“เป็นธรรมดาของนักสืบที่ต้องมีพวก”

หนุ่มอำเภอบางปะหัน พระนครศรีอยุธยา มีแรงบันดาลใจอยากเป็นตำรวจตั้งแต่สมัยเด็ก ด้วยเหตุผลที่ว่าชอบเครื่องแบบ เห็นพวกรุ่นพี่นักเรียนนายร้อยแต่งตัวเท่ เดินตัวตรงแถมผู้หญิงชอบ

ตอนนั้นไม่คิดเลยว่าจะเข้ามาช่วยประเทศชาติ

เป็นความตั้งใจของเด็กเมืองกรุงเก่าอย่าง “อังกูร อาทรไผท” ตำนานนักสืบมือปราบอีกคนที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างโชกโชน

หลังจบชั้น ม.6 มีคะแนนอันดับ 1 ของจังหวัดจึงยอมเดินทางไกลเพื่อตามล่าหาฝันในเมืองหลวง นั่งเรือที่อำเภอมหาราชตั้งแต่บ่ายสามโมงมาขึ้นท่าเตียนตอนเจ็ดโมงเช้า พักอาศัยอยู่กับหลวงพ่อที่วัดโพธิ์เพื่อเรียนกวดวิชาเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร  แต่ก็ต้องผิดหวัง เมื่อชื่อหลุดไปในรอบสุดท้าย

ตัดสินใจเรียนต่อชั้น ม.7 ที่โรงเรียนเตรียมจุฬา ฯ จนจบ ม.8  จังหวะปีนั้นโรงเรียนนายร้อยตำรวจเปิดรับสมัครตรงจึงเป็นโอกาสให้เขาได้เข้าไปสอบแข่งขันอีกครั้ง คราวนี้ประสบความเร็จได้เป็นนักเรียนนายร้อยสมใจ บรรดาเด็กวัดเลี้ยงฉลองกันใหญ่โตเพราะเห็นว่าไม่มีเส้นสาย ไม่มีใครรู้จัก

อดหลับอดนอนขึ้นรถบัสจากกรมตำรวจเพื่อไปมอบตัวที่สามพราน กลับเจอเหตุการณ์ที่จำได้ไม่ลืมตั้งแต่วันแรก เมื่อถูกรุ่นพี่เรียกลงจากรถตรงอำเภอโพธิ์แก้ว จังหวัดนครปฐม สังให้หมอบคลานกลิ้งไปกลิ้งมาเป็นระยะ 8 กม.เพื่อเข้าโรงเรียนเล่นเอาข้อศอกถลอกเห็นหนังกำพร้าเป็นแผลเป็นถึงทุกวันนี้

กัดฟันนอนหลับทั้งน้ำตา ขณะที่เพื่อนหลายคนถอดใจ หลังจากพ่อแม่บังคับให้ลาออกเพราะทนสภาพกับระบบซ่อมแบบรุ่นพี่รุ่นน้องในโรงเรียนไม่ได้

ในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ เมื่อจบนายร้อยได้คะแนนเป็นอันดับ 3 ของรุ่นที่ 19  มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นอดีตนายตำรวจคนดัง อาทิ พล.ต.อ.ชาญชิต เพียรเลิศ พล.ต.อ.วุฑฒิชัย ศรีรัตนวุฑฒิ พล.ต.ท.ปกรณ์ สรรพกิจ พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ นิลคูหา

ได้สิทธิ์เลือกลงเป็นรองสารวัตรประจำจังหวัดนครปฐม ก่อนย้ายเข้ากรุงไปอยู่โรงพักบางยี่เรือ เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลธนบุรี  สารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ ขึ้น รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม ผู้กำกับการ 5 กองปราบปราม รองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 แล้วขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4  และผู้บังคับการกองตำรวจทางหลวง ถึงเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2546

ชีวิตของ พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท เคยตกระกำลำบากถูกออกจากราชการมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อสมัยเป็นสารวัตรอยู่กองสืบสวนใต้ เพราะดันไปรู้จักสนิทสนมกับเจ้าพ่อคนดังแห่งยุค

