“ความสามารถของคน ไม่ได้วัดที่ความสำเร็จ มันอยู่ที่ว่า เราสร้างคุณค่าของงานได้ไหม”

 

ได้รับความไว้วางใจให้กุมบังเหียนทัพตำรวจอีสานใต้

ถิ่นกำเนิดของตัวเอง

พล...ภาณุรัตน์ หลักบุญ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 มุ่งขับเคลื่อนเนื้องานตามแบบฉบับ คนรุ่นใหม่ลงสัมผัสลูกน้องระดับล่างแบบใกล้ชิด ไม่ยึดติดความเป็น นาย ลอยตัวอยู่เหนือปัญหา

เน้นมุมมองเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและชาวบ้านเป็นหลัก

ตามแนวคิดที่ประกาศไว้ชัดเจน

บังคับการใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม หัวใจเปี่ยมจิตอาสาในหน้าที่ นำสมัยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี ก่อเกิดมีสร้างศรัทธาประชาชน

ถือเป็นนายพลระดับผู้นำหน่วยตัวอย่างที่น่าศึกษาอีกคน

 

ขานรับนโยบายแม่ทัพใหญ่ นำไปขับเคลื่อนหน่วยรับผิดชอบ

ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ หลักบุญ ไม่รอเสียเวลาผ่านไปแบบไร้ค่า เจ้าตัวรีบนำการบ้านของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่มอบนโยบายไม่เป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เข้ามาผสมผสานนโยบายอย่างเป็นทางการในงานสัมมนาผู้นำหน่วยเวลาต่อมา เพื่อปักธงนำพากองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ที่รับผิดชอบ 8 จังหวัดดินแดนที่ราบสูงจำนวน 236 โรงพัก กำลังพล 18,000 กว่านายให้ไปสู่สิ่งที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติพูดได้อย่างไร

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ขยายความว่า พยายามตกผลึกให้เป็นกุญแจแห่งความสำเร็จตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่มอบไว้หลายเรื่อง สรุปประเด็นหลัก  ตั้งแต่เรื่องของเทคโนโลยีต้องนำมาใช้ภายใน 6 เดือน เช่นการแจ้งเอกสารหายทางออนไลน์ที่ไหนก็ได้ ตลอดจนการนำกล้องซีซีทีวีมาใช้เพื่องานป้องกันอาชญากรรม ทำอะไรต้องมีคู่มือ

“ทำไมท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยกเลิกด่าน ท่านบอกว่า จริง ๆ ด่านเป็นเครื่องมือของรัฐ ของตำรวจในการสกัดกั้นยาเสพติดที่จะสกัดกั้นการทำผิดกฎหมายต่าง ๆ แต่ทำไมเมืองนอกเราไม่เห็นด่าน เมืองนอกยกระดับแล้ว เพราะใช้กล้อง เราลองขับรถเร็วในเมืองนอกสิ สักครู่หนึ่งเดี๋ยวก็มีรถสายตรวจวิ่งมาจากไหนไม่รู้ เพราะมีกล้องเป็นเครื่องมือ ไม่ใช้คนในการตั้งด่าน จะใช้คนตั้งด่านต่อเมื่อเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ต้องปิดพื้นที่ ปิดล้อมตรวจค้นขนาดใหญ่ ด่านมีประโยชน์คือ สกัดกั้นการกระทำผิดต่าง ๆ แต่ภาพที่เสีย คือ ภาพพจน์ ของตำรวจ” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์บอก (ตัดทิ้ง) ว่า การตั้งด่านถึงต้องมีมาตรฐานทางการปฏิบัติ  ต้องมีทั้งป้าย มีทั้งกล้องซีซีทีวี จุดเช็กพอยต์ของตำรวจ ถ้าใครเจอด่านแล้วเข้าโปรแกรมไปดู (ตัดทิ้ง) ว่า เป็นด่านที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ผู้บังคับบัญชาต้องดูด้วย

 

