“ พวกเราเป็นรุ่นแรกที่ทุกคนตั้งความหวังไว้”

 

 ผลผลิตจากรั้วสามพรานเมื่อหลายปีก่อน เริ่มทยอยผลิดอกออกช่อกันบ้างแล้ว

ได้เวลาบรรดา นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรก เบ่งบานเจริญก้าวหน้าตามวิถีเส้นทางวงจรชีวิตของข้าราชการในเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

บทพิสูจน์ความสามารถยืดอกแข็งแกร่งไม่แพ้ตำรวจชาย

สารวัตรบีม...หญิง กนกวรรณ พลทามูล เป็นอีกหน้าบันทึกประวัติศาสตร์ตำแหน่ง สารวัตรจราจรหญิงคนแรก ของประเทศไทยที่ได้รับความไว้วางใจมอบหมายหน้าที่คุมกำลังทัพ หัวปิงปอง ใจกลางเมืองบุรีรัมย์

ภารกิจท้าทายและยิ่งใหญ่ แต่ไม่เกินฝีมือนายตำรวจสาวบนดินแดนอีสานใต้ ปราสาทสายฟ้าอย่างเธอ

 

คิดอยากเป็นครูตามรอยพ่อแม่ แต่ดันสอบติดนักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรก

จากเด็กบ้านนอกชาวอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา เกิดครอบครัวครู สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมโรงเรียนประทาย ก่อนย้ายไปต่อมัธยมโรงเรียนขอนแก่นวิทยายน ด้วยความที่พ่อแม่อยากให้ไปเรียนที่อื่นไม่ใช่แถวบ้านตัวเอง มีความคิดอยากรับราชการครูเจริญรอยตามครอบครัว เฉกเช่น ปู่ ย่า พ่อ แม่ ลุง ป้า น้า อา ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นตำรวจอยู่ในหัว

กระทั่งเรียนจบมัธยม โรงเรียนนายร้อยตำรวจรับสมัครผู้หญิงเป็นรุ่นแรก เจ้าตัวเล่าว่า แม่ติดตามข่าวแล้วโทรศัพท์มาบอกให้ไปลองสมัครสอบ ยอมรับว่า ไม่รู้เป็นอย่างไร เพราะไม่เคยสัมผัสชีวิตตำรวจ มีแต่เพื่อนเรียนด้วยกันไปสอบติดเตรียมทหาร ไม่รู้ด้วยซ้ำมีเปิดรับผู้หญิง ด้วยความที่อยู่ต่างจังหวัดแล้วอยากไปเที่ยวกรุงเทพฯ ตัดสินใจชวนเพื่อนไปสอบด้วยกัน ถือโอกาสเที่ยวไปในตัว ไม่คิดวางแผนว่า ถ้าเข้าไปแล้วต้องเรียนอะไร

เธอจำบรรยากาศแม่นว่า มีผู้หญิงมาสมัครเยอะมาก หมื่นแปดพันกว่าคน  รับกลุ่มที่จบชั้นมัธยมปีที่ 6 แค่ 60 คน และข้าราชการตำรวจหญิงชั้นประทวนอีก 10 คน รวมเป็น 70 คน สมัครสอบตอนแรก แม่ดูให้หมด ไม่ได้ตามผล สอบเสร็จปล่อยไปเลย ไม่ได้สนใจ จนแม่โทรศัพท์มาตอนเช้าว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจประกาศผลสอบแล้ว มีชื่อติดด้วย

เครียดหนักว่ายน้ำยังไม่เป็น โดนจับเคี่ยวเข็ญแค่เวลาเพียงไม่กี่วัน

“เอาแล้วไง” เธอตกใจเนื่องจากผ่านข้อเขียนแล้วต้องไปสอบพละอีกด่าน “ สารภาพตรงๆ เลย ว่า ว่ายน้ำไม่เป็น วิ่งก็ไม่เคยวิ่ง จะเป็นอารมณ์แบบเด็กเรียนมากกว่า เรียนอย่างเดียว ไม่ได้เน้นกีฬา ไม่ได้เน้นทำกิจกรรมอะไร  ตั้งใจเรียนเพื่อหวังไปสอบต่อพวกเภสัชกร ทันตแพทย์ หมอที่เลือกเอาไว้แล้ว พอมาสอบติดนายร้อยตำรวจเป็นอะไรที่วุ่นวายกับการจัดระเบียบตัวเองพอสมควร”

เจ้าตัวเล่าต่อว่า  แม่ต้องไปจ้างครูฝึกว่ายน้ำ ตั้งแต่ประกาศข้อเขียนประมาณสัปดาห์เดียวจะมีสอบพละ ทั้งวิ่ง ว่ายน้ำ แล้วถึงตรวจร่างกาย มีเวลาไปเรียนว่ายน้ำได้ 2 วัน แม่โทรศัพท์มาถามด้วยความเป็นห่วงว่า ว่ายได้หรือยัง ก็ไม่กล้าบอกว่า ยังไม่ได้ กระทั่งแม่ขึ้นมาที่ขอนแก่น ติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาขอลาไปเรียนว่ายน้ำที่ค่ายอดิศร จังหวัดสระบุรี เพราะมีญาติเป็นนักกีฬาว่ายน้ำและครูสอนว่ายน้ำ

เด็กนักเรียนสาวมัธยมจบใหม่ต้องถูกฝึกว่ายน้ำอย่างหนักตั้งแต่เช้า เที่ยง ยันเย็นในสระว่ายน้ำค่ายอดิศร ชนิดติวเข้มจนตัวดำเป็นรอยชุดว่ายน้ำ กลิ่นคลอรีนเต็มไปหมด ครูแอบไปบอกแม่เธอตรง ๆ ว่า  ถ้าน้องอยากเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจจริง ๆ แบบนี้สอบว่ายน้ำไม่ผ่านแน่ ปีหน้าค่อยลองไปสอบใหม่ ดูแล้วไม่น่าจะรอด  “พอวันที่สอบจริงๆ ไม่คิดว่าตัวเองจะว่ายได้ คิดอย่างเดียวว่ายไปก่อน ห้ามจม เพราะคนที่ว่ายก่อนหน้านี้ ตกเยอะมาก ด้วยความที่เป็นปีแรกที่รับผู้หญิงไม่ค่อยเตรียมตัวกันเท่าไหร่ ตกว่ายน้ำ ตกวิ่ง มีแบบสายตาไม่ผ่านอีก เรารอดมาได้แบบงง ๆ”

 

ต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวัน ท่ามกลางแรงกดดันจากเพื่อนผู้ชาย

เริ่มต้นชีวิตนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงในรั้วสามพราน เธอบอกว่า ต้องตัดผมสั้น เรียนกับผู้ชาย  มีการปรับพื้นฐานก่อนจะเปิดเทอมประมาณเดือนกว่า ถูกฝึกระเบียบวินัย ทำอะไรหลายอย่าง เนื่องจากไม่เคยผ่านเตรียมทหารเหมือนผู้ชาย หนักเหมือนกัน เปลี่ยนชีวิตประจำวันหมด ตื่นตั้งแต่ตีห้าออกวิ่ง เพื่อเปิดภาคเรียนแล้วทุกคนปรับตัวได้ กระนั้นก็ตาม มีเพื่อนลาออกไปหลายคน เรื่องตัดผมไม่ใช่ปัญหา แต่ฝึกหนักบางคนรับไม่ไหว โรงเรียนยังให้โอกาสไปลองสอบโอเน็ต เอเน็ต แล้วเปลี่ยนใจกลับมาได้ เพราะเป็นรุ่นแรกก่อนเปิดเทอมจริง

พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณรับว่า ด้วยความติดชีวิตนักเรียนมัธยมทั่วไป ระเบียบในการใช้วิตไม่ได้เคร่งขนาดนั้น พอเจอการฝึก ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง ท่ามกลางความกดดัน และคำสบประมาทจากเพื่อนผู้ชายว่า พวกเราจะทำได้แค่ไหน เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกที่รุ่นพี่จ้องจวกบ่อยกว่า เช่นเวลาเข้าเวรยามผู้หญิงจะเจอประจำ บางคนมีรอบเดือนปวดท้อง เป็นลม  แต่ระยะหลังรุ่นพี่ และเพื่อนผู้ชายจะเข้าใจมากขึ้น มีผู้หมวดผู้หญิงที่อยู่โรงเรียนมาช่วยดู

ตลอดระยะเวลา 4 ปี สารวัตรบีมมองว่า ได้อะไรมาเยอะมาก อันดับแรก คือ เรื่องระเบียบวินัย การปรับตัวอยู่กับเพื่อน เราไม่เคยอยู่โรงเรียนประจำ ไม่เคยใช้ชีวิตกับคนอื่นตลอดเวลาที่นานขนาดนี้ ต้องปรับต้องเปลี่ยน อะไรที่ใช้ชีวิตกับส่วนรวมต้องเสียสละ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผู้หญิงต้องทำอะไรให้ไปด้วยกันได้ในภาพรวมของรุ่น  เพื่อนคนไหนที่ไม่ไหวจะออก บางทีต้องไปช่วยคุย ไปให้กำลังใจ แม้เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน แต่ว่า ต้องพยุงเพื่อนให้ไปด้วยกันจนจบหลักสูตร

 

บรรจุลงสอบสวนโรงพักเมืองบุรีรัมย์ พร้อมกับคำถามจะไปรอดแค่ไหน

“ พวกเราเป็นรุ่นแรกที่ทุกคนตั้งความหวังไว้” นายตำรวจหญิงสารภาพ และรู้สึกว่า ตั้งแต่จบมาเลือกตำแหน่งก็มีความคาดหวังอยู่แล้วว่า จะเลือกทำหน้าที่พนักงานสอบสวน รับคดีเด็กและสตรี ดูเรื่องความรุนแรงในครอบครัวอย่างเดียวไม่ได้ เมื่อเราผ่านอะไรมาเหมือนกับนักเรียนนายร้อยตำรวจผู้ชาย ถ้าคิดแบบนั้นทำไมไม่รับพวกจบนิติศาสตร์เข้ามา ทำไมต้องรับพวกเราเข้าไปฝึกหนักนานถึง 4 ปี

“เรียนจบออกมาทำงาน เจอสิ่งที่เราฝึกมาจากโรงเรียนเยอะ แต่ไม่เหมือนกับตำราที่เรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เราเรียนเกี่ยวกับข้อกฎหมายเป็นทฤษฎีทั้งหมด ไม่ได้ลงลึกว่า ต้องเจออะไร  ต่อให้จำลองเหตุการณ์ มันเป็นแค่การเล่าเรื่อง มันไม่ได้เจอของจริง พอมาเป็นพนักงานสอบสวนจริง ๆ มันเจออะไรเยอะมาก”

เธอเลือกบรรจุเป็นพนักงานสอบสวนโรงพักเมืองบุรีรัมย์ ด้วยเหตุผลอยากทำงานใกล้บ้านอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา มีเวลากลับไปเยี่ยมพ่อแม่ แวะกินข้าวกับที่บ้านเกิด แต่ไม่อาจหนีภาพที่ถูกมองว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกจะรอดหรือไม่ โชคดีที่นายตำรวจรุ่นพี่ต่างเชื่อมั่นว่า ผ่านการฝึกมาพอสมควรในเรื่องการทำงาน ถึงให้เกียรติและคอยเป็นพี่เลี้ยงคอยบ่มเพาะวิชาชีวิตผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ในสนามจริง

 

ขยับไปสายป้องกันปราบปราม ถูกตามกลับมาช่วยงานจราจร

“พวกรุ่นพี่ ผู้บังคับบัญชาคาดหวังเราเหมือนกัน ต้องทำได้ ต้องเป๊ะ มีความเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ” เจ้าตัวระบายพร้อมขยายภาพการทำงานในฐานะพนักงานสอบสวนตลอด 3 ปี รับทุกคดี ไม่ว่าจะเป็นอาญา หรือจราจร คดียาเสพติด คดีเกี่ยวกับเด็กและสตรี ก่อนโยกเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจภูธรประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ กลับมาช่วยงานจราจรโรงพักเมืองบุรีรัมย์ตามเดิม

สารวัตรสาวมีความรู้สึกว่า ทำงานสอบสวนเยอะแล้ว อยากเปลี่ยนหาประสบการณ์ด้านอื่น  ประจวบกับเป็นช่วงยุบแท่งพนักงานสอบสวน กลายเป็นว่า พนักงานสอบสวนไม่สามารถประเมินตัวเองได้ เก็บสำนวนเกิน 140 สำนวนตามที่กำหนดจะประเมินขึ้นระดับสารวัตรไม่ได้เหมือนในอดีต ไม่สามารถเจริญก้าวหน้าได้อีกแล้ว จากเดิมที่เลื่อนไหลเติบโตในสายเป็นบันไดให้พนักงานสอบสวน ทำให้มองไม่เห็นทางที่จะเติบโตได้อย่างไร

“พนักงานสอบสวนหลายคน เจอแบบนี้ ไม่ไหวเหมือนกัน” เธอสะท้อนความจริงที่มีส่วนให้เกิดวิกฤติพนักงานสอบสวนขาดแคลน เป็นอีกเหตุผลส่งให้เธอตัดสินใจเปลี่ยนแนวขยับลงสายป้องกันปราบปราม แล้วไปช่วยงานจราจร แต่ยังทำหน้าที่พนักงานสอบสวนเข้าเวรดูคดีจราจร ควบคู่กับศึกษาการบ้านเกี่ยวกับงานอำนวยความสะดวกเรื่องการจราจรบนท้องถนน

 

รับภารกิจหินสุดท้าทาย ต้องจำชื่อลูกน้องในฝ่ายให้หมดทุกคน

พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณยืนยันว่า อยู่ในพื้นที่มาก่อน เคยเป็นพนักงานสอบสวนจะไม่หนักใจในการทำหน้าที่เท่าไร ลูกน้องจราจรทุกคนจะเห็นหน้าค่าตากันตั้งแต่เป็นพนักงานสอบสวนประจำอยู่บนโรงพัก เวลาเข้าเวร หรือออกเวรจะเจอกันประจำ วนเวียนกันแบบนี้ แม้ตำรวจจราจรจะอยู่ตามจุดบริการ นอกจากช่วงปล่อยเช็กยอดหน้าโรงพักที่จะพบกันเป็นทางการ

“อย่างไรก็ตาม พอมาทำหน้าที่ช่วยราชการจราจรจริง ๆ  ต้องทำการบ้านเยอะมาก เพราะลูกน้องฝ่ายจราจรมีกำลังพลไม่น้อย ต้องจำให้ได้ว่า ทุกคนใครชื่ออะไร รหัสอะไร เนื่องจากต้องใช้วิทยุสื่อสารกัน ตอนนั้นกำลังชุดปฏิบัติประมาณ  55 คน  มีรองสารวัตร 8 คน เราเป็นผู้หญิงคนเดียวเข้าเวรคู่กับผู้ชาย เช้าตั้งแต่ตีห้าครึ่งถึงสิบโมง ถ้าเย็นตั้งแต่บ่ายสี่โมงครึ่ง ถึงเที่ยงคืน เพื่อเตรียมพร้อมรอรับภารกิจ”

เธอยังบอกว่า มาทำหน้าที่แรก ๆ หนักเหมือนกัน ผู้บังคับบัญมาปล่อยแถวตอนตีห้าครึ่งทุกวันเกือบเดือน  ต้องปรับตัว ต่างจากพนักงานสอบสวนที่แบ่งเป็นผลัดเวลาพักมากกว่า และความเป็นผู้หญิงไปทำงานตอนตีห้าครึ่งจริง แต่ต้องตื่นตีสี่ เพราะมีอะไรจิปาถะเยอะกว่าในเรื่องการแต่งตัว

 

กังวลสั่งผิดสั่งถูกแล้วไร้คนฟัง ไปนั่งทำสมาธิท่องบทเข้มในกระจก

นักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงรุ่นแรกเล่าต่อว่า ลูกน้องชั้นประทวนหลายคนทำงานจราจรตั้งแต่บรรจุจนเกือบเกษียณไม่ได้ย้ายไปไหน อยู่ยาวจนรู้พื้นที่ทุกซอกทุกมุม รู้ทีมงาน รู้จักคนนั้นคนนี้ เรามาครั้งแรกขึ้นพูดหน้าแถว ชี้แจงภารกิจ เกร็งเหมือนกัน ต้องทำการบ้าน ยอมรับว่า ไปฝึกพูดอยู่หน้ากระจกจะชี้แจงอย่างไร เพื่อความมั่นใจ กังวลด้วยว่า พวกเขาจะฟังเราหรือไม่

