“ผมคิดว่า คงมีไม่กี่อาชีพในโลกนี้ที่ได้ช่วยคนที่มีความทุกข์จริงๆ”  

ดาวเงินแปดแฉกขัดมันวาววับ จะมีนักเรียนนายร้อยตำรวจสักกี่คนเดินตามอุดมการณ์หลังผ่าน “รั้วประตูคิงส์” ก้าวพ้นถิ่นสามพรานจวบจนวันสุดท้ายของชีวิตราชการ

เปรียบเสมือนผ้าขาวผืนใหม่ไร้คราบสกปรกก่อนถูกส่งไปเผชิญชะตากรรมในโลกแห่งความเป็นจริง

“ต่อให้เป็นซุปเปอร์แมนก็ยังไม่ถูกคาดหวังมากเท่ากับอาชีพนี้เลยเชื่อไหม” ร.ต.ต.ณัฐดนัย บำรุงศรี หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 ระบายความรู้สึกในบทผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จบใหม่ และกำลังฝึกปฏิบัติงานสอบสวนอยู่สถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ

ปราการด่านแรกของอาชีพที่เขามุ่งมั่นตั้งใจเต็มเปี่ยมจะเป็นนายตำรวจที่ดีคอยพิทักษ์รับใช้ประชาชน

ขอเพียงโอกาสให้ “นายตำรวจหนุ่มเลือดใหม่” อย่างเขาลองพิสูจน์ดู

 

มีแรงบันดาลใจในวัยเยาว์ เอากัปตันอเมริกาเป็นฮีโร่

ร.ต.ต.ณัฐดนัย บำรุงศรี หนุ่มจากอำเภอเมืองเชียงใหม่ เกิดในครอบครัวนักธุรกิจเจ้าของร้านอาหารดินแดนภาคเหนือ ความใฝ่ฝันในวัยเยาว์ ชอบดูการ์ตูนอยากเป็นชุปเปอร์ฮีโร่ด้วยการปกป้องคนอื่นเหมือนกัปตันอเมริกา มุ่งมั่นก้าวเข้าเตรียมทหารเพื่อแสดงบทบาทช่วยเหลือคนอื่นถึงขนาดไปกวดวิชาตามล่าหาความฝัน

ทันทีที่จบชั้นมัธยม 3 โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย ถึงจุดที่เข้าช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อเข้าลงสมัครสอบโรงเรียนเตรียมทหารเลือกเหล่านายร้อยพระจุลจอมเกล้าและนายเรือ ไม่สนใจว่าจะไปอยู่ที่ไหน หรือไปทำอะไร ขอให้พ่อมีความสุขก็พอ แต่สุดท้ายเกือบทิ้งความฝัน เพราะถอดใจไม่ผ่านสอบพละ ถึงกระนั้นเจ้าตัวว่า ไม่ได้เสียใจอะไรมาก แค่มึนงงเล็กน้อย

กลับมาเรียนต่อชั้นมัธยม 4 โรงเรียนเก่า ร.ต.ต.ณัฐดนัยเล่าว่า ในคาบวิชาแนะแนว ครูให้เขียนอาชีพในฝันอยากเป็นอะไรอีกแล้ว ทำให้รู้สึกนึกถึงตอนเด็กอีกครั้ง นึกถึงความฝันที่เคยมีมาตลอด รู้สึกอีกด้วยว่าการเรียนมหาวิทยาลัยอาจจะยังไม่ใช่เส้นทางตามฝัน จึงมุ่งมั่นอีกครั้งจริงจังกว่าเดิม ตั้งเป้าหมายอย่างแน่วแน่“ผมตั้งตำถามกับตัวเองว่า อาชีพไหนกันที่จะสามารถช่วยคนได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่การออกไปสู้โดยใช้กำลังกับสัตว์ประหลาดแบบในการ์ตูน”

 

