บิ๊กโจ๊กปาฐกถาพิเศษโครงการ “Smart Safety Zone 4.0

 

ที่ห้องโลตัส 7 ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นวิทยากรการปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “Smart Safety Zone 4.0 นวัตกรรมความปลอดภัย เพื่อการป้องกันอาชญากรรม” ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2565 ระบุว่า การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยุคนิวนอมอลล์ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตำรวจต้องทำงานเชิงรุก ท่ามกลางการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้มองเห็นได้ว่า มี ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน ตลอดถึงสภาวะเศรษฐกิจ ลดถอย หนี้ครัวเรือนหนี้สาธารณะ เพิ่มขึ้น เป็นกันทั่วทั้งโลก สถานะของประชาชน ของประเทศไทยถือว่าเศรษฐกิจ ย่ำแย่ สิ่งที่จะตามมาที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเป็นห่วงนั้นคือ ปัญหาอาชญากรรม การลัก วิ่ง ชิงปล้นต่างๆ เป็นหน้าที่ของตำรวจโดยตรง แต่สิ่งที่ทำให้ประชาชนสัมผัสได้ก็คือ การทำงานเชิงรุก คือการทำงานในด้านการป้องกันปราบปราม ต้องป้องกันไม่ให้เหตุเกิด หรือว่ามีการลัก-วิ่ง-ชิง-ปล้น การป้องกันปราบปรามดียิ่งกว่าเหตุเกิดแล้วจะมาสืบสวนจับกุม ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน อย่างมากมาย

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้เน้นในเรื่องของการทำงานเชิงรุก คือการป้องกัน จะตรงใจประชาชน และใช้งบประมาณน้อย ทำให้ผู้ต้องหาไม่ล้นคุก ประหยัดงบประมาณแผ่นดิน การทำงานของตำรวจ จะกลับมาในรูปแบบของตำรวจคือประชาชน และประชาชนคือตำรวจ ประชาชนทุกคน คือ ตำรวจความหมาย คือว่า ทุกคนจะต้องมีส่วนร่วม และมีส่วนรับผิดชอบในชุมชนของตัวเองที่อาศัยอยู่ ในชุมชน ตำบลหมู่บ้าน เพราะฉะนั้น สิ่งที่สำคัญคือ ตำรวจต้องทำให้ประชาชนไว้ใจยิ่งขึ้น เมื่อความห่างระหว่างตำรวจกับประชาชนน้อยลง ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อตำรวจ ก็จะมากขึ้น เพราะฉะนั้นความร่วมมือร่วมใจ ที่จะเป็นหูเป็นตา และแจ้งเบาะแส คนร้าย ที่จะนำข้อมูลข่าวสารส่งมาให้ เช่นกรณีเกิดเหตุในหมู่บ้าน วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างทุกคนมีหน้าที่หมด เพราะว่าทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของพื้นที่ นอกจากที่ทำการของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน  มีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบในหมู่บ้าน แล้ว วินมอเตอร์ไซค์ ก็มีหน้าที่ช่วยกันดูแลประชาชนในซอยท้องถิ่น นอกนั้นนอกเหนือจากตำรวจ ด้วยเหตุนี้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้ริเริ่มโครงการ Smart Safety Zone 4.0 เพื่อให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นไปตามความต้องการของประชาชน ก่อนเริ่มได้มีการตรวจสอบ โดยใช้แบบ สอบถาม people poll เป็นการวัดผลในลักษณะ Google form ในการวัดผลแบบ Real Time ทำให้ การบริหารงานปราบปรามเป็นไปตามสภาพในความเป็นจริง และเป็นไปตามความต้องการของประชาชนจริงๆ

