ตามรอยพิพัฒน์  อัศจรรย์แห่งขุนเขา 

 

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โดยนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการ ททท.สำนักงานเชียงใหม่ ชวนแอ่วดอย สัมผัสอากาศหนาว ชมนางพญาเสือโคร่ง ในโครงการ “ตามรอยพิพัฒน์  อัศจรรย์แห่งขุนเขา” (ชวนกันแอ่วดอย ตามรอยพ่อหลวง) เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ของการเดินทาง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวโครงการหลวงและโครงการตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช ในมิติของการเรียนรู้ ทั้งทางการเกษตร การักษาสิ่งแวดล้อม วิถีท่องเที่ยวชุมชน มีทั้งหมด 6 เส้นทางด้วยกัน ได้แก่ เส้นทางที่ 1 เส้นทางอ่างขาง-เชียงดาว-ห้วยลึก (สถานีเกษตรหลวงอ่างข่าง –บ้านยาง-อุทยานแห่งชาติฟ้าห่มปก-ดอยปู่หมื่น-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยลึก)

เส้นทางที่ 2 เส้นทางจอมทอง-อินทนนท์-แม่แจ่ม (สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ –อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์-วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนวาง-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่แฮ-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สะป๊อก-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยหลวง บ้านแม่ตอง-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงปางอุ๋ง)

เส้นทางที่ 3 เส้นทางแม่โถ-ห้วยต้ม (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่โถ-อุทยานแห่งชาติแม่โถ-อุทยานแห่งชาติออบหลวง-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยต้ม-วัดพระบาทห้วยต้ม)

เส้นทางที่ 4 เส้นทางแม่ริม-สะเมิง (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย–สวยพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่สาใหม่-ม่อนแจ่ม-สถานีเกษตรหลวงปางดะ-อุทยานหลวงราชพฤกษ์-เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี-วัดต้นแกว่น-น้ำพุร้อนโป่งกว้าว)

เส้นทางที่ 5 เส้นทางวัดจันทร์-กัลยาณิวัฒนา (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงวัดจันทร์-วัดจันทร์-บ้านห้วยฮ่อม-อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง-ขุนแม่ยะ-สถานีวิจัยโครงการหลวงแม่หลอด-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงม่อนเจาะ)

เส้นทางที่ 6 เส้นทางห้วยฮ่องไคร้-ตีนตก (ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงตีนตก-ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงป่าเมี่ยง-บ้านแม่กำปอง-โบสถ์กลางน้ำ-วัดคันธาพฤกษา-น้ำพุร้อนสันกำแพง-โครงการหลวงบ้านทุ่งจี้)

นักท่องเที่ยวสามารถสอบถามรายละเอียดและขอรับคู่มือเส้นทางการท่องเที่ยวโครงการ “ตามรอยพิพัฒน์  อัศจรรย์แห่งขุนเขา” ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงใหม่ โทร.053-248604-5

ส่วนชมรมสื่อท่องเที่ยวของเราจึงได้เดินทางไปแอ่วดอยในโครงการ “ตามรอยพิพัฒน์  อัศจรรย์แห่งขุนเขา”  ออกเดินทางโดยสายการบิน Bangkok Airways เมื่อไปถึงสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ไป จ.ลำพูน เมืองต้องห้ามพลาด…พลัส ทันที เมื่อไปถึงพวกเราก็เดินทางไปที่วัดพระธาตุหริกุญชัยวรมหาวิหาร เพื่อสักการะพระธาตุหริกุญชัย พระธาตุประจำปีระกา  ภายในวิหารหลวงประดิษฐานพระแก้วขาว พระเสตังคมณีศรีเมืองหริกุญชัย ประทับนั่งอยู่เหนือบุษบกที่แกะสลักลงรักปิดทองอย่างสวยงาม  องค์พระบรมธาตุหริกุญชัยจะอยู่ด้านหลังพระวิหาร เป็นเจดีย์เก่าแก่ทรงลังกาที่ภายในประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ อันมีธาตุกระหม่อม ธาตุกระดูกอก ธาตุกระดูกนิ้วมือ และธาตุย่อยอีกเต็มบาตร และเมื่อเดินมาทางขวาก็จะเป็นสุวรรณเจดีย์ (ปทุมวดีเจดีย์) ที่ภายในบรรจุพระเปิม พระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของลำพูน

จากนั้นไปกราบสักการะอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย ตามด้วยวัดจามเทวี เป็นวัดที่มีความสำคัญ ภายในวัดเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์สุวรรณ ที่บรรจุพระอัฐิของพระนางจามเทวี เป็นเจดีย์ทรงปราสาทแบบหริกุญชัย มีพระพุทธรูปปางประทานพรประทับยืนเป็นชั้นๆ รวม  60  องค์ แต่เดิมยอดเจดีย์ห่อหุ้มด้วยทองคำ  ต่อมายอดพระเจดีย์หักหายไป และยังมีรัตนเจดีย์ เป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยม ที่แต่ละเหลี่ยมประดิษฐานพระพุทธรูปยืนทั้งองค์ไว้ในซุ้มจระนำ แล้วก็วัดมหาวันวนาราม เป็นวัดที่พระนางจามเทวีโปรดให้สร้าง เพื่อให้เป็นที่จำพรรษาของพระสงฆ์และได้นำพระศิลามาประดิษฐานไว้ด้วย

ก่อนไปนมัสการกู่ช้างกู่ม้า…เมืองเขาเล่าว่า โบราณสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่คู่กัน เชื่อกันว่าเป็นสุสานช้างศึก-ม้าศึกคู่บารมีของพระนางจามเทวี กู่ช้างตามตำนานเล่าว่าสร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากพระยาช้าง “ปู่ก่ำงาเขียว” ช้างคู่บารมีของพระนางจามเทวี เป็นช้างที่มีฤทธิ์มาก หากงาช้างชี้ไปทางใด ก็จะทำให้เกิดภัยพิบัติและผู้คนล้มตาย พระนางจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ทรงสูงครอบไว้โดยให้ปลายงาชี้ขึ้นฟ้า กู่ม้าตั้งอยู่ด้านหลังกู่ช้าง เชื่อกันว่าเป็นที่บรรจุซากม้าทรงของพระเจ้ามหันตยศ พระราชโอรสของพระนางจามเทวี ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือกู่ช้างมาก จึงได้สร้างศาลเจ้าพ่อกู่ช้าง มีรูปปั้นจำลองของปู่ก่ำงาเขียว เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มาสักการะ

เช้าวันใหม่อำลาเมืองลำพูน ไปยังสวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ จ.เชียงใหม่  ตรงไปที่ Canopy Walkway  เดินบนทางที่สร้างขึ้นอยู่เหนือยอดไม้ นับว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกอย่างหนึ่ง ที่พวกเราสามารถเดินอยู่เหนือยอดไม้ได้ สนุกสนานกันจนพอใจแล้ว ไปชมความสวยงามของพันธุ์ไม้อันสวยงามนานาชนิด ต่อไปยังม่อนแจ่ม แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,350 ม. ใน อ.แม่ริม ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านม้งหนองหอย ชมวิวและสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นบนสันเขา

ลงจากม่อนแจ่มไปยัง โครงการหลวงหนองหอย ในอุทยาแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย อ.แม่ริม เนื่องจากปัญหาชาวเขาได้ทำลายป่าเพื่อเปิดที่ทำกินใหม่ ปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย จึงตั้งเป็นศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยขึ้น  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของเกษตรกร แนะนำพืชเศรษฐกิจใหม่ๆ มาทดแทนการปลูกฝิ่นทำไร่เลื่อนลอย ทำให้มีรายได้ยกระดับความเป็นอยู่ของชาวเขาให้ดีขึ้น  ต่อด้วยสถานีเกษตรหลวงปางดะ อ.สะเมิง เป็นศูนย์การเรียนรู้ ขยายพันธุ์ไม้ผลเมืองหนาวหลายชนิด ข้าวไร่และธัญพืช ให้กับผู้ที่สนใจตลอดจนเป็นแหล่งศึกษาศึกษาดูงาน พร้อมกับการใช้พื้นที่อย่างถูกต้องบนพื้นฐานการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ  พวกเราได้สัมผัสถึงรสชาติหอมหวานของสตรอเบอรี่จากไร่ เพราะ อ.สะเมิงนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกสตรอเบอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย บนเส้นทางสายนี้เราจะพบเห็นกับไร่สตรอเบอรี่หลายแห่งที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยว หนึ่งในนั้นคือ ไร่นภภูผา (อ่านว่านะภะภูผา) ที่อ้าแขนต้อนรับอย่างอบอุ่น

รุ่งอรุณวันใหม่ เวลาบอกเวลาตี 4 ต้องรีบทำภารกิจ เพื่อเดินทางสู่ กิ่วแม่ปาน  ที่มีระดับความสูงประมาณ 2,000 ม.จากระดับน้ำทะเล ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง เป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น และทะเลหมอกที่สวยงามจุดหนึ่ง แล้วเดินทางสู่ ยอดดอยอินทนนท์ ดู เหมยขาบหรือน้ำค้างแข็ง และแม่คะนิ้ง เกล็ดน้ำที่แข็งตัวเกาะอยู่บนยอดหญ้าและใบไม้ จุดที่สูงที่สุดในประเทศไทย เข็มที่เทอร์โมมิเตอร์ชี้ไปที่อุณหภูมิ 6 องศาเซลเซียส ก่อนย้อนลงมาสักการะและชมความงามของพระมหาธาตุนภเมทนีดลและพระมหาธาตุเจดีย์นภพลภูมิสิริ ที่ตั้งอยู่เคียงคู่กัน พระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดลเป็นพระมหาสถูปเจดีย์องค์แรกที่ตั้งอยู่บนแผ่นดินที่สูงที่สุดในประเทศไทย  มีความหมายว่าพระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่ยิ่งใหญ่เพียงฟ้าจดดิน ที่กองทัพอากาศร่วมกับพสกนิกรชาวไทยสร้างขึ้นเพื่อถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ ในปี 2530

เก็บความสวยงามแล้วมุ่งหน้าไปที่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเชียงใหม่ หนึ่งในหน่วยงานของโครงการหลวงอินทนนท์  ชมการพัฒนาวิจัยเพาะพันธุ์ปลาเรนโบว์เทราท์ จนสามารถเพาะเลี้ยงจนประสบความสำเร็จ   และได้นำไข่ปลาสเตอร์เจียนจากรัสเซียมาฟักและเพาะเลี้ยงได้ การเลี้ยงปลาชนิดนี้กว่าจะได้ไข่นำมาจำหน่าย ต้องเลี้ยงให้มีอายุ 10 ปีก่อน อิตาลีเป็นประเทศแรกที่ถนอมไข่ปลาสเตอร์เจียนเพื่อเก็บได้นานจึงเรียกเป็นภาษาอิตาลีว่า ไข่คาร์เวียร์  ที่มีราคาสูงในท้องตลาด

เดินทางอีกนิดเดียวก็ถึง สถานีเกษตรหลวงอินทนนท์ ที่ชาวไทยภูเขาเผ่ากะเหรี่ยงและเผ่าม้งอาศัยเป็นส่วนใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยเหลือชาวเขาให้มีพื้นที่ทำกินเป็นหลักแหล่ง และได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้ทางด้านการเกษตรแผนใหม่ ปรับปรุงฐานะความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ด้วยการหันมาทำการเกษตรแบบถาวร จากนั้นไป ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) ชมความงดงามของดอกนางพญาเสือโคร่ง หรือซากุระดอยที่จะออกดอกสีชมพูสว่างไสวเต็มต้น ทำให้ขุนวางกลายเป็นสีชมพูไปทั้งดอย

สุดท้ายได้เวลาบ๊ายบายเชียงใหม่เดินทางกลับกรุงเทพฯ ด้วยสายการบิน Bangkok Airways

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES