ตำรากฎหมายเล่มใหม่ไฉไลจริงหรือ

ต้องใช้เวลาปีเศษกว่าจะผ่านร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่

ไฉไลกว่าเก่าแค่ไหนต้องติดตามตอนต่อไปในอนาคต

ทำนองคนร่างไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ร่าง

มีข้อถกเถียงกันยกสุดท้ายเล่นเอาทุลักทุเลเกี่ยวกับมาตรา 169/1 เรื่องการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ที่ พล...ปิยะ อุทาโย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ เสนอขอเพิ่มเติมข้อความที่ให้ชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไป 180 วัน

กระทั่งถูกวิจารณ์ว่า เอื้อประโยชน์ต่อบางคนให้มีอำนาจต่อ เนื่องจากต้องใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งเดิมไปก่อน

ก่อนโหวตคะแนนเสียงตามที่เสนอเพิ่มข้อความเพื่อความเป็นธรรม

ระบุมาตรา 169/1 ในวาระเริ่มแรก ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ การคัดเลือกหรือแต่งตั้งข้าราชการตำรวจให้ดำรงตำแหน่งให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในกรณีที่ไม่อาจนำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขมาบังคับได้ตามวรรคหนึ่ง การจะดำเนินการประการใดให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนด ที่ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

สุดท้ายประชุมลงมติเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ 494 ต่อ 40 เสียง งดออกเสียง 4 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง

สรุปร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ที่เป็นประเด็นน่าสนใจมีอะไรบ้าง

มาตรา 3 ยกเลิกพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติพุทธศักราช 2547 และกฎหมายที่แก้ไขเพิ่มเติม เกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 20/2561 เรื่องมาตรการสนับสนุนการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความต่อเนื่องลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2561

มาตรา 8 ประเภทข้าราชการตำรวจ จะแบ่งข้าราชการตำรวจที่มียศ และข้าราชการตำรวจที่ไม่มียศ ได้แก่ ผู้ดำรงตำแหน่งในกลุ่มสายอำนวยการและสนับสนุน กลุ่มสายงานวิชาชีพเฉพาะตามที่คณะกรรมการข้าราชการตำรวจกำหนด

มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ หน้าที่และอำนาจ คือ รับเรื่องราวร้องทุกข์ อุทธรณ์กรณีปลดออก ไล่ออก ให้ออก เรียงอาวุโส/แต่งตั้ง และคุ้มครองระบบคุณธรรม

มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ อำนาจหน้าที่พิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อน หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมของประชาชนจากการกระทำ หรือไม่กระทำของข้าราชการตำรวจ เพื่อไต่สวนข้อเท็จจริง โดยดำเนินการเองหรือมอบจเรตำรวจ ส่งให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาโทษ หากไม่ได้ดำเนินการถือว่า ผิดวินัยร้ายแรง กรณีผิดทุจริตส่งเรื่องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติให้ผู้บังคับบัญชา สั่งพักราชการ

การบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจเกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งในแต่ละระดับเป็นบทเฉพาะกาล (มาตรา 169/1)ใช้บังคับภายใน 5 ปี ไม่มีข้อยกเว้น

ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือจเรตำรวจแห่งชาติ ระเวลา 1 ปี ผู้บัญชากาเลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระยะเวลา 1 ปี รองผู้บัญชาการเลื่อนเป็นผู้บัญชาการระยะเวลา 2 ปี ผู้บังคับการเลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการระยะเวลา 3 ปี รองผู้บังคับการเลื่อนเป็นผู้บังคับการใช้เวลา 4 ปี ผู้กำกับการเลื่อนเป็นรองผู้บังคับการระยะเวลา 4 ปี รองผู้กำกับการเลื่อนเป็นผู้กำกับการระยะเวลา 4 ปี สารวัตรเลื่อนเป็นรองผู้กำกับการระยะเวลา 5 ปี รองสารวัตรเลื่อนเป็นสารวัตรระยะเวลา 7 ปี

การแต่งตั้งโยกย้ายกำหนดหลักการกระจายอำนาจตามมาตรา 71 ระบุ ระดับรองผู้บังคับการลงมา เป็นอำนาจผู้บัญชาการการ ยกเว้นกองบัญชาการในสังกัดสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นอำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