บรรลุเป้าเข้ารั้วสามพราน มีปณิธานให้คนดีรัก คนร้ายกลัว

ในที่สุด เขาทำตามความฝันสำเร็จเมื่อสอบติดเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 70 ตอนสอบติดเขายอมรับว่า เหมือนประสบความสำเร็จขั้นสุดในชีวิต แต่หารู้ไม่ว่า เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของอาชีพที่ใช้ความเสียสละทั้งกายใจ และชีวิตให้กับประเทศชาติ และประชาชน ต้องได้รับการฝึกอย่างเข้มข้น ผ่านการเรียนด้านวิชาการ การฝึกวิชาชีพของตำรวจ ถูกพร่ำสอนตลอดเวลาของการเรียนที่โรงเรียนนายร้อย คือ การเป็นตำรวจอาชีพที่ต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อหน้าที่และภารกิจ

“ สิ่งที่ผมยึดถือเป็นเป้าหมายเมื่อจะจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจไปเป็นนายตำรวจ คือ ต้องเป็นตำรวจที่คนดีรัก คนร้ายกลัว คำนี้เป็นโอวาทของท่าน พล.ต.ท.ศักดา เตชะเกรียงไกร อดีตผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ที่ท่านได้ให้แนวทางของการเป็นตำรวจแก่นักเรียนนายร้อยตำรวจทุกนาย ผมว่าเป็นคำที่เหมาะสมที่จะนำมาปรับใช้ในปัจจุบันอย่างมาก เพราะในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์เป็นใหญ่ ยุคที่ความจริงไม่เคยถูกกล่าวถึงทั้งหมด จะทำอย่างไรให้คนกลับมาศรัทธาในอาชีพของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อีกครั้ง ให้คนดีได้วางใจและรู้สึกปลอดภัยเมื่อเห็นเครื่องแบบสีกากีและคนร้ายต้องรีบหนีไม่กล้าทำผิดอีก”

เขาได้รับเลือกเป็นหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ จากการที่ทางโรงเรียนมีการเก็บคะแนนความประพฤติ 3 ปีนำมาพิจารณา มีจำนวน 5 นายที่คะแนนความประพฤติสูงสุดไปคัดเป็นหัวหน้านักเรียนอีกที กระทั่งยกตำแหน่งให้หนุ่มหล่อชาวเมืองเชียงใหม่คนนี้ “รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากเพื่อนๆและผู้บังบัญชาให้ได้รับโอกาสเป็นตัวแทนทำหน้าที่ในฐานะหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจ” ร.ต.ต.ณัฐดนัยว่า

 

ผ่านเบ้าหลอมร่างกายและจิตใจ จุดเริ่มต้นครั้งใหญ่ของความเสียสละ

“ผมคิดว่าการที่เราเลือกเส้นทางเดินของชีวิตเราแล้ว ก็ต้องทำให้ดีที่สุดในทางของเรา ผมเชื่อว่า คนที่ตั้งใจ ทำอะไรก็สำเร็จ การกระทำของเราจะเป็นตัวบ่งบอกเองว่าคุณเป็นคนที่มีเกียรติในเส้นทางอาชีพของคุณหรือไม่ เพราะทุกอาชีพล้วนมีเกียรติทั้งนั้นอยู่ที่คุณว่าจะรักษาเกียรติในอาชีพของคุณไว้แค่ไหน ตำรวจไม่ได้เป็นคนไม่ดีทุกคน” หัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 มองแบบนั้น

นอกจากจะเป็นหัวหน้านักเรียนแล้ว เขายังเข้ารับโล่รางวัลจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะนักเรียนความประพฤติเยี่ยม เขาให้เหตุผลว่า การฝึกต่างๆของโรงเรียนนายร้อยตำรวจหล่อหลอมให้เด็กกลายเป็นผู้ใหญ่ทั้งร่างกายและจิตใจโดยสมบูรณ์ ซึมซับเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่มุ่งหวังให้ตำรวจรักษามรดกของพระองค์ท่านไว้ด้วยชีวิต เพราะอาชีพตำรวจ คือ จุดเริ่มต้นของอาชีพที่ใช้ความเสียสละ