“เป็นธรรมดาของนักสืบที่ต้องมีพวก สมัยนั้นสยามสแควร์กำลังฟู่เฟือง เป็นเหมือนหัวใจของคนกรุง ผมผูกพันกับการดูหนังเลยรู้จักกับโส ธนวิสุทธิ์ และเสี่ยโต้ง กำพล ตันสัจจา โดยเฉพาะนายโส สนิทกันมาก เพราะเขาเป็นคนกว้างขวางกับพวกนักเลง เวลามีคดีใหญ่ เขาจะช่วยเช็กข้อมูล แค่โทรไปบอกว่าอังกูรน้องชายกูอยากรู้ก็ได้เบาะแสแล้ว ช่วยเราจับนักเลงและมือปืนได้หลายคน” พล.ต.ต.อังกูรเริ่มต้นเล่าชีวิตให้ฟัง

มีอยู่วันเกิดคดียิงผู้จัดการส่วนตัวพระเอกหนุ่มทูน หิรัญทรัพย์ มี ดามพ์ ดัสกร ตกเป็นผู้ต้องหาพัวพัน โสจึงเรียกเขาเข้าไปพบที่บ้านอธิบายเรื่องที่เกิดขึ้น

“เขาบอกว่าตำรวจจับแพะ ดามพ์มันเป็นแค่ผู้ร้ายในหนัง ผมก็ไม่รู้ แพะก็แพะ ถึงจะสนิทกันเรื่องแบบนี้เขาก็คงไม่บอกเรา พอผมจะกลับบ้านนายโสก็บอกให้ไปส่งหน่อย เราก็นึกว่าจะไปใกล้ ๆ แค่โรงแรมมณเฑียร กลับบอกจะไปหาโกโหลนที่หาดใหญ่”

อดีตนักสืบรุ่นเดอะบอกว่า ไม่รู้นายโสคิดอะไรอยู่ แต่ตอนนั้นตัวเองเพิ่งซื้อรถเก๋งวอลโว่มาใหม่ ไปก็ไป มีเสี่ยโต้ง กำพล ตันสัจจา เป็นคนขับ หลับไป คุยไปตลอดทาง ตื่นเอาที่จังหวัดชุมพร สมัยก่อนหนังสือพิมพ์ก็ยังไม่กระจาย ข่าวโทรทัศน์ก็ไม่ออก เลยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่กรุงเทพฯ คดีใหญ่โตขนาดไหน  หลังจากออกชุมพรแทนที่จะเข้าหาดใหญ่ พวกนั้นกลับมุ่งหน้าออกด่านปาดังเบซาร์ตรงเข้าปีนัง ประเทศมาเลเซียแล้วก็แยกทางกัน

“ผมต้องขับรถกลับคนเดียว หลงอยู่ในดงแขกตั้งนานกว่าจะผ่านเข้าเมืองไทย พอถึงกรุงเทพฯ ปุ๊บ ท่านโสภณ วาราชนนท์ ที่ขณะนั้นเป็นผู้กำกับสืบสวนใต้โทรมาหา บอกให้เข้าไปพบที่บ้านมีเรื่องใหญ่แล้ว ผมอ่านหนังสือพิมพ์ถึงรู้ว่ามีเรื่องแน่”

พล.ต.ต.อังกูรยอมรับว่า เป็นนักสืบบางทีก็มีพลาดเหมือนเส้นผมบังตา เหตุที่ผู้บังคับบัญชาทราบว่าตัวเองพาผู้ต้องหาพัวพันคดีฆ่าออกนอกประเทศก็เพราะนายโสดันโทรศัพท์กลับไปหาภรรยาระหว่างอยู่ที่ปีนัง บอกหมดว่าใครอยู่บ้าง เป็นจังหวะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจดักโทรศัพท์อยู่ด้วย

“ผมรู้ชะตากรรมดี ท่านโสภณบอกว่า เขาให้มาคุมตัวผม แต่ด้วยเกียรติยศฉันจะไม่คุมเธอหรอก แต่ให้ไปรายงานตัวที่ บช.น. ผมคิดว่าติดคุกแน่ เลยเตรียมจัดกระเป๋า มีกางเกงขาสั้น เสื้อยืด สบู่ ยาสีฟัน หอบไปพบผู้ใหญ่”

