การที่น้ำมาท่วมเราก็เป็นความผิดของคนเหมือนกัน

 

พระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ  ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล

ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา  ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม พุทธศักราช 2538

ความตอนหนึ่งระบุว่า

…. จะค้านว่าเราไม่ได้ใช้ให้น้ำมาท่วมเราก็จริง แต่การที่น้ำมาท่วมเราก็เป็นความผิดของคนเหมือนกัน บางทีควรจะกักน้ำเอาไว้เพื่อจะใช้ ก็ทิ้งน้ำลงไป บางทีควรจะปล่อยน้ำออกไป ก็กักเอาไว้ กักเอาไว้ไม่ใช่เฉพาะทำเขื่อนเก็บน้ำ แต่กักเอาไว้โดยทำถนนขวางทางน้ำก็ตาม โดยทำบ้านจัดสรรก็ตาม โดยทำโรงงานก็ตาม ซึ่งกั้นไม่ให้น้ำไหล

ดังนั้นน้ำที่กักเอาไว้ก็ไปท่วมชาวบ้าน อันนี้ไม่ดี

น้ำท่วมลงมา ถ้าไม่ทำ “โครงการแก้มลิง” น้ำท่วมนี้จะเปรอะไปหมด อย่างที่เปรอะปีนี้ เปรอะไปทั่วภาคกลาง จะต้องทำ “แก้มลิง” เพื่อที่จะเอาน้ำนี้ไปเก็บไว้เวลาน้ำทะเลขึ้นไม่สามารถที่จะระบายออก เมื่อไม่สามารถระบายออก น้ำทะเลก็ขึ้นมา ดันขึ้นไปตามแม่น้ำขึ้นไปเกือบถึงอยุธยา ทำให้น้ำลดลงไปไม่ได้ แล้วเวลาน้ำทะเลลง น้ำที่เอ่อขึ้นมานั้นก็ไม่สามารถที่จะกลับเข้าในแม่น้ำเจ้าพระยา ก็ท่วมต่อไป จึงต้องมีแก้มลิง เราพยายามที่จะเอาน้ำออกมาเมื่อมีโอกาส เอาลงมาเหมือนโครงการที่ได้กล่าวถึงเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่บอกให้ทำที่เก็บน้ำทางฝั่งตะวันออก ในที่สุดก็สำเร็จพอสมควร เพราะว่าภายในไม่กี่วันน้ำที่อำเภอลาดกระบังก็ลดลง

ที่ลาดกระบังนั้น ท่านผู้ว่าฯ พระนครไปแล้วน้ำขึ้นมาถึงเอว น่าสงสารท่าน เพราะว่าท่านไปยืนอยู่ข้างปั๊มน้ำ ยืนที่นั่นพูดโหวกเหวก โว้กเวก จำไม่ได้ว่าท่านพูดอะไร และปั๊มน้ำก็ปั๊ม ปั๊มขึ้นไป แล้วพ่นลงไป แล้วหารู้ไม่ว่าน้ำนั้นสูบมาจากถนน แล้วพ่นลงไปในคลอง แล้วจากคลองก็กลับมาบนถนน ท่านก็คงเห็น แต่ท่านไม่กล้าพูด ไม่กล้าพูดว่าน้ำที่สูบนั้นกลับมา หรือท่านไม่ทราบ เพราะเจ้าหน้าที่เขาบอกว่าท่านยืนตรงนี้จะได้รูปสวยๆ มีปั๊มน้ำ น้ำก็พ่นออกมา

แต่แท้จริงน้ำที่พ่นออกมา ไปไหน ก็กลับมา กลับมาท่วมท่านเอง หมุนเวียนไป เรียกว่าเวียนเทียนกลับไปกลับมา

ฉะนั้นอย่างนี้ก็ไม่ใช่วิธีที่ควรทำ สูบน้ำต้องมีประโยชน์ เพราะต้องสิ้นเปลืองพลังงาน เครื่องสูบอันนั้นไม่ทราบว่าใช้พลังงานอะไร คงไม่ใช่ไฟฟ้า คงดีเซล สูบเป็นดีเซลจะเสียน้ำมันไปเท่าไหร่ แล้วน้ำมันที่เสียไปนั้น เวลาเผาน้ำมันไปมันก็เกิดเป็น “ปฏิกริยาเรือนกระจก” เป็นมลภาวะ แล้วน้ำนั้นก็ไม่ไปไหน ก็อยู่แถวนั้น

ฉะนั้นเราจึงต้องทำ “แก้มลิง” เพื่อที่จะให้น้ำของลาดกระบังนั้นลงมาคอยอยู่ที่ “แก้มลิง” แล้วสูบออกทะเล จึงทำและรู้สึกว่าจะสำเร็จ เพราะภายในไม่กี่วันเมื่อเริ่มปฏิบัติได้แล้ว น้ำที่ลาดกระบังก็ลดลงไป ถนนโผล่ขึ้นมา ถนนที่ท่านอยากจะแก้ไขให้การจราจรไปได้ดี รถก็แล่นได้ ก็มองเห็นว่า ถนนนั้นพังหมด ต้องซ่อม….

 

 

RELATED ARTICLES