกพระองค์

นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่สนับสนุนอากาศยานเพื่อปฏิบัติภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปฏิบัติงานร่วม หรือสนับสนุนการปฏิบัติของส่วนราชการอื่นๆที่ร้องขอการสนับสนุน บำรุงรักษาอากาศยานให้พร้อมใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล พัฒนาบุคลากรให้มีความเป็นมืออาชีพเพื่อสร้างความเข้มแข็งขององค์กร และปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือการพัฒนาประเทศตามนโยบายรัฐบาลให้เกิดผลสัมฤทธิ์

 

ยึดรุ่นพี่ครูเป็นต้นแบบ แอบย่องเจริญรอยตาม

ชีวิตราชการที่ผ่านมาเขาเล่าอีกว่า มีต้นแบบครูนักบินอย่าง พ.ต.อ.สิริพันธ์ ทรัพย์สำรวย ลูกชายสวง ทรัพย์สำรวย หรือล้อต๊อก อดีตดาวตลกดัง ถือเป็นครูการบินที่เราประทับใจในตัวท่าน คือ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ อยู่โรงพัก อยู่สื่อสารแล้วมาเป็นนักบิน เป็นนักบินที่มีความรู้ มีฝีมือ ข้อสำคัญ คือ มีความเป็นครูในการถ่ายทอด ทำให้เรามีความประทับใจว่า การถ่ายทอดของท่านสัมฤทธิ์ผล และสร้างแรงบันดาลใจ ความฝันของเราสมัยเมื่อ 20 ปีก่อน

นายพลกองบินตำรวจบอกว่า ยุคก่อนส่วนใหญ่เป็นเครื่องฮิวอี้ มีเครื่องวัดประกอบการบิน สมัยนี้ถือว่าเป็นหลักสูตรบังคับที่นักบินทุกคนต้องเรียน ด้วยความที่ครูมีวิสัยทัศน์ของแก สมัยก่อนไม่ได้บังคับให้เรียน แกบอกว่า อยากให้สักวัน นักบินตำรวจขึ้นไปอยู่บนแอร์เวย์ แล้วก็มีคอร์สประกอบคอนโทรล ก็ความฝันของครู “ผมก็เอามาลองทำดู มาเป็นครูการบินบ้างอะไรบ้างจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ยุคใหม่ เฮลิคอปเตอร์ตำรวจทุกลำที่ซื้อตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา จะเป็นเฮลิคอปเตอร์ที่ทำการบินได้ทุกสภาพอากาศ”

“เครื่องรุ่นใหม่ สามารถทำการบินกลางคืน สามารถใช้เครื่อง กล้องมองกลางคืน ถ้าได้รับการฝึกเพิ่มเติม เช่น เครื่อง เอเอส 365 ยูโร รุ่นล่าสุด ที่ใช้ภารกิจกู้ภัยจริงๆ กำลังรอสนับสนุนงบประมาณของรัฐเพื่อติดอุปกรณ์เพิ่มขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอีก” พล.ต.ต.กำพลสาธยายเขี้ยวเล็บ

 

เร่งพัฒนาศักยภาพองค์กร เตรีมรองรับขั้นตอนเผชิญภัยพิบัติ

เจ้าตัวบอกอีกว่า ปัจจุบันกองบินตำรวจมีเครื่อง 40 กว่าลำ กำลังทยอยได้รับจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มเติม เช่นเดียวกับรัฐบาลเตรียมสนับอีก 8 ลำ เป็นเครื่องพยาบาล 2 ลำ พยาบาลกู้ภัย เน้นภารกิจพวกนี้โดยเฉพาะ เนื่องจากช่วง 4-5 ปี ที่ผ่านมา ทั้งผู้บังคับบัญชา และรัฐบาลให้เครื่องกู้ภัยกับเรามาตลอด เป็นการรองรับอนาคตกรณีมีพิบัติภัย และเตรียมการเข้าสู่อาเซียน