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ยืนยันว่า จากการสำรวจแบบสอบถามของประชาชนจะเห็นได้เลยว่า ภัยที่ประชาชนกลัวมากที่สุดอันดับ 1 ภัยจากอาชญากรรมไซเบอร์ และ Social Media เป็นอาชญากรรมสมัยใหม่ เช่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แก๊งโรแมนซ์สแกม เป็นภัยที่ประชาชนกลัวมากที่สุด และสร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก ในลำดับต้นๆเช่นเดียวกัน และอีกภัยหนึ่งคือ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ มักจะปรากฏให้เห็นว่าประชาชนกลัว ภัยวิ่งราวทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ มากกว่าการฆ่าคนตาย ถามว่าทำไมการสำรวจจึงสะท้อนมาในภาพเหล่านี้ เพราะสิ่งที่สะท้อนออกมาจาก การวัดผลแบบ Real Time จากเดิมสมัยก่อน ในการวัดผลเราวัดผลกันปีละครั้ง แต่ขณะนี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ปรับเปลี่ยนใหม่ มีการวัดผล ในลักษณะ Google poll และ Google form ผลแบบ Real Time ส่วนนี้จะทำให้สามารถนำข้อมูลตามความต้องการของประชาชนมาใช้ในการบริหารงาน ได้อย่างตรงใจของประชาชน ด้วยเหตุนี้สำนักงานแห่งชาตินำร่อง โครงการ Smart Safety Zone 4.0 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและหัวเมืองหลัก เป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นแลนด์มาร์คของประเทศไทย เช่น ภูเก็ต พัทยา ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา ที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และย่านห้วยขวาง มีสถานที่สำคัญอย่างเช่น สถานทูตจีน และร้านอาหารต่างๆจำนวนมาก นักท่องเที่ยวชาวจีนมักจะหลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ อธิบายว่า โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 (Smart Safety Zone 4.0) คว้ารางวัลชนะเลิศ The Best Experience in Community Policing ประเภทการป้องกันอาชญากรรม เป็นรางวัลที่มอบให้กับองค์กรตํารวจที่มีผลงานในการพัฒนาแนวคิดตํารวจชุมชนไปสู่การปฏิบัติได้อย่างยอดเยี่ยมที่สุด จากประชุมสุดยอดตํารวจโลก ในด้านการปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ยอดเยี่ยม ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อวันที่ 14 – 17 มี.ค.2565 ที่ผ่านมา นวัตกรรมสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อนำร่องในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับแรก ในการพัฒนารูปแบบวิธีการป้องกันอาชญากรรมโดยใช้นวัตกรรมและยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางตามแนวคิดเรื่อง เมืองอัจฉริยะ ยกระดับการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่สาธารณะ ตามกรอบแนวคิด “ราชการ 4.0” ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอล และบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในด้านการป้องกันอาชญากรรม

ระยะแรกได้คัดเลือกสถานีตำรวจทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี เป็นสถานีนำร่อง ได้แก่ สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี สถานีตำรวจภูธรปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี สถานีตำรวจภูธณเมืองภูเก็ต และ สถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ในระยะที่ 2 ได้ขยายต่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ตอนนี้มีอยู่ 100 สถานีตำรวจที่เข้าร่วมโครงการ เน้นการสร้างพื้นที่เซฟตี้โซน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ ปลอดภัยในชุมชน ให้เป็นรูปธรรม

เริ่มดำเนินการดังนี้ 1) สำรวจกล้อง CTV ในพื้นที่ ปรับมุมกล้อง และบูรณาการการใช้งานกล้องร่วมกัน พร้อมติดตั้งเพิ่มเติม 2) นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันอาชญากรรม เช่น การติดตั้งกล้อง AI ตรวจจับใบหน้า และกล้อง AI ตรวจจับทะเบียนรถยนต์ เป็นต้น 3) ติดตั้งเสาสัญญาณ S.O.S เพื่อประชาชนจะได้สามารถแจ้งเหตุด่วนได้ทันที 4) จัดทำห้องปฏิบัติการ CCOC โดยเชื่อมสัญญาณจาก หน่วยงานราชการ และเอกชนมายังห้องปฎิบัติการและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้กับเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ เพื่อคอยควบคุมและสั่งการได้ตลอด 24 ชั่วโมง 5) ใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆเพื่อความรวดเร็วในการสื่อสาร เช่น Police i lert u, Police 4.0, LINE Official 6) ร่วมกับหน่วยงานในท้องที่ปรับภูมิทัศน์พื้นที่เสี่ยงให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เช่น ตัดต้นไม้ แต่งกิ่งไม้ ในพื้นที่รกล้าง ขีดสี ตีเส้น ทำความสะอาดพื้นที่ ติดไฟส่องสว่าง 7) แสวงหาความร่วมมือจากประชาชน และสร้างกลไกการมีส่วนรวมจากประชาชนในการช่วยป้องกันอาชญากรรม โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน 4.0 ได้ดำเนินการไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพโดยการสนับสนุนของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่ช่วยสร้างมิติใหม่แห่งความปลอดภัย จากพื้นที่สายเปลี่ยว เปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น อุ่นใจ และปลอดภัยในชุมชน

RELATED ARTICLES