“สมัยเด็ก ผมบ้า ๆ บอ ๆ ไปเรื่อยตามประสาวัยรุ่น เวลานี้ก็พยายามทำอะไรคืนสังคม”

หายหน้าหายตาไปจากวงการนานมากแล้ว

“อดุลย์ มะลิพันธุ์” อดีตกองหน้าดาวรุ่งทีมชาติ นายทหารหนุ่มไฟแรงที่ประสบความสำเร็จมากคนหนึ่งในวงการลูกหนังเมืองไทย

วันนี้ เขากลายเป็น พ.อ.อดุลย์ภักดี มะลิพันธุ์ ฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ในสังกัดสำนักงานเลขานุการกองทัพบก วิ่งรอกขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อเฟ้นหาเยาวชนเข้าอบรมตามโครงการ “เยาวชนไทย รู้รักสามัคคี ห่างไกลยาเสพติด”ที่ตัวเขาเป็นคนริเริ่มขึ้น

เปลี่ยนตัวเองจากภาพเพลย์บอยนักท่องราตรีไปทำงานดี ๆ เพื่อสังคม

เส้นทางชีวิตของอดุลย์ มะลิพันธุ์ เด็กหนุ่มจังหวัดสงขลา ขณะเรียนอยู่ชั้น ม.3 โรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้มีโอกาสเข้ากรุงเทพฯมาในช่วงปิดเทอม ติดสอยห้อยตามรุ่นพี่ไปดูการคัดเลือกนักกีฬาฟุตบอลทีมชาติไปแข่งเยาวชนโค้กคัพที่เกาหลีใต้ เจ้าตัวเลยอยากประลองฝีเท้ากับเขาบ้าง

ส่งผลให้เข้าตาโค้ชชาญวิทย์ ผลชีวิน ติดทีมชาติไปแข่งที่เกาหลีใต้

เด็กหนุ่มแดนสะตอจึงพลิกชะตาชีวิตมาเรียนต่อโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย สร้างชื่อเสียงให้กับสถาบัน กระทั่งก้าวติดทีมชาติชุดใหญ่ เข้าโครงการ “ช้างเผือก”ของโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 27 และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 38

เป็นนายร้อยหนุ่มหล่อเนื้อหอมของวงการลูกหนังไทย

หลังอำลาทีมชาติ อดุลย์ยังคลุกคลีอยู่ในแวดวงกีฬา เคยเป็นโค้ชสโมสรทหารบกนำทีมแข่งฟุตบอลไทยแลนด์ลีก ตั้งบริษัท “มะลิพันธุ์ อินเตอร์การ์ด” ทำหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญระดับวีไอพี ประเดิมรับงานเมื่อครั้งทีมฟุตบอลสโมสรปิศาจแดงดำ เอซี มิลาน ของอิตาลีเข้ามาโชว์แข้งในบ้านเรา

กิจการบอดี้การ์ดเริ่มลงตัว บริษัทของเขาได้รับการไว้วางใจไปดูแลรักษาความปลอดภัยทีมฟุตบอลต่างประเทศหลายสโมสรที่มาแข่งในเมืองไทยอีกหลายครั้ง ทั้งลิเวอร์พูล แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยูเวนตุส จึงมีโอกาสเจอนักเตะดังระดับโลกมากมาย อาทิ เอริค คันโตน่า ร็อบบี้ ฟาวเลอร์ ไมเคิล โอเว่น พอล สโคลส์ เดวิด เบคแฮม ไรอัน กิ๊กส์ และอลัน เชียเรอร์ เป็นต้น

ก่อนชื่อเสียงจะเงียบหายไป พร้อมกับกระแสข่าวลือต่าง ๆ นานาว่า เขาลาออกจากทหารไปทำงานบอดี้การ์ดเต็มตัว บ้างก็ว่าไปตั้งแก๊งทวงหนี้ รับงานคุมสถานบันเทิงทำตัวเป็นมาเฟียในเครื่องแบบ

COP’S MAGAZINE จึงพาท่านผู้อ่านไปเปิดใจนายทหารหนุ่มคนดังถึงชีวิตวันนี้ของอดุลย์ มะลิพันธุ์ เป็นจริงตามกระแสข่าวหรือไม่

“ผมยังเป็นทหารอยู่ครับ” เขาย้ำชัด

“ตอนนี้ผมเปลี่ยนชื่อเป็นอดุลย์ภักดี สิบกว่าปีที่แล้วชีวิตไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีอาจารย์คนหนึ่งมาทักให้เพิ่มชื่อแล้วน่าจะดี มันก็โอเคขึ้น” พ.อ.อดุลย์ให้เหตุผล พร้อมบอกว่า ตอนนี้หันไปทำงานอยู่กับโครงการเยาวชนไทย รู้รักสามัคคี ห่างไกลยาเสพติด เป็นโครงการที่คิดขึ้นมาเอง ทำเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันแล้ว นำเด็กและเยาวชนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มาทำกิจกรรมร่วมกับเยาวชนภาคอื่นรวม 500 คนในช่วงปิดเทอมใหญ่ที่กรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์ให้เยาวชนรู้รักสามัคคี ไม่แตกแยกกัน