นายพลนามเรียกขานเวหา 1 เผยอีกว่า หลายโครงการเป็นไปตามแนวคิดอดีตผู้บังคับบัญชาที่ต้องการให้ตำรวจช่วยเหลือประชาชน เป็นแนวคิดดีๆ ของท่าน เราก็เอามาใช้ตลอด ท่านเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรู้เยอะ เราก็ต้องเอามาใช้ เราก็ถือโอกาสเป็นฟองน้ำ ดูดซับเอามาใช้บ้าง นอกจากเฮลิคอปเตอร์ปีกหมุนแล้ว ยังมีเครื่องบินขนาดใหญ่ ไว้สำหรับขนส่งกำลังพลไปช่วยเหลือในการป้องกันและปราบปราม ซึ่งเราไม่รู้ว่าเหตุนั้นจะต้องใช้กำลังคนเท่าไหร่ แถมไม่ใช่เฉพาะคนแต่อุปกรณ์ที่ต้องนำไปด้วยในการช่วยเหลือขนย้าย อพยพคนอีกเท่าไหร่ และที่สำคัญการเคลื่อนย้ายผู้ต้องหาจำนวนมาก การไปฝากเครื่องบินแอร์ไลน์ สายการบินไหนจะรับ

ผู้นำกองทัพม้าขาวฉายภาพองค์กรต่อว่า เราต้องขนศพตำรวจ ทหารที่เสียชีวิต ผู้ร้ายสำคัญ บางครั้งใช้เฮลิคอปเตอร์ไม่ได้ ต้องใช้เครื่องบินใหญ่ที่เวลานี้มีอยู่ 3 ลำ ประกอบด้วย แบบฟอกเกอร์ แบบคาซา และสกายแวน และกำลังจะทำงบประมาณสัก 200 ล้านบาท ปรับปรุงเครื่องบินที่มีอยู่ตรงนี้ ให้สามารถเหมือนเครื่องลำใหม่ที่ราคาพันกว่าล้านได้

สร้างงานมวลชนภาคพื้นดิน  ทำกองบินอยู่ในใจประชาชน

จะว่าไปแล้วภารกิจของกองบินตำรวจรุ่นใหม่ไม่ใช่วาดลวดลายในหน้าที่บนอากาศอย่างเดียว พล.ต.ต.กำพล วางวิสัยทัศน์ด้วยการจัดกำลังบูรณาการกับสำนักงานเขตบางเขน เช่น อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเข้ามาร่วมทำกิจปลูกต้นไม้ต่อต้านยาเสพติดให้ชุมชนรอบข้างกองบินตำรวจ  เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตำรวจกับประชาชน

“อย่างน้อยหน่วยงานของผม มีแต่เป็นคุณแก่ประชาชน ไม่มีโทษต่อประชาชน ชาวบ้านไม่น่าจะเกลียด เพราะเราช่วยเหลือประชาชน มีสัมพันธ์อันดีกับประชาชน ทำภาพลักษณ์ที่ดี เรื่องนี้ ผมเห็นด้วยกับแนวทางของท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ควรจะมีภาพลักษณ์ที่ดี แทนที่เราจะไปต่างคนต่างอยู่กับชาวบ้าน เราก็เชิญชาวบ้านมาทำกิจกรรมร่วมกันกับเราเสียเลย มีอะไรเป็นกิจกรรมที่ต้องทำ ต้องไปช่วย เราก็เอารถน้ำไปช่วย”

“เขาเรียกว่าอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เราให้เขา เขาก็ให้เรา ปีใหม่เราเอากระเช้าไปให้ เดี๋ยวท่านก็เอาต้นไม้มาลงให้ แท้พื้นที่กองบินตำรวจจะถูกหลายหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอไปสร้างอาคารสถานที่ เราก็ยินดี เพราะเราต้องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้คุ้มค่า”

 

