“แค่อยากให้ทุกคนมาร่วมเขียนให้กำลังใจกับตำรวจตระเวนชายแดน”

ด็กสาวใสหัวใจจิตอาสาเปิดตัวในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์กแชร์คลิปวิดีโอเรียกร้องสังคมหันมาร่วมส่งกำลังใจให้ตำรวจตระเวนชายแดนบนสมรภูมิรบ 3 จังหวัดภาคใต้

ทำให้ “น้องควีน”วีราวรุณ มาวิจักร นักเรียนวัย 17 ปี อยู่เกรด 11 โรงเรียนนานาชาติร่วมฤดีวิเทศศึกษา กลายเป็นตัวอย่างเยาวชนที่ปันความสุขส่วนตัวแปลงมาเป็นพลังสู่นักรบสีกากีที่น่ายกย่อง

เธอเป็นทายาท นพ.วิรุณ มาวิจักร แพทย์คนดังโรงพยาบาลพระราม 9 กับวีรนุช มาวิจักร อดีตพยาบาลทหารบก มีพี่ชายชื่อ คิง-วรวรุณ มาวิจักร และเป็นหลานตา พ.อ.(พิเศษ)วีระยุทธ นุชพุ่ม หลานลุง พ.ต.อ.อัศวยุทธ นุชนุ่ม ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง

น้องควีนเป็นนักกีฬา และนักกิจกรรมตัวยงของโรงเรียน ตอนเด็กว่ายน้ำ เล่นเทนนิส ก่อนเปลี่ยนมาเล่นกีฬาประเภททีม อาทิ บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ซอฟต์บอล เป็นเชียร์ลีดเดอร์ และรองประธานชมรมโรตารี่ของสถาบัน

“โรงเรียนหนูเป็นคาทอลิก ปลูกฝังสอนในการทำความดี ช่วยเหลือผู้อื่น ให้รู้จักแบ่งปัน เพราะเรามีโอกาสมากกว่าคนอื่น ตอนเด็กถึงเข้าชมรมทำกิจกรรมจิตอาสาช่วยงานการกุศล เช่น หาเงินเลี้ยงเด็กกำพร้า ไปเลี้ยงเด็กพิการทางสายตา หาเงินบริจาคตอนช่วงน้ำท่วม ช่วยโรงเรียนขายของ ทำให้รู้สึกชอบ ดีที่ได้ทำบุญ ได้ช่วยคน หนูเป็นคนสงสารคนอื่นอยู่แล้ว มันไม่เสียหายอะไรที่จะช่วยเหลือเขา ประกอบกับเป็นคนไม่ชอบเรียนอย่างเดียว อยู่นิ่งไม่ได้ ต้องหาอะไรทำถึงเลือกทางนี้”เด็กสาวว่า

เธอบอกเหมือนตอนเล่นกีฬาเป็นการคลายเครียดจากตอนอ่านหนังสือหนัก ทำให้ต้องออกกำลังกายปลดปล่อย การออกกำลังกายจะรู้สึกมีความสุข ทำให้ร่างกายสดชื่น สมองปลอดโปร่ง ได้รู้จักเพื่อน เป็นเหตุผลสำคัญที่ตอนหลังหันมาเล่นกีฬาเป็นทีม อยากทำอะไรที่มันเรียกว่า ทีมเวิร์ก

นักเรียนจิตใจงามยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ไม่รู้จักตำรวจตระเวนชายแดน รู้แต่ตำรวจจราจร และรู้สึกเฉย ๆ จะมองไปที่ทหารมากกว่า เราเป็นคนอ่อนไหว ขี้สงสาร เวลาอ่านข่าวระเบิดก็จะกลัว ปีนี้เราเรียนวิชาเกี่ยวประวัติศาสตร์ด้วย เรียนเรื่องสงครามโลก เห็นภาพจากวิดีโอ มีคนตายเป็นทหารรู้สึกว่า การเป็นทหารที่เสียสละอยู่ในสมรภูมิรบลำบาก

