โอนภารกิจจราจร

 

ร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับปฏิรูป ผ่าตัดองค์กรสีกากี ไม่ได้มีแค่ยุบหน่วย กองบังคับการตำรวจรถไฟ และ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ถูกมองว่า ไม่ใช่ภารกิจสำคัญของตำรวจอีกต่อไป

ปรากฏว่ายังมีการเสนอมาตรา 158 ระบุว่า ภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้โอนงานจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ให้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนคร

ท่ามกลางเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วยของสมาชิกสภาบางท่านและตำรวจใหญ่หลายคน

ไม่เห็นด้วยกับการออกมาตราดังกล่าว

หลังจากพิจารณาผ่านไปแล้ว 4 นัด ต่อไปวันที่ 24 มิถุนายน 2565  คือวันเดียวกันนี้

กองแผนงานความมั่นคง สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ พิจารณาแล้วมีความเห็นต่อร่างกฎหมายไว้หลายประเด็น

ประเด็นแรก การอำนวยความสะดวกในการจราจร ต้องมีการประสานเรื่องการจัดการจราจรในพื้นที่รอยต่อระหว่างเขตจังหวัด หรือระหว่างเขตอำเภอ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่มีอำนาจสั่งการเจ้าหน้าที่ในภาพรวมได้อย่างที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการ เช่น จัดการจราจรชั่วโมงเร่งด่วน เช้า-เย็น ระหว่างกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี จังหวัดปทุมธานี จังหวัดนครปฐม และจังหวัดสมุทรปราการ

ต้องบริหารจัดการปริมาณการรับรถเข้าออกจากเมืองหลวง รวมถึงบริหารจัดการจราจรบนทางพิเศษ กรณีเช่นนี้ ผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สามารถสั่งการด้านนโยบายจัดการจราจรกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 บูรณาการส่วนเกี่ยวข้อง

หากโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่นแต่ละท้องที่จะเกิดปัญหาการสั่งการบุคลากรเพื่อจัดการจราจรระหว่างอำเภอและจังหวัด ตลอดจนขาดการกำกับแนวทางบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับนโยบายในช่วงเทศกาลสำคัญ

ขณะที่การป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนกับการอำนวยการจราจรต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนเป็นลำดับแรก ดังนั้น นโยบายเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุในการอำนวยความสะดวกการจราจรต้องเป็นนโยบายภาพรวมทั้งประเทศ มีการกำกับดูแลให้การปฏิบัติเป็นในทิศทางเดียวกัน

หากโอนภารกิจส่วนนี้ไปยังท้องถิ่นแต่ละแห่งจะขาดเอกภาพในการบริหารจัดการในนโยบายความปลอดภัยทางถนน

ประเด็นต่อมา เรื่องการกวดขันวินัยจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร ตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตามมาตรฐานที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด มีการนำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนกส์มาช่วย สร้างช่องทางอำนวยความสะดวกกับประชาชน ได้แก่ จัดทำระบบฐานข้อมูลใบสั่งของผู้กระทำผิดกฎหมาย ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลใบสั่งของตัวเองได้ และสร้างช่องทางชำระค่าปรับที่สะดวกผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ จุดบริการเคาน์เตอร์เซอร์วิส ไปรษณีย์ทุกสาขา หรือสถานีตำรวจทุกแห่ง

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ขับขี่ที่กระทำผิดกฎจราจร หากโอนภารกิจไปให้ท้องถิ่น เมื่อเจ้าหน้าที่ในระดับท้องถิ่นพบการกระทำผิดขณะอำนวยการจราจรจะไม่สามารถดำเนินการจับกุมผู้ขับขี่ที่กระทำผิดได้ และหากเป็นการกระทำผิดอาญาอื่น ๆ เจ้าพนักงานจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาสามารถจับกุม เข้าระงับเหตุเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยได้ทันที

อำนาจออกคำสั่งทางปกครองในฐานะหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรจะทำอย่างไร เมื่อขึ้นตรงกับผู้ว่ากรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา หรือนายกเทศมนตรี จากเดิมที่พระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522 กำหนดให้ในเขตกรุงเทพมหานคร ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บังคับการตำรวจจราจร เป็นหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจร  ในต่างจังหวัดให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนั้นเป็นหัวหน้า

เช่นเดียวกับการสืบสวนคดีอุบัติเหตุและการสอบสวนคดีจราจร จำเป็นต้องเข้าไปดูที่เกิดเหตุอย่างทันท่วงที เพื่อรวบรวมข้อมูล พยานหลักฐานให้พนักงานสอบสวนผู้มีอำนาจ เจ้าพนักงานจราจรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ล้วนมีศักยภาพดำเนินการในเรื่องนี้ได้

แต่หากโอนภารกิจไปยังท้องถิ่นอาจเกิดประเด็นปัญหาในการรวบรวมพยานหลักฐาน ขาดความเชื่อมโยงในการประสานงานและการบังคับใช้กฎหมาย เพราะอำนาจการสอบสวนยังเป็นของพนักงานสอบสวนในสังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่

บทบาทของเจ้าพนักงานจราจร เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีอำนาจหน้าที่รักษากฎหมาย ดูแลความสงบเรียบร้อยให้กับส่วนรวม แต่ในมุมมองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรีมาจากการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ย่อมต้องคำนึงถึงฐานเสียง คะแนนเสียงในการเลือกตั้ง

หากกฎหมาย ระเบียบข้อใดไม่ถูกใจประชาชนที่เป็นฐานเสียง หรือหัวคะแนนท้องถิ่นนั้นอาจเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคนของกลุ่มตัวเอง ไม่คำนึงถึงผลกระทำของประชาชนส่วนใหญ่

ดังนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควรดูแลรับผิดชอบเพียงด้านกายภาพเท่านั้น เช่น การติดตั้งสัญญาณไฟ จัดทำป้ายจราจร ซ่อมแซมบำรุงผิวทาง ขีดสีตีเส้นการเดินรถในเขตรับผิดชอบ  ส่วนการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยการจราจรให้เป็นความรับผิดชอบของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบกในความผิดฐานจอดรถโดยฝ่าฝืนกฎหมาย หรือจอดรถโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ปัจจุบันมีกฎหมายใหม่ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเด็นนี้ไว้แล้ว

ได้แก่ พระราชบัญญัติจัดระเบียบการจอดรถในเขตองค์กรปกครองท้องถิ่นพุทธศักราชการ 2562 ในมาตรา 9 กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจดำเนินการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่จอดรถฝ่าฝืนกฎหมาย

เมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้แล้ว ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในร่างมาตรา 158 อีกแต่อย่างใด

ด้วยผลการพิจารณาศึกษาและความเห็นต่อร่างกฎหมายมาตรา 158 ตามประเด็นที่ให้เหตุผลข้างต้น กองแผนงานความมั่งคง สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ เห็นว่า ร่างมาตรา 158 ไม่จำเป็นต้องบัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช …แต่อย่างใด

เห็นควรให้ภารกิจงานจราจรยังคงเป็นภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งหมดต่อไป

         

RELATED ARTICLES