ยอมรับอุปสรรคปัญหา พยายามค้นหาวิธีการแก้ไข

ถามว่า อุปสรรคปัญหาของกองบินตำรวจ คือ อะไร พล.ต.ต.กำพล ยิ้มตอบว่า ส่วนใหญ่เวลาไปประชุม ผู้บังคับบัญชามักพูดติดตลกว่า ห้ามพูดอยู่ 2 อย่าง ขาดคน กับขาดตังค์ ถ้าเอาความเป็นจริง อัตราอนุญาตของกองบินตำรวจ มีทั้งหมด 800 คน แต่เรามีกำลังพลทั้งสิ้นประมาณ 500 คน นักบินเรามีอยู่ประมาณ 50 คน ช่างเรามีอยู่ 200 กว่าคนเศษ ก็ได้มาอีก 50 แล้วอัตราการสูญเสียนักบิน ปีหนึ่งเราจะสูญเสียประมาณ 3-5 คน ช่วงที่ผ่านมา 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดบูมตำรวจก็ออกกันไป ตอนนี้ปัญหา คือ อย่าให้เครื่องกองบินตำรวจบินได้ทุกเครื่องนะ เพราะปัญหา คือ ไม่มีนักบิน

ลูกหม้อกองบินตำรวจว่า ตอนนี้มีทุนให้ไปรับกำลังพลเองได้ เราก็ส่งที่สถาบันการบิน แต่ถ้าในภาคของเฮลิคอปเตอร์เราผลิตได้ปีละ 5 คน จริงๆ ต้องทำทั้งสองอย่าง คือ ทั้งทุนของตัวเอง และรับบุคคลภายนอกที่มีความสามารถในการปฏิบัติการบินเอามารับราชการ ที่สำคัญ คือ ตำแหน่งวิศวกรการบิน เรามีอัตราอยู่ 20 แต่มีคนอยู่ 2 คน เพราะข้อเท็จจริงแล้ววิศวกรการบิน มีหน้าที่เปิดตำรา ดูการซ่อมเครื่อง ยังดีที่เรามีช่างที่เชี่ยวชาญอยู่ส่วนหนึ่ง ที่พอช่วยได้

พล.ต.ต.กำพลชำแหละหน่วยต่อว่า ช่างเครื่องเมื่อก่อน อายุเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 52 ปี เมื่อสักประมาณ 2-3 ปีที่แล้ว แต่ตอนนี้อายุเฉลี่ยช่างลดน้อยลง เพราะเราได้รับเด็กใหม่เข้ามา อันนี้ เบาลงหน่อย ยังสบายไปได้อีกหลายปี แต่ว่าส่วนหนึ่งที่ขาดแคลน ส่วนหนึ่งก็ต้องปรับ ก็เรียนทางท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติไปแล้วว่า สิ่งที่อยากได้ คือ กำลังพล ด้านการรักษาความปลอดภัยสัก 2 หมู่ 24 คน เพราะอะไรรู้ไหม เพราะจริงๆ เป็นหน่วยกำลัง เราเป็นกำลังทางอากาศ แล้วมีกำลังทางบกด้วย ต้องทำทุกอย่างทั้งการรักษาความปลอดภัยสถานที่ การช่วยเหลือ กู้ภัย การสอบสวนทางนิรภัย การวางแผน

เป็นผู้นำทำตัวอย่างให้เห็น  ไม่เอางบมาเซ่นเข้ากระเป๋าตัวเอง

“ผมว่า เป็นปัญหาของทุกที่ คือ การขาดปฏิสัมพันธ์ทางบวก เพราะงานมันจะมีทางลบกันเยอะ เดี๋ยวก็เถียงกัน ขัดใจกัน แต่จะไปทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ทางบวก รีเรชั่น คิดเชิงบวก ต้องอาศัยอีเว้นท์ดีๆ ผมให้ความสำคัญเรื่องนี้นะ การพัฒนาคน ผมมองไปที่ สภาพแวดล้อมการทำงาน ห้องทำงานผม ทำไว้ เพื่อให้สภาพแวดล้อมในการทำงานมันน่าทำงาน”

“แล้วสิ่งหนึ่งที่ผมได้รับการสั่งสอนตั้งแต่เด็กแล้ว คือ ถ้าอยากให้คนอื่นเขาทำแบบไหน เราต้องทำเป็นตัวอย่างให้เขาดูเสียก่อน ก็ทำให้เขาเห็น อันดับแรกตั้งแต่ผมเป็นผู้บังคับการเลย คือ ลูกน้องผมต้องมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ครอบครัวเขาต้องดูแลได้  มีปัจจัยการทำงาน ผมประกาศไว้แต่ครั้งแรกแล้วว่า งบประมาณของกองบินตำรวจเพื่อราชการโดยแท้ ไม่ใช่สำหรับผู้บังคับการ” พล.ต.ต.กำพลสีหน้าจริงจัง

