อาลัยพ่อตัวอย่าง

 

“สมัยเด็กๆ ผมมีภาพจำของคุณพ่อ เรียกได้ว่าเห็นมาจนโต เมื่อก่อนคุณพ่อเป็นสารวัตรปราบปรามในกองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้องออกตรวจดูแลความสงบเรียบร้อยตั้งแต่เช้ายันดึก บางวันก็ลากยาวจนสว่าง ผมเห็นพ่อใส่ชุดเครื่องแบบตำรวจเดินเข้าบ้าน หลังจากที่คนในครอบครัวหลับกันหมดแล้ว มันคือ ความเหน็ดเหนื่อย คุณพ่อเหนื่อยนะ ผมสัมผัสได้ พอได้มาเป็นตำรวจเองบ้าง ยิ่งเข้าใจลึกซึ้งว่า ชีวิตเราต้องอุทิศให้ความสงบสุขของบ้านเมืองอย่างแท้จริง ถามว่าเหน็ดเหนื่อยอย่างที่เคยคิดไหม…. ไม่เลย ถ้าแลกมาด้วยความสงบสุขของประชาชน วันนี้ถึงเพิ่งคิดได้ว่า ในวันนั้นคุณพ่อเราก็ไม่ได้เหนื่อยนะ” พ.ต.อ.พงศ์จักร จักษุรักษ์  รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 เคยเอ่ยถึงพ่อ

พล.ต.ต.จักร จักษุรักษ์ พ่อตัวอย่างแห่งชาติประจำปี 2558

พ่อที่เสียสละเพื่อหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถ่ายทอดเลือดเนื้อและจิตวิญญาณความเป็นตำรวจสู่ทายาท

พล.ต.ต.จักร จักษุรักษ์ ชาวกรุงเทพมหานคร ลูกชาย เจือ จักษุรักษ์ แชมป์มวยปล้ำคนแรกของประเทศไทยกับ ม.ร.ว.ทมยันตี จักษุรักษ์

เริ่มเรียนระดับประถมศึกษาโรงเรียนเขมะสิริอนุสรณ์แล้วต่อมัธยม 1   โรงเรียนอำนวยศิลป์พระนคร ปีเดียวเข้าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนไปจบชั้นมัธยม 8 โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 21 ได้รับเลือกเป็นนักเรียนปกครอง ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บังคับหมวดชั้นปีที่ 2

ผ่านหลักสูตรชัยยะชั้นนำหน่วยที่อำเภอจอหอ จังหวัดนครราชสีมา เข้าโรงเรียนสารวัตรผู้บังคับกอง รุ่น 18 หลักสูตรการบริหารตำรวจชั้นสูงรุ่น 16 และผ่านการดูงานตำรวจเมืองลอสแอนเจลิส มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

รับราชการครั้งแรกเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน  แล้วย้ายไปเป็นผู้บังคับหมวด สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช ก่อนย้ายกลับมาเป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ เป็นรองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 ได้รับแต่งตั้งเป็นสารวัตรปกครองป้องกัน สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน

ขึ้นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจนครบาลบางรัก กลับไปเป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ขยับเป็นรองผู้กำกับการตำรวจนครบาล 11 รองผู้กำกับการตำรวจนครบาล 12 รองผู้กำกับการตำรวจนครบาล 3 ถึงเป็นผู้กำกับการตำรวจนครบาล 9 เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลตลิ่งชัน ขึ้นรองผู้บังคับการกองปราบปราม เป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้

กระทั่งกรมตำรวจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกองบัญชาการตำรวจนครบาลจึงโยกเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 แล้วเลื่อนเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 จวบจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2545

เจ้าตัวเป็นผู้มีทักษะความสามารถด้านกีฬาอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬารักบี้ฟุตบอลให้กับโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยคว้าแชมป์มากมายไปจนถึงทีมลูกหนำเลี๊ยบของโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ได้รับการคัดเลือกจากสมาคมผู้สื่อข่าวกีฬาสมัครเล่นแห่งประเทศไทยยกให้เป็น “นักกีฬารักบี้ฟุตบอลยอดเยี่ยม” เข้ารับพระราชทานโล่รางวัลจากพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ในงานวันนักกีฬายอดเยี่ยมที่สวนอัมพร พระราชวังดุสิต เมื่อปี 2508

ได้รับการแต่งตั้งจากสมาคมรักบี้ฟุตบอลแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ให้เป็นผู้ฝึกสอนรักบี้ทีมชาติไทยไปแข่งรายการต่าง ๆ ในหลายประเทศ

ตลอดชีวิตได้อุทิศตนให้กับวงการกีฬาอย่างเต็มความสามารถ สร้างชื่อให้ตัวเอง สถาบัน และประเทศชาติไว้อย่างมาก และมีบทบามสำคัญในการพัฒนากีฬารักบี้ของไทยมาจนถึงปัจจุบัน

ส่วนด้านหน้าที่การงาน เมื่อสมัยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 เร่งรัดปรับปรุงบริหารงานของหน่วย มอบหมายนโยบายให้ทุกสถานีตำรวจในสังกัดร่วมกันพัฒนาเพื่อเป็น “โรงพักของประชาชน”

ทำกิจกรรมตรวจสารเสพติดภายใต้ชื่อโครงการ “พิสูจน์หลัก พิทักษ์ไทย” ขอความร่วมมือจากชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ตรวจหาสารยาเสพติดคนงานและคนในชุมชนเพื่อเป็นการชักจูงบุคคลที่หลงผิดให้กลับตัวกลับใจไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างยั่งยืน เสมือนต้นแบบโครงการ “โรงงานสีขาว” ที่กระทรวงสาธารณสุขนำไปต่อยอด

อบรมข้าราชการตำรวจทุกระดับชั้นเป็นประจำทุกเดือน กำชับการปฏิบัติหน้าที่และกวดขันความประพฤติและระเบียบวินัยการทำงาน รับทราบปัญหาของผู้ใต้บังคับบัญชา เน้นให้ข้าราชการในสังกัดห่างไกลจากยาเสพติด

พล.ต.ต.จักร จักษุรักษ์ คือ ต้นแบบของลูกที่ยึดหลักการดำเนินชีวิตด้วยการเทิดทูนชาติ ศาสนา และจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เป็น “มงคลแก่ชีวิต” รักและเอาใจใส่ครอบครัว อาศัยหลักประชาธิปไตยในการทำงาน

รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ทั้งผู้ร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชา ยึดมั่นในหลักความมีคุณธรรม กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ซื่อสัตย์สุจริต อดทนอดกลั้น ขยันหมั่นเพียรและเคารพต่อวิชาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรักและเคร่งครัดต่อระเบียบวินัย

เขามองว่าเป็นสิ่งสำคัญของผู้ที่มีอาชีพอยู่ในเครื่องแบบ

วันนี้วงการสีกากีสูญเสียปูชนียบุคคลอันทรงคุณค่าระดับตำนานไปอีกราย

“ครอบครัวจักษุรักษ์” นำศพตั้งบำเพ็ญกุศลศาลา 1 วัดเทพศิรินทราวาส ถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 ก่อนทำพิธีบรรจุศพ รอกำหนดพระราชทานเพลิงต่อไป

อาลัย “พ่อตัวอย่างของลูกชาย” ที่ทิ้งมรดกเป็นอนุสรณ์ระลึกความทรงจำตราบชั่วนิรันดร์

 

 

RELATED ARTICLES