“คงคล้ายกัปตันอเมริกาฮีโร่วัยเด็กของผม เคยเป็นผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่ง แต่มีจิตใจที่ใหญ่ คิดจะปกป้องประเทศชาติ ต่อมาเมื่อได้รับพลัง ได้รับหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น มีพลังอำนาจที่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ ก็ใช้มันอย่างเต็มที่ แต่ก็ไม่ลืมสิ่งที่เขาเป็น คือ เป็นคนที่ตัวเล็ก แต่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่ นั่นทำให้เขาเป็นฮีโร่ที่แท้จริง”

 

เรียนรู้หลักการครองคน เพื่อให้เกิดผลสำเร็จสูงสุด

“พวกผมจะนำทุกคำสอนไปปรับใช้ในชีวิตการรับราชการและเป็นนายตำรวจที่ดีต่อไปในอนาคต” ตัวแทนนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 ให้คำมั่นหลังก้าวพ้นประตูรั้วสามพรานไปฝึกปฏิบัติงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรสำโรงเหนือ จังหวัดสมุทรปราการ

อย่างไรก็ตามระหว่างเรียน เขาได้เลือกวิชาบริหารทรัพยกรมนุษย์ ด้วยเหตุผลมีผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จหลายท่านบอกไว้ว่า หลักประสบความสำเร็จในชีวิต คือ ครองตน ครองคน และครองงาน “แต่ผมเชื่อว่า หลักที่ยากที่สุดก็ คือ การครองคน เพราะเมื่อเติบโตไปในระดับบริหารจำเป็นต้องรู้จักการเลือกใช้คนอย่างไรให้ถูกกับงาน ให้สามารถทำงานร่วมกันแล้วเกิดผลสำเร็จสูงสุด เพื่อประโยชน์ของหน่วยงานและองค์กร ฉะนั้นหาคนที่จะเป็นผู้บริหารในอนาคตไม่ได้เรียนรู้หลักการบริหารคนก็ยากที่จะประสบความสำเร็จในการเป็นผู้บริหาร ผมจึงเลือกเรียนวิชานี้”

อนาคต เขายังวาดหวังอยากศึกษาต่อด้านบริหารในระดับปริญญาโท เอกบริหารทรัพยากรมนุษย์ประดับความรู้เพิ่มขึ้น เพราะชอบศึกษาวิชานี้เป็นพิเศษอยู่แล้ว

 

ลงโรงพักสัมผัสประชาชน อุทิศตนพร้อมช่วยเหลือบำบัดทุกข์

สู่โหมดชีวิตจริงนอกรั้วโรงเรียนไปอยู่บนโรงพัก ร.ต.ต.ณัฐดนัยบอกว่า การเรียนที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเป็นการเรียนผสมกับการฝึก ผสมกับภารกิจ ทำให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการฝึกที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งด้านยุทธวิธี วิชาการ ทั้งการทำภารกิจ และแบบฝึกตำรวจ เพราะฉะนั้น นักเรียนนายร้อยตำรวจก็ค่อนข้างจะมีความยากในการใช้ชีวิตที่ เพราะมีกฎระเบียบมาครอบ มีความกดดันด้านต่างๆ จากการฝึก แต่พอจบออกมาได้ทำงานแล้วเรียกได้ว่ าเป็นอีกหน้างาน เป็นอีกแบบไม่ค่อยคล้ายกับที่โรงเรียน

ผู้หมวดป้ายแดงแสดงความเห็นว่า นอกโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เราต้องใช้ระเบียบวินัยในตัวเอง ในการดำรงตนเป็นตำรวจในการรักษาความตรงต่อเวลา หรือการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ที่ค่อนข้างจะยากอีกแบบไม่เหมือนในโรงเรียน แต่ที่แปลกและแตกต่างกับตอนอยู่โรงเรียน คือ การพบปะประชาชน เมื่อประชาชนมีเรื่องทุกข์ร้อน ไม่ว่าจะเรื่องธรรมดาต่างๆ เช่น เรื่องรถชนกัน เรื่องทะเลาะวิวาท หรือว่าเรื่องของการเข้าใจผิดกัน จะขึ้นมาโรงพัก