เขายืนยันว่า ผู้บังคับการมีหน้าที่รับผิดชอบและบริหารต่องบประมาณตรงนี้ เพราะฉะนั้นอะไรก็ตาม ถ้าเพื่อราชการก็เต็มที่ รับประกันได้ว่า ไม่มีอะไรของผู้บังคับการเลย งบประมาณค่าใช้สอยประมาณ 40 ล้านบาท ผู้การได้งบประมาณจากการเดินทาง 2,000 บาท เบี้ยเลี้ยงเดินทางไปราชการของลูกน้องเราให้หมด “นโยบายของผมง่ายๆ ซิมเปิ้ลมาก ผมมาตรงนี้ปั๊บ ทุกคนเข้าใจแล้วว่า ข้าราชการบางคน อาจจะเห็นว่า มีการอมตังค์ อมน้ำมัน ปรากฏว่า ถ้าใครสงสัย สามารถเปิดดูได้ ผู้บังคับการกองบินตำรวจ ประกาศแต่แรกแล้วว่า เพื่อราชการโดยแท้ เพราะฉะนั้นสบายใจได้ แล้วก็ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง ผมไม่เคยเอาเงินราชการเข้าตัว น้ำมันไม่ต้องห่วง ผมคิดจะทำงาน ก็ให้มีน้ำมันใช้ แต่ผู้การก็ออกค่าน้ำมันเองทุกครั้ง ไถตังค์ภรรยา ทุกอาทิตย์ แต่ทุกคนก็อาจไม่ได้อยู่ในสภาพผม”

 

ผ่านประสบการณ์โชกโชน อยากโยนคืนถิ่นชายแดนในอนาคต

“ใครมาช่วยราชการ ผมจ่ายหมด จ่ายเต็มที่ด้วย เพราะผมถือว่าเงินตรงนี้เพื่อราชการ โดยเฉพาะคนที่ไปทำงานช่วยเหลือประชาชน เช่น พวกที่ไปทำงานที่ตาก ตอนนี้ขนของเตรียมรับเสด็จ ผมส่งไปหมด เงินจ่ายหมด ผมคิดว่า หลังจากนี้ไป ผมไม่เสียใจที่ได้ทำ เพราะเราทำเพื่ออะไรเรารู้ เราไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์ พอไม่มีก็ง่าย โอทีจ่ายทุกวัน ไม่มีจ่ายเข้าบัญชีผู้การ ผมใช้วิธีจ่ายตรงให้กับตำรวจโดยตรงเลย โอนให้แต่ละคนเลย” ผู้บังคับการกองบินตำรวจว่า

ผ่านประสบการณ์โชกโชนมาตั้งแต่เป็นตำรวจตระเวนชายแดนออกรบอยู่แถวเนิน 62 ช่องบกบัว จังหวัดสุรินทร์ บางครั้งเขาคิดว่า หากหมดภารกิจกองบินตำรวจอยากจะกลับไปอยู่ตำรวจตระเวนชายแดนจุดเริ่มต้นในอาชีพตำรวจ ไม่คิดอยากไปทำงานพื้นที่ภูธร หรือนครบาลเลย

“นับตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ผมมีความใฝ่ฝันเป็นพลร่ม ก็ได้เป็นแล้ว เป็นนักบินกองบินตำรวจ ก็ได้ทำหน้าที่ทุกระดับ ตั้งแต่เป็นนักบินเล็กๆ เด็กๆ ยศ ร.ต.ท. – ร.ต.อ.เป็นหัวหน้าฝูง เป็นหัวหน้ากลุ่มงานการบิน มาในไลน์นี้จนจบแล้ว หลังจากนี้ ตามฝันอีกที ก็คงขอกลับไปตำรวจตระเวนชายแดนถ้าเป็นไปได้” พล.ต.ต.กำพลระบายความรู้สึกทิ้งท้าย

 

RELATED ARTICLES