“ถ้าไม่มีวันนั้น ผมคงไม่ได้ขึ้นมาอยู่เป็นนักหนังสือพิมพ์ในวันนี้”

ากชีวิตบนเรือประมงที่ผิดพลาดเพียงชั่วข้ามวันพลิกผันมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ในตำนานคนหนึ่ง

ประกิต หลิมสกุล เจ้าของนามปากกา “กิเลน ประลองเชิง” ของค่ายไทยรัฐ ลูกชาวประมงเกิดปากอ่าวแม่กลอง สมุทรสงคราม สมัยวัยหนุ่มขึ้นทำหน้าที่นายท้ายเรืออวนลากไปขายปลาที่มหาชัย สมุทรสาคร ด้วยความทระนงตัวเมื่อวันหนึ่งผู้ช่วยนายท้ายลากลับเพราะพ่อเสีย จำเป็นต้องเดินทางคัดท้ายคนเดียว 24 ชั่วโมง 3 วันเต็มไม่ได้หลับไม่ได้นอน สุดท้ายน็อกพาเรือผ่าพุ่งชนกลางโป๊ะเสียหายต้องขายพระเอาเงินไปใช้หนี้

“ถ้าไม่มีวันนั้น ผมคงไม่ได้ขึ้นมาอยู่เป็นนักหนังสือพิมพ์ในวันนี้” คอลัมนิสต์อาวุโสเท้าความ

อายุตอนนั้นแค่ 25 ปี เขาตัดสินใจเป๋ไปอยู่ยะลา มีพี่ชายทำงานอยู่  ความที่เขียนหนังสือเป็นเลยถูกชักชวนไปทำข่าว เป็นนักข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดยะลาให้หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ คือชุดเริ่มต้นเข้าสู่วงการน้ำหมึก  ประกิตเล่าว่า ข่าวขึ้นหน้า 1 ทุกวันเป็นมือหนึ่งมือเดียว ทำแบบไม่มีใครมาแย่ง เป็นมวยหลัก เราเป็นคนขอบเขียนกลอน เล่นกลอนบนเรือ ชอบอ่านหนังสือ ถ้าไม่เกิดใหม่ที่ยะลาคงไม่ได้มาเป็นคนทุกวันนี้

ทำข่าวประจำจังหวัดยะลา 5 ปี ได้ต่อโรงเรียนผู้ใหญ่จบระดับ 3 ต่อวิชาชีพครู ไปถึงระดับอาจารย์ที่ปัตตานี พอดีถูกเรียกเข้ากรุงเทพฯ อดีตคนข่าวปลายด้ามขวานเล่าว่า ข้างในเห็นฝีมือเราจัดมาก ทำข่าวขึ้นหน้า 1 ที 20 วัน โดยไม่ต้องส่งคนจากกรุงเทพฯลงไปทำ เป็นข่าวเหตุการณ์โจรใต้ เปาะสู เปาะเยะ หัวหน้าโจรใต้ ถ้าคิดเป็นค่าข่าวสมัยนี้น่าจะได้เดือนเป็นแสน ตอนนั้นเขาชวนไปอยู่กรุงเทพฯ มีทั้งเดลินิวส์ และเดลิไทม์ ก่อนที่โรจน์ งามแม้น เพื่อนสนิทสมัยสอบเณรนักธรรมเอกมาด้วยกันยังอยู่เดลินิวส์บอกไม่ต้องกลับให้ทำข่าวอยู่กรุงเทพฯ

“ตอนอยู่ยะลา มันหิน ข่าวมันโหด ฝึกให้เราแกร่ง ทำข่าวแบบกองโจร ดำรงสถานะยากลำบาก ขาดแคลนเงิน เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ถ้ายิงกันไม่รู้ว่าทหารยิง หรือโจรยิง หรือตำรวจยิง ฉะเขาไปหมด สันดานของเราอะไรเป็นข่าวต้องเอา ความบู๊ดุเดือดของข่าวโจรภาคใต้ปีนั้น มันอาจจะเอา 10 หารเมื่อเทียบกับสมัยนี้ แต่มันก็เข้มข้นมาก”