“บังเอิญผมเคยเป็นทหารช่วยราชการในพื้นที่ยะลา เป็นเด็กสงขลา เด็กภาคใต้ เคยเป็นนักฟุตบอลทีมชาติเลยเป็นอะไรที่กลมเกลียวกันจึงลองคิดทำโครงการดู ประสานตามโรงเรียน นายก อบต. นายก อบจ. ซึ่งได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองชาวมุสลิมเป็นอย่างดี ผมคิดว่า เยาวชนเหล่านี้เมื่อโตขึ้นจะได้ไม่เข้าไปเป็นแนวร่วมก่อความไม่สงบอีก และถือว่าประสบผลสำเร็จพอสมควร”

พ.อ.อดุลย์บอกอีกว่า เด็กที่คัดมา 500 คนจะถูกเลือก 20 คนไปเป็นทูตแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยในต่างประเทศ ตั้งแต่ ฝรั่งเศส อิตาลี อังกฤษ เยอรมนี เป็นการต่อยอดเด็กให้มีความใฝ่ฝันเป็นนักกีฬาอาชีพ สำหรับโครงการที่ทำ มีการฝึกอบรมกีฬา 4 ประเภท ไม่ใช่ฟุตบอลอย่างเดียว ยังมีขี่ม้า ตีกอล์ฟ และมวยไทย ฟุตบอลนั้นเรามีวิทยากรมาช่วย เช่น ตุ๊ก-ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เฉลิมวุฒิ สง่าพล ซิโก้-เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ลีซอ-ธีรเทพ วิโนทัย รวมถึง อาจารย์หรั่ง-ชาญวิทย์ ผลชีวิน มวยไทย มีทั้ง เขาทราย แกแล็กซี่ สมจิตร จงจอหอ สมรักษ์ คำสิงห์ มนัส บุญจำนงค์ ส่วนกอล์ฟนั้นได้ ธงชัย ใจดี ที่เป็นทหารเก่ามาช่วยติว ขี่ม้าก็มีนักกีฬาทีมชาติมาสอนเช่นกัน

“มันเป็นการบ่มเด็กให้รักสามัคคี พวกที่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เมื่อโตขึ้นก็จะมีเพื่อนภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง ไม่ต้องหมกมุ่นตกเป็นแนวร่วม หลังผ่านโครงการก็จะมีนายก อบต. อบจ. ตำรวจทหารในพื้นที่กลับไปช่วยดูพฤติกรรมเด็กว่าเป็นอย่างไร ไปเรียนปอเนาะที่ไหน ผู้ปกครองมีความคิดเห็นอะไรบ้าง เพื่อนำมาประเมินผลเก็บข้อมูล และนัดกันว่าอีก 5 ปี หลังจากเด็กจบ ม.6 แล้วมาเจอกันใหม่ น่าจะดีสำหรับอนาคตของเด็กและเยาวชน”

“สมัยเด็ก ผมบ้า ๆ บอ ๆ ไปเรื่อยตามประสาวัยรุ่น เวลานี้ก็พยายามทำอะไรคืนสังคม ตัวผม เมื่อก่อนเกเร เล่นกีฬา เที่ยวเตร่ ส่วนนี้สามารถนำมาตักเตือนน้อง ๆ เยาวชนให้เป็นตัวอย่าง เด็ก ๆ ทุกคนเขาอยากได้ฮีโร่ของพวกเขา ทุกคนจะนำไปคิดเอง พวกนี้จะมีแรงบันดาลใจ เราสามารถบอกเขาได้ โครงการผมเลือกเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ส่วนมากเรียน ป.4 – ป.6 เพราะเด็กอายุ 14-15 ปี พวกนี้บางคนสูบบูหรี่ เข้าไปแนวร่วมแล้ว ดัดนิสัยเขายาก”

