แบล็กลิสต์คนโกง

 

อาละวาดทำผิดซ้ำซากอยู่บนโลกโซเชียล

อัตราโทษมันน้อย หรือคุกไม่อาจเปลี่ยนแปลงสันดานของมนุษย์ “พันธุ์โกง”  

ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกประชุมกวาดล้างอาชญากรรมทางไซเบอร์ หลังจากที่มีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนถูกกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงซื้อขายสินค้าในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19

โดยเฉพาะกรณีเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี สั่งซื้อโทรศัพท์มือถือเพื่อเรียนออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันแล้วกลับไม่ได้ของ เป็นเหตุให้เกิดอาการเครียดจนมีภาวะแทรกซ้อนเส้นโลหิตในสมองแตกและเสียชีวิต

พล.ต.อ.สุวัฒน์ สั่งระดมตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตำรวจสอบสวนกลาง ตำรวจท้องที่แก้ปัญหาให้ประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน

เปิดมาตรการเชิงรุกไล่ล่าเครือข่ายขบวนการหลอกลวงบนโลกไซเบอร์

พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล นำเอาแนวคิดของ “อาจารย์ปั๊ด” ไปต่อยอดเหมือนนายพลรุ่นน้องอย่าง พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ศิษย์สำนักเดียวกัน

มุ่งเน้นป้องกันปราบปรามอาชญากรรมในโลกออนไลน์ให้ก้าวทันอาชญากรรมในโลกยุคปัจจุบันเป็นเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจออกตรวจตราป้องกันเหตุอาชญากรรมในทางสาธารณะ กำชับให้มีความพร้อมในการดูแลความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนในโลกโซเซียล

เพื่อไม่ให้สุจริตชนหาเช้ากินค่ำตกเป็นเหยื่อ

เพราะอาชญากรรมในโลกโซเซียลได้มีปริมาณเพิ่มมากขึ้น และสร้างความเสียหายจำนวนมาก พร้อมก่อเหตุไม่เลือกสถานที่ ไม่เลือกเวลา

นำไปสู่การจัดตั้ง “ทีมลาดตระเวนออนไลน์” เปิดเกมบุกเก็บกวาดกลโกงของ “คนโกง” บนโลกไซเบอร์     

มอบหมาย พ.ต.อ.ธีระชัย ชำนาญหมอ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล เป็นหัวหน้าชุม คุมทีม พ.ต.อ.ฤตวีร์ สุขเจริญ ผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ออกหาข้อมูลเบาะแสในอินเตอร์เน็ต

เกี่ยวกับพฤติกรรมคนโกง

สอดส่องเสาะหาตาม “กูเกิล” รวมถึงเพจต่าง ๆ ที่แฉพฤติการณ์การกระทำความผิด เล่ห์เหลี่ยม ประวัติ โดยเฉพาะบัญชีดำจาก “แบล็กลิสต์คนโกง”  ลงรายละเอียดไว้ใน www. Blacklistseller.com

ก่อนนำข้อมูลไปวิเคราะห์ประมวลความเสียหาย ตามรอยประวัติหมายจับผู้กระทำความผิด เข้าสู่ระบบการสืบสวนติดตามจับกุม

บางคนถูกจับไปแล้วเพิ่งประกันตัวออกมาก็ถูกจับซ้ำอีก

“คือ ไม่รู้จักเข็ดหลาบ” พล.ต.ต.นพศิลป์ว่า

เขายกตัวอย่างรายของ น.ส.ชนิสรา แสงบุญ อายุ 38 ปี ก่อนหน้าเคยถูกกองปราบปรามจับกุมข้อหาฉ้อโกง ก่อนจะโดนทีมสืบสวนสมัยเขาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 รวบตัวอีกรอบ

กลับมาตั้งแก๊งหลอกขายที่นอนยางพารา มูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท

เปิดเฟซบุ๊ก 19 เพจ ประกาศขายที่นอนราคาถูก มีผู้เสียหายหลงเชื่อจำนวน 3,500 คน หลวมตัวโอนเงินไปให้กลุ่มผู้ต้องหาแล้วจะบล็อกลูกค้า หนีไปเปิดเพจใหม่ตุ๋นเหยื่อรายอื่น

กลุ่มผู้ต้องหาถูกขึ้นบัญชีคนโกงใน www. Blacklistseller.com เฉพาะรายของ น.ส.ชนิสรา แสงบุญ เคยโดนจับกุมดำเนินคดีลักษณะเดียวกันกว่า 10 ครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 แต่กลับมาก่อเหตุซ้ำอีก

เครือข่ายแก๊งหลอกขายที่นอนยางพารามีจำนวน 3 ราย 13 หมาย ลำพังแค่ น.ส.ชนิสรา แสงบุญ คนเดียวล่อไปถึง 7 หมายจับ ส่วนเพื่อนร่วมก๊วน มี น.ส.พรวดี ประคองศรี อายุ 36 ปี มี 4 หมายจับ และนายเกรียงศักดิ์ แคล้วรอดภัย อายุ 34 ปี อีก 2 หมาย

ตลอดเดือนที่ผ่านมา ทีมลาดตระเวนออนไลน์ของนครบาล ไล่ล่าเก็บ “บัญชีดำคนโกง” แทบทุกวันตามข้อมูลเบาะแสไปทั่วประเทศจำนวนมาก ไม่ได้ตีกรอบแค่เมืองหลวง เนื่องจาก มิจฉาชีพบนโลกไร้พรมแดน กระจายกันอยู่ทุกพื้นที่

“ฝากแจ้งเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อในการหลอกซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์” ผู้การนักสืบประชาสัมพันธ์

ไม่อยากให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม

 

 

RELATED ARTICLES