“ถามว่ามีพวกลองดีหรือเปล่า อาจมีบ้าง เพราะบางคนอยู่มานาน ถ้าเราสั่งผิด สั่งถูก เราจะเสียความมั่นใจ เพราะมีพี่ที่เคยอยู่มาด้วยกัน ตอนนี้เกษียณแล้วแกเป็นร้อยเวร สั่งผิดๆ ถูกๆ ลูกน้องจะไม่ค่อยฟัง แต่เราต้องมั่นใจไปก่อน ต้องกล้าที่จะสั่ง กล้าที่จะชี้แจง ถ้าเรามีความมั่นใจ ลูกน้องเป็นผู้ปฏิบัติจะรับคำสั่งอยู่แล้ว ที่สำคัญ เราต้องรับผิดชอบในคำสั่งที่เราสั่ง เขาจะได้กล้าทำ แล้วไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรตอบโต้มา”พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณว่า

ผ่านห้วงเวลาปรับตัวในบทรองสารวัตรคุมสายงานหัวปิงปองได้เวลาครบขึ้น เจ้าตัวว่า ไม่ได้คาดหวังขึ้นสารวัตรได้เมื่อครบเกณฑ์ ถ้าขึ้นที่ไหนก็ได้แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาเห็นชอบ พอเป็นสารวัตรจราจรที่เดิม คิดว่า ผู้ใหญ่อาจมองว่า เราทำได้ ถึงสนับสนุน  เพราะผ่านงานสำคัญในพื้นที่มาเยอะ และอาจเคยอยู่จราจรมาก่อนแล้ว แต่ภาระความรับผิดชอบจะเพิ่มมากขึ้น จากร้อยเวรรู้เฉพาะเรื่องวันที่เข้าเวร รู้ภารกิจของเรา พอเป็นสารวัตรต้องรู้ภารกิจทุกวัน ทำงานตลอด คิดตลอดเวลา ทำการบ้านเพิ่มขึ้น และพร้อมแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น

 

รักษาระยะห่างผู้ใต้บังคับบัญชา กำชับเวลาปฏิบัติหน้าที่บนท้องถนน

สารวัตรสาวเมืองปราสาทสายฟ้าต้องเปลี่ยนไปเล่นบทผู้บังคับบัญชาที่นิ่งมากขึ้น รักษาระยะห่างระหว่างลูกน้องที่เมื่อก่อนสมัยเป็นรองสารวัตรสนิทไปกินเที่ยวเป็นประจำ ปัจจุบันต้องวางตัวให้เหมาะสม เวลางาน คือ งาน แต่คนไหนที่สนิทอยู่แล้ว มีปัญหาอะไรเธอพร้อมให้คำปรึกษา ลูกน้องทุกคนถึงเกรงใจพอสมควร ให้เกียรติในฐานะผู้บังคับบัญชา ไม่ได้ติดปัญหาสายงานตรงที่ว่า เป็นผู้หญิง

เธออยากจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรให้ชาวบ้าน ก่อนเกิดโรคโควิดระบาดกำหนดให้ตั้งจุดกวดขันวินัยจราจร ยกเว้นวันที่มีแข่งฟุตบอล หรือมีอีเว้นท์ที่นักท่องเที่ยวอื่นเข้ามาจะไม่มีการตั้งด่าน กำชับลูกน้องตลอดเรื่องการใช้กิริยา วาจา การพูดคุยกับประชาชนด้วยความสุภาพ ด้วยความอารมณ์ดี ไม่ต้องไปพูดไม่ดี พูดดีก็สามารถกวดขันวินัยจราจรได้

