ปลูกฝังแนวคิดภาวะผู้นำ

 

การสร้างและปลูกฝังแนวคิด “ภาวะผู้นำ”

เรื่องของการครองตน ครองคน ครองงาน การสร้างต้นแบบ สร้างทายาท พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย้อนวัยสมัยเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ มีการเรียนเรื่อง “ภาวะผู้นำ” แต่เป็นอะไรที่เหมือนไม่ได้เรียน

เหตุเพราะไม่เข้าใจว่า วิชา “ภาวะผู้นำ” คืออะไร

กระทั่งได้ไปอบรมต่างประเทศ มีเรื่อง “ภาวะผู้นำ” มาบรรยายด้วยเช่นกัน

“มีการเอาหนังมาฉายให้ดู ตอนบรรยายก็ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง พอเอาหนังมาให้ดูก็เริ่มสนใจ”

พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกเป็นหนังเกี่ยวกับสงครามในสหรัฐอเมริกาจาก ยุทธการที่เกตตีสเบิร์ก” สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือกับฝ่ายใต้ที่สอดแทรกเรื่องราวของ “ภาวะผู้นำ”

ฝ่ายเหนือมีความเจริญทางเทคโนโลยี มีกำลังเงิน ใช้เครื่องจักรในการทำอุตสาหกรรม ขณะที่ฝ่ายใต้เป็นชนชั้นแรงงานผิวสี ทำทอฝ้าย ทอผ้า เป็นสินค้าส่งออกไปยุโรป

ต่อมาคนสองฝั่งเกิดความขัดแย้งกัน ปะทุขึ้นเป็นสงครามครั้งสำคัญอยู่ที่ “เกตตีสเบิร์ก” เป็นจุดพลิกของการเอาชนะกัน

เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า กองทหารจากรัฐเมน อยู่ชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ส่วนมากทำแรงงานประมง การศึกษาไม่ค่อยมี เวลาเกณฑ์คนมาเป็นทหารสมัยนั้นต้องมีพลทหาร นายทหาร นายสิบ และ “ผู้พัน” คนที่จะเป็น “ผู้พัน” เพราะเป็นอาจารย์สอนหนังสือ เรียนหนังสือมากกว่าคนอื่น

ทว่าไม่มีทักษะในเรื่องการรบแม้แต่นิดเดียว

โจชัว แชมเบอร์เลนได้รับเลือกเป็น “พันเอก” รบไม่เป็นจะทำอย่างไร ไปเรียนตอนไหน ฝึกตอนไหน

พล.ต.อ.สุวัฒน์เล่าว่า แชมเบอร์เลนมีนายสิบอยู่คนหนึ่ง ถ้าเป็นตำรวจจะเป็นป๋าแก่ ๆ อยู่ตามห้องสายสืบ คอยแนะนำให้ทำอันโน้น อันนี้ ทำให้แชมเบอร์เลนได้เป็นนักศึกษาเรียนรู้ตำราความเป็นผู้นำในสิ่งที่เจ้าตัวไม่เคยรู้มาก่อน

“กล้าที่จะยอมรับในสิ่งที่ไม่รู้อะไรเลย ศึกษาเอาจากลูกน้อง ศึกษาจากอะไรก็ได้ กล้าที่จะบอกว่า อันนี้ทำไม่เป็น อันนี้ทำเป็น แต่คนแบบนี้จะมีอยู่อย่างหนึ่งที่ไม่สามารถเลียนแบบได้ เพราะมาจากตัวเขาเอง มาจากการเกิดภาวะผู้นำที่มาจากความคิดของเขา”

สิ่งที่สร้างชื่อให้แชมเบอร์เลนมากที่สุดมาจากวันที่เกิด “ยุทธการเกตตีสเบิร์ก” ถึงจุดต้องแตกหัก

เขาได้รับคำสั่งให้ไปรักษาเนินเขาเล็ก ๆ ท่ามกลางกำลังพลทหารหลักร้อย ปรากฏว่า มีนายพลเอาทหารหนีทัพมาเสริม คำว่า ทหารหนีทัพ โทษคือ ประหาร ต้องถูกฆ่าทิ้ง แต่กองทัพของพวกเขาไม่ได้ฆ่าคนพวกนี้ แค่จับเอามาเป็นเชลย

เมื่อมีกำลังเสริมเพิ่มขึ้นจากเชลยศึก แชมเบอร์เลนให้ทหารพวกนี้ไปนั่งพักแล้วถามว่า กินอะไรมาหรือยัง ให้กินข้าวก่อน พูดจนเชลยร้อยกว่าคนสมัครใจไปรบ มีแค่เจ็ดแปดคนไม่ไป แชมเบอร์เลนให้แยกไปต่างหาก อย่าให้มาป่วนกองทัพใหญ่

การรบที่ “เกตตีสเบิร์ก”ใช้เวลาสองสามวัน กองทหารของแชมเบอร์เลนตายเกือบหมด ตัวเขาก็โดนยิง แต่ทำให้เชลยร้อยกว่าคนยอมไปตายกับเขาได้  

ไปรบให้ด้วยคำพูดไม่ถึงสิบนาทีเท่านั้น

หลังจากการสงครามแชมเบอร์เลนเป็น ผู้ว่าการรัฐเมน มีคนดันลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

เจ้าสำนักปทุมวันมองว่า คือการเรียนในต่างประเทศ นำตัวแบบของผู้นำมาสอนในห้องเรียน สังคมอเมริกันสำคัญสุด คือ เรื่องการแตกแยก เหมือนมีในสังคมไทย แต่ชาวอเมริกันไม่เคยบอกว่า ฝ่ายเหนือถูก ฝ่ายใต้ผิด จะบอกว่า ผู้นำคนนั้นดีอย่างนี้ มีข้อเสียอย่างนั้น

ด้วยเพราะมนุษย์เรามีสองด้าน

แชมเบอร์เลนพูดกับทุกคนว่า การรบในอดีตที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ บางคนรบเพื่อเจ้าขุนมูลนาย รบเพื่อที่ดิน บางคนรบเพื่อเอกราช ล้วนมีเหตุผลกันทุกคน

สำหรับแชมเบอร์เลนกลับบอกว่า การรบของเขาวันนั้นไม่ใช่เพื่อตัวเอง เขารบเพื่อปลดปล่อยให้คนอื่นเป็นอิสระ

กลายเป็นปรัชญาทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา

มันคือการปลูกฝังแนวคิด “ภาวะผู้นำ”จากตำราประวัติศาสตร์

RELATED ARTICLES