มาตรา 74 กำหนดหลักอาวุโสชัดเจนว่า ระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียงตามลำดับอาวุโส ระดับผู้กำกับการถึงผู้บัญชาการเรียงอาวุโสไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ส่วนระดับรองผู้บังคับการลงมาเรียงอาวุโสจำนวนร้อยละ 33

อีกทั้งกำหนดหลักความรู้ความสามารถ พิจารณาจากประวัติการรับราชการ ผลการปฏิบัติงานและความประพฤติประกอบกันและพิจารณาในรูปคณะกรรมการ

แถมมีการพิจารณาหลักความชำนาญงาน

กำหนดการเลื่อนตำแหน่งในกลุ่มงานงาน มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งระดับปัจจุบันใน กลุ่มสายงานนั้นไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 75 วรรคแรก และการเลื่อนตำแหน่งในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งระดับปัจจุบัน “ในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 76 วรรคหนึ่ง

ส่วนการหมุนเวียนไปกลุ่มสายงาน เคยดำรงตำแหน่งสายงานนั้นหรือมีระยะเวลาดำรงตำแหน่งระดับถัดลงไปสองระดับ ในกลุ่มสายงานนั้น ไม้น้อยกว่าสองในสาม ตามมาตรา 75 วรรคสอง เช่นเดียวกับหมุนเวียนไปกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน มีระเวลาดำรงตำแหน่งระดับปัจจุบันและถัดลงไปหนึ่งระดับ ในกลุ่มสายงานสืบสวนสอบสวน ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ตามมาตรา 76 วรรคสอง

มาตรา 80 จะมีหลักประกันความมั่นคงในหลักเกณฑ์การแต่งตั้ง ตามบทบัญญัติในกฎหมายเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งที่ชัดเจน และกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน

ย้อนไปมาตรา 79 กำหนดให้ข้าราชการตำรวจสามารถร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจ ในกรณีที่เห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการเรียงลำดับอาวุโส หรือในการแต่งตั้ง คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมตำรวจหรือศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัย กรณีที่ผู้บังคับบัญชาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดถือว่า กระทำผิดวินัยลงโทษภายใน 30 วัน หากคณะกรรมการข้าราชการตำรวจพิจารณาว่า จงใจช่วยเหลือหรือเพื่อให้เกิดความเสียหายให้ถือว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง 

กำหนดบทลงโทษผู้ที่ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด หรือแอบอ้างอำนาจของบุคคลใด หรือเรียกรับ ยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือกระทำการใดอันมิชอบ เพื่อให้มีการแต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งผู้ใดให้ดำรงตำแหน่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

ขณะที่ มาตรา 84 ว่าด้วยกำหนดห้ามมิให้ข้าราชการตำรวจที่สังกัดสถานีตำรวจไปปฏิบัติหน้าที่ในส่วนราชการอื่นที่ไม่ใช่สถานีตำรวจ เว้นแต่ในคำสั่งจะให้ข้าราชการตำรวจอื่นมาปฏิบัติหน้าที่นั้นแทนในสถานีตำรวจนั้นเพื่อให้ความสำคัญแก่หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนโดยตรง

หากผู้บังคับบัญชาผู้ใดรู้ว่า ผู้ใต้บังคับบัญชาไม่มาปฏิบัติราชการติดต่อกันเกินสิบห้าวันโดยไม่มีเหตุอันควรให้ดำเนินการทางวินัยแก่ข้าราชการตำรวจผู้นั้น เพื่อให้การบริหารอัตรากำลังที่มีอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ปิดท้ายด้วยการโอนภารกิจที่ไม่ใช่ภารกิจหลักของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มาตรา 155-156 ยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ ภายใน  1 ปี มาตรา 157 ยุบกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใน 2 ปี

มาตรา 158 โอนงานจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พุทธศักราช 2522 เฉพาะที่เกี่ยวกับการให้สัญญาณจราจร การทำติดตั้ง หรือทำให้ปรากฏซึ่งสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจร การกวดขันวินัยจราจร และการบังคับใช้กฎหมายในความผิดฐานจอดรถ ให้แก่ กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และเทศบาลนคร ภายใน 5 ปี

ทั้งหมดสรุปแบบนี้ไม่รู้ว่า กำลังพลในกองทัพปทุมวันเห็นดีเห็นงามด้วยไหม 

RELATED ARTICLES