“ผมอาจเป็นเด็กจบใหม่ แต่ต้องมีวุฒิภาวะที่มากกว่าผู้ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ เพื่อจะให้ความช่วยเหลือเขาได้ ถ้าเรามีวุฒิภาวะที่น้อยกว่า หรือมีอารมณ์ที่คล้อยตามกับเขา มันอาจทำให้การเจรจา หรือการไกล่เกลี่ยกันมันเสียไปได้ ยอมรับว่า รู้สึกชอบที่ได้ทำงานบนโรงพัก มันเป็นตัวเรา รู้สึกดีทุกครั้งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ได้ติดสายแดงเป็นร้อยเวร มีประชาชนมาขอความช่วยเหลือ ผมคิดว่า คงมีไม่กี่อาชีพในโลกนี้ที่ได้ช่วยคนที่มีความทุกข์จริงๆ”

 

ยอมรับภาพลักษณ์ติดลบ พยายามกลบตลบมุมมองใหม่

นายตำรวจหนุ่มยังมีมุมมองว่า อาชีพรับราชการเป็นอีกหนึ่งอาชีพหลักที่ขับเคลื่อนประเทศชาติ เป็นการบริการสังคมทุกอาชีพ แม้รายได้อาจจะแตกต่างจากอาชีพอื่นๆ เพราะเงินเดือนเป็นเงินหลวง จากภาษีประชาชน เพราะฉะนั้นอาชีพราชการต้องมีใจที่รับใช้ประชาชน รับใช้ส่วนรวม แต่ทุกวันนี้ประชาชนทั่วไปมองตำรวจส่วนใหญ่ไปในด้านลบ ด้วยเพราะสื่อต่างๆ สื่อโซเชียล ข่าวต่างๆ จะเป็นข่าวที่จับตามองของทุกคนว่า ตำรวจทำอย่างนั้นผิด ทำอย่างนี้ผิด ไม่ดีอย่างนั้นไม่ดีอย่างนี้

“ผมคิดว่าทุกอาชีพมีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่ว่าที่ตำรวจถูกจับตามอง เพราะว่าตำรวจใกล้ชิดกับประชาชน  ตำรวจให้บริการประชาชน ตำรวจมีอยู่ทุกที่ ทำให้ประชาชนสามารถเห็นได้ตลอด เพราะฉะนั้นการทำตำรวจทำผิด ยิ่งตำรวจเป็นผู้รักษากฎหมายเป็นผู้มีหน้าที่ปกป้องรับใช้ประชาชน การทำผิดของตำรวจเลยดูเป็นเรื่องใหญ่ แต่ว่ายังมีตำรวจอีกเป็นจำนวนมากที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่อย่างถูกต้อง แล้วก็ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มที่เพื่อประชาชน”

ร.ต.ต.ณัฐดนัยแจงด้วยว่า  ตำรวจมีสองแสนคน ที่ถูกตั้งกรรมการมีไม่ถึง 1เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ แต่ว่าที่เหลือเมื่อใส่เครื่องแบบตำรวจแล้วประชาชนกลัลมองว่า ไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้ตั้งแต่แรกเห็น เพราะสื่อ หรือเพราะอะไรต่างๆ นานา “ผมก็อยากให้ทุกคนช่วยปรับมุมมองใหม่ว่า ตำรวจที่ใส่เสื้อใส่เครื่องแบบปฏิบัติหน้าที่อยู่ ทำอะไร ทำสิ่งที่ไม่ดีอยู่หรือเปล่า หรือปฏิบัติหน้าที่ตามภาระหน้าที่เพื่อประชาชน ยังไม่อยากให้มองว่า ตำรวจที่เจอตรงนั้นเลยเป็นตำรวจไม่ดี”