เขามาเมืองหลวงตระเวนข่าวโรงพักเพียง 6 เดือนฉายแววความสามารถคว้ารางวัลภาพยอดเยี่ยมสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยจากภาพตีกันที่สนามบินเชียงใหม่เมื่อปี 2518  ประกิตบอกว่า เพราะทุกข่าวใหญ่ต้นสังกัดจะส่งไป ด้วยความที่เราเป็นมือหนึ่ง ใครอยู่ก็ต้องถอยให้เราหมด ยะลาสอนให้เราอด สอนให้เราสู้ พอมาทำกรุงเทพฯ มันทำด้วยหัวใจ ไม่รู้จักว่าเสาร์อาทิตย์ คืออะไร ไม่รู้ว่ากลางวันกลางคืนเป็นอย่างไร บางครั้งเอารถออกไปทำข่าวแล้วเงินไม่มี ต้องจำนำแหวน จำนำนาฬิกาเป็นค่ารถ

เขาบอกประทับใจตั้งแต่ไปทำข่าวลาวแตกเมื่อวันที่ 1ธันวาคม 2518  ซ้อนกับเหตุการณ์จลาจลเผาเมืองสกลนคร เมื่อฝ่ายขวาอาละวาด โรงพิมพ์สั่งย้ายไปทำที่นั่น ถ้าไม่ได้ย้ายมามีหวังติดคุกในลาว เพราะวันที่ลาวเปลี่ยนแปลงการปกครอง เจ้าถูกจับ เรายังเดินอยู่กลางเวียงจันทน์ เท่มาก แต่ก็กลับมาได้ เที่ยววันส่งข่าวขึ้นหน้า 1 กำลังจะเข้าไปอีก เพราะวันนั้นมีการปฏิวัติยึดเมืองแล้วดันถูกโยกให้ไปสกลนครแทน

เหตุการณ์ที่ประเทศลาวครั้งนั้น นิตย์ จอนเจิดสิน นักข่าวพูลิตเซอร์มือดีของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ไพบูลย์ วงษ์เทศ คนข่าวมือฉมังของมติชน และประชาชาติ รวมถึงช่างภาพอีกคนถูกจับในลาวนาน 3 วัน มีประกิตลอยชายกลับมาได้คนเดียว ทำให้เจ้าตัวได้บทเรียนสำคัญว่า ความกราดเกรี้ยวของข่าวสาร นักข่าวต้องมีคุณสมบัติข้อหนึ่ง อาจจะเหี้ยมหาญในใจจะเกรียงไกรแก้วกล้ายิ่งใหญ่ แต่ต้องนุ่มนวลและนอบน้อม ลาวเป็นประเทศที่ถือพี่ถือน้องถือการคารวะเป็นเรื่องใหญ่ วันนั้นมีการเดินขบวนประตูชัย วันยึดประเทศ ตัวเขาเองยังบริหารสถานการณ์ไม่ออก แต่แท็กซี่ที่เช่าไปเตือนแล้วว่า อย่ากร่าง ทหารมันเห็นกล้องมันจับ คอมมิวนิสต์ยึดเมืองแล้ว

ประกิตมองว่า การจะไปผึ่งผายองอาจในบางสถานที่ก็ไม่ถูก รอดมาได้ดวงยังไม่ติดคุก โรงพิมพ์ให้ไปทำข่าวจลาจล เงินไม่มี นี่เป็นประสบการณ์นักข่าวสมัยก่อน ไปที่เอเย่นต์แสดงตัวเป็นนักข่าวเดลินิวส์ยืมเงินไปค่าน้ำมันรถ ตีจากหนองคายไปสกลนคร ที่เล่าเพราะว่า ขณะที่เพื่อนถูกจับ เรายังทำข่าวและเห็นว่าตัวเองไม่ติดคุก เพราะเราสุภาพ พูดให้ดูดี คือ อย่ากร่าง เนียนไว้ นอบน้อมไว้ ได้ข่าวพาดหัวฉบับเดียว เพราะเพื่อนอีก 2 คนกลับไม่ได้

ปีถัดมาเขายังเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์วิปโยค 6 ตุลาคม 2519 ท่ามกลางนักข่าวหลายร้อยชีวิตเต็มหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาเกิดมุมมองที่แตกต่างว่า ทำไมมารุมอยู่หน้าธรรมศาสตร์ แล้วซ้ายขวาล่ะเลยตัดสินใจไปท่าพระจันทร์คนเดียว ตั้งแต่กลางคืนถึงเช้า เก็บภาพนักศึกษาเป็นพันคนนอนราบอยู่กับพื้น เวลาเคลื่อนตัวห้ามขยับเข่า เพราะถูกกระทืบ ได้ยินทหารถือปืนตะโกนสั่ง ไอ้สัตว์กูให้มึงเลื้อยไม่ใช่ให้มึงคลาน ไม่ให้ยกขา เราคนเดียวโทรศัพท์ไปโรงพิมพ์ให้เอาใครมาอยู่ท่าพระอาทิตย์อีกคน

