“ชีวิตนักสืบสมัยก่อนสนุก และตื่นเต้นมาก มีคดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นมากมาย”

ชื่อของ พีระพล สุนทรเกตุ กลายเป็นตำนานนักสืบนครบาลอีกยุคที่เคยโด่งดังติดทำเนียบมือปราบ ฉายา “เสือใต้” ที่เหล่าบรรดามือปืน นักฆ่าต้องยอมสยบ สร้างผลงานให้ “กองสืบสวนใต้” โดดเด่นไม่แพ้ “สืบสวนเหนือ” ที่มี พ.ต.อ.คำนึง ธรรมเกษม นั่งเก้าอี้ผู้กำกับสมยานาม “สิงห์เหนือ”

เป็นลูกหม้อนครบาลขนานแท้

เกิดที่บางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี เคยผันตัวเองไปเรียนสายพาณิชย์ที่โรงเรียนบพิตรภิมุข แต่เมื่อรู้ว่าไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงจึงหันกลับมาต่อโรงเรียนไพศาลศิลป์ ก่อนตัดสินใจมุ่งสู่โรงเรียนเตรียมทหาร

ด้วยความที่ครอบครัวเต็มไปด้วยคนในเครื่องแบบ พี่ชายเป็นทหารเรือ พ่อเป็นทหารบก ส่วนพี่เขยเป็นทหารอากาศ เขาเลยเลือกที่จะเข้าตำรวจ เพราะเป็นเหล่าเดียวที่บ้าน “สุนทรเกตุ” ยังไม่มี

เรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 15 แต่เสียเวลาไป 1 ปีเพราะตก กลายมาจบรุ่น 16 มีเพื่อนร่วมรุ่นล้วนเป็นนายตำรวจคนดังของกรมปทุมวันแทบทั้งสิ้น อาทิ พล.ต.อ.อัยยรัช เวสสะโกศล พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี พล.ต.อ.สมชาย มิลินทางกูร พล.ต.อ.เขตต์ นิ่มสมบุญ  พล.ต.ท.ทวี ทิพย์รัตน์ และ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ เป็นต้น

ชีวิตราชการย้ายไปอยู่ภูธรเพียงปีเดียวสมัยเป็นผู้หมวดอยู่จังหวัดกระบี่ ก่อนเข้ามาเป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา สวมบทมือปราบหนุ่มไฟแรงจนได้ย้ายไปเป็นรองสารวัตรประจำกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ หรือ “สืบสวนใต้”

ปี 2514 กลับมาเป็นรองสารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ขึ้นเป็นสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจนครบาลวัดพระยาไกร นาน 4 ปี เลื่อนขึ้น รองผู้กำกับการนครบาล 3 และรองผู้กำกับการนครบาล 9

คืนถ้ำนั่งเก้าอี้รองผู้กำกับการสืบสวนใต้ กระทั่งเป็น “ผู้กำกับสืบใต้” เมื่อเดือนตุลาคม 2530

ได้ลูกน้องนักสืบฝีมือดีช่วยขับผลงานสะท้านวงการสีกากีพิชิตคดีสำคัญในเขตนครบาลใต้มากมาย ทั้ง พ.ต.ท.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น พ.ต.ท.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ พ.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และ พ.ต.ท.เอื้อพงศ์ โกมารกุล ณ นคร โดยมี พล.ต.ต.ธนู หอมหวล และ พ.ต.อ.โสภณ วาราชนนท์ เป็นแม่แบบ “ชั้นครู” ที่ช่วยสอนวิชานักสืบจนก้าวอยู่ในทำเนียบมือปราบแห่งนครบาลใต้

เดือนตุลาคม 2534 ขยับเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ คุมงานนักสืบตามถนัด แถมมีเพื่อนร่วมรุ่นอย่าง พล.ต.ต.ทวี ทิพย์รัตน์ นั่งผู้บังคับการ  พ.ต.อ.คำนึง ธรรมเกษม เป็นขุนพลมือปราบที่ช่วยกันสร้างชื่อเสียงให้หน่วยจนโด่งดัง