ความคาดหวังจากสังคมสูง แรงชักจูงจากสิ่งล่อตาล่อใจเยอะ

ทว่าเจ้าตัวยอมรับว่า ตำรวจเป็นอาชีพที่ต้องลงทุนในตัวเองสูง ทั้งต้องซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ตามสายงานต่างๆ ด้วยเงินส่วนตัว อีกทั้ง มีความคาดหวังในตำรวจของประชาชนที่จะได้รับบริการที่ดี เพราะคิดว่าตำรวจมีอุปกรณ์ที่ดีประสิทธิภาพสูงสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที ดังนั้นหากใครมาเป็นตำรวจแล้วที่ทางบ้านไม่ค่อยพร้อมก็จะลำบาก เพราะจะต้องกู้ยืม หรือจัดหาด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง

“หากทำไม่ได้ก็จะโดนสังคมตั้งคำถามว่า ถ้าไม่พร้อมจะมาเป็นทำไม ส่วนตัวคิดว่า มันไม่แฟร์เลย  เราสมัครใจมาดูแลปกป้องพวกเขาแท้ๆ แต่ในปัจจุบันทางรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็กำลังแก้ไขเรื่องพวกนี้ให้ตำรวจ เช่นรุ่นพวกผมได้รับแจกโน้ตบุ๊กประจำตัวเพื่อนำไปใช้ในตำแหน่งพนักงานสอบสวน และจะได้รับแจกปืนสั้นประจำกายอีกคนละหนึ่งกระบอก ให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาใหม่พร้อมปฏิบัติหน้าที่รับใช้ประชาชนได้ทันที”

รองสารวัตรประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจฝึกปฏิบัติงานโรงพักภูธรย้ำว่า ที่สุดแล้วเราต้องมีหลักการในการใช้ชีวิต โชคดีที่ได้รับการปลูกฝังมาโดยตลอดว่า ให้ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง พอดี พอประมาณ แม้ชีวิตคนเราความอยากมี อยากเป็น อยากได้จะเกิดขึ้นเสมอ และเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากว่า ไม่มีหลักที่จะยึดก็จะเป๋ไปเป๋มา ยิ่งอาชีพตำรวจเป็นอาชีพที่อยู่ใกล้กับผลประโยชน์ อยู่ใกล้ชิดกับสิ่งล่อตาล่อใจต่างๆ ถ้าตำรวจไม่ยึดหลักตรงนี้ เชื่อว่า ชีวิตรับราชการอาจจะลำบาก อาจต้องออกจากราชการ หรือได้รับผลที่เลวร้ายกว่านั้น

 

ออกตัวแจงนักเลงคีย์บอร์ด ถอดความจริงเรื่องรับแจกโน้ตบุ๊ก-ปืน

ก่อนหน้านี้ในฐานะหัวหน้านักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวตอบโต้นักวิพากษ์วิจารณ์บนคีย์บอร์ดในโลกไซเบอร์อย่างรุนแรงถึงการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจัดซื้อคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก และปืนพกกล็อก 19 ประเดิมให้นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 ทุกคนที่จบใหม่ว่า ในฐานะร้อยตำรวจตรีจบใหม่รู้สึกกับการที่ได้รับของแจกในครั้งนี้ว่าเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงในการปฏิรูปตำรวจตามที่ทุกฝ่ายและทุกคนอยากให้ปฏิรูป

“งานสอบสวนที่พวกผมกำลังจะจบไปปฏิบัติหน้าที่ถือว่า เป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรมเลยก็ว่าได้ เพราะเป็นหน้างานในการการบำบัดทุกข์บำรุงสุขให้ประชาชนที่เกิดความทุกข์ร้อนโดนการนำไปทำสำนวนเพื่อรวบรวมไปสั่งฟ้องผู้ที่กระทำผิดกฎหมายบ้านเมืองให้ได้รับโทษต่อไป ในการเข้าเวรของพนักงงานสอบสวนทุกคนต้องใช้โน้ตบุ๊กส่วนตัวในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสอบสวนทุกครั้ง และในบางครั้งยังต้องนำสำนวนออกไปสอบปากคำภายนอกโรงพักอีก ไม่สามารถที่จะใช้ทุกคนแล้ววนๆกันใช้ได้ เพราะแต่ละคนก็มีสำนวนที่ตัวเองรับผิดชอบ การทำสำนวนแต่ละสำนวนนี่ก็จะคล้ายกับการทำโครงงาน  ในการเข้าเวรแต่ละครั้งก็ไม่ได้มีคดีเดียว  และอีก 24 ชั่วโมงก็กลับมาเข้าเวรอีกครั้ง”

