ระดมพนักงานสอบสวนตั้งศูนย์รับแจ้งคดี “ดารุมะ ซูชิ”

 

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปราบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกประชุม พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 และกองบังคับการ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อกำหนดช่องทางรับคำร้องทุกข์ อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากกรณี บริษัท ดารุมะ ซูจิ จำกัด หลอกขายคูปอง และแฟรนไชส์บุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น พบผู้เสียหายแล้วกว่า 1,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท

ทั้งนี้สืบเนื่องจากมีผู้เสียหายจำนวนมากเข้าแจ้งความกับพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีอาญา บริษัท ดารุมะ ซูซิ จำกัด กับพวก หลอกลวงให้ผู้เสียหายให้หลงเชื่อซื้อคูปอง ในราคา 199 บาท/คน เพื่อใช้รับประทานซูซิแซลมอลแบบบุฟเฟต์ที่ร้าน ดารุมะ ซูซิ จำนวน 27 สาขา  มีผู้เสียหายหลงเชื่อกว่า 1,000 ราย ความเสียหายกว่า 100 ล้านบาท และหลอกลวงให้ผู้เสียหายซื้อแฟรนไชส์ ของบริษัทผ่านเพจเฟซบุ๊ก ที่ชื่อว่า “ดารุมะ (daruma)  เสนอแบ่งกำไรให้ 10 เปอร์เซ็นต์ของยอดจำหน่าย เมื่อผู้เสียหายกับพวกหลงเชื่อจ่ายเงินให้บริษัท ปรากฎว่าไม่สามารถใช้คูปองไ ด้เนื่องจากบริษัทปิดกิจการไปเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 65 และผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศแล้ว

ต่อมา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เข้าจับกุมตัว นายเมธา ชลิงสุข ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ในฐานะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียวของ บริษัท ดารูมะ ซูซิ จำกัด ได้ที่บริเวณท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ในขณะที่เดินทางกลับจากไต้หวัน หลังหลบหนีไปกบดานอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลากว่า 1 สัปดาห์ ในความผิดฐาน “ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์”

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิคติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า  คดีที่เกิดขึ้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เห็นว่า มีประชาชนซื้อคูปองไป 33,000 กว่าราย กระจายอยู่หลายพื้นที่ และพบว่าผู้เสียหายได้ร้องทุกข์ผ่านระบบการแจ้งความออนไลน์ ทาง www.thaipoliceonline.com แล้วกว่า 1,000 ราย เป็นการกระทำผิดที่มีรูปแบบยุ่งยากสลับซับซ้อน เกี่ยวเนื่องกันหลายพื้นที่ และมีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้การสืบสวนสอบสวนเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่องรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และเป็นประโยชน์ต่อผู้เสียหาย จึงสั่งการให้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบดำเนินคดีทั้งหมด มอบหมาย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.อนันต์ นานาสมบัติ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ควบคุม กำกับ ดูแล ให้ทุกกองบัญชาการสอบสวน รวบรวมเอกสาร และส่งสำนวนไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค

สำหรับผู้เสียหายที่ไปแจ้งความไว้แล้วกับตำรวจท้องที่ พนักงานสอบสวนจะสอบสวนปากคำ จัดทำเอกสาร และส่งสำนวนมายังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ส่วนผู้เสียหายที่ร้องทุกข์ผ่านระบบรับแจ้งความออนไลน์ แอดมินจะส่งเรื่องไปยังตำรวจท้องที่ เพื่อสอบสวนปากคำ จัดทำเอกสาร และส่งสำนวนไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค อีกเช่นกัน ขณะที่ผู้เสียหายที่ยังไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ขอให้ดำเนินการภายในวันที่ 10 กรกฎาคม 2565 เนื่องจากพนักงานสอบสวนจะต้องเร่งรวบรวมพยานหลักฐานส่งให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ส่งสำนวนไปยังอัยการ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติยังมีการเปิด ศูนย์ Hotline 065-9651135 เพื่อรับแจ้งเบาะแสหรือขอคำปรึกษา จัดเจ้าหน้าที่รับสายตลอด 24 ชั่วโมง และมีการตั้งกลุ่ม Line Open Chat “ผู้เสียหาย ดารุมะ ซูซิ” เพื่อให้ข้อมูลในการเตรียมเอกสารและแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้เสียหาย ส่วนหลักฐานที่ผู้เสียหายจะต้องนำมาให้กับพนักงานสอบสวน มีดังนี้

1. หลักฐานการโอนเงิน เช่น สลิปโอนเงิน เสตทเมนท์ หรือหลักฐานการหักชำระด้วยบัตรเครดิตของผู้เสียหายเอง (สำคัญ)
2. สำเนาบัตรประชาชนผู้เสียหาย หรือหนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบติดอากรแสตมป์ลงนามให้เรียบร้อย
3. หลักฐานการซื้อคูปองผ่านแอปพลิเคชั่น ดารุมะ ซูซิ ผ่านที่ตั้งสาขาใด (เน้นให้ปรากฎข้อมูลคูปองที่สั่งซื้อ, ประวัติการจอง, การชำระเงิน)
4. หลักฐานการสนทนากับผู้ขาย (ถ้ามี)
5. หลักฐานที่ผู้เสียหายพบโฆษณาขายคูปองผ่านทางช่องทางใด เช่น เฟซบุ๊ก หรือ IG เป็นต้น
6. หลักฐานการปฏิเสธการใช้คูปอง (ถ้ามี)​ หรือหากยังไม่ได้ใช้คูปอง อาจหาหลักฐานจากข่าวว่าร้านที่ใช้บริการปิดไม่สามารถใช้บริการได้ เป็นต้น

RELATED ARTICLES