“โรงพยาบาลตำรวจจะเป็นสถาบันทางการแพทย์ของตำรวจที่มีความเป็นเลิศในระดับสากล”

วางแผนยกระดับสถาบันแพทย์ตำรวจสู่ระดับสากล เพื่อขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขประเทศไทย ให้เป็นผู้นำ 1 ใน 3 ของทวีปเอเชียภายในระยะเวลา 20 ปีตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร หมอผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง เข้ารับบทบาทนักบริหารในตำแหน่ง นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ มุ่งมั่นนำประสบการณ์ด้านการจัดการพัฒนาองค์กรให้เกิดความเป็นเลิศของสถาบันแพทย์ตำรวจ บนพื้นฐานแนวคิดของความเรียบง่าย ประหยัด และตรงประเด็น

หลังจากก่อตั้งโรงพยาบาลมานานเกือบ 65 ปีในสมัย พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ถือเป็นฉากใหม่ของสถาบันแพทย์ตำรวจที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” ที่นายแพทย์ใหญ่คนนี้หมายจะสร้างความก้าวหน้าการรักษาพยาบาล รวมทั้งการบริการให้แก่ข้าราชการตำรวจและประชาชนทุกคน

 

ได้ต้นแบบจากผู้เป็นลุง มุ่งเรียนตนสอบติดแพทย์มหิดล

ประวัติของ พล.ต.ท.วิทูรย์ นิติวรางกูร เดิมเป็นชาวอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนสุธรรมวงศ์วิทยา จังหวัดฉะเชิงเทราและมัธยมต้นที่โรงเรียนลาซาล กรุงเทพมหานคร แล้วต่อมัธยมปลายโรงเรียนเทพศิรินทร์ หลังจากนั้นสอบติดคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล จบแล้วไปเป็นแพทย์ฝึกหัดอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 1 ปี ออกไปทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลหนองจอก กรุงเทพมหานคร ก่อนตัดสินใจเรียนต่อวุฒิบัตรผู้ชำนาญการ สาขา ศัลยศาสตร์ตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เจ้าตัวลำดับเรื่องราวความเป็นมาว่า ตั้งเป้าอยากเป็นหมอตั้งแต่เด็ก พอดีคุณลุง น.พ. สุพจน์ ศิริรัตน์ เป็นหมออยู่โรงพยาบาลหนองจอกด้วย ทำให้เห็นต้นแบบจากคุณลุง ถึงอยากเจริญตามรอย ประกอบกับผลการเรียนที่ดีเลยสอบติดคณะแพทย์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สมความตั้งใจ แม้ตอนแรกไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นหมอทางไหน เมื่อตอนไปใช้ทุนแล้วรู้สึกว่า มีความชอบงานด้านการผ่าตัด

กระทั่งได้มี ศ.กิตติคุณ นพ.จรัญ มหาทุมะรัตน์ อดีตนายกสมาคมศัลยกรรมตกแต่งและหัวหน้าภาควิชาศัลยกรรมตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เป็นแรงบันดาลใจ จึงได้ขอคำแนะนำจากท่านอาจารย์จรัญ และผ่านการคัดเลือกเข้าเรียนศัลยศาสตร์ตกแต่ง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์รุ่นที่ 5 ในปี พ.ศ. 2530

​​               

จบผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่ง ได้แรงดึงดูดเพื่อนลงโรงพยาบาลตำรวจ

ต่อมาปี พ.ศ. 2533 น.พ.วิฑูรย์ นิติวรางกูร ได้รับวุฒิบัตรศัลยศาสตร์ตกแต่งจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เริ่มมองหาโรงพยาบาลขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่ต้องการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง จึงมาสมัครเป็นศัลยแพทย์ตกแต่งประจำที่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะนั้นได้พบกับ ร.ต.อ.น.พ.ชนินทร์ ชะโยชัยชนะ (ยศในขณะนั้น ปัจจุบันเป็น พล.ต.ท.) เพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันตั้งแต่ตอนอยู่ที่คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งอยู่โรงพยาบาลตำรวจมาก่อนแล้ว

เจ้าตัวเริ่มรู้สึกว่า โรงพยาบาลตำรวจเป็นที่ทำงานที่อบอุ่นและเหมาะสมกับตัวเอง และในปีที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการตำรวจยศร้อยตำรวจตรี ก็ได้ถูกส่งไปทำงานร่วมกับหน่วยปฏิบัติการจิตวิทยาของทหาร สังกัดกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติที่จังหวัดบุรีรัมย์เป็นเวลา 1 เดือน ตอนนั้นต้องนอนอยู่ในค่ายทหารที่จังหวัดบุรีรัมย์ ตอนเช้าต้องนั่งรถทหารไปออกหน่วยตามอำเภอต่าง ๆ สมัยนั้นค่อนข้างทุรกันดารและแห้งแล้งมาก เริ่มถามตัวเองเหมือนกันว่า คิดถูกหรือคิดผิดเลือกอยู่โรงพยาบาลตำรวจ ขณะที่เพื่อนจบมาด้วยกันไปเรียนต่อเมืองนอกกันหมด

“ใช้ชีวิตอยู่ตามชนบทหนึ่งเดือน กลับกลายเป็นสอนเราให้รู้จักเสียสละและเข้มแข็งมากขึ้น ทำให้นึกถึงพระราชดำรัส สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทยที่ทรงปลูกฝังอุดมคติของการเป็นแพทย์ไว้ว่า ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตน เป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์ เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ตัวท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพ ไว้ให้บริสุทธิ์”พล.ต.ท.วิฑูรย์ยึดเป็นแบบในการปฏิบัติหน้าที่ตลอดชีวิตราชการ

 

เฝ้าคนไข้เหยือ่รถแก๊สระเบิด ก่อนเปิดโลกเรียนรู้ใหม่จากผู้เป็นนาย

​เมื่อกลับมาปฏิบัติหน้าที่ที่โรงพยาบาลตำรวจ ก็เกิดเหตุการณ์รถแก๊สระเบิดถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ในคืนนั้นก็มีผู้บาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจำนวนมาก นับร้อยคนโรงพยาบาลตำรวจเป็นโรงพยาบาลหลักที่รับผู้ป่วยจากที่เกิดเหตุและส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นๆ “มีผู้ป่วยอาการหนักที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสไฟไหม้เกือบทั้งตัวนอนรักษาที่ ICU โรงพยาบาลตำรวจกว่า 20 ราย และเสียชีวิตขณะที่อยู่โรงพยาบาลในคืนนั้น 10 กว่าราย ตอนนั้นต้องนอนเฝ้าผู้ป่วยและดูแลอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 สัปดาห์เต็ม มีผู้ที่รอดชีวิตมาได้หลายคน แต่บางคนก็มีบาดแผลเป็นจำนวนมาก”

หลังจากทำงานเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมตกแต่งมา 10 กว่าปี ก็เริ่มสนใจงานด้านบริหารโดยได้ไปเรียนต่อหลักสูตรการบริหารโรงพยาบาลของสมาคมโรงพยาบาลเอกชน  หลักสูตรบริหารโรงพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หลักสูตรละ 4 เดือนและหลักสูตรบริหารราชการร่วมเอกชนรุ่นที่1  (บรอ.1)หลักสูตร 4เดือน และได้เลื่อนตำแหน่งเป็นนายแพทย์ (สบ 5) ตำแหน่งหัวหน้างานตรวจเลือดชีวเคมีและเขม่าดินปืนสถาบันนิติเวชวิทยา เทียบเท่ารองผู้บังคับการ จากนั้นย้ายมาเป็นหัวหน้างานวิสัญญีวิทยาและในปี 2551 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายอำนวยการประจำสำนักงานผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

นายแพทย์ใหญ่ยอมรับว่า ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่ได้จากการทำงานที่สำนักงานตำรวจชาติ คือการได้รู้จักและได้เรียนรู้ระบบการทำงานในระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยได้เรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กรตำรวจ และอุดมการณ์ ค่านิยมของความเป็นตำรวจ จากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และท่านผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เคารพนับถือ และมีโอกาสได้เข้าทำงานรับใช้ในขณะนั้น ทำให้ได้รับประสบการณ์ที่ดี และคติสอนใจที่นำมาใช้ได้ในการทำงานและการดำเนินชีวิตจนปัจจุบัน

 

เป็นครูใหญ่วิทยาลัยพยาบาล ก่อนวาดโครงการโรงพยาบาล ศชต.