บรรดามือปืน แก๊งขโมยรถ โจรปล้นจี้ ฆ่าข่มขืน หรือเรียกค่าไถ่ถูกปราบปรามอย่างเด็ดขาด หากไม่ถูก “จับตาย” ก็ติดคุกหัวโต

นั่งเป็นรองผู้การที่นครบาลใต้อยู่นานหลายปี เจออาถรรพ์เลข 13 ขึ้น “นายพล” ในหน่วยไม่ได้เสียที จำต้องเบนเข็มออกไปเป็นผู้บังคับการประจำกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ปปป.) เมื่อปี 2538

สวมบทบาท “โปลิศจับตำรวจ” เพียงปีเดียว คืนกลับสู่ถิ่นเก่านครบาลอีกครั้ง แต่สลัดคราบนายตำรวจมือปราบรับตำแหน่งใหม่ที่ท้าทายที่สุดในชีวิตเป็นผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง  กระทั่งเกษียณอายุราชการในปี 2541

พล.ต.ต.พีระพลบอกว่า อาชีพตำรวจเป็นที่เขาใฝ่ฝันมาตั้งแต่ยังเด็ก ได้ดูหนังเกี่ยวกับตำรวจจับผู้ร้ายมามากมายไม่คิดเหมือนกันว่า สักวันต้องมาเจอในชีวิตจริง และเกือบเอาตัวไม่รอด

เหตุการณ์ครั้งนั้น เขาเพิ่งมาดำรงตำแหน่งเป็นผู้หมวดอยู่โรงพักยานนาวาใหม่ ๆ มีคดีคนร้ายปล้นรถแท็กซี่ในพื้นที่ ก่อคดีมาหลายราย หลายท้องที่ จึงวางแผนให้โชเหอร์แท็กซี่ช่วยกันสอดส่องพฤติกรรมผู้ต้องสงสัยตามรูปพรรณสัณฐาน หากเจอตัวเมื่อไรให้ติดต่อทันที

“ผมกำลังนั่งกินข้าวอยู่กับลูกน้อง สายที่วางไว้ติดต่อมาว่าเจอตัวแล้ว พวกผมจึงพากันออกไปซุ่มดักจับ คนร้ายมี 3 คน เราจับได้ 1 คน แต่อีก 2 คนวิ่งหนี ผมไล่ตามไป มันกลับชักปืนยิงสวนมา ใจหายเลย แต่ยังมีสติยิงตอบโต้ถูกมันตาย 1 คนตรงหน้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เชื่อมั้ยว่า ผมเลิกใช้ปืนกระบอกเล็กอีกเลย เพราะยิงในระยะไกลไม่ถูกเลย” พล.ต.ต.พีระพล ย้อนอดีตทำวิสามัญฆาตกรรมครั้งแรกในชีวิตที่เป็นการดวลปืนกันสด ๆ

“ชีวิตนักสืบสมัยก่อนสนุก และตื่นเต้นมาก มีคดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นมากมาย แต่โชคดีที่ตามจับได้ โดยเฉพาะสมัยที่อยู่ยานนาวา หลังจากคดีปล้นรถแท็กซี่แล้วก็เกิดมีการปล้นธนาคารย่านตรอกจันทน์  รู้สึกจะเป็นคดีแรกของประเทศไทย พวกผมตามแกะรอยสืบสวนจนจับได้ยกแก๊ง ศาลสั่งประหารชีวิตหมด”

“พอย้ายเป็นรองสารวัตรที่สืบสวนใต้ยังตามจับคนร้ายชิงทรัพย์แล้วฆ่าพลเมืองดี โด่งดังเป็นข่าวครึกโครมมาก ศาลตัดสินประหารชีวิตเหมือนกัน อีกคดีเกิดขึ้นสมัยเป็นสารวัตรใหญ่วัดพระยาไกร มีคนร้ายฆ่าข่มขืนหญิงสาว 2 รายต่อเนื่องกัน เด็กของเรารู้เบาะแสตอนแรกไม่แน่ใจจึงออกติดตาม กระทั่งมันลงมือกับเหยื่อรายที่สองถึงชัดเจน ตามล้อมจับได้ สอบสวนรับสารภาพ  และก็ถูกประหารเช่นเดียวกัน” พล.ต.ต.พีระพลบอก

อดีตมือปราบนครบาลชื่อดังเล่าอีกว่า การเป็นนักสืบยุคก่อนต้องมีใจรัก ครอบครัวต้องเข้าใจ บางทีต้องไปนั่งกินเหล้า หาข่าวตามคอฟฟี่ช็อปเกือบทุกคืน โชคดีที่ได้อาจารย์ดีเป็นแม่แบบ คือ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ ตั้งแต่ทำงานอยู่โรงพักปทุมวันมาด้วยกัน ท่ายย้ำเสมอว่า การเป็นฝ่ายสืบสวนต้องผ่านงานสอบสวนมาถึงไปด้วยกันได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ เป็นเรื่องที่ท่านเน้นมาก

“ที่ผมโชคดีอีกอย่าง คือได้ลูกน้องมือดีทั้งนั้นมาช่วยงาน ตั้งแต่ ประมวลศักดิ์ กฤษฎา เอื้อพงศ์ สมคิด แบ่งทีมกันไปแข่งกันทำงาน แม้บางคนจะไม่ถูกกัน แต่ผมถือว่าเรื่องงานพวกเขาใจกว้างพอ เราก็ปล่อย เพราะทุกคนคือทีม แต่ถ้ามีคดีสำคัญ ๆ เราก็จะลงไปดูเองด้วย จะไม่ทิ้งลูกน้อง ไม่ใช่ปล่อยเขาไปทำแล้วเราไม่สนใจ ไปทำกันทีหายไปหลายวัน วิสามัญไปก็หลายศพ”

อุปสรรคในการทำงานสืบสวนสมัยก่อน พล.ต.ต.พีระพลบอกว่า  ยุคนั้นไม่ค่อยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยงานสืบสวน ไม่มีอะไรเลย โทรศัพท์ก็ไม่มี จะมีก็แต่รุ่นที่เรียกกันว่ากระดูกหมู ราคาเครื่องละแสนกว่าบาท จึงจำเป็นต้องควักเงินซื้อมา 2 เครื่องให้ลูกน้องออกไปทำงาน ระยะหลังมีแพ็คลิ้ง โฟนลิ้ง ติดตามตัว ก็ค่อยยังชั่ว  ถึงแม้การทำงานยาก แต่ก็ถือว่าดี ตรงที่ข่าวไม่รั่ว ต้องโทรศัพท์เข้ามาหาอย่างเดียว ประกอบกับนักสืบสมัยนั้นไม่ค่อยพูด ไม่คุย มองหน้ากันรู้แล้ว ทำงานกันสบาย  “ทุกคนรู้มือกันหมด ผู้บังคับบัญชาก็เป็นนักสืบเก่า ทำให้นักสืบยุคนั้นบูมมาก ทั้งเหนือ ใต้ ธนบุรี มีมือดี ๆ เยอะ ได้ขวัญและกำลังใจจากผู้บังคับบัญชาที่เข้าใจงานสืบสวนยิ่งทำให้หลายคนอยากเป็นนักสืบ” พล.ต.ต.พีระพลอธิบายให้เห็นภาพ

“ผมเรียนรู้วิชาการสืบสวนมาหลายรูปแบบ อย่าง พล.ต.ท.ธนู หอมหวล จะบอกเสมอถึงเคล็ดลับการหาข่าวและเบาะแสของคนร้าย ต้องส่งคนเข้าไปหาข้อมูลในคุก เกี่ยวกับบุคคลที่มีประวัติต้องโทษคดีต่าง ๆ ใครที่พ้นโทษออกมาแล้วบ้าง ทำบัญชีไว้ พวกเหล่านี้มีจำนวนไม่น้อยจะหันกลับไปกระทำความผิดอีก ซึ่งก็สามารถติดตามจับกุมดำเนินคดีได้หลายคน”