“การที่พวกผมได้รับโน้ตบุ๊กเป็นเพียงสิ่งที่เห็นภาพชัดสุดในการปฏิรูปงานสอบสวนของตำรวจที่ขาดแคลนอุปกรณ์ในการทำงาน พวกผมทำใจพร้อมอยู่แล้วว่า ต้องซื้อโน้ตบุ๊ก ปืน กระสุน กุญแจมือ เข็มขัดยุทธวิธี ปริ้นเตอร์ และกระดาษเองอยู่แล้วเพื่อมาบริการประชาชนตามหน้าที่ที่จะได้รับในการทำงาน พวกผมก็ไม่เคยจะคิดที่จะโอดครวญ หรือเรียกร้องเลยเ พราะสมัครใจมาเป็นตำรวจเองตั้งแต่สอบติดเตรียมทหารแล้วดังนั้นการได้รับแจกก็ถือเป็นขวัญและกำลังใจจากประชาชนในการทำงาน และเป็นเครื่องเตือนใจอีกอย่างหนึ่งในการสร้างสำนึกรับใช้ประชาชนว่า เขาได้ไว้วางใจมอบอุปกรณ์ในการทำงานให้พวกเราแล้ว เราก็ต้องให้บริการประชาชนอย่างดี เป็นตำรวจที่ดีและทุ่มเททำงานเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนอย่างสุดความสามารถ”

“ผมเชื่อว่าไม่ช้าไม่นานประเทศกำลังเดินทางพัฒนาในทุกๆด้านตามที่ทุกคนอยากให้เป็น แต่ทุกอย่างต้องใช้เวลา อาจจะไม่เห็นทันตา ขอให้ทุกคนช่วยกันสร้างสิ่งดีๆโดยเริ่มจากตัวเองก่อน หยุดจับผิดผู้อื่นหรือให้ร้ายเพียงเพราะความสะใจ หากผู้ใดกระทำผิดจริงก็ขอให้ท่านที่ตรวจพบก้าวออกมาแจ้งความและให้กฎหมายบ้านเมืองดำเนินการกันต่อไปว่าด้วยพยานหลักฐานเลย อย่าปล่อยให้เป็นอุปสรรคของสังคม หรือปล่อยเป็นแค่เรื่องบ่นด่าบนโลกโซเชียลเพียงอย่างเดียว”

 

ขอโอกาสเด็กรุ่นใหม่แสดงฝีมือ อย่าเพิ่งถืออคติตำหนิข้อผิดพลาด

“สุดท้ายนี้ขอความเมตตาจากพี่น้องประชาชนคนไทยทุกคนได้ให้โอกาสรุ่นพวกผม และน้องๆที่จะจบตามกันมาอีกหลายๆรุ่นได้ไปปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎ์ของประชาชนคนไทยเสียก่อนว่า พวกผมจะดีได้อย่างที่ได้กล่าวไว้หรือเปล่า หากเป็นความผิดของพวกผมที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หรือเป็นคนเลวร้ายตามที่พวกท่านคาดหมายก็สามารถตำหนิได้ตามสมควรเลยครับ แต่ขอโอกาสให้เด็กรุ่นใหม่ได้มีขวัญและกำลังใจในการออกไปแสดงฝีมือในทำงานเป็นตำรวจของประชาชนด้วย”

ร.ต.ต.ณัฐดนัย เป็นนายตำรวจหนุ่มอนาคตไกลวิสัยทัศน์กว้างชอบขีดเขียนแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์จุดประกายให้สังคมหันมามองภาพลักษณ์ตำรวจดีขึ้นบ้าง เขาสารภาพว่า ปัจจุบันตำรวจมีชื่อเสียงทางสังคมที่ติดลบ แต่ทุกอย่างต้องการก้าวแรกเสมอ  ตั้งแต่จบมาสวมเครื่องแบบสีกากีประดับยศร้อยตำรวจตรีกับเพื่อนๆก็ยังพบกับปัญหาและอุปสรรคอยู่บ้าง แม้ยังไม่เท่าพวกรุ่นพี่ๆที่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลประชาชนมาก่อนแล้วก็ตาม

“ในทุกๆวันผมเห็นพี่ๆตำรวจที่โรงพักทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่เพื่อประชาชนมาโดยตลอด ใช้ทั้งวันหยุดและเวลาว่างหลังราชการโดยเฉพาะงานสอบสวนใช้เวลาส่วนตัวนั่งจ้องคอมพิวเตอร์มากกว่านั่งอยู่กับครอบครัวที่บ้าน นั่นคือการทำหน้าที่ของตำรวจ ผมถึงมองว่า อาชีพตำรวจทำดีอยู่เสมอ แต่นั่นคือการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ใครที่จ้องจับผิดก็จะมัวแต่มองว่า การทำหน้าที่จะเป็นการทำดีได้อย่างไร

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเขา คือตอนที่ตำรวจพลาดทำผิดอย่างนั้นหรือ แต่ไม่ต้องห่วง ผมเชื่อว่าตำรวจดีๆไม่สะทกสะท้านพร้อมยินดีให้บริการเสมอ เพราะตำรวจไทยรับใช้ประชาชน”

มองการปฏิรูปองค์กรสีกากี มั่นว่าจะดีในอนาคต

ขณะที่กระแสการปฏิรูปองค์กรตำรวจในอนาคต เขามีความเห็นส่วนตัวอยากให้ทุกคนมองว่า น่าจะมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมดด้วย งานใดที่เป็นงานโดยตรงของตำรวจน่าจะต้องรักษาไว้ และพัฒนาให้ดีขึ้น แต่หากเรื่องใดที่สามารถนำกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ได้ก็ควรนำมาใช้ เพราะกระบวนการยุติธรรมกระแสหลักนั้นค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมากในการดำเนินคดีผู้ต้องหาคนเดียวตั้งแต่ชั้นตำรวจไปถึงอัยการจนถึงชั้นตุลาการและจบลงที่ราชทัณฑ์  บางคดีเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ อีกทั้งการผลของการเยียวยาผู้เสียหายก็มีผลต่างกัน เช่น คนร้ายติดคุกแล้วผู้เสียหายได้รับการเยียวยาที่เพียงพอเหมาะสมหรือไม่ และสังคมจะได้อะไรจากการนำคนนี้เข้าคุก

ในส่วนของงานอื่นใดของตำรวจที่สามารถให้หน่วยงานอื่นมาทำได้ ร.ต.ต.ณัฐดนัยว่า ต้องพิจารณาโอนงานดังกล่าวให้กับหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบ เพราะตำรวจปัจจุบันแบกรับงานหลากหลายด้านมากเกินไป หากหน่วยงานของเรายังต้องพัฒนาความสามารถในด้านที่จะจัดการบริหารงานบุคคลของเราได้ภายใต้งบประมาณที่จำกัดได้ลำบาก คนในองค์กรต้องรีดเลือดตัวเองเพื่อให้บรรลุผลตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งหน่วยงานอื่นเขาไม่ทำกัน ไม่เสียสละส่วนตัวเพื่อการทำงานเพื่อส่วนรวมขนาดนี้ ดังนั้นก็ควรให้หน่วยงานอื่นที่ได้รับงบประมาณมากกว่าลองมาแก้ปัญหาเหล่านั้นดูบ้าง ไม่ใช่เพียงแต่อยากมีอำนาจสั่งการควบคุมตำรวจ แต่สุดท้ายก็ผลักมาให้ตำรวจทำที่เหลือส่วนตัวถ่ายรูปเสร็จแล้วกลับ

ผู้หมวดหนุ่มเชื่อมั่นว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญเรื่องความขาดแคลนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงได้มีการเพิ่มนโยบายต่างๆเพื่อแก้ไขเยียวยาปัญหาแล้ว เช่น นักเรียนนายร้อยตำรวจจบใหม่ได้รับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กของหลวงคนละ 1 เครื่อง  เพื่อทำสำนวนในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน และปืนพกประจำกายอีกคนละ 1 กระบอก ถือเป็นสวัสดิการใหม่ที่ยังไม่เคยมีสำหรับนายตำรวจใหม่มาก่อน เพราะที่ผ่านมาทุกคนที่จบมาต้องนำเงินส่วนตัวมาซื้อเพื่อใช้ระงับเหตุร้ายและปกป้องประชาชนผู้บริสุทธิ์

น้อมนำแนวพระราชดำริ ร.พาก้าวเป็นศิลาแห่งการทำงาน

ร.ต.ต.ณัฐดนัย คิดว่า ผู้เกี่ยวข้องจะค่อยๆทะยอยแก้ไขทุกปัญหาความขาดแคลนที่เคยเกิดให้ดีขึ้นตามลำดับ สุดท้ายผมเชื่อว่า ผู้ใหญ่ทุกท่านที่มีอำนาจในการตัดสินใจกำลังหาทางออกที่ดีที่สุดให้แก่ข้าราชการตำรวจ  เพราะความสงบสุขของบ้านเมืองเป็นสิ่งสำคัญ และอยากให้หลายๆคนที่กล่าวว่า ลำบากนักจะมาเป็นตำรวจทำไม ขอเรียนให้ทุกท่านได้ทราบว่า ตำรวจเป็นงานที่มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ที่มาเป็นตำรวจ เพราะอยากทำหน้าที่รับใช้ประชาชน ต้องผ่านการอบรมผ่านการฝึก ไม่ใช่เพียงสอบผ่านแล้วใส่ชุดปฏิบัติหน้าที่เลย ต้องปลูกฝังอุดมการณ์และจิตวิญญาณในการปฏิบัติงานด้วยความอดทนและเสียสละ

“ ฉะนั้นมันเป็นเรื่องขององค์กรที่ต้องเปลี่ยนแปลงพลิกโฉม พลิกวัฒนธรรม ถ้าเปลี่ยนได้แล้ว คนในหน่วยงานก็จะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามไปเองไม่เช่นนั้นก็จะอยู่ไม่ได้ต้องโดนออก เพราะไม่ทำตามนโยบายหรือระเบียบที่เกิดขึ้นใหม่ ต่อไปก็จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมและประเทศชาติ  ผมเชื่อว่างานในอนาคตของตำรวจก็ยังเหมือนเดิมครับ คือการจับผู้ร้าย และปกป้องผู้บริสุทธิ์ แม้ว่าจะมีการปฏิรูปเกิดขึ้นในวงการตำรวจ ก็จะมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน”

ส่วนสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตของ ร.ต.ต.ณัฐดนัย บำรุงศรี คือ ได้ยึดศิลาแห่งการทำงานเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิต ตามรอยพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่พระราชทานไว้ให้แก่ ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจเมื่อปี 2529  ความว่า “การทำความดีนั้น โดยมากเป็นการเดินทวนกระแสความพอใจและความต้องการของมนุษย์ จึงทำได้ยากและเห็นผลช้า แต่ก็จำเป็นต้องทำ เพราะหาไม่ ความชั่ว ซึ่งทำได้ง่ายจะเข้ามาแทนที่ แล้วจะพอกพูนขึ้นอย่างรวดเร็วโดยไม่ทันรู้สึกตัว

 

RELATED ARTICLES