“หนูต้องเรียนรู้ถึงไดอารี่ของทหารในสนามรบที่เขาบันทึกไว้ ทหารหลายคนจะบรรยายถึงความทรมานกลางสมรภูมิ และคิดถึงบ้านมาก ทำให้หนูสัมผัสได้ รู้ถึงความโหดร้ายในสงคราม ประกอบกับแม่ เป็นครอบครัวทหารอยู่แล้ว เวลามีงานเลี้ยงครอบครัวก็จะเห็นรถถัง เห็นภาพของเครื่องแบบทหาร ได้มีโอกาสคุยกับญาติ ๆ ตาก็เล่าให้ฟังว่า ฝึกหนักมากกว่าจะได้เข้าเป็นนักเรียนนายร้อย เราก็รู้ว่า ทหารเสียสละแค่ไหน ต้องมีเลือดนักสู้จริง ๆ และเข้มแข็งมาก เหมือนเวลาหนูท้อ คุณแม่ก็จะสอนเสมอว่า หนูเป็นลูกใคร ลูกแม่โจ้ แล้วแม่โจ้เป็นใคร แม่โจ้เป็นทหาร ลูกทหารต้องเป็นอย่างไร ก็คือต้องอดทน ต้องเข้มแข็ง เลยฝังมาตลอด ไม่รู้จักตำรวจเท่าไหร่ มีแค่ลุงที่เป็นตำรวจ”

ทายาทหมอโรงพยาบาลพระราม 9 บอกถึงจุดเริ่มต้นของการได้สัมผัสชีวิตตำรวจตระเวนชายแดนว่า วันหนึ่งอ่านข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ เกี่ยวกับสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีเหตุการณ์ลอบวางระเบิด ตำรวจตระเวนชายแดนต้องสูญเสีย รวมทั้งข่าวแนวรบที่ชายแดนเขาพระวิหาร ประเทศกัมพูชา อ่านบ่อยๆ แล้วเริ่มรู้จักว่า มีตำรวจหน่วยนี้ที่ทำงานไม่ต่างจากทหาร ความสงสารมีอยู่แล้วเลยถามแม่ว่า อยากช่วย ลุงก็ติดต่อตำรวจตระเวนชายแดนที่ยะลาให้จนสามารถหาข้อมูลมาได้

ระหว่างนั้น น้องควีนไปหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตอ่านประวัติของตระเวนชายแดนไปเจอวิดีโอคลิปประกอบเพลงตำรวจตระเวนชายแดนของณัฐวุฒิ จันทา ในเว็บบอร์ด มีภาพถ่ายจากสถานที่จริง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จุดประกายที่ทำให้เธออยากช่วยเหลือตำรวจหน่วยนี้ด้วยการมุ่งมั่นตัดต่อทำคลิปวิดีโอโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวใช้ชื่อว่า The Life of Thai Border Patrol Polices: What You Might Not Know เป็นคลิปวิดีโอที่เปรียบเทียบการใช้ชีวิตอย่างสุขสบายของคนเมืองกรุงกับความเป็นอยู่ที่ยากลำบากเพื่อปกป้องประเทศชาติของตำรวจตระเวนชายแดน

ด้วยความที่มีตำแหน่งเป็นรองประธานชมรมโรตารี่ของโรงเรียน ซึ่งเป็นชมรมที่ช่วยเหลือสังคมอยู่แล้ว น้องควีนเห็นว่า อยากเอาโครงการนี้มาให้ชมรมทำ ชวนเพื่อนมาช่วยกัน ทำคลิปเสนอชมรม ทำเป็นภาษาอังกฤษกะจะเผยแพร่วีรกรรมตำรวจชายแดนไทยไปทั่วโลก ปรากฏว่า ชมรมไม่เอา พอแชร์ในเฟซบุ๊ก เพื่อนกดไลก์ก็น้อย เธอมองว่า หลายคนเป็นลูกครึ่ง ไม่ก็ต่างชาติ ยังไม่เข้าใจว่า เราจะสื่ออะไร เพื่ออะไร ตำรวจตระเวนชายแดน คือ ใคร

“ตอนนั้น ท้อมาก ร้องไห้เลย เพื่อนในชมรมไม่ดูคลิปเลยด้วยซ้ำ จากเดิมที่ทุกคนโอเคหมด พอครูบางคนมาพูดว่า อย่าทำเลยมันเป็นการเมืองก็เลยตามครูหมด คนไปมองว่า อะไรที่เกี่ยวกับตำรวจเป็นการเมือง มองว่า ตรงนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลไม่ใช่หรือ ทำไมเราต้องมาสนับสนุน ทั้งที่จริงไม่เกี่ยวกัน ตอนหลังครูใหญ่ประกาศให้ทั้งโรงเรียน หนูตัดสินใจขอครูใหญ่กระจายด้วยตัวเองอีกรอบ ถ้าล้มเหลวก็ไม่เป็นไร แค่ไหนแค่นั้น ขอครูใหญ่พูดหน้าโรงเรียน ทำป้ายไวนิลเชิญชวนเพื่อนนักเรียนมาเขียนให้กำลังใจตำรวจตระเวนชายแดน และทำกล่องบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือตำรวจเหล่านี้ แต่จริง ๆ แล้วไม่ได้มีเจตนามุ่งหาเงินอย่างเดียว แค่อยากให้ทุกคนมาร่วมเขียนให้กำลังใจกับตำรวจตระเวนชายแดน” วีราวรุณบอกถึงอุปสรรค

สาวน้อยเล่าว่า พูดหน้าชั้นครั้งสุดท้าย เสียวอยู่เหมือนกัน กลัวไม่มีใครมา กลัวไม่มีใครเซ็น แต่ก็สู้ต่อ ทำให้ดีที่สุด แม้จะไม่มีใคร ก็ตั้งใจแล้วว่าจะทำ เรารู้ว่า เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง แต่ก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะปกติเด็กในโรงเรียนจะรู้ในส่วนที่ว่า เราต้องบริจาคให้เด็กกำพร้า เด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา เด็กพิการ ไม่มีใครคิดจะมาบริจาคเงินให้ตำรวจ เพราะมองว่า มีงบประมาณของรัฐบาลสนับสนุนอยู่แล้ว “ หนูถึงรู้สึกว่า มันมีสิทธิ์เยอะมากที่จะล้มเหลวในโรงเรียน เด็กโรงเรียนนานาชาติส่วนใหญ่ก็ไม่มีใครเป็นลูกตำรวจ ลูกทหาร ไม่มีความผูกพัน ไม่เหมือนโรงเรียนไทยทั่วไปที่จะรู้เรื่องเหล่านี้เป็นอย่างดี หนูก็เลยทำใจ ถ้าไม่มีใครมาก็ไม่เป็นไร ทำให้ดีที่สุด ถือว่า ได้ทำแล้ว”

ในที่สุดผลสะท้อนกลับออกมาดี หลังจากเธอพยายามธิบายว่า ตำรวจตำรวจตระเวนชายแดน คือใคร ทำไมเราถึงทำ ที่ให้เซ็นชื่อเขียนให้กำลังใจ เพราะอะไร เธอชี้ให้เพื่อนเห็นว่า ตำรวจตระเวนชายแดนเสียสละเพื่อประเทศ คนแนวหลังควรจะตระหนักมาให้ความสนใจ ให้กำลังใจบ้าง สุดท้ายตำรวจตระเวนชายแดน คือ พวกที่ออกมาปกป้องประเทศก็คือ การปกป้องเราไปด้วย เราน่าจะตอบแทนเขากลับบ้าง แม้จะบริจาค หรือไม่บริจาคเงินก็ไม่เป็นไร ขอแค่เขียนให้กำลังใจก็พอแล้ว ให้ตำรวจรู้ว่า มีคนกลุ่มนี้คอยเป็นกำลังใจให้

วันแรกควีนได้เงินบริจาคหย่อนกล่อง 5 พันกว่าบาท ตอนหลังมีคนแชร์ ถามว่าจะบริจาคได้ที่ไหน โลกในโซเชียลเริ่มรับรู้ ทำให้เกิด “โครงการร่วมฤดี เพื่อ ตชด.” เปิดรับเงินบริจาคผ่านบัญชีธนาคารกรุงเทพ สาขาอินทรารักษ์ ชื่อบัญชี นายยุทธนา ศรีประภา และนายเจตนา กิจเจริญ (ร.ร.ร่วมฤดี ฯลฯ เพื่อ ตชด. ภาคใต้) เลขที่บัญชี 212-4-08911-7 ก่อนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านเฟชบุ๊ก “โครงการร่วมฤดี เพื่อ ตชด.” ลงรายละเอียดข้อมูลของโครงการ พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าต่าง ๆ เช่น รายชื่อผู้บริจาค ยอดเงินที่มีการบริจาค แสดงความโปร่งใส

เรียกยอดเงินบริจาครวมแล้วได้ถึง 1 ล้านกว่าบาท

เด็กผู้จุดประกายฝันให้ตำรวจตระเวนชายแดนบอกว่า ตอนนั้นยังไม่ได้คิดจัดโครงการรับบริจาคเป็นเรื่องเป็นราว พอมีกระแสตอบรับก็เลยปรึกษาพ่อแม่ และครูใหญ่ ใช้บริจาคผ่านโรงเรียน เพราะการที่เราเป็นเด็กเหมือนไม่น่าเชื่อถือ ทั้งหมดก็โอเค ทำให้เราภูมิใจสำหรับทุกคนมาช่วยให้กำลังใจ ดีใจที่มีคนรู้ว่า อยากจะช่วย ทั้งที่ก่อนหน้าไม่ได้กะว่าจะใหญ่ขนาดนี้ ไม่ได้คาดหวัง อยากทำแค่เล็ก ๆ ในโรงเรียน ช่วยตามกำลังของเราจากแรกที่คิดว่าล้มเหลวกลายเป็นประสบความสำเร็จเกินคาด ใหญ่จนเราไม่สามารถบริหารจัดการได้ถึงให้โรงเรียนช่วย ให้แม่สร้างเพจในเฟชบุ๊ก ครอบครัวมาช่วยเป็นแอดมินคอยดูแล

หลังเปิดหน้าเพจปรากฏว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่เข้ามาถูกใจในเฟจเป็นตำรวจตระเวนชายแดน เข้ามาแสดงความคิดเห็นขอบคุณเธอที่เป็นกำลังใจ ขอบคุณที่ทำให้ตำรวจตระเวนชายแดนมีคนรู้จักมากขึ้น กระทั่ง พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพล.ต.ท.สุรพงษ์ เขมะสิงคิ ผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เชิญไปพบที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความขอบคุณ และร่วมบริจาคเงินสมทบทุนโครงการอีก 10,000 บาท

นายพลผู้นำหน่วยตำรวจตระเวนชายแดนกล่าวกับเธอว่า มีความรู้สึกยินดีมากที่น้องควีนเป็นเยาวชนรุ่นใหม่อยู่ในสังคมที่มีแต่ความเจริญ แต่ยังคิดถึงตำรวจตระเวนชายแดน ที่ปกติทำงานอยู่ในป่าเขาถิ่นทุรกันดารตามแนวชายแดน น้อยคนมากจะรู้ถึงภารกิจ และความยากลำบากของตำรวจตระเวนชายแดนที่ใช้ชีวิตนอนกับดินกินกับทรายอยู่กลางป่า อันนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้ตำรวจตระเวนชายแดนทุ่มเทการทำงานเพื่อความมั่นคงของชาติ

หัวหน้านักรบป่ายังยกย่องน้องควีน-วีราวรุณ มาวิจักร  เป็นทูตที่จะเผยแพร่ชื่อเสียงเกียรติภูมิให้แก่ตำรวจตระเวนชายแดน พร้อมจะเชิญเธอไปเยี่ยมตำรวจตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และตามโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ

“หนูภูมิใจในสิ่งที่ทำ”เจ้าตัวว่า

ทูตน้อยของตำรวจชายแดนมองไว้ด้วยว่า เงินบริจาคทั้งหมดจะนำไปซื้ออุปกรณ์ 3 สิ่งที่ตำรวจตระเวนชายแดนร้องขอมาเป็นรองเท้าคอมแบต รองเท้าผ้าใบ และถุงเท้า เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นในสนามรบที่กำลังขาดแคลน โดยเฉพาะตำรวจชั้นผู้น้อยที่ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยอยู่ในพื้นที่ที่เธอต้องการนำไปแจกจ่ายให้ได้ทั่วถึง

“หนูเป็นคนขี้สงสารชีวิตที่ไม่มีโอกาส หนูรู้ว่า โรงเรียนนี้เด็กมีโอกาสเยอะ ครอบครัวมีฐานะ ขณะที่สังคมภายนอกมีคนที่ลำบากกว่าเราเยอะ เหมือนเวลาหนูท้อ แม่ก็จะบอกว่า มีเด็กที่ลำบากมากกว่าเรา เราจะท้อทำไม เพราะเรามีบ้าน มีพ่อ มีแม่ ลองนึกถึงเด็กกำพร้าที่ไม่มีพ่อแม่บ้างไหมเขาจะรู้สึกอย่างไร หนูก็เลยรู้วา หนูโชคดีกว่าคนอื่นเลยอยากทำประโยชน์ให้สังคมบ้าง เพราะเรารู้ว่า เรามีต้นทุนเหนือกว่าบางคน น่าจะแบ่งปันให้คนไม่มีโอกาสบ้าง เป็นอีกอย่างที่เรารู้สึกและเข้าใจถึงคนที่ลำบากมากกว่าเรา แย่กว่าเรา ท้อกว่าเรา และต้องเข้มแข็งมากกว่าเราด้วย เหมือนตำรวจตระเวนชายแดนต้องเสียสละห่างจากครอบครัวลูกเมียเพื่อไปทำหน้าที่ ไม่รู้ว่าจะกลับมารอดหรือไม่ ทำให้หนูรู้สึกได้”

สำหรับอนาคตของน้องควีน หลังเรียนจบอยากเป็นหมอเหมือนพ่อ วางแพลนไปศึกษาด้านการแพทย์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อถามว่า มีความคิดอยากเป็นตำรวจบ้างไหม นักเรียนสาวอมยิ้ม “ถ้าเป็นหมอตำรวจได้ก็ไม่เลว”

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES