ภารกิจติดอาร์ม (4)

 

ถึงบทอวสานหน่วยงานที่ชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า “ตำรวจป่าไม้” จริงหรือ

“พิทักษ์ผืนป่า  รักษาสิ่งแวดล้อม ถนอมชีวิตสัตว์” มอตโตในการทำงานของกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ตลอด 2 ปีที่ผ่านมามีสถิติการปราบปรามการกระทำความผิดตัดไม้ทำลายป่า บุกรุกพื้นที่ป่า ค่าสัตว์ป่า และทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างมูลค่าความเสียหายแก่ประเทศมากถึง 1,966,433,855 บาท

ท่ามกลางแนวโน้มด้านอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยลักษณะเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ มีความคาดเกี่ยวกับอาชญากรรมอื่น เช่น การค้ามนุษย์ การค้ายาเสพติด

มักมีลักษณะอิทธิพล เป็นเครือข่าย เป็นองค์กร กระทำความผิดคาบเกี่ยวหลายพื้นที่เป็นวงกว้าง เป็นองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรง เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น

รัฐบาลในทุกประเทศให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

แต่เหตุใดทำไม กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้อยู่ในแผน “ภารกิจติดอาร์ม” ที่มุ่งมั่นปฏิบัติการมาต่อเนื่องยาวนานเกินกว่า 60 ปี

กลายเป็นส่วนเกินที่ต้อง “หั่นทิ้ง” แล้วปรับโยนภารกิจสำคัญในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้หน่วยงานอื่นรับไปดำเนินการแทน

ตำรวจป่าไม้ “ไร้ค่า” ในสายตาของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมอย่างนั้นใช่ไหม

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางพยายามแจงเหตุผลความจำเป็น “ไม่ควรยุบหน่วย” กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม

สรุปประเด็นสำคัญ เกิดอาชญากรรมเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มักมีลักษณะของเครือข่ายผู้มีอิทธิพล เป็นองค์กรอาชญากรรมกระทำความผิดคาบเกี่ยวหลายพื้นที่ หรือองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ คดีลักษณะดังกล่าว เกินศักยภาพของตำรวจท้องที่ ส่วนหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่มีอำนาจสอบสวน

ยิ่งเมื่อพิจารณาจากสภาพพื้นที่ป่ายังจะเป็นช่องทางของการประกอบอาชญากรรมร้ายแรงอื่น อาทิ การขนถ่ายลักลอบลำเลียงยาเสพติด

กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อมกับ “ภารกิจติดอาร์ม” มีอำนาจหนาที่ตามกฎหมาย ครอบคลุมพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากถึง 45 พระราชบัญญัติ โยงใยไป 13  กระทรวง ที่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเต็มรูปแบบ

พวกเขาเป็น หน่วยงานสำคัญ ในการปฏิบัติภารกิจเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาทำผลการปฏิบัติทั้งในด้านป้องกันปราบปราม สอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรายสำคัญเป็นจำนวนมาก

เป็นหน่วยงานตำรวจที่มี “ความรู้เฉพาะทาง” สามารถดำเนินการบังคับใช้กฎหมายควบคู่ไปกับหน่วยงานอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ทุกตัวบทกฎหมาย

สุดท้าย กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม เป็นหน่วยหลักในการประสานงานกับองค์กรระหว่างประเทศที่ไทยเป็นสมาชิกอย่าง องค์กรตำรวจสากล (INTERPOL) ที่ถือเป็นองค์กรระหว่างประเทศขนาดใหญ่ มีสมาชิกมากถึง 190 ประเทศทั่วโลก

ทุกประเทศสมาชิกได้ให้ความสำคัญด้านการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ชัดว่าเป็นอาชญากรรมที่ส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อมวลมนุษย์ชาติ

เพราะฉะนั้น กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมและสิ่งแวดล้อม ควรได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธยุทโปกรณ์ กำลังพลเพื่อ “เสริมเขี้ยวเล็บ” ในการป้องกันปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ไม่ใช่ทุบทำลายละลาย “ภารกิจติดอาร์ม”

 

 

RELATED ARTICLES