สร้างโรลโมเดลต้นแบบผู้บังคับบัญชา ขยับมาปรับภาพลักษณ์องค์กรตำรวจ

อีกหัวข้อ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ว่า เป็นเรื่องของการต้องสร้างคน ผู้นำหน่วยต้องเป็นโรลโมเดล  (role model) คือ เป็นแบบอย่าง ผู้บัญชาการต้องเป็นโรลโมเดลให้ผู้บังคับการ ทางผู้บังคับการต้องเป็นโรลโมเดลให้ ผู้กำกับการ เราถึงต้องเป็นผู้นำตัวอย่าง โน้มตัวเข้าหาประชาชน เหมือนการทำโครงการใดโครงการหนึ่ง ไม่ใช่ว่าด้วยทฤษฎี มีคน แต่ไม่มีเงิน ดังนั้น เราต้องหางบประมาณที่บางครั้งอาจต้องพึ่งพาชุมชน หรือคหบดี ตำรวจถึงต้องโน้มตัวเข้าหาประชาชนด้วยบุคลิกภาพ นอบน้อมถ่อมตนเข้าไป เอาสิ่งดี ๆ ที่อยากจะทำไปบอก เราถึงต้องเป็นโรลโมเดลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็น

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์อธิบายอีกว่า ต่อมาเป็นเรื่องการบริหารภาพลักษณ์  ทำอย่างไรให้ภาพองค์กรตำรวจดีขึ้น แม้เป็นเรื่องยาก ต้องเอาเทคโนโลยีมาปรับด้วยในการบริหารภาพลักษณ์ เช่น โรงพักเรามีเว็บไซต์ มีเพจตำรวจภูธร ถามว่า เวลามีเหตุอะไร เราเอาตำรวจไปแก้ตัวได้ไหม ไม่ได้  ตำรวจเองต้องสร้างเพจขึ้นมา แอดมินต้องเป็นตำรวจ บางทีเพจพวกนี้ คือ โลกเสมือนจริง ต้องใช้โซเชียลแก้ด้วยโซเชียล  เราจำเป็นต้องนำมาปรับใช้ในฐานะผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ให้ภาพลักษณ์ติดลบ

“ทีมเวิร์กก็มีส่วนสำคัญ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข พูดชัดว่า การทำงานต้องมีทีมเวิร์ก เช่นเดียวกับเรื่องของเทรนนิ่ง แต่ไม่ใช่หมายความว่าต้องเอาหลักสูตรยัดใส่หัวลูกน้อง แค่สารวัตรป้องกันปราบปรามยืนปล่อยแถว นั่นคือ การเทรนนิ่งแล้ว ตั้งแต่เริ่มปฏิบัติหน้าที่ตอนเช้า เราไม่รู้เลยว่า จะต้องเจออะไรบ้าง ต้องเจอคนบ้า ต้องเจอคนเมายาเสพติด อันนี้อยู่ที่การเทรนคนเพื่อรองรับสถานการณ์ และสุดท้ายคือ การวิเคราะห์พื้นที่ปฏิบัติการ เหมือนกับการสร้างแผนเผชิญเหตุนั่นเอง”

 

ชู 1 อำเภอ 1 เซฟตี้โซน โน้มน้าวเข้าหาให้โดนใจคนท้องถิ่น

เจ้าตัวตกผลึกกุญแจแห่งความสำเร็จตามการบ้านของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ 7 หัวข้อ คือ การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เป็นมาตรฐานการปฏิบัติ การสร้างคน การบริหารภาพลักษณ์ บทบาทในการนำ ทีมเวิร์ก การเทรนนิ่ง และการวิเคราะห์พื้นที่ปฏิบัติการ คือ นามธรรม ส่วนจะทำอย่างไรให้กลายเป็นรูปธรรมอยู่ที่ตัวผู้บริหารหน่วยระดับกองบัญชาการที่รับการบ้านมา

แม่ทัพตำรวจอีสานใต้เริ่มต้นเดินหน้าโครงการแรก 1 อำเภอ 1 เซฟตี้โซนที่ปัจจุบันเกือบครบทุก 236 โรงพักรับผิดชอบให้เป็นแบบยั่งยืนขายแนวคิดให้ผู้กำกับสถานี รองผู้กำกับการ หรือสารวัตรใหญ่โน้มตัวเข้าหานายกเทศมนตรี ผู้นำท้องถิ่น คหบดีเพื่อของบประมาณในการติดตั้งกล้องซีซีทีวี ให้เหตุผลว่า อาชญากรรมจะเกิดเมื่อใด ที่ไหน ไม่มีใครรู้ดีเท่าตำรวจ กล้องวงจรปิดถึงมีส่วนสำคัญ