อดีตนักข่าวยอดฝีมือของค่ายบานเย็นเล่าต่อว่า มีเพื่อนคนหนึ่ง ตอนที่เราได้ภาพยอดเยี่ยมปี 2518 เคยมาบอกว่า ตัวเขารอมานานแล้ว เขาเป็นมืออาชีพ แต่เรามาแวบเดียวคว้าเอาไปเฉย ปี 2519 เพื่อนคนนี้แหละที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมของสมาคมนักข่าวจากภาพถ่ายกระทิงแดงคนหนึ่งเอาลิ่มตอกอกศพชายกลางสนามหลวงในเหตุการณ์ 6 ตุลา นึกในใจว่า ถ้าวันนั้นเราอยู่ เราอาจจะไม่ได้ ปีนั้นเป็นภาพที่รุนแรงมาก เอพีส่งภาพแขวนคอชายที่สนามหลวงเป็นภาพยอดเยี่ยมโลก ส่วนรูปไทยรัฐดีกว่า เป็นภาพคนที่ถูกแขวนคอมีคนบ้าคลั่งคนหนึ่งโหนเอาตีนถีบหน้าศพ แต่ทั้ง 2 ภาพแพ้รูปของเพื่อนคนนี้ เราถือว่า มุมใครมุมมัน ที่คิดแบบนี้ คือ จะนำไปสู่ประเด็นที่ว่า นิสัยของเรา ถ้าแย่งในมุมไหน เราจะไม่ไปในมุมนั้น แต่ภาพนั้นของเราก็เป็นภาพพื้นในสมาคมนักข่าวเต็ม ๆ เป็นภาพประวัติศาสตร์ของเหตุการณ์ 6 ตุลาที่นักศึกษานอนเกลื่อนสนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ชีวิต 5 ปีในยะลาสร้างความแกร่งผ่านมาอีก 6 ปีในเมืองหลวงทำให้เขาชกได้ทุกสนาม ก่อนข้ามค่ายไปสังกัดหนังสือพิมพ์ไทยรัฐตามโรจน์ งามแม้น และชัย ราชวัตร เพื่อนร่วมอุดมการณ์นาน 14 ปี ออกตามโรจน์อีกครั้งไปซัดเซพเนจรสังกัดแนวหน้า ผู้จัดการ และสยามโพสต์นาน 6 ปี ไม่รอดต้องกลับมารังเก่าสำนักข่าวหัวเขียวจวบจนปัจจุบันได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษากองบรรณาธิการและวางคมปากกาอยู่หน้า 3 ในคอลัมน์ “ชักธงรบ”        

นับจากทำข่าวครั้งแรกปี 2513 ผ่านมาถึงปัจจุบัน 44 ปีแล้ว เจ้าของนามปากกากิเลน ประลองวาดความคิดไว้ว่า ไม่แฟร์ที่จะใช้วิชาชีพที่เรามี ถ้ามีแต้มต่อกับบุคคล กับองค์กรบริษัทร้านค้า หรือราชการ เอาไปใช้เป็นประโยชน์ เราจะเจียมตัว เรามีอาชีพเดียว เราอยากได้แค่เงินเดือนที่มันยุติธรรมกับเรา เราอยากได้ชีวิตที่ราบรื่น แม้เราไม่มีเงินแบบผู้ยิ่งใหญ่ คนเราจะมีบารมี มีอำนาจมันต้องมีหลายอย่าง ต้องมีเงิน รถราต้องแพงจะกินอะไรต้องหรูหรา  แต่เราอยู่ได้ ชีวิตจริงเป็นแบบนี้

นักหนังสือพิมพ์ปากกาคมเล่าว่า อายุป่านนี้ ผ่านงาน ผ่านโลก ไม่รวมผ่านข่าวสาร เราเห็นแล้วว่า วาสนาอำนาจมันมาพร้อมเภทภัย อยู่ไทยรัฐ 2 รอบ ผู้ยิ่งใหญ่ตายไป 2 คน เที่ยวแรก สุรพล พรทวีวัฒน์ ผู้จัดกาฝ่ายจัดจำหน่าย มือขวากำพล วัชรพล ถูกยิงตาย มีดารานางเอกสาวคนดังสมัยนั้นมากอดเท้าศพร้องไห้ ทุกฉบับเอาไปพาดหัวยักษ์ รูปเต็มไปหมด มันข่าวอาชญากรรมซ้อนดารา เราทำไมได้ มันอึดอัด มันเป็นประสบการณ์อันหนึ่ง มันเป็นเรื่องราวขององค์กรเราเองแล้วเราก็ขายไมได้ เหมือนการตกข่าวที่เหมือนไม่ตกข่าว