ในปี พ.ศ. 2552 ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวิทยาลัยพยาบาล บริหารงานในภาพรวมด้านการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลตำรวจที่เป็นสถาบันสมทบของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในห้วงเวลานี้ ได้เข้าอบรมในหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ 52 เป็นเวลา 1 ปี ทำให้ได้มีโอกาสรู้จักและเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่ ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างๆและนักธุรกิจระดับสูงในระดับประเทศมากมาย เป็นโอกาสที่ได้สร้างความสัมพันธ์อันดีที่นำมาใช้ในการปฏิบัติราชการจนถึงปัจจุบันและได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายแพทย์(สบ 6) นักวิชาการทางการแพทย์สาขาศัลยศาสตร์

ต่อมาปี พ.ศ. 2557 ได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นรองนายแพทย์ใหญ่(สบ7) โรงพยาบาลตำรวจ และได้มีโอกาสเป็นประธานคณะทำงานการก่อสร้างโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ ในศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามปฐมบทโรงพยาบาลตำรวจในพื้นที่ชายแดนด้ามขวานประเทศที่เกิดจากโจทย์ของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เป็นผู้จัดหาเงินงบประมาณบริจาคผ่านมูลนิธิฯ

​ก่อนการดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลแห่งนี้  พล.ต.ท.วิฑูรย์กล่าวว่า กลับมาทบทวนดูว่า เป้าหมายของโรงพยาบาลที่จะสร้างใหม่นี้ คือ อะไร ตามโจทย์ที่ท่าน พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ตั้งไว้ มองวัตถุประสงค์ไว้ 5 ประการ  คือ 1.ดูแลตำรวจในภาวะฉุกเฉินและบาดเจ็บ จากเหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 2.ดูแลสุขภาพทั่วไปของตำรวจ และครอบครัว 3.ดูแลการพักฟื้นและเวชศาสตร์ฟื้นฟูของตำรวจที่ได้รับบาดเจ็บ 4.งานด้านจิตวิทยา 5.งานทันตกรรม นำไปสู่การก่อสร้างโรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์ได้สำเร็จ

ถึงวันนั่งเก้าอี้ผู้บริหารสูงสุด ผุดแผนผลิตนักศึกษาแพทย์เอง

เพียง 2 ปี ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายแพทย์ใหญ่(สบ 8) โรงพยาบาลตำรวจ และนั่งตำแหน่งผู้บริหารหน่วยเต็มตัว ขับเคลื่อนนโยบายปรับปรุงพัฒนาโรงพยาบาล ต้องการยกระดับมาตรฐานโรงพยาบาลตำรวจสู่สถาบันการแพทย์ตำรวจที่มีความเป็นเลิศในระดับสากล และมีคณะแพทย์ของโรงพยาบาลตำรวจเองหรือผลิตแพทย์ร่วมกับสถาบันอื่นๆ

พล.ต.ท.วิฑูรย์ได้แจงรายละเอียดว่า ปัจจุบันโรงพยาบาลมี 600 เตียง รออาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา เสร็จเรียบร้อยจะเพิ่มได้อีกประมาณ 150 เตียง เป็นประมาณ 750 โรงพยาบาลตำรวจมีแผนที่จะผลิตแพทย์ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โดยศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ได้ทรงลงพระนามหนังสือราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการให้โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  มีอำนาจหน้าที่สนับสนุนภารกิจของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตามพระราชบัญญัติราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์   พ.ศ. 2559 เพื่อให้งานของโครงการฯ ในด้านการจัดการศึกษาระดับคลินิกของหลักสูตรแพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ สำเร็จได้ตามแผนที่วางไว้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ พิจารณาแล้วเห็นว่า โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีศักยภาพและมีความพร้อมในการจัดการศึกษาดังกล่าว

พล.ต.ท.วิฑูรย์ระบุอีกว่า การใช้ทรัพยากรของประเทศที่มีขีดความสามารถสูงและมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงต้องมีการวางแผนรองรับการขยายงานของโรงพยาบาลตำรวจสู่การเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งอาคารสถานที่เครื่องมือแพทย์ ระบบบริหารจัดการที่ดีและมีบุคลากรที่มีจำนวนเพียงพอ พร้อมด้วยความรู้ความสามารถสู่การเป็นสถาบันการแพทย์ชั้นนำของประเทศ

พัฒนาองค์กรขยายขนาดให้ใหญ่ ขานรับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

ดังนั้น นายแพทย์ใหญ่จำเป็นต้องมีการวางแผนพัฒนาโรงพยาบาลตำรวจอย่างเป็นระบบโดยจะเน้นใน 3 แนวทางคือ

อันดับแรกปรับปรุงอาคารสถานที่และเครื่องมือแพทย์ มีแผนที่จะเปิดอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษาในช่วงไตรมาสที่สาม ของปี พ.ศ.2560 จะมีการย้ายโอพีดีทั้งหมด  ห้องผ่าตัด ไอซียูผู้ป่วยวิกฤติ แผนกผู้ป่วยใน มีการเพิ่มจำนวนเตียงผู้ป่วยในอีกประมาณ 150 ถึง 200 เตียงจะทำให้เพิ่มศักยภาพของโรงพยาบาลตำรวจสู่โรงพยาบาลขนาด 750 ถึง 800 เตียง  ในขณะนี้ได้มีการจัดหาเครื่องมือแพทย์สำหรับอาคารมหาภูมิราชานุสรณ์ ๘๘ พรรษา เพื่อพัฒนาสู่ความเป็นศูนย์การแพทย์เฉพาะทางในด้านต่างๆเช่น ศูนย์การผ่าตัดแผลเล็กผ่านกล้อง  ศูนย์สองกล้องทางเดินอาหารและตับ ศูนย์การรักษาทางสูตินารีเวชและอื่นๆ

ทั้งหมดจะได้รับการสนับสนุนทุนงบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลและมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อพัฒนาโรงพยาบาลตำรวจให้เป็นโรงพยาบาลในระดับ Tertiary ถึงSuper tertiary และมีแผนที่จะขยายงานบริการโดยการสร้างอาคารขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นอีก 1 อาคารเคียงคู่อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา มีความเชื่อมโยงระหว่าง 2 อาคารสู่ความเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ขนาดเกิน 1000 เตียง โครงการก่อสร้างอาคาร ใหม่จะเกิดขึ้นประมาณปี พ.ศ.2561 ถึงปี พ.ศ.2565 ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดสรรงบประมาณจากทางรัฐบาล

อันดับสอง คือการวางแผนยุทธศาสตร์และพัฒนาระบบบริหารจัดการโรงพยาบาลตำรวจ  ในอดีตประเทศไทยของเราพัฒนาโดยพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในปัจจุบันรัฐบาลมีนโยบายที่จะพัฒนาประเทศไทย สู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 เน้นเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นของตัวเราเอง ในนโยบาย 4.0 นั้นก็มีเรื่องระบบสาธารณสุข  ที่กระทรวงสาธารณสุข และระบบสาธารณสุขของประเทศต้องรับผิดชอบ ตั้งเป้าว่าในระบบสาธารณสุขของไทยจะต้องไม่น้อยหน้าประเทศอื่น มีเป้าหมายว่า ในอีก 20 ปีข้างหน้า เราจะต้องเป็น 1 ใน 3 ของทวีปเอเชีย

 