“ทำไมถึงอยากให้โครงการนี้เกิด ผมจะพูดเสมอว่า ถ้าการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้อาชญากรรมลด ฉะนั้นเครื่องมืออะไรที่ทำให้ตำรวจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล้องซีซีทีวี คือ ส่วนหนึ่งนั้น ยิ่งติดตั้งมากเท่าไหร่  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินประชาชนจะมีมากเท่านั้น และต้องทำอย่างยั่งยืนด้วยการใช้งบประมาณของท้องถิ่น (ตัดทิ้ง)” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ว่า

 

หลายโครงการผ่านฉลุย เริ่มลุยแก้ปัญหายานรกในพื้นที่

โครงการต่อมาที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหลังมอบให้ตำรวจภูธรภาค 3 นำร่อง คือ การแจ้งความเอกสารหายทางออนไลน์ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ยืนยันว่า ดำเนินการเรียบร้อยทุกจังหวัด มีคิวอาร์โค้ดสำหรับผู้แจ้งกระจายไปตามชุมชนต่าง ๆ ขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจ ขณะที่ อีกโครงการกำลังเร่งดำเนินการคือ การแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนแบบยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติปี 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติมอบให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 นำร่องเช่นเดียวกัน

นายพลตำรวจโทภูธรเผยว่า เราคัดเลือกบุคลากรทั้งเป็นของตำรวจ ฝ่ายปกครอง และเอาสาธารณสุข มาด้วย เพราะการแก้ไขปัญหายาเสพติด ตำรวจทำฝ่ายเดียวไม่ได้ ให้หัวหน้าสถานีเลือกชุมชนที่มีปัญหาด้านยาเสพติด 1 ชุมชนก่อน จัดวิทยากรแม่ไก่ที่ถูกเทรนลงพื้นที่ “เปิดโครงการไปบ้างแล้วก่อนสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ผมให้จัดโต๊ะล้อมเป็นสี่เหลี่ยม ไม่มีหัวโต๊ะ ทุกคนเท่ากันหมด บอกกับทุกคนที่มาร่วมเปิดงาน มีทั้งรองผู้ว่าราชการจังหวัด  แรงงานจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด ฝ่ายทหาร ผู้การจังหวัด พูดให้ฟังก่อนจะเปิดเลยว่า ทำไมผมถึงจัดโต๊ะแบบนี้ ผมจัดแบบนี้คือ การแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนแบบยั่งยืน จะแก้ด้วยตำรวจอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทุกฝ่ายเท่ากันหมด มีไมค์เท่ากันหมด ทุกคนได้พูด ได้แสดงความเห็น ทุกคนขายแนวคิด แต่ว่าตัวหลักในการขับเคลื่อน คือ ตำรวจ ให้งบประมาณมาชุมชนละ 47,000 บาท ”

“แต่การจะทำให้ยั่งยืนงบประมาณแค่ 47,000 บาทไม่พอหรอก จำเป็นต้องให้ท้องถิ่นลงมาช่วย พยายามกระตุ้นที่ฝ่ายที่รับผิดชอบ เราช่วยคน ได้บุญนะ เอาคนติดยาเสพติดมาบำบัด ถ้าพ่อแม่กล้าจูงลูกมาหา เราต้องไปหาเอง  มีสาธารณสุขด้วย มีแรงงานจังหวัด ถ้าคนไหนใฝ่ดีเอาเข้าสู่ระบบแรงงาน ได้งานทำ มีองค์ความรู้ อย่างน้อยชุมชนละ 10 คน หรือบางชุมชนเป็นชุมชนใหญ่ อาจจะ 40-50 คน เกิน 50เปอร์เซ็นต์ก็ได้บุญแล้ว อย่างน้อยมีหายจริง ส่วนจะกลับไปเสพไหม ได้ช่วยมันกลับคืนมา เมื่อไหร่สมองมันโล่งแล้ว มันคงไม่กลับไปที่เดิม บางทีอาจจะมา 10 เราได้คนดีกลับคืนเท่าไหร่มันก็ดีอยู่แล้ว ถ้าได้คนที่หายจากการเสพยาเสพติด ผมว่าโครงการนี้ได้ประโยชน์”

ประสบความสำเร็จลดยอดตาย หายนะจากอุบัติเหตุบนท้องถนน

ตลอด 7 เดือนที่ดำรงตำแหน่ง พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ยังได้ควบคุมดูแลแผนรับเทศกาลวันหยุดยาว 2 ครั้ง ตั้งแต่ปีใหม่ และสงกรานต์ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ตำรวจภูธรภาค 3 มีตัวเลขอันดับต้น ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่อาชญากรรมลดลง เช่นเดียวกับอุบัติเหตุ เจ้าตัวแสดงความเห็นว่า ทุกคนมักมองสภาวะโควิด แต่ไม่จริง สถิติการเดินทางยังเหมือนเดิม แต่การจับกุมเมาแล้วขับของตำรวจภูธรภาค 3 สูงลิ่ว จับจนศาลแขวงนครราชสีมาบอกผู้บัญชาการเบา ๆ หน่อย ห้องพิจารณาคดีไม่พอให้จำเลยนั่ง ต้องเอาเต็นท์มากางกลางสนามให้จำเลยนั่งรอ

เขาหัวเราะเล่าว่า ต้องบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญ ไม่มีเรื่องร้องเรียนว่า ตำรวจตีเอาตังค์แม้แต่เรื่องเดียว ถ้ามีเราจัดการเด็ดขาด ดูมอนิเตอร์รายงานสถานการณ์ด้วยตัวเองที่ศูนย์ปฏิบัติการทุกเช้า รองผู้บังคับการรับผิดชอบงานจราจรต้องรายงานเองว่า ทำอะไรบ้าง ส่วนตัวคิดว่า ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ด้วยความเป็นโรลโมเดลของเรา ทำให้อาชญากรรมลด ตัวเลขอุบัติเหตุ 7 วันอันตรายเทียบกับปีอื่นลดลง “ผมพูดกับตำรวจทุกคนว่า ดูตัวเลขคนตายส่วนใหญ่ในแต่ละปี อายุ 17-18 ปี ทั้งนั้น พวกเหล่านี้คือำกลังหลัก กำลังสำคัญของชาติบ้านเมือง  เด็กพวกนี้จะต้องโตไปเป็นผู้ใหญ่ สุดท้ายเสียชีวิต มันเป็นความสูญเสีย ถ้าเราช่วยคนสักคนหนึ่ง หรือสักครึ่งหนึ่งของปีที่ผ่านมาจะดีไม่น้อย”

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ย้ำว่า จำเป็นต้องขับเคลื่อนทุกมิติ ทั้งจราจร อาชญากรรม ให้เป็นไปตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกอย่างอยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่บริหารแบบไม่บริหาร นั่งทำงานไปวัน ๆ ประชุมแล้วด่าไปเรื่อยเฉื่อยก็จบ สำหรับเราไม่ อาจด้วยโลกโซเชียลในปัจจุบัน ทุกวันจะคุยไลน์กับผู้บริหารระดับนายพล 20 กว่าคน ไม่ใช่ไลน์กลุ่มใหญ่ เพื่อขับเคลื่อนองค์ก่อนตาม Flasship ที่ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดไว้

 

ย้อนเส้นทางการเดินของชีวิต คิดอยากเป็นผู้พิพากษา

ว่าถึงเส้นทางชีวิต เจ้าตัวสารภาพว่า ไม่ได้อยากเป็นตำรวจ ฐานะทางบ้านพี่ไม่ค่อยดี พ่อเป็นข้าราชการชั้นผู้น้อยของไปรษณีย์ แม่เป็นลูกจ้างประจำในโรงพยาบาลศรีสะเกษ และทำไร่เกษตรกรรม แรงขับเคลื่อนเกิดจากสรรพสามิตมาตรวจพ่อเรื่องต้มเหล้ากินเอง เค้นสอบเอาผิด พอพ่อไม่ตอบก็ต่อยท้อง ทำร้ายพ่อต่อหน้าเรา เป็นภาพจำตอนอายุประมาณ 7-8 ขวบ ยิ่งจังหวัดศรีสะเกษสมัยก่อนเปิดพื้นที่คอมมิวนิสต์เก่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมสูงมากกลายเป็นแรงขับให้ต้องสู้

หลังจบโรงเรียนศรีสะเกษวิทยาลัย เขามุ่งสอบเอ็นทรานซ์เลือก 4 คณะเท่านั้น คือ นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากวางเป้าหมายอยากเป็นผู้พิพากษา ระหว่างเข้ากรุงได้มาอยู่หอพักกับเพื่อนใกล้โรงพยาบาลศิริราช แต่เพื่อนสอบเข้าแพทย์จะกลับก่อนแนะให้ไปอยู่หอพักของรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับรุ่นพี่อีกคนดีกว่า

ด้วยความเป็นเด็กบ้านนอกขึ้นรถไฟมาจากบ้านเกิด ทำไปทำมาหลง ขึ้นรถเมล์ผิดฝั่ง อยู่ตรงไหนไม่รู้กว่าจะคลำทางเจอ เพราะตอนอายุ 16 ปีเคยนั่งรถไฟเข้ากรุงเทพฯครั้งแรกลงหัวลำโพง เพื่อมาซื้อหนังสืออ่านที่สนามหลวง ซื้อเสร็จตอนเย็นก็นั่งรถไฟกลับศรีสะเกษ เป็นคนชอบอ่านหนังสือเตรียมสอบ ไม่มีเงินเรียนกวดวิชา รู้แค่ว่า สนามเอ็นทรานซ์เก่งมาจากไหนไม่สน วัดกันในวันสอบวันนั้นวันเดียว

 

พลิกผันสอบติดเตรียมทหาร ทางบ้านสนับสนุนให้เลือกบทตำรวจ

ระหว่างรอเอ็นทรานซ์กลับมีเพื่อนบอกมีโรงเรียนเตรียมทหารเปิดสอบด้วย เขาย้อนความทรงจำว่า ไปสอบตำรวจ ทั้งที่ไม่ได้เรียนสายวิทย์ แต่เรียนคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์กายภาพ เหล่าตำรวจเปิดโอกาสให้สอบได้ ข้อสอบ 100 ข้อให้เวลา 120 นาที ทำในวิชาที่ถนัดก่อน เห็นแล้วกา เพราะเวลาน้อย ส่วนที่เหลือทำไม่ทัน และคิดว่า ไม่มีใครเก่งขนาดทำทันได้ขนาดนั้น ออกจากห้องสอบมายังคิดอยู่จะได้หรือไม่

  “คิดนะ ว่าน่าจะสอบได้ แต่ยังไม่ได้คิดว่าจะไปเรียน พราะยังไม่ได้อยากจะเป็นตำรวจอยู่แล้ว หลังจากนั้นไปสอบเอ็นทรานซ์ ปรากฏว่า ผลสอบเตรียมทหารประกาศก่อน สอบติด ได้เข้าไปเรียน  อีกเดือนผลเอ็นทรานซ์ออก แม่โทรศัพท์มาบอกว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีหนังสือมาที่บ้านให้ไปรายงาตัว ผมก็ลังเล คิดออกจากเตรียมทหาร มองว่า ไม่ใช่เวย์ ผมเคยอ่านหนังสือตลอดเวลา อยู่กับหนังสือ แต่จะมาฝึก มาทำอะไรก็ไม่รู้” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์เล่าความหลัง

“ แล้วเราจะยังไงต่อกับชีวิต ตอนนั้นคิดว่า มันไม่ได้เห็นโลก บ้านผมไม่ใช่ข้าราชการตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ผมคนบ้านนอก  ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ความเป็นตำรวจ คือ อะไร ต้องไปยังไงกับชีวิต รู้ว่า มีผู้กำกับยศใหญ่โต แต่ผมไม่รู้อนาคตข้างหน้า แล้วลูกท่านหลานเธอก็เยอะ ได้เห็นความแตกต่าง เราจะสู้ได้หรือ แต่แม่กลับรู้มากกว่าผม บอกว่า ทั้งศรีสะเกษสอบติดเตรียมหารได้ 2 คนเองนะ แล้วถ้าเอ็นทรานซ์ติด ต้องไปเรียนอีก 4 ปี ต้องไปเช่าหออยู่ และจะเป็นผู้พิพากษาต้องไปสอบเนติบัณฑิตแข่งกันอีก ไหวหรือ  แม่ย้ำว่า ตำรวจดีที่สุดแล้ว”

