ผบ.ตร.ปิดหลักสูตรนิติศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จัดให้มีพิธีปิดโครงการ Special LawLAB “การสืบสวนสอบสวนยุค 5G” โดยมี ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมคณาจารย์จากคณธนิติศาสตร์ จุฬามหาวิทยาลัย พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล พร้อมคณะตำรวจที่เป็นครูพี่เลี้ยงเข้าร่วมพิธี

โครงการนี้ คัดเลือกนิสิตชั้นปีที่ 2 – 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้าฝึกอบรมภาควิชาการ และภาคปฏิบัติ กับตำรวจใน 6 หน่วยงาน ประกอบด้วย กองบังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบา สถานีตำรวจนครบาลพญาไท สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง สถานีตำรวจนครบาลบางเขน สถานีตำรวจนครบาลบางนา และสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง มี พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.นพศิลป์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลเป็นผู้กำกับดูแลการฝึกอบรมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ก่อนพิธีปิด และมอบประกาศเกียรติบัตรให้นิสิตฯที่ผ่านการอบรม น้อง ๆ นิสิตที่เข้าร่วมโครงการฯ นำเสนอผลการฝึกงานในแต่ละหน้างานที่ตนได้เข้ารับการฝึกอบรม พร้อมเปิดเผยความรู้สึกในการอบรมครั้งนี้ต่างบอกว่าดีใจ และสนุกกับการเข้าร่วมฝึกเรียนรู้การทำงานของตำรวจ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ที่ไม่มีอยู่ในตำรา ทำให้รู้ว่าบางครั้งทฤษฎีที่เรียนมา ไม่สามารถนำมาใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ จะต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า นอกจากนี้ทำให้เห็นกระบวนการทางยุติธรรมตั้งแต่ต้นทางว่ากว่าจะได้ข้อมูล พยานหลักฐาน นำไปสู่การจับกุมคนร้ายนั้นต้องใช้ความรู้ ความสามารถ ความอดทนในทุกขั้นตอน ซึ่งหลายๆอย่างตำรวจจำเป็นต้องปกปิดข้อมูล ไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ เนื่องจากอาจจะกระทบต่อรูปคดี จนอาจจะทำให้กลายเป็นประโยชน์กับทางผู้ต้องหา

ขณะที่ นิสิตที่ได้ฝึกงานสอบสวนกับพนักงานสอบสวนตามโรงพักเผยความรู้สึกว่า การฝึกอบรมในโครงการนี้ทำให้เห็นว่าพนักงานสอบสวนที่ประจำตามโรงพักมีจำนวนไม่เพียงพอต่อภาระหน้างานที่มีจำนวนมาก และในเเต่ละวันพนักงานสอบสวนต้องแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า รวมทั้งต้องรับกับอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนที่เดินทางมาเเจ้งความร้องทุกข์ในแต่ละวันอีกด้วย “หากมีการจัดอบรมอีก อยากจะเข้าร่วมโครงการ เเละเชิญชวนให้น้อง ๆ เพื่อน ๆ เข้าร่วมโครงการด้วย เป็นการเปิดมุมมอง เเละจะทำให้เข้าใจเจ้าหน้าที่ตำรวจมากยิ่งขึ้น” หนึ่งในนิสิตที่ร่วมโครงการกล่าว

ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ระบุว่า รู้สึกถึงความตั้งใจของน้อง ๆ ที่มาร่วมโครงการ เพราะโครงการนี้เกิดขึ้นเพราะอยากฟังเรื่องการทำงานของตำรวจในมุมมองของประชาชน โดยเฉพาะน้อง ๆ รุ่นใหม่ ที่ต่อไปก็จะไปอยู่ในวงการกฎหมาย เบื้องต้นปัญหาส่วนใหญ่ที่ได้รับทราบจากนิสิตฯ มาเป็นเรื่องของกำลังพลในส่วนของพนักงานสอบสวนที่ไม่เพียงพอต่อคดีที่มีจำนวนมาก โดยยอมรับว่าตำรวจในฝ่ายปฏิบัติมีจำนวนไม่เพียงพอต่อภาระหน้างาน จึงมีโครงการจะปรับลดฝ่ายอำนวยการและเพิ่มจำนวนฝ่ายปฏิบัติให้มากขึ้น

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวด้วยว่า จะนำข้อเเนะนำจากมุมมองของน้อง ๆ นิสิตไปปรับเเก้ เพื่อเตรียมทำหลักสูตร เเละโครงการต่อไป ซึ่งหากมีโอกาสได้ต่อยอดโครงการนี้ ส่วนตัวอยากเชิญอินฟลูเอนเซอร์ สื่อมวลชน เเละแอดมินเพจต่างๆ ที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เข้าร่วมด้วย เพื่อจะได้เห็นวิธีการ เเละเข้าใจการทำงานของตำรวจ และเพราะอยากได้กระจกส่องให้พวกเราด้วยว่าการทำงานในทุกวันนี้ยังมีข้อบกพร่องหรือข้อควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไรบ้าง

ขณะที่ ผศ.ดร.ปารีณากล่าวขอบคุณทางตำรวจพี่เลี้ยงทุกคนที่ดูแลนิสิตฯ อย่างดีมาตลอด 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงแม้ว่าในคราวแรกทางผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และทางคณะครูจะมีความกังวลใจเมื่อเห็นว่านิสิตฯ ที่เข้าร่วมโครงการส่วนใหญ่เป็นนิสิตผู้หญิง แต่เมื่อได้พูดคุยกับนิสิตฯได้รับทราบมาว่าพี่เลี้ยงทุกคนดูแลอย่างดีพร้อมทั้งไปรับไปส่งจนถึงที่พักทุกคืนหลังจากเสร็จภารกิจ “ต้องขอบคุณ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่จัดโครงการนี้ขึ้น เปรียบเสมือนมิติใหม่ที่ ยินยอมเปิดประตูตัวเองออกมา เปิดรับประชาชน โดยเฉพาะ เป็นเด็ก เเละเยาวชน ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นการปรับตัว เปิดประตูให้ประชาชนได้เข้าไปเห็นว่าตำรวจทำงานอย่างไร ไม่ใช่เเค่การได้ยินได้ฟังว่าตำรวจที่มักพูดว่าภาระหน้างานจำนวนมาก เเต่ครั้งนี้จะทำให้ประชาชนได้เข้าไปรับรู้ และมีส่วนร่วม เห็นการทำงานของตำรวจอย่างแท้จริง ”คณบดี คณะนิติศาสตร์ จุฬากล่าวและว่า ในฐานะอาจารย์ ต้องกลับไปดูกระบวนการเรียนการสอนว่ามาถูกทางเเล้วหรือยัง รวมทั้งต้องมาคิดโจทย์เพิ่มเติมว่าจะทำอะไรกลับคืนให้สังคมได้บ้าง เป็นโจทย์ว่าจะขยายมุมมองที่เราได้ทำ เเละทำให้สังคมได้รู้ ได้เห็นเหมือนกันกับที่เราและนิสิตฯ ได้สัมผัสมา

RELATED ARTICLES