พ่ายชีวิต

 

คุณจะเลือกเดินแบบไหนไม่ให้ก้าวพลาด “ตกหลุมดำ” ที่เป็น “กับดัก” ของชีวิต

เริ่มต้นศักราช 2565 เกิดเรื่องน่าเศร้าสลด เมื่อตำรวจหนุ่มชั้นผู้น้อยอนาคตไกลต้องมาตัดสินใจคิดสั้นระเบิดขมับตัวเองถึง 2 รายซ้อน

รายแรก ส.ต.ท.ศิริศักดิ์ ญาติปราโมทย์ อายุ 29 ปี ผู้บังคับหมู่จราจร สถานีตำรวจนครบาลพญาไท ใช้ห้องพักบนแฟลตโรงพักเป็นสุสานกระทำอัตวินิบาตกรรม

ทิ้งครอบครัวลูกเมียที่อยู่ข้างหลังเผชิญทุกข์เพียงลำพัง

อีกวันถัดมา ส.ต.อ.อภิวัฒน์ ทองไท ในวัย 28 ปี  สังกัดผู้บังคับหมู่ กองกำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม จ่อยิงขมับตัวเองคาห้องพักแฟลต 05 ตึก 4 ชั้น 2 ซอยวิภาวดี 40/1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร

ไม่มีใครรู้เรื่องราวลึกซึ้งถึงการตัดสินใจดับเส้นทางลมหายใจของทั้งคู่

ภาวะความเครียดและอารมณ์ชั่ววูบเพียงชั่วเสี้ยววินาทีของการลั่นไกเปลี่ยนแปลงทุกอย่างได้จริงหรือ

ปัญหาเรื่องสุขภาพ หน้าที่การงาน ความรัก และหนี้สิน ส่วนใหญ่เป็นปัจจัยกระตุ้นรุมเร้าให้หลายคนคิดต้องการ “ลาโลก” ที่มองแล้วไม่สวยงามเหมือนเก่า จำเป็นต้องตัดช่องน้อย หนีเรื่องราวความวุ่นวาย ไม่สนคนที่อยู่ข้างหลังจะต้องแบกรับความทุกข์ระดมหนักหนาสาหัสเพียงใด

พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจํานงค์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในฐานะโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า สถิติสาเหตุการฆ่าตัวตายมาจากปัญหาสุขภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ปัญหาหนี้สิน รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น เรื่องส่วนตัว

รวบรวมยอดตัวเลขตำรวจฆ่าตัวตายตั้งแต่ปี 2551-2564 มีมากถึง 443 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 129 นาย ปัญหาอื่น ๆ 121 นาย ปัญหาครอบครัว 98 นาย ปัญหาส่วนตัว 39 นาย ปัญหาหนี้สิน 38 นาย ปัญหาเรื่องงาน 18 นาย

เฉพาะในปี 2564 สรุปสาเหตุการฆ่าตัวตายของตำรวจ 21 นาย เกิดจากปัญหาสุขภาพ 11 นาย ปัญหาหนี้สิน 5 นาย ปัญหาส่วนตัว 3 นาย ปัญหาเรื่องงาน 1 นาย ปัญหาอื่น ๆ 1 นาย

“ปัญหาสุขภาพ ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เกิดจากความเครียดทางจิต หรืออาการป่วยทางร่างกาย” โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติแจง

ย้ำว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติเน้นให้ตำรวจทุกนายตรวจสุขภาพประจำปี ทั้งร่างกายและสุขภาพจิต เนื่องจากตำรวจต้องทำงานภายใต้งานที่กดดันและสุ่มเสี่ยง มีโรงพยาบาลตำรวจจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาเฉพาะทาง

พร้อมเจ้าหน้าที่สุขภาพจิตให้คำแนะนำตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านเพจเฟซบุ๊ก Depress We Care โทร 08-1932-0000

พล.ต.ต.ยิ่งยศมองปัญหาสุขภาพเป็นปัจจัยรุมเร้ามากกว่าอย่างอื่น

ถึงให้ความสำคัญกับสุขภาพทางจิตเป็นพิเศษ  

มองข้ามปม “หนี้สิน” ที่พอกพูนเป็นกองพะเนิน

ตามข้อมูล พล.ต.ต.สุรชัย เจ็ดพี่น้องร่วมใจ ผู้บังคับการสวัสดิการ มีบันทึกข้อความถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แจ้งผลสำรวจข้อมูลสถานภาพกำลังพลข้าราชการในภาพรวมเมื่อ กันยายน 2564 มีข้าราชการตำรวจทั้งสิ้น 219,551 คน แยกเป็นชั้นสัญญาบัตร 89,430 คน ชั้นประทวน 130,121 คน

เป็นหนี้สินกับสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ 245,535 ราย วงเงินหนี้สินประมาณ 203,217 ล้านบาทฃ

ส่วนเหตุผลที่จำนวนคนกู้มากกว่าจำนวนกำลังพลปัจจุบัน เนื่องจากตำรวจบางรายที่เกษียณอายุราชการแล้วยังต้องผ่อนชำระอยู่

ยังไม่รวมถึงหนี้สินกับสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ มีประมาณ 37,197 ราย วงเงินหนี้สิน 28,129 ล้านบาทเศษ ธนาคารออมสิน มีประมาณ 36,102 ราย วงเงินหนี้สิน 21,140 ล้านบาทเศษ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) มี 58,936 ราย วงเงินหนี้สิน 20,500 ล้านบาทเศษ

รวมยอดหนี้สินทั้งหมด 272,986 ล้านบาทเศษ

สำรวจข้อมูลสถานภาพกำลังพลข้าราชการตำรวจ ล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 มีทั้งสิ้น 205,840 นาย ไม่มีหนี้สิน 41,189 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ที่เหลือเป็นหนี้สิน 164,291 คน

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงข้าราชการตำรวจชั้นผู้น้อย

ฟุ้งว่า ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้หนี้สินครัวเรือน พร้อมจะแก้ปัญหาหนี้สินให้ประชาชนโดยเฉพาะตำรวจ  

คอยมาดูกันว่าที่รับปากไว้ทำได้จริงแค่ไหน

แล้วจะมีตำรวจ “พ่ายชีวิต” คิดลาโลกอีกกี่ราย

RELATED ARTICLES