“รู้ว่า ตำรวจบางคนอยู่ด่านนานๆ ร้อน ย่อมมีอารมณ์อยู่แล้ว  ส่วนคนที่ถูกตรวจค้นจับกุมก็ไม่ได้แฮปปี้ คดีจราจรมันเป็นข้อหาที่หยุมหยิม ยิบย่อย ชาวบ้านมองว่า แค่นี้เอง ทำไมต้องจับ  ต้องปรับ ต้องออกใบสั่ง ทำไมไม่ว่ากล่าวไปก่อน ก็เน้นย้ำลูกน้องไปว่า ถ้าเคสไหนที่เขามาดีกับเรา คุยดี ไม่ได้มีการดูหมิ่นกัน ไม่ก่อความเดือดร้อนคนอื่น ไม่คิดว่าจะทำให้เกิดอุบัติเหตุข้างหน้า ให้ว่ากล่าวไปได้ดีกว่า”

 

กำหนดกติกาไม่ให้ใครนอกกรอบ เหมือนข้อสอบวัดใจให้ทีมงานเห็น

พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณย้ำว่า ทุกครั้งที่เรียกประชุมจะกำชับอยู่เสมอ ช่วงไหนมีคลิปหลุดตามด่านก็ยกขึ้นมาพูดกันในที่ประชุม แจ้งทุกคนว่า เราควรจะทำอย่างไร ถ้าไม่จำเป็น ไม่ต้องตอบโต้ พยายามให้ลูกน้องศึกษาความรู้ความเข้าใจเรื่องกฎหมายจราจรให้ชัดเจนและแม่นยำ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครออกนอกลู่นอกทาง  เราบอกแล้วว่า งานของสารวัตรตรงนี้มีกติกา อาจมีเวรเสริม เวรโทษ ต้องรับสารภาพหากกระทำผิด เพราะเราอยู่รวมกันหลายคน คนไหนไม่ดีก็ลงโทษไป คนอื่นเห็นแล้วจะได้ไม่ทำตาม

แต่เพื่อไม่ให้เกิดบรรยากาศความตึงเครียดมากเกินไป สารวัตรสาวได้จัดกิจกรรมกีฬา เช่น เตะฟุตบอลเชื่อสัมพันธ์ไว้ผ่อนคลายทีมงานตำรวจจราจร ทั้งนี้ทั้งนั้น การเป็นนายตำรวจหญิงให้ทุกคนยอมรับ เธอว่าอยู่ที่การบริหารจัดการ การวางตัว  เราอาจจะไม่ได้ไปสรวลเสเฮฮาอะไรมากเหมือนตำรวจผู้ชาย อย่างบางทีมีงาน มีกิจกรรมไปร่วมกัน เสร็จก็แยกย้าย แต่ในการทำงานกิจกรรมร่วมกันต้องมี ทำงานกันค่ำๆ มืดๆ ตากแดดตากฝนด้วยกัน นั่งกินข้าวกล่องข้างถนน ข้างเต็นท์ด้วยกัน ถึงเวลาต้องมีผ่อนคลาย

“ขึ้นอยู่ที่การวางตัว เมื่อเราทำเป็นตัวอย่างให้ลูกน้อง บางทีใครที่มีปัญหา เราต้องกล้าที่จะสั่ง กล้าที่จะแก้ไข กล้าที่จะดำเนินการ อาจจะด้วยความที่เราก็เป็นของเราแบบนี้มาตั้งแต่ต้น ทุกคนรู้อยู่แล้ว งาน คืองาน เราจะไม่ได้เอาอะไรมาปนกัน เวลาทำงานเราไม่ได้หน่อมแน้ม ทำตรงนี้ลูกน้องก็รับฟังเรา งานถึงออกมาดี งานก็สำเร็จ”

 

ขอบคุณตำราในรั้วสามพราน เผชิญสถานการณ์ด้วยความกล้าแกร่ง

สารวัตรจราจรหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์วงการตำรวจไทยระลึกเสมอว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจสอนให้ฝึกความอดทน อดกลั้น มีความกล้าที่จะตัดสินใจ  บางทีจังหวะวิกฤติสถาการณ์ฉุกเฉิน เราเป็นผู้บังคับบัญชาต้องแก้ปัญหา ยกตัวอย่าง เหตุการณ์นักโทษหลุดจากเรือนจำจังหวัดบุรีรัมย์ เพิ่งรับตำแหน่งใหม่พอดี เป็นอาทิตย์ สแตนบายอยู่ในเขตรับผิดชอบ ใกล้เที่ยงกำลังขับรถไปกินข้าว ได้ยินวิทยุแจ้งเหตุ