ผู้บังคับบัญชาไม่ได้ดำเนินคดีอาญา แต่ให้พักราชการไว้ก่อน เพราะการสอบสวนทราบว่าตอนนั้นนายโส ธนวิสุทธิ์ ยังไม่ได้เป็นผู้ต้องหา สารวัตรอังกูร อาทรไผท จึงรอดพ้นในข้อหาช่วยผู้กระทำความผิดหลบหนีคดี แต่ไม่วายโดนข้อหาไม่สนับสนุนนโยบายในการปราบปรามผู้มีอิทธิพล

มีคำสั่งให้ออกจากราชการแบบมีมลทิน

เมื่อออกจากชีวิตราชการ บังเอิญได้นายชาตรี โสภณพนิช เจ้าสัวใหญ่ ชวนไปทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ ตำแหน่งหัวหน้าส่วนตรวจสอบทั่วไป เป็นนักสืบประจำแบงก์ ถ่ายทอดวิชานักสืบให้แก่พนักงานธนาคารสามารถจับผู้ต้องหาทุจริตโกงแบงก์ได้ 15 กว่าคดี รวมทั้งคดีสำคัญคือไพร์เวทแบงก์กิ้งของธนาคารกรุงเทพที่โกงกันนับร้อยล้านบาทด้วย

ช่วงระยะเวลาที่เป็นหนุ่มแบงก์ พล.ต.ต.อังกูร ยังถูกชักชวนให้เข้าไปแสดงภาพยนตร์ไทยแนวบู๊แอคชั่นหลายเรื่อง ได้ประกบคู่พระเอก “สรพงษ์ ชาตรี” ในหนังเรื่อง 1+1 ฉึ่งแหลก รับบทเป็นตำรวจมือปราบตามถนัด

สาเหตุที่เข้าสู่วงการมายา อดีตพระเอกหน้าคมบอกเหตุผลว่า สมัยก่อนพวกสร้างหนังไทยใช้ทุนน้อย พอมีบทตำรวจก็มีคนเสนอเอาสารวัตรอังกูรมาเล่น เพราะเห็นมีเครื่องแบบอยู่แล้ว เอาตำรวจมาเรียนทักษะการแสดงง่ายกว่าเอานักแสดงไปฝึกเป็นตำรวจ เนื่องจากเวลาเดินเหินท่าไหนก็เป็นตำรวจอยู่วันยังค่ำ อาศัยแค่ดูมุมกล้อง

ทำงานอยู่ที่ธนาคารกรุงเทพนานอยู่ 5 ปี

“คิดว่าเราถูกออก คนปรามาสเราว่า ให้ออกจากราชการแบบมีมลทิน เข้าไม่ได้หรอก เราก็เกิดทิฐิต้องกลับเข้ามาให้ได้ เพราะคนที่ถูกออกจากราชการถึงจะรู้ว่ามันหดหู่ขนาดไหน เลยพยายามยื่นขอกลับราชการ โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่คอยช่วยให้ได้กลับเข้ามาเป็นสารวัตรแผนก บช.ก. ”

สำหรับเส้นทางนักสืบของ พล.ต.ต.อังกูร เริ่มต้นจริงจังเมื่อเข้าไปเป็นสารวัตรที่สืบสวนใต้ มีหัวเรือดีที่เป็นผู้นำอย่าง พล.ต.ท.ธนู หอมหวล และ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ และได้ลูกน้องเป็นมือสืบสวนพระกาฬของหน่วย  อาทิ พล.ต.ต.สมคิด บุญถนอม พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ และ พ.ต.อ.ทรงพร สารพานิช

เคล็ดลับในวิชานักสืบ ผู้การอังกูรแนะว่า การสืบสวนสมัยโบราณ อาจารย์ใหญ่ของเขา คือ ท่านพล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สอนไว้ว่า การสืบสวนต้องหาข่าว เฝ้าจุด สังเกตุการณ์ สะกดรอยติดตาม และการเข้าเกลียว หรือเข้าไปเพื่อล้วงเอาข้อมูลกับสายลับ ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จด้วย

“อย่างคดีที่ผมสะกดรอยยาวที่สุด เรื่องน้ำยาที่เป็นส่วนผสมทำยาเสพติดที่ชาวชุมชนคลองเตยร้องเรียนมาว่าเหม็นเหมือนน้ำส้มสายชู แต่พวกเรารู้มันคือน้ำยาสำหรับทำเฮโรอีนที่คนร้ายขนใส่รถบรรทุกสิบล้อจำนวน 2 คันวิ่งจากคลองเตยไปเชียงราย ใช้เวลา 2 วัน 2 คืน ตำรวจใช้รถติดตาม4-5 คัน กว่าจะตามไปจับได้ที่เชียงราย”