พอมาอีกครั้ง ประกิตสีหน้าจริงจังบอกว่า ตัวเองมีส่วนมากในการที่ทำให้วิทูร กวยะปาณิก หัวหน้าข่าวภูมิภาคถูกยิงตาย คนที่สะเทือนใจมากที่สุดคือเรา เรามีส่วนมาก เพราะโรจน์ งามแม้นจะเอาเป็นหัวหน้าก่อนหน้า แต่เราหนี เพราะขมขื่นคับแค้นกับระบบทุนที่ไม่ยุติธรรมกับนักข่าวภูมิภาค หัวหน้าวิทูรเลยไปเป็นแทน พอตอนวิทูรถูกยิง นาทีนั้นคิดว่าคิวนี้ต้องเป็นเรา ตอนนั้นเงินเดือนหมื่นเดียว เขียนสังคมหน้า 4 เขียนทแกล้ว ภูกล้า แทนไวตาทิตย์ มีตำแหน่งเป็นเลขานุการกองบรรณาธิการอีก กำลังรุ่งเรือง ฟูเฟื่อง

“เมื่อมีการยิงกันตายก็เลยเจียมกะลาหัวตัวเอง วางแผนหนี แต่ ผอ.กำพลให้บ้านผมอยู่ มันผูกพันกับผม แต่ผมดันกลัวตายขึ้นมา ลูกก็ยังเล็ก ไปบอกผู้ใหญ่โยนคอลัมน์หน้า 4 คืน ตอนนั้นใช้นามปากกาเหยี่ยวพญา ผมเด็กบ้านนอก นักข่าวภูธรทะลุกรอบมาเขียนสังคมหน้า 4 ไม่เคยปรากฏ ความอดอยากคับแค้นที่ได้กลายเป็นความทะลุทะลวงที่แรง ผมเลยไม่ไหวแล้ว อำนาจมันมากไป สุดท้ายก็ลาออก พอไปไม่รอดก็ซมซานกลับมา” ตำนานนักหนังสือพิมพ์ถ่ายทอดเรื่องราวในอดีต พร้อมฝากอุดมคติไว้ว่า มนุษย์เราต้องวางทางหนีของตัวเอง แต่การเป็นนักข่าวอย่าไปแอคกับนายทุน เพราะวันหน้าเราต้องไปพึ่งเขา

คนข่าวผู้มากอาวุธทางคมคิดเปิดประเด็นอีกว่า นักหนังสือพิมพ์มากมายที่ยังยืนอยู่ในสนามข่าวถ้าเต็มใจ หรือสนุกอยู่ไม่ได้หรอก พอตกข่าวมันเจ็บปวด มีชนะ มีแพ้ แต่มีหน้าที่ไหนหรือไม่ที่อยู่แล้วไม่เจ็บปวด ไม่ต้องรับคำสั่ง นั่นคือ การเขียนหนังสือให้เป็น โชคดีเราเขียนหนังสือเป็น เขียนมาทุกแบบมากมาย มีนามปากกาหลาย 10 ชื่อ จะให้เขียนอะไรก็ได้ เมื่อก่อนรุ่นพี่โทรมาบอกว่าเมา ช่วยเขียนคอลัมน์แทนให้หน่อย ก็เขียนแทนเกือบจะทุกคอลัมน์ อาศัยเป็นมวยแทน การเป็นนักข่าว ถ้าเขียนหนังสือดีมันมีทางหนีให้ตัวเอง

ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกให้ไปเขียนคอลัมน์แทน “ซูม” ใช้นามปากกาว่า “แซม” กลับถูกหัวเราะเยาะจากเพื่อนในโรงพิมพ์ว่า อยากทำตัวหล่อเหมือนพระเอกแซม-ยุรนันท์ ภมรมนตรี ที่กำลังดังมาก ประกิตบอกว่า ทำไมใครถอดรหัสเราไม่ออก เมื่อก่อนซูม มีคนแทนเป็นมือเยี่ยมมาก วันนี้ คือ ธงชัย ณ นคร ใช้นามปากกาแทนว่า โทรม แต่แซมของเรา คือ จะบอกว่า นาน ๆ เราจะได้แซมที เมื่อไรจะได้เป็นตัวจริงต่างหาก เพราะอยู่เดลินิวส์ 6 ปี มีคอลัมน์รายวัน 1 รายสัปดาห์ 5 ยังไม่มีใครทำประวัติได้ แต่ละหน้าหนัก ๆ ทั้งนั้น มาอยู่ไทยรัฐตอนแรกไม่มีเลย อยากให้เห็นว่า มาอยู่อะไรใหญ่ ๆ ตัวเราจะเล็กไปเลย

“กระทั่งไวตาทิพย์ตาย ก็ได้เป็นทแกล้ว ภูกล้า ฟังแล้วไม่ซึ้งนะ ต้องตายถึงจะได้ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลง พี่โกวิท สีตลายัน ถูกให้พักแล้วจะให้ผมไปเขียนแทน พี่โกวิทเป็นสะพานเชื่อมดึงประกิตไปอยู่ไทยรัฐ ด้วยฝีมือเขียนแบบมังกรห้าเล็บ ชาติหน้าบ่าย ๆ กูยังไม่กล้าคิดแทนเลยในคอลัมน์นี้ พี่เขาเขียนหนังสือดีฉิบหาย พอผู้ใหญ่ให้เขียนแทน ก็ต้องปฏิเสธนายไปว่า ยังไงก็เขียนแทนมังกรไมได้ อีกประเด็น คือ พี่โกวิทเป็นลูกพี่ผม เอาผมมาอยู่ที่นี่ ผมไม่เคยปฏิเสธคนแบบขาดเยื่อใยมาก่อน ผลสุดท้ายเขาให้ฉลามเขียวมาแจ้งเกิดแทน”

 

ต่อมา โกวิท สีตลายันตาย จากมังกรห้าเล็บถึงได้เป็นกิเลน ประลองเชิงปรากฏอยู่ในคอลัมน์ชักธงรบหน้า 3 หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เจ้าของนามปากกาดังระบายความรู้สึกว่า ประวัติศาสตร์มันซ้ำรอย ต้องรอคนตายถึงจะได้ขึ้น การวัดรอยเท้ากันมันไม่ใช่วิธีของเรา ตอนที่ออกไปเรียนรู้อยู่ข้างนอกได้บทเรียนสำคัญ ความที่ทำท่าเหมือนจอมยุทธ์มีประสบการณ์ เขาให้ทำหน้าที่สำคัญ แต่จะมีขยะขององค์กร มาอยู่สักพักก็จะมีคำถามว่า คนนี้ไม่ไหวใช่ไหม ชงเรื่องมาให้ปลด เราเฉลียวใจ เขาเป็นคนที่มีนายดี ถึงรู้ว่า เราไปอยู่ใหม่ ใช้เราปลด ยืมมือเรา ไม่ใช่วิถีของเรา ถ้ารุ่งเรืองมาสักก้าว หรือเราจะเกิดก็ต้องมีคนตาย เป็นธรรมชาติที่มองว่า มีความสุขมากกว่า เมื่อไม่ว่างก็ไม่มีที่ของเรา

 

บั้นปลายชีวิต ประกิตว่า ทุกคนมีฝัน แต่เรามาไกลมาแล้ว เรียนน้อย รู้น้อย ฝ่าฟันมาตั้งแต่นักข่าวภูธร ได้รับโอกาสไปพูดในองค์กรสถาบันต่าง ๆ หลายครั้ง เขียนคอลัมน์หน้า 3 ทุกวัน มันเกินจุดคิดไปแล้ว แค่คิดว่า จะทำให้ดีที่สุดสำหรับวันนี้ “มันมีคำถามสำหรับชีวิตที่ผ่านมานาน ๆ ว่า สรุปแล้วชีวิตมัน คือ อะไรแล้วจะไปทางไหน ความสุขอยู่ตรงไหนแล้วชีวิตจะดำเนินไปอย่างไร การค้นหนังสืออ่านทุกวัน ทำให้ผมไปพบข้อเขียนชิ้นหนึ่งของนักเขียนชาวรัสเซียที่ว่า คนตรงหน้าสำคัญสุด เวลานี้สำคัญที่สุด และทำให้ดีที่สุด ผมว่าจริงนะ”

 

RELATED ARTICLES