กำหนด 7 ยุทธศาสตร์สำคัญ เดิมพันความเป็นเลิศสู่สากล

นายแพทย์ใหญ่นักบริหารยืนยันว่า โรงพยาบาลตำรวจมุ่งมั่นที่จะพัฒนา สู่ความเป็นโรงพยาบาลตำรวจ 4.0 หรือ PGH 4.0 มีเป้าหมายว่า โรงพยาบาลตำรวจจะต้องเป็นสถาบันทางการแพทย์ที่มีความเป็นเลิศและได้มาตรฐานในระดับสากล กำหนดแผนยุทธศาสตร์ไว้ 7 ด้าน ประกอบด้วย

-ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เฉพาะทาง (EXCELLENT CENTER) มุ่งพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านการรักษาพยาบาลเฉพาะทางที่ซับซ้อนอย่างครบวงจร อาทิเช่น ศูนย์รักษาโรคหัวใจ ศูนย์รักษาโรคสมอง ศูนย์อุบัติเหตุ และการขนส่งทางอากาศ ศูนย์การผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็กด้วยกล้องสามมิติและหุ่นยนต์ ศูนย์การรักษาโรคกระดูกและข้อ  ศูนย์โรคไต และ ศูนย์รักษาข้าราชการตำรวจและครอบครัวอย่างครบวงจร เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ข้าราชการตำรวจและประชาชน ได้รับบริการที่ดี มีคุณภาพ มีเป้าหมายที่จะขยายศูนย์การแพทย์เฉพาะทาง ให้ครบสาขาต่อไป

-บริการด้านการรักษาพยาบาล (Service Excellence) มุ่งมั่น พัฒนา บริการด้านการรักษาพยาบาล ให้สะดวก รวดเร็ว และครบวงจร มีเป้าหมายปรับปรุงอาคารสถานที่ และสภาพแวดล้อม ตลอดถึงพฤติกรรมบริการการให้ บริการของบุคลากรในองค์กรให้มีคุณภาพได้ตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพ มีการเพิ่มห้วงเวลาในการให้บริการมากขึ้น เพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเลือกและเข้าถึงบริการได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยผู้รับบริการ สามารถรับการตรวจได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เช้ารุ่งอรุณถึงคลินิกนอกเวลาในเวลากลางคืน และบริการฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

-มาตรฐานระดับสากล (JCI Standard) โรงพยาบาลตำรวจได้รับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล มาตรฐาน Hospital Accreditation (HA) เป็นปีที่ 11 ขณะนี้เรากำลังพัฒนามาตรฐานระดับสากล Joint Commission International JCI ซึ่งเราคาดว่าจะทำสำเร็จภายในปี 2561

-การดูแลข้าราชการตำรวจแบบครบวงจร(Police Priority) ด้วยโรงพยาบาลตำรวจ มีหน้าที่ดูแลข้าราชการตำรวจ ครอบครัว และประชาชน เนื่องจากข้าราชการตำรวจมีมากกว่า 2 แสนนายทั่วประเทศ เพื่อการบบริการเป็นระบบ และครบถ้วน จึงได้มีการจัดทำแผนการดูแลข้าราชการตำรวจแบบครบวงจรโดยเฉพาะให้มีการตรวจสุขภาพข้าราชการตำรวจ ณ ที่ตั้ง ทั่วประเทศทั้งหมด และรวบรวมผลการตรวจมาทำแผนการดูแลป้องกัน รักษา และส่งเสริมสุขภาพแบบองค์รวม ส่วนการดูแลรักษาข้าราชการตำรวจที่โรงพยาบาลตำรวจจัดให้มี คลินิก VIP ตั้งแต่ระดับ พ.ต.อ.จนถึงผู้บังคับบัญชาระดับสูง และครอบครัวอย่างเป็นพิเศษ รวมถึงคลินิกตำรวจซึ่งจะให้บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร One Stop Service เพื่อให้บริการที่รวดเร็ว ถูกต้อง และประทับใจ

-การบริหารจัดการด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) นำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ในภารกิจต่างๆของโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินงานด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว ลดความซับซ้อนและสิ้นเปลืองทรัพยากรซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการบริหารจัดการของโรงพยาบาลอย่างมีระบบ

-การบริหารจัดการด้านงบประมาณ และการเงิน (Money Management) มีความสำคัญอย่างยิ่ง การบริหารต้นทุนอย่างโปร่งใส และมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดหารายได้จากการรักษาพยาบาลมาใช้ในการบริหารจัดการ มีความจำเป็นในการพัฒนางานของโรงพยาบาลตำรวจให้มั่นคง และยั่งยืน

-การพัฒนาการ การเรียนรู้ นวัตกรรมและ การวิจัย (Learning Research Development)เพื่อให้โรงพยาบาลตำรวจไปสู่องค์กรแห่งการเรียนรู้ การสร้างนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ และงานวิจัยที่มุ่งเป้าไปสู่ยุทธศาสตร์ที่วางไว้ ย่อมนำโรงพยาบาลตำรวจสู่วิสัยทัศน์แห่ง สถาบันการแพทย์ของตำรวจที่มีความเป็นเลิศในระดับสากล

ปรับการใช้ทรัพยากรบุคคล จัดคนให้เหมาะสมกับเนื้องาน

อันดับสุดท้าย เป็นการปรับโครงสร้างบริหารบุคคลและพัฒนาบุคลากร ขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2552 แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของโรงพยาบาลตำรวจให้มีอำนาจหน้าที่ในการผลิตแพทย์ และได้มีการปรับโครงสร้างโดยการเพิ่มส่วนของวิทยาลัยแพทย์ตำรวจขึ้นมาเพื่อรองรับการผลิตแพทย์ร่วมกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ส่วนจำนวนบุคลากรที่เพิ่มขึ้น ต้องมีการใช้ทรัพยากรบุคคลให้เหมาะสม เพราะรัฐบาลมีนโยบายที่จะไม่เพิ่มข้าราชการตำรวจ ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารการใช้บุคลากรให้เหมาะสม

“เราต้องลดงานที่ไม่ใช่งานหลักทางการแพทย์ของโรงพยาบาล เช่น งานโภชนาการ งานซักรีด งานทำความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย และนำตำแหน่งของบุคลากรเหล่านี้ เปลี่ยนมาเป็นตำแหน่งวิชาชีพเช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยเภสัชกร ผู้ช่วยทันตแพทย์ ผู้ช่วยดูแลผู้ป่วย เป็นวิธีที่ไม่ต้องเพิ่มจำนวนข้าราชการตำรวจ แต่ยังสามารถมีบุคคลากรมาทำงานได้ และจะมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้แทนคนเพื่อการทำงานอย่างเป็นระบบ ในการดูแลข้าราชการตำรวจในส่วนภูมิภาคให้มีสุขภาพที่ดี”

เป็นเหตุความจำเป็นต้องมีแผนจะขยายโรงพยาบาลตำรวจในระดับภูมิภาค ขณะนี้มีอยู่แล้ว 2แห่ง คือ โรงพยาบาลดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และ โรงพยาบาลยะลาสิริรัตนรักษ์  ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา โครงการแรกที่จะขยายโรงพยาบาลภูมิภาคคือ ขยายโรงพยาบาลดารารัศมีจากโรงพยาบาลขนาด 30 เตียงเป็น 100 เตียง ใช้พื้นที่ข้างเคียงกับอาคารเดิมซึ่งเป็นพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจตะเวนชายแดนมาก่อสร้างอาคารใหม่เป็นอาคารสูง 7 ชั้น ใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 400 ล้านบาท

 

แสดงอาลัยแด่ในหลวงภูมิพล ระดมพล 10 โครงการ 1 ล้านดวงใจ

นอกจากนี้ ยังจัดกิจกรรมแสดงความอาลัยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากพระองค์เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ท่ามกลางบรรยากาศความโศกเศร้าของพสกนิกรชาวไทยทั่วโลก พล.ต.ท.วิฑูรย์บอกว่า นับตั้งแต่วันเคลื่อนย้ายพระบรมศพไปพระบรมมหาราชวัง ได้จัดหน่วยแพทย์จิตอาสาของโรงพยาบาลตำรวจลงพื้นที่ออกดูแลประชาชนที่เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพ เนื่องจากมีหมอไม่เพียงพอต่อปริมาณประชาชนนับแสน กระทั่งเป็นที่มาของ 10 โครงการ 1 ล้านดวงใจ รักษ์สุขภาพตำรวจและประชาชน

นายแพทย์ใหญ่มองว่า โรงพยาบาลตำรวจกำลังโตเป็นศูนย์กลางรักษาโรคยาก ๆ กำลังสร้างตึก สร้างสถาบันทางการแพทย์เป็นภาพเชิงลึก แต่ต้องมองภาพกว้างแบบองค์รวมของการดูแลสังคมด้วย จึงเกิดโครงการออกหน่วยตรวจสุขภาพตำรวจและประชาชน เมื่อออกตรวจแล้วก็นำข้อมูลมาวิเคราะห์ออกไปรักษา พร้อมให้ความรู้ด้านการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรคอย่างไร ให้ญาติและครอบครัวตำรวจมาปั๊มนิ้วลงทะเบียนกับโรงพยาบาลตำรวจแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย

สำหรับ 10 โครงการของโรงพยาบาลตำรวจที่วางไว้ จะประกอบด้วย การปฏิบัติการเคลื่อนที่อำนวยความสะดวก การปฐมพยาบาลเบื้องต้นและการรักษาทางการแพทย์ ณ บริเวณท้องสนามหลวง และพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท การตรวจรักษาสุขภาพข้าราชการตำรวจถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9  การป้องกันโรคเชิงรุก การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุวัฒนะสุข การคัดกรองผู้ป่วย การผ่าตัดต้อกระจก การรับบริจาคโลหิต การบริการทันตกรรม การตรวจสุขภาพสื่อมวลชนเพื่อสังคม และสุดท้ายเป็นการเขียนปณิธานความดีของข้าราชการตำรวจและลูกจ้าง

ทั้งหมด พล.ต.ท.วิฑูรย์ เชื่อว่า นอกจากเป็นการร่วมทำความดีถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9 แล้ว ยังถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์โรงพยาบาลตำรวจสู่ตำรวจและครอบครัว รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่หมอลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมดูแลรักษาโรค

จ่อเปิดตัวอากาศยานกู้ภัย ทันสมัย มีประสิทธิภาพของประเทศ

ขณะเดียวกัน หลังจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีโครงการจัดซื้ออากาศยานกู้ภัยและช่วยเหลือทางการแพทย์จำนวน 4 ลำ และอากาศยานช่วยเหลือทางการแพทย์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านความปลอดภัยนักท่องเที่ยวจำนวน 2 ลำ เพื่อใช้ในกรณีวิกฤติฉุกเฉิน เมื่อนักท่องเที่ยว ข้าราชการหรือผู้ประสบภัย ประสบอุบัติเหตุหรือภาวะฉุกเฉิน จำเป็นต้องได้รับการเคลื่อนย้ายทางอากาศอย่างเร่งด่วนเพื่อการนำส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา

อากาศยานดังกล่าว พล.ต.ท.วิฑูรย์บอกว่า ผ่านขบวนการจัดหาแล้ว จะสามารถจัดส่งได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2560 โดยโรงพยาบาลตำรวจได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานด้านการกู้ภัย และช่วยเหลือทางการแพทย์ในการดูแลเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ผู้บาดเจ็บทางอากาศ จะทำให้โรงพยาบาลตำรวจ เป็นศูนย์การนำส่งผู้ป่วยทางอากาศทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดของประเทศ

“ สอดคล้องกับแผนการเป็นศูนย์อุบัติเหตุ ภาวะฉุกเฉินและการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศของโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยแนวคิดและโครงการทั้งหมดเหล่านี้จะนำให้โรงพยาบาลตำรวจบรรลุเป้าหมายการเป็นสถาบันการแพทย์ของตำรวจที่มีความเป็นเลิศในระดับสากล ได้ในช่วงเวลาไม่เกิน 5ถึง 10 ปีนี้อย่างแน่นอน” พล.ต.ท.วิฑูรย์ นิติวรางกูร กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

RELATED ARTICLES