 

จำเป็นต้องต่อสู้ เพราะไม่มีต้นทุน เน้นคุณธรรมความกตัญญูประดับตัว

“ชีวิตเลยพลิกผันมุ่งมาเป็นตำรวจ” เขาบอก “แต่ว่า มันต้องสู้ ผมไม่มีอย่างอื่นเลย ต้นทุนผมไม่มี ทั้งเงินทองก็ไม่มี มีอย่างเดียว คือ การทุ่มเท ความมุ่งมั่น มอตโต้ของผมในการดำเนินชีวิต คือ มุ่งมั่น ใฝ่ดี และกตัญญู ทำไมถึงบอกว่า มีกตัญญูเข้ามาด้วย  ผมพยายามถามตัวเองว่า เราโตมานี่ เพื่อนหลายๆ คนเก่งกว่า มีองค์ความรู้มากกว่า มีความพร้อมมากกว่า ได้โอกาสเหมือนผม แต่ทำไมได้โอกาสแล้วไม่ประสบความสำเร็จ อาจเพราะขาดความกตัญญู มันเป็นคุณธรรมที่อาจจะทำให้ผมโชคดี ทำให้ผมได้โอกาส และโอกาสที่ได้มาทำให้ประสบความสำเร็จ ผมเชื่ออย่างนั้นนะ”

นายพลคนศรีสะเกษสีหน้าจริงจังว่า ได้ไปกราบสมเด็จพระสังฆราช ท่านสอนว่า คุณธรรมมั่นคงพื้นฐานของมนุษย์ คือ ความกตัญญูกตเวที ทำให้เราจำได้ขึ้นใจ และยึดเอามาปฏิบัติ เวลาสอนน้อง ๆ จะบอกเสมอว่า นอกจากความมุ่งมั่นที่เราใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ความขยันขันแข็งตอบโจทย์หมด  แล้วใฝ่ดี มีโอกาสช่วยเหลือคน มีน้อยมีมากว่าไป สุดท้ายแล้วเราทำครบทุกเรื่อง  ถ้าขาดความกตัญญูอาจจะไม่เจริญ อาจจะไม่สำเร็จ ถึงเป็นมอตโต้ติดตัวมาตลอดว่า มุ่งมั่น ใฝ่ดี กตัญญู ทำให้โอกาสเรามี และอาจจะโชคดีที่ได้ผู้บังคับบัญชาดีด้วย

สำเร็จหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นรุ่น 41 เริ่มต้นติดยศ ร.ต.ต.ได้ลงตำแหน่งรองสารวัตรกองบังคับการตำรวจป่าไม้เป็นปีแรกที่หน่วยเปิดรับนักเรียนนายร้อยตำรวจจบใหม่ มี ร.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล นั่งเก้าอี้สารวัตรเป็นรุ่นพี่คนแรกช่วยสอนทักษะการทำงาน  ก่อนติดสอยห้อยตามไปอยู่สงขลา กระทั่งเจอมรสุมโยกเข้าสันติบาล แล้วไปอยู่กองปราบปราม ขยับขึ้นเป็นนายเวร  พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล สมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

 

ได้ผู้เป็นนายคอยเกื้อหนุน ดุนหลังนั่งเก้าอี้ในทางหลวง

ออกภูธรอีกรอบตาม พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพรหมณกุล ที่เป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 ส่วนเขาทำหน้าที่สารวัตรงานสืบสวนตำรวจภูธรภาค 3 เป็นสารวัตรทางหลวงปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาแก้ปัญหาเรื่องส่วยทางหลวงยุค พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง กระทั่งพบ พล.อ.ฐิติราช หนองหารพิทักษ์ ตอนเป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง สลับมาอยู่ทางหลวงประตูน้ำพระอินทร์ และเป็นสารวัตรทางหลวงชุมแพ ขอนแก่น

“เปลี่ยนงานจากสืบสวนมาอยู่ตำรวจทางหลวง สมัยนั้นจะเน้นงานบริการเป็นหลัก ผมอยู่ตำรวจทางหลวงมา 4-5 ปี อยากเปลี่ยนงานให้หลากหลาย ทั้งงานสายตรวจ งานฝ่ายอำนวยการ ตัดสินใจของมาเป็นนายเวรท่านพัชรวาท วงษ์สุวรรณ สมัยท่านเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นอยู่ 2 ปี ลงตำแหน่งรองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม และรองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม ได้ทำงานสืบสวนสอบสวนสมใจ”