เธอว่า เคยมีการซ้อมแผนเผชิญเหตุตลอด พอมีวิทยุแจ้ง เราก็รีบไปที่เกิดเหตุ ประสานร้อยเวรและกำลังไปร่วมสกัดบริเวณหน้าประตูเรือนจำ แม้ไม่ใช่หน้างานจราจร เป็นของงานป้องกันปราบปราม แต่เราต้องช่วยกัน จราจรช่วยกันกั้นบริเวณ นับถือใจลูกน้องเหมือนกัน เข้าไปเคลียร์พื้นที่ทันที เนื่องจากเรือนจำอยู่ติดถนนสายหลัก มีชาวบ้านสัญจรไปมา

“เราต้องกันไม่ให้คนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไป ตั้งแต่เที่ยงวันถึงตีสามควบคุมสถานการณ์จนจบ ถ้าเราไม่เข้าไป เกิดชาวบ้าน ไทยมุง ประชาชนที่ขับรถผ่านตรงนั้นเข้าไปจะเกิดอันตรายตามมา” พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณเล่าฉากระทึกกลางเมือง

 

ไม่เคยคิดเป็นหน้าตาของรุ่น ต้นทุนทำงานดีเพราะยังไม่มีครอบครัว

สำหรับเป้าหมายอนาคต นายพันตำรวจตรีหญิงว่า ไม่ได้มองอะไรไว้ จริง ๆ ไม่ได้คาดหวังด้วยซ้ำว่าตัวเองจะมาขึ้นตรงนี้ อาจด้วยจังหวะ ด้วยโอกาส พอมาตรงนี้ก็ทำให้มันเต็มที่ ตั้งแต่ได้ตำแหน่งเพื่อน ๆ แสดงความยินดีกัน กดดันตัวเองเหมือนกัน บางคนบอกว่า เป็นหน้าเป็นตารุ่น  เราไม่ได้คิดขนาดนั้น ส่วนใหญ่จะแซวๆ กันมากกว่า เพื่อนผู้หญิงในรุ่นก็ได้กันเยอะเหมือนกัน  มีแต่รุ่นพี่ ๆ จะเป็นห่วงว่า เราจะไหวไหมกับความรับผิดชอบที่โตขึ้นมาอีกระดับ ต่างจากตอนเป็นรองสารวัตร

เจ้าตัวอธิบายว่า โชคดีที่ลูกน้องส่วนใหญ่ทำงานด้วยกันมานานอยู่แล้ว คุ้นไม้คุ้นมือกันดี หลายภารกิจสำคัญในพื้นที่รับผิดชอบก็ทำงานด้วยกันตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด เช่น วิ่งมาราธอน พอโรคไวรัสระบาดต้องยกเลิกหมด ทุกคนล้วนรู้หน้าที่ รู้หน้างาน ทำให้เราไม่กดดัน  จริงๆ บุรีรัมย์ไม่ได้จังหวัดใหญ่มาก ไม่ได้กว้างมาก พื้นที่รับผิดชอบไม่ได้เยอะ แต่พอมีงาน มีอะไรคนจากต่างพื้นที่จะเข้ามา เราต้องดูแล  ถ้ากรุงเทพฯ รถติดยาวจะเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ทว่าบุรีรัมย์พอเริ่มติดจะมีเริ่มโทรศัพท์มาสอบถาม เราก็ต้องคลี่คลายปัญหา

“ เราทำงานของเราเกือบทุกวัน อาจจะเพราะโสด ยังไม่มีครอบครัว เลยทำงานได้ตลอด ถามว่า ตำรวจหญิงจริงๆ ถ้ามีครอบครัวแล้วจะมาทำหน้าที่อยู่ตรงนี้ คิดว่าน่าจะลำบาก ต้องโฟกัสหลายเรื่อง อย่างเราบางทีมีงานเลิกดึกๆ  ถ้าคนที่มีครอบครัวแล้ว ไม่น่าจะสะดวก ก็ต้องเลือกเอา ไม่เหมือนผู้ชายจะมีแม่บ้านที่คอยดูอยู่ข้างหลัง แต่ถ้าผู้หญิง ครอบครัวไม่เข้าใจคงลำบาก” พ.ต.ต.หญิง กนกวรรณทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES