“ผมว่า ตอนหลังหนังสือพิมพ์มันธุรกิจเกินไป ถ้ามองในเรื่องธุรกิจ มันก็จบ”

ายาทคนเดียวของยอดนักประพันธ์เมืองไทย “ยาขอบ”

มานะ แพร่พันธุ์ ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บ้านเมือง ลูกชาย โชติ แพร่พันธุ์ กับวัย 90 ปีที่ยังสุขภาพแข็งแรง        อารมณ์แจ่มใส หลังทิ้งวงการน้ำหมึกหลุดวงสังคมนานเกือบ 20 ปีไปใช้ชีวิตชาวสวนชาวไร่บนที่ดินสวนตัวอำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี

“ผมรู้ตัว ปล่อยคนข้างหลังดีกว่า” เจ้าตัวเปิดฉากเหตุผลที่โบกลางานที่รัก ก่อนย้อนลำดับความเป็นมาของชีวิตว่า ต้องยอมรับพ่อเป็นคนเจ้าสำราญ ได้แม่เป็นชาวสวนแล้วก็เลิกรากันไป เกิดมาเลยกลายเป็นครอบครัวที่แตกแยก เรียนได้วุฒิไม่ถึงมัธยม 6 เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้เรียนต่อ เร่ร่อนไปเรื่อย

กระทั่งมีผู้ใหญ่ไปฝากหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ของ ร.ท.สัมพันธ์ ขันธะชวนะ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดนครราชสีมา ขณะนั้นกำลังดังมาก โรงพิมพ์อยู่ถนนอุณากรรณ “ผมไม่ได้คิดอะไรมาก แค่อยากทำงาน ไม่ใช่อยากจะเป็นนักหนังสือพิมพ์เหมือนพ่อ แต่อาจเป็นด้วยสายเลือดมากกว่า ทั้งที่ พ่อไม่ได้สอนอะไรเท่าไหร่ ส่วนผมก็ไม่มีอะไรเป็นหลักแหล่ง ได้ผู้อุปการะเป็นสตรีส่วนใหญ่”

มานะเล่าว่า เข้ามาในวงการหนังสือพิมพ์ไม่ได้เข้าเหมือนปัจจุบัน คือ นักข่าวเป็นนักขาว สมัยก่อนไม่มี ต้องเริ่มต้นจากออฟฟิศบอย สมัยทำบล็อก ต้องขี่จักรยาน ไม่ก็นั่งรถรางเพื่อไปเอาบล็อก ไต่เต้าเป็นคนตรวจปรุ๊พ  เริ่มเขียนหนังสือขาย เขียนเรื่องอ่านเล็ก ๆ  อาจจะเป็นที่มโนมันเยอะ ถ้าเป็นศัพท์สมัยนี้ มันคือ จินตนาการ ทำให้รู้จักผู้ใหญ่เยอะ เทียบได้ว่า เริ่มงานจากใต้โต๊ะ เลื่อนมานั่งบนเก้าอี้ กว่าจะเอามือเท้าแขนบนโต๊ะได้ ทำให้เราได้ประสบการณ์จากตรวจนี้ เป็นการเรียนรู้จากชีวิตจริง ไม่มีหลักสูตรไหนสอน ตอนหลังก็ซึมซับไป พอมีเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารก็ได้ออกไปทำข่าว

ตำนานนักหนังสือพิมพ์รุ่นเก่าอธิบายว่า ยุคนั้นนักข่าวทำคนเดียว ทั้งถ่ายรูป เขียนข่าว ตอนจอมพล ป. พิลูลสงคราม มีการพังทำเนียบรัฐบาล เราก็ต้องปีนเสาที่สะพานมัฆวานถ่ายรูป แฟลชตัวเบ้อเร่อขึ้นรถรางเท่เป็นบ้า เริ่มต้นที่หนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์ ต่อมาย้ายไปหนังสือพิมพ์ธรรมาธิปัตย์ ของจอมพล ป.พิบูลย์สงคราม อยู่ 2500 ของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อยู่ข่าวด่วนของบรรดาอัศวินแหวนเพชรทั้งหลาย เพราะสมัยนั้น ตำรวจทำอาณาจักรแข่งกับทหาร สร้างกองทัพใหญ่ แต่เราเป็นแค่ลูกจ้าง

ลูกโทนเจ้าของบทประพันธ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศเล่าอีกว่า การทำข่าวยุคก่อนถึงลูกถึงคน เท่าที่จำได้ มีอะไรเราไปถึงหมด เมื่อก่อนมาแค่ดอนเมือง บางเขนลำบากแล้ว บางทีต้องดึงสัญญาณรถไฟวิ่งไปถ่ายรูปคนตกรถไฟตาย ยอมเสียค่าปรับ น้ำตามท่วมสมุทรสาครต้องนอนกลางทุ่งกลางนา 3-4 วัน ทำข่าวคดีฆ่ากันที่หัวหิน  คดีลูกสาวเจ้าพ่อบางนกแขวกเอาผัวไปฆ่าทิ้งก็ไปตามข่าว เขมรแตกก็ไป กลับมายังโดนกระทรวงกลาโหมสอบ เพราะเขียนละเอียดเกิน “เวลาผมเขียนหนังสือรายละเอียดมันมาก ผมเห็นกับตา เรื่องนี้พ่อไม่เคยสอน แต่เหมือนกับเราซึมซับ เพราะมีเลือดของโชติ แพร่พันธุ์ พอเข้าไปตรงนั้นกลายเป็นประสบการณ์โดยที่เราไม่รู้ตัว”

ทำงานหนักเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตอนหลังมาอยู่พิมพ์ไทย สีลม กระทั่งเป็นบรรณาธิการพิมพ์ไทย ตอนย้ายไปดินแดง เขาบอกว่า ความจริงไม่ได้หวัง แต่ผู้ใหญ่มาถาม เพราะเห็นเราทำงาน และได้ปฏิเสธ ตอนหลังทนไม่ได้ เห็นในวงการหนีไม่พ้นกิเลส ออกนอกลู่นอกทางกันเยอะ ถึงลงมาคุมเอง ไม่นานก็ออกจากพิมพ์ไทย

ว่างงานอาศัยพรรคพวกเพื่อนฝูงเยอะไปหมกอยู่สมาคมโบว์ลิ่งแห่งประเทศไทยที่ตัวเองเป็นนายกคนแรก ทำตัวเจ้าสำราญ เพราะไม่มีลูกเมีย แทบถอดแบบบุเรงนองตัวละครสำคัญในผู้ชนะสิบทิศที่ผู้พ่อเป็นคนบรรเลงไว้ในหนังสือ ก่อนคืนวงการมาสร้างรากฐานใหม่แก่วงการหนังสือพิมพ์เมืองไทยภายใต้ชื่อ “บ้านเมือง”   

ชายวัยชราฉายภาพวัยหนุ่มเมื่อ 40 กว่าปีก่อนว่า ได้ทำประชาสัมพันธ์โครงการบ้านจัดสรรให้กับนายแพทย์เฉลิม จันทราสุข พอดีหมอเฉลิมจะซื้อที่แปลงตรงสะพานควาย 100 ไร่ในราคา 10 ล้านบาทมา ปรึกษาว่าจะทำยังไง ตอนนั้นยังไม่ออกจากพิมพ์ไทย มีอีกรายให้ 12 ล้านบาท ของหลวงจบกระบวนยุทธ พ่อตาจอมพลถนอม กิตติขจร ทำนองใช้อิทธิพลบีบทางธนาคารออมสินให้ซื้อ เราตัดสินใจออกเป็นข่าว แต่ก่อนจะเขียนไปหาคุณไชยยงค์ ชวลิต ผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย เล่าให้ฟัง แต่ไม่ใช่ไม่ชอบใครแล้วเราจะเขียนสงเดช ต้องขอนุญาตก่อน ถ้าเขาไม่ เราก็ไม่ แค่เห็นว่าไม่ถูกต้องก็เลยเขียนข่าว

“ ระหว่างนั้นก็เล่นโบว์ลิ่งอยู่กับคุณวิจารณ์ ภุกพิบูลย์ ข้างหลังมีบรรหาร ศิลปอาชา เดินเรื่องให้จอมพลถนอมอยู่ บรรหารอยากเจอผม สมัยนั้นบรรหารยังไม่เล่นการเมือง แค่คนสนิทในบ้านจอมพลถนอม คุณวิจารณ์พามาเจอ ผมก็บอกว่า เขียนไปแล้วหยุดไม่ได้หรอก ผมไม่ได้บิดเบือนข่าว ตรงนี้เข้าใจว่า เขาคงมองคนอย่างเราเป็นเหมือนกัน ชีวิตผมผ่านมาไม่เคยรับเงินใครมาตีข่าว เสร็จแล้วสักพักก็จบ ฝ่ายนั้นได้ที่ดินไป ผมก็ห่างไปเอาแต่เล่นโบว์ลิ่งเที่ยวกลางคืนกับป๊ะกำพล วัชรพล สุรพล พรทวีวัฒน์” มานะว่า

วันหนึ่งเพื่อนคุณวิจารณ์ ภุกพิบูลย์มาถามว่า อยากทำหนังสือพิมพ์อีกไหม มานะยอมรับว่า ก็ยังอยาก  เราไม่มีอาชีพ ต้องดิ้นรน มาตรงนี้ตั้งแต่กระเตาะกระแตะเป็นเด็กออฟฟิศ เป็นนักข่าวเขียนเรื่องขาย น่าจะเป็นอาชีพเราต่อไป เลยโอเค เขาบอกว่า มีงบให้ 20 ล้านบาท มีที่ดินแถวจตุจักร ตอนนั้นยังเป็นทุ่งนาอยู่เลย หนังสือพิมพ์ตอนนั้นยังออกไม่ได้ ต้องซื้อหัว เลยซื้อหัวข่าวสยาม ติดต่อผ่านคุณสุจินต์ เบญรงคกุล ตัวแทนบริษัทโมโตโรร่า ต่อไปต่อมาเหลือ 1 ล้านบาท มีเจ้าของคือ พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ มีบรรหารมาซื้อที่ดินที่ตั้งอยู่ปัจจุบัน

“ คำว่าบ้านเมืองเกิดจากคำที่นิยมกันสมัยนั้น บ้านเมืองเจริญ บ้านเมืองวิบัติ เห็นแก่บ้านเมือง เป็นคำติดปาก  ผมก็นึกว่าตรงนี้มันใช่ ถึงตัดสินใจจดทะเบียนชื่อบ้านเมือง จากเดิมเป็นข่าวสยาม บรรหารตอนนั้นยังทักว่า ชื่อเชย  แต่ผมไม่สน สร้างบ้านเมืองขึ้นมา มีคอลัมนิสต์ และนักข่าวแจ้งเกิดหลายคน ตั้งแต่เผด็จ ภูริปฏิภาณ ศักดา รัตนสุบรรณ สมชาย สุนทรวัฒน์ แสงชัย สุนทรวัฒน์ สุนทรคัณฑพิศาล  ตามด้วยโรจน์ งามแม้น สันติ เศวตวิมล ยอดชาย ขันธะชวนะ บางคนเคยเป็นกัปตันบาร์เหล้า พวกผมกินกันประจำถามว่า อยากทำงานไหม วันรุ่งขึ้นให้ไปหา มันเริ่มจากนั่งกินเหล้า สมัยก่อนคนไม่นิยมอยากเป็นนักข่าว ผมก็ได้พวกนี้ขึ้นมาด้วยกำลังของผมเอง เพราะผมเป็นคนให้โอกาสทั้งนั้น” มานะในวัย 88 ปียังมีความจำเป็นเลิศ

สร้างหนังสือพิมพ์บ้านเมืองติดตลาดอยู่ได้ถึงปัจจุบัน มานะบอกว่า ไม่ง่าย ตอนออกมาใหม่มีทั้งม้าแข่ง กอล์ฟ คนสมัยก่อนไม่ยอมรับอะไรเลย ข่าวโบว์ลิ่งก็ถูกว่า แต่ที่ทำให้เกิดได้นั่นคือโฆษณาย่อย เป็นครั้งแรกในวงการหนังสือพิมพ์ เริ่มแรกให้ลงฟรี 3 วัน ใครอยากมา ๆ ลง เริ่มต้นอย่างนี้ เปิดสมุดโทรศัพท์เยลโลเพจเจส ส่งจดหมายไปตามรายชื่อชวนมาลงโฆษณา ไม่รู้เหมือนกันคิดได้ไง อาจเป็นเพราะตอนนั้นลูกน้องขอขึ้นเงินเดือน เราก็บอกให้โรงพิมพ์อยู่ได้ก่อนไม่ได้หรือ พวกเขาไม่ได้คิดเหมือนกับที่เราคิด เขาอาจมองว่า เราสบายแล้ว กลายเป็นความไม่รู้สึกดี บางคนย้ายหนีไปอยู่ฉบับอื่น

กว่า 20 ปีที่นั่งตำแหน่งบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านเมือง เขาทุ่มเทเลือดและอารมณ์การทำงานมากกว่าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจบจนวันสุดท้ายของอาชีพที่ตัวเองรัก เจ้าตัวจำไม่ลืมว่า มีข่าวข้างนอกจะมีคนมาเทคโอเวอร์ทำหน้าที่แทนบรรณาธิการอย่างเรา ทั้งที่ตลอดเวลานับจากก่อตั้งมา ไม่ใช่แค่เอาอะไรมาสวมกบาลให้ติดคุกติดตะราง เราทำทุกอย่าง คอลัมน์คิดเอง ดูแลทุกอย่าง พอระแคะระคายก็ถามว่า จริงหรือเปล่าที่จะมีคนมาทำหน้าที่แทน เขาไม่ตอบว่า จริงหรือไม่จริง แต่ว่า ยังจะให้เงินเดือน ๆ ละ 2 หมื่นบาท

ผมเก็บของเดี๋ยวนั้นเลย ผมนอนโรงพิมพ์มาตั้งแต่ก่อตั้ง ผมก็ไม่รู้เหตุผล ถือว่าจบกัน” อดีตนักหนังสือพิมพ์คนดังรำลึกอดีต พ้นจากบ้านเมืองไปได้ทุนเปิดหนังสือพิมพ์สื่อไทไม่กี่เดือนก็ปิดฉากตัวเองออกจากกลิ่นน้ำหมึกถาวรที่คร่ำหวอดนานเกินค่อนชีวิต  “ผมว่า ตอนหลังหนังสือพิมพ์มันธุรกิจเกินไป ถ้ามองในเรื่องธุรกิจ มันก็จบ นายทุนมองว่าพิมพ์มาก ๆ ก็กลัวจะเหลือ ซึ่งมันไม่ได้ ทุกวันนี้ดูข่าวทีวี ไม่มีผู้ประกาศสักคนหยิบบ้านเมืองมาอ่าน มันสะท้อนเหมือนกัน ถ้าผมยังอยู่คงไม่เป็นแบบนี้ ตามตลาดมีบ้านเมืองบนแผงไหม ไม่มี เมื่อก่อนไล่มาอันดับ 2 ต่อจากไทยรัฐด้วยซ้ำ”

ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บ้านเมืองระบายอีกว่า เคยเขียนคอลัมน์รื่นเริงบันเทิงจัดกิจกรรมประกวดนั่นประกวดนี่ไปเรื่อง เพราะมองว่า เราอยู่ในสังคมจะหมกตัวเงียบไม่ได้ ถึงเวลาวันเกิดเราต้องเลี้ยง จะมาหรือไม่มาช่าง เอาลำตัดมาเล่น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยังมา คนรู้จักเยอะ แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าป๊ะกำพล คนเราบางทีมองคนละมุม การโฆษณา คือ อะไร ถ้าเราไม่เปิดตัว ไม่แสดงตัว มันจะเงียบ ถึงขั้นเป็นโต้โผจัดประกวดรางวัลตุ๊กตาทองมหาชน หนังสือพิมพ์ถ้านิ่งไม่ได้ ต้องมีกิจกรรมบ้าง

“ที่ผมภูมิใจคือ เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของเมืองไทยทำโฆษณาย่อย ถือเป็นความสำเร็จ แม้บางคนสมัยก่อนไม่รับเลย ผมทำงานถึงลูกถึงคนจริง ๆ ทำแล้วเดินหน้าไม่มีข้างหลัง  ทำงานหัวหินวิ่งรถเกือบเดือน ทำแบบไม่มีเทคโนโลยี ผิดกับสมัยนี้ความเป็นนักข่าว วิญญาณไม่ค่อยมี ถามแล้วไม่ศึกษาหรือไม่มีข้อมูล ไม่มีการทำการบ้านมาก่อน แต่สำหรับผม นักข่าวมันอยู่ในเลือดและอารมณ์ ไม่ใช่ทำเพราะหน้าที่” ทายาทโทนของโชติ แพร่พันธุ์หัวเราะอย่างภูมิใจ

 

 

RELATED ARTICLES