อดีตศูนย์หน้าชื่อดังทีมชาติยอบรับว่า ห่างหายจากงานบอดี้การ์ดมา 7-8 ปีแล้ว เพราะเริ่มมีบริษัทรักษาความปลอดภัยเกิดขึ้นมากมาย เมื่อก่อนอาจมีคนมองว่า ทำตัวเป็นนักเลงคุมสถานบันเทิง รับจ้างทวงหนี้ ยืนยันได้ว่า ทีมงานบริษัทไม่เคยทำพฤติกรรมแบบนั้น เรารับแขกวีไอพีคอยรักษาความปลอดภัยตามสถานที่ที่พวกเขาไปท่องเที่ยว ไม่ใช่รับงานอย่างว่า “ผมอาจเป็นคนโชคดี มีเพื่อนเยอะ เรียนมหาวชิราวุธ ไปโตสวนกุหลาบวิทยาลัย เรียนเตรียมทหาร นายร้อย จปร. จบแล้วยังไปเรียนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ภาคพิเศษ เพื่อเล่นฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เป็นสาเหตุที่ได้รู้จักพี่ ๆ น้อง ๆ ได้คอนเน็กชั่นเยอะมาก”

“เมื่อก่อนทำตัวเพลย์บอยมาเกือบ 20 ปี แต่ผมไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน เวลาไปเที่ยวตามสถานบันเทิง ผมดื่มน้ำเปล่า ไม่ก็โค้ก เที่ยวกันถึงเช้าแทบทุกวัน ดูสาวอย่างเดียว คนอื่นอาจจะคิดว่าผมขี้เหล้าเมายา แต่ไม่ใช่เลย เขามองภาพอย่างนั้น แต่ใครรู้จักผมส่วนตัวจะรู้ว่า ผมไม่ดื่ม จริง ๆ ครับ ผมได้เพื่อน ได้พวก รู้จักโจร รู้จักเฮีย รู้จักมาเฟีย ตั้งแต่เด็ก ๆ สมัยจบนักเรียนนายร้อยใหม่ ๆ คุยกันแบบพี่น้อง รู้จักเยอะมาก แต่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเขา ผมสามารถเอาตรงนี้ไปสอนน้อง ๆ ได้ว่า นี่คือตัวตนของเราที่แท้จริง”

เป้าหมายในอนาคต พ.อ.อดุลย์คิดว่า อีก 2 ปี คงติดยศพันเอกพิเศษ 3 ปีเป็นพลตรี แล้วแต่วาสนา ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา อยู่ที่สิ่งแวดล้อม และพรรคพวก ผู้ใหญ่สนับสนุน ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทิ้งไม่ได้ คืออุทิศชีวิตให้กับวงการกีฬา โดยเฉพาะฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นกองทัพบก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย และโรงเรียน “ทุกวันนี้ วิ่งเรื่องเอกสาร สปอนเซอร์ในโครงการก็แทบไม่มีเวลาแล้ว จะจับงานอะไรสักอย่างอยู่ที่ว่า เราถนัดหรือเปล่า เรื่องกีฬา เป็นเรื่องให้เด็กหันมาเล่นกีฬา มันก็โอเค ทำมา 5 ปีเริ่มเข้าล็อกแล้ว”

พันเอกทหารหนุ่มวาดฝันไว้ว่า สิ่งที่คิดจะทำภาย 2-3 ปีนี้ คือเปิดมูลนิธิเด็กไทยพัฒนา ในกรุงเทพฯ เพื่อรับรองเยาวชนในโครงการแต่ละปี ไม่ต้องไปนอนในค่ายทหาร ทำเป็นมูลนิธิการกุศล ขอบริจาคเงินจากผู้มีจิตศรัทธา เพื่อสร้างสนามฟุตบอล อาคารที่พักเอง ไม่ต้องใหญ่มาก ไว้รับเยาวชนช่วงปิดเทอม เอามูลนิธิเด็กไทยไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมในยุโรป และเอเชีย

“อนาคตผมอาจจะเบื่อทหารไปทำมูลนิธิเต็มตัวก็ได้ ที่ผ่านมาโครงการที่เกิดขึ้น อยากให้รัฐบาล กรุงเทพมหานคร มาช่วยสนับสนุน  ผมไม่อยากให้เป็นโครงการของผม อยากให้เป็นของทุกคน ของรัฐบาล อบต. ให้รู้รักสามัคคี ไม่ใช่ของอดุลย์ มะลิพันธุ์ ส่งเสริมเยาวชนไม่ให้เข้าไปเป็นแนวร่วม คิดดูล่ะกัน ปีแรกมีภาคใต้ 100 คนเข้าโครงการ ปีต่อมามี 200 คน ปีนี้สมัครมากว่า 1,000 คน บางคนแทบร้องไห้ เพราะคัดแล้วไม่ได้ มาบอกว่าทำไม่ไม่รับเพิ่ม ผมก็อยาก แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ผมเป็นคนออก มันก็ไม่ไหว ตรงนี้ผมถึงอยากให้รัฐบาลผลักดันเป็นโครงการของรัฐจะดีมาก ส่วนผมแค่อยากทำอะไรคืนสังคมก็เท่านั้น” พ.อ.อดุลย์ฝากความหวังทิ้งท้าย

 

 

RELATED ARTICLES