นอกจากนี้ยังมีคดีเรียกค่าไถ่ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ตำรวจต้องใช้วิชาการสืบสวนในทางลึก มีชีวิตคนเป็นเดิมพัน กระจายกำลังกันตามตู้โทรศัพท์สาธารณะ ตั้งสถานีอยู่ที่องค์การโทรศัพท์ ใช้ความทรหดอดทนอยู่พอสมควร ไม่เหมือนปัจจุบันที่มีหลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยคลี่คลาย เช่นการตรวจพิสูจน์เลือด หรือดีเอ็นเอ

หากทว่ามีอยู่ 2 คดีใหญ่ในปัจจุบันที่อดีตนักสืบมือปราบชื่อก้องยังค้างคาใจถึงทุกวันนี้ อีกทั้งยังค้านความรู้สึกนักสืบหลายคน

“สมัยผมเป็นผู้การเกิดคดีฆาตกรรมอดีตผู้ว่าราชการคนหนึ่ง ผมเป็นทีมสืบสวนสอบสวนชุดแรก สำนวนไม่เกี่ยวกับผู้กระทำผิดที่เป็นทหารแม้แต่น้อย ผมยังข้องใจเลยว่าทำไมเป็นแบบนี้ ทั้งที่มีผู้ต้องหาหญิงรับสารภาพ มีลูกน้องนักสืบที่ฝีมือดี อย่าง พ.ต.อ.วีระศักดิ์ มีนะวาณิชย์ ที่ละเอียดมาก”

คดีที่เกิดขึ้น พล.ต.ต.อังกูรอธิบายว่า เป็นผู้ไปสอบปากคำผู้หญิงที่เป็นผู้ต้องหาฆ่าเอง นายตำรวจระดับ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติก็สอบ เธอรับสารภาพหมด มีเหตุจูงใจเพื่อหวังต่อทรัพย์จะเอาเงินไปจ่ายค่าเช่าร้านคอมพิวเตอร์ให้ลูกชาย ก่อนพาไปเอาทรัพย์สินของผู้ตายที่ห้างสรรพสินค้า ปืนที่ใช้ยิงก็เป็นของสามีนายทหาร

ขณะลงมือยิงผู้หญิงรับว่าโอบกอดเหยื่อแล้วกดยิงตรงศีรษะ กระสุนโดนกะโหลกเฉี่ยวสมอง หัวกระสุนฝังผนัง เหยื่อล้มนอนเหมือนคนหลับ เธอจึงเอาผ้าใช้ตัวไปพันคอ ระหว่างเก็บทรัพย์สินเตรียมออกจากห้อง เหยื่อไม่ตายสนิทตะโกนร้อง ด้วยความตกใจกลัวเธอจึงเอามีดแทงที่คอซ้ำทำให้เลือดไหลออกเป็นลิ่ม ๆ ก่อนหลบหนีไป

“ขอโทษ ถ้าเป็นทหารคนนี้ทำ ทำไมปืนไปอยู่กับผู้หญิงได้อย่างไร  มันคาใจมาก  โอเค ผู้ต้องหาคนนี้อาจเป็นคนไมดี แต่ไม่ได้ ต้องว่าไปตามหลักฐาน ไม่ใช่เหมาว่าเป็นคนชั่ว กูจะทำลายหมด  คดีนี้เลยมันยังเกาะกินหัวใจผมอยู่” มือสืบสวนคลี่คลายคดีดังพูดด้วยสีหน้าจริงจัง

 “มันเป็นเพราะการตรวจนิติวิทยาศาสตร์ ตรวจดีเอ็นเอ ไปเจอเลือดที่อ่างล้างหน้าแต่ไม่ได้นำสืบว่าเลือดผู้ตายเข้าไปในห้องนั้นได้อย่างไร เหมือนที่เราพูดกันว่าเลือดมันเดินได้ น่าเศร้าใจในระบบกระบวนการยุติธรรม  ทำไมผู้ต้องหาที่เคยรับสารภาพแล้วหลุด ผมเป็นผู้การ ผมรู้ดีเพราะพรรคพวกผู้ตายบอกผมว่า ขอให้ทำไปเถอะรับรองข้างบนพวกเขาเตรียมดาบไว้แล้ว ฟันได้ทันที สุดท้ายก็ตัดสินเพราะว่าทฤษฎีเลือด”