ผู้การพีระพลยังชื่นชมการทำงานของ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ที่จัดได้ว่าเป็นมือปราบครบเครื่องคนหนึ่งในวงการตำรวจ พล.ต.ท.ชลอ เป็นตำรวจที่มีลูกน้องมากจึงไม่น่าแปลกใจ หากมีคดีเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาถึงเชียงใหม่  “ให้ไปถามไอ้ลอ มันรู้หมดว่าใครทำ ผมยังเคยได้ข้อมูลมาจับคนร้ายในพื้นที่เหมือนกัน”

ขณะที่ ยุคปัจจุบัน (ปี 2550)ตำนานนักสืบรุ่นใหญ่มองว่า เหลือทายาทที่นายตำรวจมือสืบสวนรุ่นเก่าสร้างขึ้นมาทำงานอยู่ในแวดวงนักสืบเพียงไม่กี่คน เท่าที่เห็นก็มี พล.ต.ท.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา พล.ต.ต.กฤษฎา พันธุ์คงชื่น พ.ต.อ.ปรีชา ธิมามนตรี ส่วน พล.ต.ต.สมคิด บุญถนอม ก็ยังเจอปัญหาเดิม ๆ ค่อยเล่นงานอยู่ พอหมดรุ่นนี้แล้วแทบไม่เห็นตัว และที่น่าเสียดายอีกคนก็คือ พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ

พล.ต.ต.พีระพลยอมรับว่า การทำงานของตำรวจรุ่นเก่าคงจะนำมาใช้กับยุคนี้ไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีและรูปแบบของอาชญากรรมแตกต่างกัน  สมัยนี้ที่ทราบมาว่าบัตรเครดิตหรือบัตรเอทีเอ็มใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง ถ้าประสานกับธนาคารก็สามารถติดตามจับกุมคนร้ายได้ง่าย เพราะมันต้องใช้เงิน ต้องไปเบิกเงิน เป็นแนวทางในการแกะรอยได้ไม่น้อย

“เสียดายที่โครงการบัตรสมาร์ทการ์ดล้ม เขาเล่าให้ฟังว่า บัตรใบนี้จะเก็บข้อมูลเกี่ยวกับตัวเราทุกอย่าง ถ้าใส่ชื่อและนามสกุลเข้าไปในระบบ มันจะยิงขึ้นดาวเทียมส่งข้อมูลกลับมาจะรู้เลยว่าเวลานี้คุณอยู่ตรงจุดไหน หากทำได้ขนาดนั้น ผมเชื่อว่าคนร้ายคงไม่รอดมือกฎหมาย”

นายพลมือปราบเมืองกรุงทิ้งท้ายฝากเตือนถึงนักสืบรุ่นหลังด้วยว่า เมื่อก่อนตำรวจทำงานกันแบบไม่ต้องพูดกันมาก ขนาดขึ้นศาลยังบอกว่าเป็นแนวทางการสืบสวนเปิดเผยไม่ได้ ถ้าศาลอยากรู้ต้องสอบในทางลับ แต่ก็แทบไม่มีใครสงสัย ท่านผู้พิพากษาส่วนใหญ่เข้าใจการทำงานของตำรวจ

“พูดมาก คุยมาก ผลเสียก็จะเกิดแก่รูปคดี พยานตกอยู่ในอันตราย คนร้ายรู้วิธีการทำงานของตำรวจหมด ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครเลย พวกผมทำงานกันจึงไม่ค่อยพูด และไม่มีใครกล้าถาม ขอให้ผู้บังคับบัญชารู้เป็นพอ”

นี่แหละคือแบบฉบับนักสืบรุ่นเก่า

พีระพล สุนทรเกตุ !!!

 

 

RELATED ARTICLES