ข้อควรระวังในการทำนิติกรรมสัญญา

ปัจจุบันมีการโฆษณาขายสินค้าและบริการทางอินเตอร์เน็ต  โฆษณาทางสถานีโทรทัศน์  วิทยุ  เป็นจำนวนมาก โฆษณาตามสื่อต่างๆ มีการนำเสนอเฉพาะคุณประโยชน์ของสินค้าและบริการด้านเดียว จนทำให้ผู้บริโภคเคลิ้ม หลงเชื่อและยอมทำนิติกรรมสัญญาด้วย โดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์อันเป็นสาระสำคัญของนิติกรรมและเสียเปรียบ เสียเงิน เสียทอง  โดยไม่คุ้มค่าราคาสินค้าและบริการ การทำนิติกรรมดังกล่าว เป็นเรื่องความสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์อันเป็นโมฆียะ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกล้างและขอคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยได้  ที่ผ่านมาศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษามาแล้วหลายคดี ทนายคลายทุกข์ขอนำเสนอต่อท่านผู้อ่าน เพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้บริโภค ดังนี้

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2349/2531

จำเลยทำสัญญาจะขายที่พิพาทให้โจทก์โดยทราบว่าโจทก์จะซื้อที่พิพาทไปเพื่อสร้างโรงงาน เมื่อจำเลยทราบว่าที่พิพาทอยู่ในเขตประกาศของกระทรวงมหาดไทยเรื่องห้ามก่อสร้างอาคาร แต่ปกปิดข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงถือว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อซึ่งเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์บอกล้างแล้วสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาแต่แรก คู่สัญญาต้องกลับคืนยังฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย.

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3285/2553

ที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ 2 ใน 3 ส่วน ตั้งอยู่เหนือระดับน้ำทะเลปานกลางที่ 80 เมตร จึงต้องห้ามมิให้ทำการปลูกสร้างอาคารในบริเวณดังกล่าวตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม การที่โจทก์เพิ่งมาทราบข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทไม่สามารถปลูกสร้างอาคารได้ภายหลังจากที่ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินไปแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 ซึ่งหากมิได้มีความสำคัญผิดดังกล่าว สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินคงจะมิได้กระทำขึ้น เพราะความตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินข้อ 6 ระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทก็เพื่อประกอบธุรกิจปลูกสร้างบ้าน อาคารเพื่ออยู่อาศัย ให้เช่า หรือขายให้ผู้อื่น ดังนี้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจึงตกเป็นโมฆียะตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในเวลาต่อมาโจทก์มอบหมายให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา และขอให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินได้รับไปแล้วแก่โจทก์ จึงเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง มีผลให้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรกคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม กล่าวคือจำเลยต้องคืนเงินค่าที่ดินที่ได้รับไปทั้งหมดให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย

คดีนี้โจทก์ฟ้องและอุทธรณ์ขอให้จำเลยคืนเงินมัดจำและค่าที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วคืนพร้อมค่าเสียหาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาว่าสัญญาจะซื้อจะขายเป็นโมฆียะ เมื่อโจทก์ใช้สิทธิบอกล้างแล้วจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 แล้วพิพากษาให้จำเลยคืนเงินมัดจำและค่าที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปแล้วคืน ส่วนคำขอเรียกค่าเสียหายโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายอีกได้ เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ได้ตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องและอุทธรณ์ของโจทก์ทุกข้อแล้ว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่าโจทก์และจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็ได้วินิจฉัยว่า ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อประกอบธุรกิจปลูกสร้างบ้าน อาคารที่อยู่อาศัย ให้เช่าหรือขายให้ผู้อื่น เมื่อโจทก์มาทราบภายหลังว่าที่ดินพิพาทไม่สามารถปลูกสร้างอาคารได้ตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาจะซื้อจะขายที่เป็นโมฆียะให้ตกเป็นโมฆะเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมในอันที่จะใช้สิทธิเรียกให้จำเลยคืนเงินมัดจำและค่าที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องและอุทธรณ์มาได้ หาใช่เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาหรือทำคำสั่งเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 142 แต่อย่างใดไม่

3.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1955/2538

จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยจำเลยรู้อยู่ก่อนว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทเพื่อสร้างโรงงานผลิตอาหารกระป๋องและรู้ว่าที่ดินพิพาทจะถูกเวนคืนบางส่วนเพื่อขุดคลองชลประทานแต่ก็ไม่แจ้งความจริงให้โจทก์ทราบเป็นการที่โจทก์แสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์ที่จะซื้อซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นโมฆียะเมื่อโจทก์ได้ไปทวงเงินคืนจากจำเลยถือว่าได้บอกล้างโมฆียะกรรมแล้วสัญญาจะซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาแต่แรกคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมจำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยและโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยตามที่ระบุในสัญญาว่าหากจำเลยผิดสัญญาแล้วจะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวนหนึ่งได้เพราะเป็นการขอให้บังคับตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าว

4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3105/2553

ในขณะทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาท ตามสัญญาเช่าที่ดินต่างตอบแทนพิเศษ โจทก์ไม่รู้อย่างแท้จริงว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวไม่ติดกับถนนเทอดไท โดยมีที่ราชพัสดุคั่นอยู่ การที่โจทก์ทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจึงเป็นการแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินที่เช่าซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ ซึ่งหากโจทก์ไม่ได้มีความสำคัญผิดดังกล่าวคงจะไม่ทำสัญญาเช่าที่ดินกับจำเลยทั้งสาม ดังนั้น การแสดงเจตนาทำสัญญาเช่าที่ดินของโจทก์จึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. 157 แม้โจทก์จะขอเช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ที่มีที่ดินคั่นอยู่ก่อนติดถนนเทอดไทก็ตาม เมื่อตีความสัญญาเช่าที่ดินพิพาทดังกล่าวโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีในทางสุจริตแล้ว ต้องถือว่าไม่อยู่ในความประสงค์ของโจทก์ที่จะต้องการเข้าทำสัญญาดังกล่าว เพราะโจทก์ต้องการเช่าที่ดินพิพาทที่ติดกับถนนเทอดไทเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องทางเข้าออกในการดำเนินกิจการสถานีบริการน้ำมันในภายหลัง มิฉะนั้นโจทก์จะไม่ยอมเสียค่าตอบแทนสิทธิการเช่าเป็นเงินมากถึง 16,000,000 บาท และยังต้องเสียค่าเช่าเป็นรายเดือนอีก ทั้งกรณีไม่ใช่เรื่องความชำรุดบกพร่องแห่งทรัพย์สินที่เช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 549 และมาตรา 551 อันจำเลยทั้งสามจะยกขึ้นอ้างได้ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยทั้งสามและจำเลยทั้งสามได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงมีผลเท่ากับเป็นการบอกล้างโมฆียกรรมและต้องถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และมีผลเท่ากับการเช่าที่ดินพิพาทมิได้เกิดมีขึ้น จึงไม่ก่อสิทธิใดๆ แก่จำเลยทั้งสามที่จะยึดเอาเงินของโจทก์ไว้ได้ โจทก์และจำเลยทั้งสามก็ต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 176 จำเลยทั้งสามต้องคืนเงินที่ได้รับแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ก็ต้องส่งมอบที่ดินพิพาทในสภาพเรียบร้อยคืนแก่จำเลยทั้งสาม

ก่อนที่จะทำนิติกรรมสัญญาที่มีมูลค่าสูง ควรปรึกษาที่ปรึกษากฎหมายก่อน เพื่อความรอบคอบนะครับ

RELATED ARTICLES