ผู้การอังกูรย้ำด้วยว่า “ผมเชื่อว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ เป็นเรื่องที่กินในหัวใจ ไม่สบายใจเลย ถ้าถึงวันที่นักโทษคนนั้นโดนประหาร ผมคงนอนไม่หลับ”

ส่วนอีกคดีกลับตาลปัตรเพราะเรื่องเลือดเช่นกัน เป็นเหตุที่เกิดขึ้นสมัย พล.ต.ต.อังกรู ยังดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 คดีที่อดีตนักการเมืองตระกูลดังเสียชีวิตปริศนา “ ผมนับถือนักสืบรุ่นพี่คนหนึ่งที่มีความละเอียดเป็นเลิศ คือ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ วันเกิดเหตุท่านไล่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องออกจากสถานที่แล้วสั่งให้ถ่ายวิดีโออย่างละเอียดเพราะสังหรณ์ใจแล้วว่าต้องมีปัญหาแน่ ผู้ตายเป็นถึงอดีตนักการเมือง ส่วนผมรับผิดชอบเรื่องปืนของกลาง นำสืบได้อย่างละเอียดถึงที่มาที่ไปของปืนว่าสุดท้ายอยู่ในความครอบครองของผู้ตาย แล้วโจรที่ไหนจะฆ่าโดยเอาปืนที่คนตายเก็บไว้มาจัดฉาก”

ทีมสืบสวนสอบสวนคลี่คลายคดีทำกันอย่างละเอียดและรอบคอบที่สุด ท่าทางการเสียชีวิตของผู้ตายอาจดูเป็นปริศนา แต่ พล.ต.ต.อังกูร อธิบายได้ว่า เป็นอะไรที่คลาสลิกมาก หลังจากที่ผู้ตายยิงตัวเองด้วยกระสุนลูกปรายแล้วยังไม่ตายทันที มือยังคงกำปืนแล้วร่วงลงมาข้างตัว ลูกโม่และไกปืนไปเกี่ยวกระเป๋าเสื้อของผู้ตายจนค้างพอดีในท่านั้น หากจะจับวางอีกกี่ทีก็ไม่มีทางเหมือน ผลสรุปการสอบสวนถึงระบุว่าทำตัวเองตาย

“ทีมนักสืบสวนระลอกสองกลับดูรอยเลือดจากภาพ แล้วเอามาเป็นหลักฐานได้ตัวผู้กระทำผิด ใช้ทฤษฎีเลือดเป็นมาตรฐาน  มันกินใจมาก ผมว่าตอนนี้มันเพี้ยนไปหมด”

สุดท้ายมือปราบรุ่นเก่ายังฝากไปถึงน้องนักสืบยุคใหม่ด้วยว่า การทำงานสืบสวนมันเสี่ยง แต่ก็สนุก และไม่จำเจอยู่บนโต๊ะ หลายคดีที่เกิดขึ้นรายละเอียดก็ไม่เหมือนกัน รวมทั้งยังได้ความรู้จากเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่และรุ่นน้อง อย่างที่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ ย้ำอยู่เสมอว่า “นักสืบทุกคนต้องไปดูที่เกิดเหตุแล้วจะเกิดภาพว่าน่าจะเป็นแบบนั้น แบบนี้ได้ ไม่ใช่ทึกทักแล้ววิเคราะห์กันไปเรื่อยเปื่อย”

 

“บางคดีอาจต้องใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย แม้ส่วนตัวผมยังมีอคติในเรื่องนี้อยู่เพราะมีสิทธิ์ผิดพลาดกันได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องพิจารณาดูด้วยว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พบเกิดจากธรรมชาติหรือมีมนุษย์สร้างฉากขึ้น  รวมทั้งต้องฟังอย่างอื่นประกอบให้สอดคล้องกันด้วย”

อย่าให้มันกลายเป็นประเด็นคาใจเหมือนที่ทำให้เขายังจุกอกอยู่ทุกวันนี้

อังกูร อาทรไผท !!!

RELATED ARTICLES