ทำคดีปล้นเงิน และอีกหลายคดี พอ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถูกดึงเป็นนายเวรอีกรอบ แล้วลงกลับไปเป็นผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจทางหลวงแค่ปีเดียว ความคิดเก่าเข้ามาในหัว  “มันไม่ใช่ผม งานสืบสวนสอบสวนไม่มี ไปหานายอยากเป็นผู้กำกับกองปราบ อย่างน้อยได้ทำสำนวน ได้ทำคดี ทางหลวงผมเคยอยู่มาแล้ว ผมกังวลว่าจะลืมงานสืบสวนสอบสวน”

 

ขอย้ายออกเพราะไม่อยากทิ้งงานถนัด โดนจัดลงนครบาลสานงานหน้าใหม่

“โดนท่านพัชรวาทด่าเลยว่า จะบ้าหรือเปล่า มีแต่คนอยากเป็นผู้กำกับทางหลวงเยอะแยะ วิ่งกันน่าดู แต่มึงไม่อยากเป็น ผมเรียนท่านตามตรงว่า ผมอยากทำงานสืบสวนสอบสวน  ผมอยากไปข้างหน้าของผม อยากเป็นผู้กำกับกองปราบ แต่ไม่ได้อยู่ดี ถูกสลับให้เป็นผู้กำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ  เข้านครบาลครั้งแรกในชีวิตรับราชการ เรียนรู้งานสายตรวจเมืองหลวง”ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 รำพันเรื่องราวในอดีต

เสมือนวิกฤติเป็นโอกาสตลอดระยะเวลา 10 กว่าปี ทำหน้าที่ผู้กำกับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ รองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ขึ้นผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ขยับนั่งรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้เรียนรู้หน้างานสายตรวจและความมั่นคงช่วงเหตุการณ์บ้านเมืองเกิดความไม่สงบจากการชุมนุมทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง

พล.ต.ท.ภาณุรัตน์ได้ลงไปช่วยแก้ปัญหาในหลายเรื่องอยู่เบื้องหลัง ทำให้เกิดความสงบเรียบร้อย ไม่วุ่นวายลุกลามบานปลายด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมและจริงจัง และไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือของนักการเมืองฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ต้องการแค่โอกาสมีเวทีเล่น  เบนเข็มคุมทัพดินแดนอีสานใต้

ตามไทม์ไลน์ตั้งแต่เข้านครบาลอยู่ผู้กำกับสายตรวจ 191 ไต่ระดับจนขึ้นผู้การ 191 ที่ไม่เคยย้ายไปไหน ไม่ได้เป็นตำแหน่งเดียวคือ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เจ้าตัวยิ้มบอกว่า ไม่ได้ซีเรียส เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนาน 3   ปี ได้ขึ้นจเรตำรวจ หลังจากนั้นขอผู้ใหญ่อยากมีเวทีเล่น ไม่เคยคิดว่าจะกลับไปดูแลพื้นที่บ้านตัวเอง อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาให้โอกาส อาจเพราะ พล.ต.ท.พูลทรัพย์ ประเสริฐศักดิ์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 คนเก่าเกษียณพอดี เราถึงได้มาอยู่ตรงนี้แบบไม่ต้องไปขยับใคร

มองอนาคตเหลืออีก 5 ปีจะครบกำหนดเกษียณอายุราชการกับคำถามที่หลายคนอยากรู้จะกลับไปตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลหรือไม่ พล.ต.ท.ภาณุรัตน์บอกด้วยน้ำเสียงธรรมดาว่า  อาชีพตำรวจบางทีตอบไม่ได้ ถ้าถามความอยากมีหมด อยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อยากเป็นนั่นนี่  เป็นได้หมดทุกคน แต่ว่า เวลาผู้ใหญ่วิเคราะห์จะดูคน แม้ว่า เราอยู่ในจุดที่เป็นผู้ใหญ่ในสายตาของลูกน้อง แต่ผู้ใหญ่ในสายตาของผู้ใหญ่อีกที เราเป็นหมากตัวหนึ่งที่หยิบมาเล่นเท่านั้นเอง แล้วจะไปเล่นตรงไหน

“บางทีเรามีองค์ความรู้ ความสามารถ ผู้ใหญ่อยากให้เราอยู่ตรงนี้ เราก็ต้องอยู่ เพราะฉะนั้นความเป็นตำรวจ ผมมองว่า อยู่ที่ความไว้ใจของผู้บริหารมากกว่า ไว้ใจใคร คือ เมื่อมีเวทีให้ผมเล่น ผมเล่นเต็มที่ เต็มความสามารถ ดึงศักยภาพของเรา ของลูกน้อง ของเพื่อนร่วมงานออกมาเพื่อทำให้เกิดประโยชน์ส่วนรวมมากที่สุด   ถามว่า หากขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงตรงนั้นแล้วใครก็อยากเป็นผู้นำสูงสุด มันเป็นความฝัน เหมือนที่ท่านจักรทิพย์ ชัยจินดาพูดให้ฟังว่า ผู้นำตำรวจมันมีแค่ 5 ระดับ สารวัตร ผู้กำกับ ผู้การ ผู้บัญชาการ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  ถ้าใครเล่นตรงไหนที่หนึ่ง รู้ว่า ไปถึงก็ไป ไปไม่ถึงก็ต้องเล่นในบทบาทที่เหมาะกับเรา” พล.ต.ท.ภาณุรัตน์เน้น

 

ใช้พลังขับเคลื่อนมากกว่าคนอื่น ให้ยั่งยืนกับผลลัพธ์ในสิ่งที่ได้ทำ

“ผมไม่ได้เอายศมาจับ ไม่ได้หมายความว่า ยศสูงแล้วคุณค่าของงานจะออกมา ความสามารถของคน ไม่ได้วัดที่ความสำเร็จ มันอยู่ที่ว่า เราสร้างคุณค่าของงานได้ไหม เหมือนงานโครงการแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชนแบบยั่งยืน ผมไม่ได้วัดที่ความสำเร็จ แค่คิดว่า ทำให้คนไม่ติดยาเสพติดอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่เราสามารถสร้างคุณค่าในชุมชนได้ไหม เราเปลี่ยนแปลงชุมชนได้ไหม ทำให้ประชาชนกล้าเข้าหาตำรวจ กล้าเข้ามาพูด มาคุย เอาลูกเข้ามา ผมถือมากกว่าความสำเร็จของการแก้ไขปัญหายาเสพติดเสียอีก เพราะมันยั่งยืนกว่า”

“ เคยคิดว่าจะมาถึงจุดนี้ไหม ต้องบอกว่า ความฝันทุกคนมี ผมมีความทะเยอทะยานมาตั้งแต่เด็ก ๆ สู้ตลอดเหมือนกัน เพราะว่าเราไม่มีต้นทุน แต่เพราะไม่มีต้นทุน เพราะฉะนั้นพลังขับจะมากกว่าคนอื่น เมื่อผมไม่มีอะไร ผมต้องเอาแรงเข้าสู้ แรงกับสมอง และสิ่งที่ไม่มีของผม มันหล่อหลอมชีวิตผม ทำให้ผมไม่เอาเปรียบใคร ทำให้ผมคิดบวกกับทุกคน ทำให้ช่วยเหลือทุกคน ใครเข้ามาหา ผมช่วยหมด ไม่มีให้เดินออกไปด้วยความรู้สึกว่า ท้อแท้  หรือถ้าไม่ได้อะไรเลยก็ได้กำลังใจจากผม”

เจ้าตัวยืนยันทิ้งท้ายว่า คนเรามีพลังเมื่อใด บางทียศไม่ได้เกี่ยว เราทำด้วยความรู้สึกอยากจะทำ ทำแล้วประชาชนในพื้นที่ได้ เปรียบเทียบเหมือนเรานั่งบนอัฒจันทร์ เรามองลูกน้อง เห็นลูกน้องฟังเรา ทำด้วยความตั้งใจ แต่เราต้องเข้าไปนั่งในหัวใจลูกน้องได้ ไม่ใช่ทำไปเพราะกลัวเรา

 

 

RELATED ARTICLES