“ผมคิดว่า ถ้าจะเปลี่ยนตำรวจ ต้องเปลี่ยนที่นักเรียนนายร้อยตำรวจ”

 

ร่างแม่พิมพ์เตรียมนำเสนอหล่อเบ้าหลอมใหม่มาหลายรอบ

ด็อกเตอร์หวานพล...ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ต้องผิดหวังไปไม่ถึงฝั่งฝัน แม้จะเรียกคะแนนโชว์วิสัยทัศน์ติดอันดับต้น

ต้องรอเวลากว่าจะสุกงอมอีกหลายปีต่อมา

ในท้ายที่สุด เจ้าตัวได้รับคัดเลือกเป็น ครูใหญ่คนใหม่ นั่งเก้าอี้ตำแหน่ง ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ สมกับความตั้งใจที่จะมาช่วยผลิตบุคลากรนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นใหม่ออกไปเผชิญโลกแห่งความจริงที่ท้าทาย

ท่ามกลางความการเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคปัจจุบัน

 

ลูกชายนายพลตำรวจมือปราบ นักฟุตบอลตัวกลั่นของสวนกุหลาบ

ชีวิตวันเด็ก เขาเกิดมาจากครอบครัวตำรวจ ลูกชาย พล.ต.ท.ธรรมนิตย์ ปิตะนีละบุตร อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ ทำหน้าที่หัวหน้าตำรวจภูธรภาค 4 มือสืบสวนสอบสวนแห่งตำนานกรมปทุมวัน เกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าโรงเรียนเซนต์หลุยส์ ตั้งแต่ชั้นประถมเป็นโรงเรียนประจำ เพราะพ่อย้ายบ่อย อยู่หอประจำนาน 2-3 เดือน นานทีพ่อถึงมารับกลับบ้าน แต่ไม่รู้สึกขาดอะไร สนุก มีกิจกรรมให้ทำเยอะมาก

พล.ต.ท.ธัชชัยเล่าว่า อยู่หอพักประจำ เล่นกีฬาเป็นส่วนใหญ่ ถูกแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชั้นประถมปที่ 1-5 คอยดูแลรุ่นน้อง เรียนอยู่ 6 ปีจบชั้นประถมพ่อให้ไปสอบโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไม่เคยถามพ่อเหมือนกันว่า ทำไมต้องเป็นสวนกุหลาบวิทยาลัย ตอนมาฟังผลสอบพ่อพานั่งรถจากชลบุรี เมื่อรู้ว่าติด เราไม่ได้ตื่นเต้นเท่าใดนัก เพราะไม่รู้จักโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไม่รู้จักกรุงเทพมหานคร เป็นต่างต่างจังหวัด

เข้าสู่รั้วชมพู-ฟ้า เขาต้องไปอาศัยอยู่กับลุงที่ปากน้ำ นั่งรถเมล์สาย 25 มาโรงเรียนใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง  มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลทีมโรงเรียน  รุ่นเดียวกับสาธิต จึงสำราญ นิวัฒน์ ศรพรหม ถนัดเล่นกองกลาง จนถึงชั้นมัธยมปีที่ 4 ยังหันมาเล่นดนตรีด้วย ทำให้ชีวิตตอนนั้นอยากเป็นนักดนตรี ยังไม่เคยอยากเป็นตำรวจอยู่ในความคิดแม้แต่นิดเดียว

 

สัมผัสชีวิตทำงานของพ่อ แต่ไม่ได้ห่อร่างซับซับความรู้สึก

เจ้าตัวขยายความว่า ทั้งที่พ่อเป็นตำรวจ แต่พ่อไม่ค่อยให้ไปยุ่งเกี่ยว พ่อเป็นลักษณะตำรวจมือปราบ คือ ทั้งชีวิตพ่ออยู่แต่ในข้างนอก ไม่ค่อยอยู่บ้าน ทำงานสืบสวนปราบปราม ย้ายไปอยู่หลายจังหวัด ได้เห็นชีวิตตำรวจ แล้วค่อยชอบ พ่อก็ไม่เคยสอน หรืออยากให้ลูกเป็นตำรวจ จำได้ว่า สมัยอยู่มัธยมปีที่ 2 พ่อเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเพชรบุรี เป็นช่วงมีคดีฆ่ากันเยอะ ผู้เต็มไปด้วยผู้มีอิทธิพล สมัยนั้นต้องเอารองผู้การเขตจากนครปฐมมาช่วย แต่พ่อปฏิเสธ ขอลุยคนเดียว

“วันแรกที่ผมไปนอน ได้ยินเสียงปืนเอ็ม 16 ยิงกันแล้ว พ่อเป็นคนไม่ค่อยกลัว ชอบ งานมวลชน คือไปหาชาวบ้าน ผมก็ตามพ่อไป ได้เห็นชีวิตตำรวจ ไม่ได้สนุกเลย ไม่ค่อยได้นอน ต้องตามคนร้าย สมัยผมยังเด็ก พ่อไปอยู่กบินทร์บุรี ปราจีนบุรี เกือบทุกคืนคนจะมาตามแล้วว่า ให้ช่วย บอกควายหาย พ่อออกไปพร้อมกำลัง หายไปบางทีทั้งคืน กลับมาบางทีเช้า ไปตามควาย เพราะควายมันต้องเดินข้ามถนน” พล.ต.ท.ธัชชัยเล่าความทรงจำวัยเด็ก

อีกช่วงตอนพ่อเป็นสารวัตรใหญ่โรงพักอรัญประเทศ สมัยนั้นขึ้นอยู่กับจังหวัดปราจีนบุรี เป็นช่วงเขมรแตกทะลักเข้ามาตามชายแดน มีการปะทะกัน พล.ต.ท.ธัชชัยว่า สถานการณ์ตึงเครียดที่หลายคนมองไทยไม่น่าจะรอดจากการรุกราน เราได้เห็นข่าว เห็นความยากลำบากของคนที่หนี คนที่อพยพจากเขมรเข้ามาเมืองไทย พ่อจะพานั่งรถไปดูด้วย  คือ พ่อจะเลี้ยงลูกแบบนั้น แต่เราไม่ได้มีความรู้สึกซึมซับ หรือว่าอยากเป็นตำรวจ  แปลกมากเลย ทั้งที่เห็นชีวิตตำรวจจากพ่อมาตลอด

 

อยากไว้ผมยาวเป็นนักดนตรี หนีไม่พ้นเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ

“พ่อจะไปทำงาน ใช้เวลาไปกับโรงพัก เป็นชีวิตที่ผมไม่เคยคิดที่จะมาเป็นตำรวจ กระทั่งพ่อมาบอกให้ไปสอบ อย่างที่บอกว่าใจจริงอยากเป็นนักดนตรี ได้ไว้ผมยาว เพราะตอนอยู่สวนกุหลาบต้องไว้ผมสั้น อยากไว้ยาวบ้าง แต่พ่อบอกให้ไปสอบตำรวจ ผมก็ไป จำได้เลยว่า พอสอบข้อเขียนผ่านแล้ว ต้องมาสอบพละ ต้องมาสอบวิ่ง คือ ผมเป็นนักกีฬาก็ไม่ยาก แต่มีช่วงประมาณกิโลเมตรหนึ่ง ไม่ได้สนใจ มีเวลาจับ ไม่ให้เกิน 4 นาที ผมชะล่าใจว่า เราเป็นนักกีฬาน่าจะผ่านสบาย ทำไปทำว่า ไม่ไหว เหนื่อย หมดแรง  พอผ่านโค้งสาม พ่อผมไปยืนอยู่ไกล ๆ พอเห็นพ่อเท่านั้นแหละ มีแรงเลย พ่อเห็นตะโกนเรียกธัชชัย ผมก็มีแรงจากไหนไม่รู้ อาจเพราะกลัวพ่อ ก็วิ่งเข้ามาทันพอดีคนสุดท้ายเลย”

ตอนประกาศผลที่โรงเรียนตำรวจนครบาล เขาบอกว่า ไม่ได้คิดจะไปฟัง ไม่ได้สนใจ จริงๆ  ลืมแล้ว ไม่รู้วันประกาศ นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ ไปอีกที 10 นาทีเที่ยง นึกว่า เราสละสิทธิแล้ว พอไปถึงก็มีชื่อ เรียบร้อย  และเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ชีวิตตำรวจจะเป็นยังไงช่วงนั้น คิดว่า ไปเรียนนายร้อยตำรวจแบบไปกลับ ไม่ต้องอยู่ประจำ มาเอ๊ะตอนไปจริง ๆ วันแรก ให้ถุงทะเลมาใส่เสื้อผ้า เข้าไปโรงเรียนเตรียมทหาร ยังไม่รู้เหมือนกันว่ าเตรียมทหาร จะต้องไปเป็นทหาร

เริ่มต้นชีวิตนักเรียนเตรียมทหาร พล.ต.ท.ธัชชัยเล่าอีกว่า พอไปถึงถูกปล่อยให้นั่งรอกลางเดือดครึ่งวัน ร้อนหัวมาก กว่าจะเริ่มเข้าระบบ  ขนาดเป็นนักกีฬาต้องวิ่งลงมาเข้าแถว วิ่งขึ้นลง  ก็ปวดขา แรกๆ ก็ถอดใจเหมือนกัน รู้สึกหนัก คิดจะลาออก พออยู่ไปสักพักก็ชิน จากนั้นขึ้นเหล่ามาเรียนที่สามพราน เป็นนักกีฬาฟุตบอลโรงเรียนนายร้อยตำรวจอีก ความที่เรียนได้ ไม่มีปัญหาอะไร

 

เริ่มต้นชีวิตโรงพักบ้านเกิด ก่อนบินเตลิดไปเรียนต่อต่างประเทศ

จบออกมาตัดสินใจลงเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา ละแวกบ้านเกิด เจ้าตัวยอมรับว่า รู้สึกคุ้นเคยพื้นที่ คุ้นเคยคน แต่ก็มีปัญหาไปจับคดีการพนันในโต๊ะสนุ้ก อีกฝ่ายสู้คดี เป็นกลุ่มคลายผู้มีอิทธิพล มีบทบาทในสังคม ก็แต่เราถือว่า ทำตามหน้าที่ ไม่ได้รู้จักส่วนตัว หลังจากนั้นไม่นานบินไปเรียนต่อปริญญาโทบริหารงานสาธารณะ มหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนต่อปริญญาเอก ความยุติธรรมทางอาญา มหาวิทยาลัยแซม​ ฮิวส์ตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา

นำเอาประสบการณ์มาใช้งานเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูลสำนักงานแผนงานและงบประมาณ ในตำแหน่งรองสารวัตรศูนย์ข้อมูลสารสนเทศ แล้วขยับเป็นรองสารวัตรกองแผนงาน 1 สำนักงานแผนงานและงบประมาณ  ขึ้นเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.ท.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่ใจกลับอยากเป็นอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

“ไม่รู้เหมือนกันว่า ทำไมชอบ เหมือนรู้สึกว่า มันตรงกับสิ่งที่ผมชอบ สิ่งที่เราเรียนมา เรามีองค์ความรู้ จะได้พัฒนาความรู้ ถ้าอยู่พื้นที่ตอนนั้นคงไม่ได้ใช้ สมัครใจมาเองนะ มาเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนนายร้อย เป็นอาจารย์ทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ ระหว่างที่เป็นอาจารย์ผมก็ไปช่วยงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติตลอด ช่วยงาน เขียนแผน เรื่องนโยบาย เพราะผมเคยอยู่ศูนย์ข้อมูล อยู่กองแผนงาน เขียนแผนเรื่องงานอาชญากรรม นโยบาย”

 

สวมบทครูอยู่ในรั้วสามพราน ขึ้นเป็นรองศาสตราจารย์สอนลูกศิษย์

บ่มเพาะเบ้าหลอมสอนนักเรียนนายร้อยตำรวจตั้งแต่ตำแหน่งอาจารย์ สบ 2 ถึงรองศาสตราจารย์ สบ5 ภาควิชาอาชญาวิทยาและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ พล.ต.ท.ธัชชัยว่า ทำโครงการไว้มากมายที่ปัจจุบันยังอยู่และไม่อยู่ก็เยอะ  ทำเรื่องของปริญญาโท ภาคภาษาอังกฤษร่วมกับมหาวิทยาลัยของต่างประเทศ  ปริญญาโทบางสาขาเป็นแห่งแรกที่มีอาจารย์จากสหรัฐอเมริกามาสอนแล้วได้ปริญญา รุ่นแรกจบไปพอรุ่น 2 ไม่มี เนื่องจากสถานการณ์บ้านเมืองไม่สงบ น่าเสียดายเพราะเป็นโครงการที่ดี ได้เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากต่างประเทศ

ที่ปัจจุบันยังมีอยู่ พล.ต.ท.ธัชชัยแจงว่า เป็นโครงการแลกเปลี่ยนนักเรียนนายร้อยตำรวจอาเซียน  เสนอไว้รุนแรกเอานักเรียนนายร้อยตำรวจเวียดนามมาเรียนรุ่นแรก ตามด้วยกัมพูขา และกำลังของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้เป็น 10 ประเทศทั้งอาเซียนในอนาคต เป็นเรื่องการสร้างความสัมพันธ์ แลได้รับคำชมเชยจากในอาเซียนว่า เป็นโครงการที่ดี

ขณะที่โครงการนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง เขาก็มีส่วนร่วมผลักดันตั้งแต่รุ่นแรก ดูแลตั้งแต่เริ่มต้น ไม่คิดว่าจะมาถึงรุ่นสุดท้ายในจังหวะมาเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจพอดี

 

ถือตำราวนเวียนนาน 15 ปี ได้เวลาที่ขึ้นนายพลตรวจคนเข้าเมือง

เดินถือตำราเป็นอาจารย์อยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปี 2556 นาน 15 ปีเต็ม มีอันต้องขยับไปขึ้นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 ถือเป็นความท้าทายในชีวิต พล.ต.ท.ธัชชัยระบายความรู้สึกว่า อยากจะได้ประสบการณ์ใหม่ ๆ ก็ลองไป มองดูแล้วดี เป็นงานตรวจคนเข้าเมืองที่สมัยนั้นปัญหาใหญ่ คือ เรื่องของการเคลื่อนย้ายคนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อจะไปประเทศที่สาม เราถูกมองมีปัญหาว่า ห้องขังไม่พอ รับคนได้ไม่กี่คน แต่ต้องมีการบริหารจัดการ อันนั้นถึงเป็นงานที่ท้าทาย

“ผมเริ่มทำเรื่องของการค้ามนุษย์ เกี่ยวข้องกับขบวนการ อยู่ตรวจคนเข้าเมือง 6 ได้ 2 ปี ทำคดีจนะไปเจอหลุมฝั่งศพเหยื่อค้ามนุษย์ตกเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก ทำจนคดีเสร็จสิ้น แล้วย้ายมาเป็นผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 2 ดูแลพื้นที่สนามบินนานาชาติ แต่ยังสนใจเรื่องค้ามนุษย์ เกี่ยวกับกระบวนการคัดกรอง เจอคนไทยหนีกลับมาเข้าสู่ระบบคัดกรองว่า เข้าข่ายค้ามนุษย์หรือไม่ นำไปสู่การสืบสวนขยายผลออกหมายจับผู้เกี่ยวข้อง” อดีตผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมืองว่า

“ผมไปร่วมกับตำรวจที่เข้าไปช่วยเหลือ ได้เห็นวิธีการค้ามนุษย์ คือ ตัวไม่ต้องล่ามโซ่ ไปไหนก็ได้ โทรศัพท์ได้ แต่ไปไหนไม่รอด ส่วนหนึ่ง คือสมัครใจ อีกส่วนหนึ่งไม่ได้สมัครใจ เข้าช่วยเหลือได้ เอาตัวมาสอบสวน ตอนหลังเป็นคดีที่น่าสนใจเพราะผมไม่คิดว่า คนไทยจะไปขายตัวเยอะขนาดนั้น  มีทั้งสมัครใจ และถูกหลอกไปด้วยปะปนกัน นี่คือวิธีการ เป็นวิธีการ เช่นเดียวกับโรฮิงญา ในเรือจะมีทั้งสมัครใจและถูกหลอก รวมทั้งถูกเอามาขัง เป็นวิธีการ ผมก็ได้มาเป็นลักษณะถูกบังคับ เป็นรูปแบบการค้ามนุษย์ “

 

ขยับลงเป็นผู้การนครนายก ยกทฤษฎีกวดขันวินัยจราจร

ต่อมาโยกเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก พล.ต.ท.ธัชชัยมองว่า แล้วแต่ผู้บังคับบัญชาพิจารณา นครนายกเป็นพื้นที่น่าอยู่ ไม่ไกลกรุงเทพฯ เดินทางสะดวก และทำให้ได้กลับไปโรงเรียนเตรียมทหาร ได้เห็นโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รู้สึกผูกพัน หลาย ๆ ได้ร่วมงานที่จัดขึ้นด้วย และได้ใกล้ชิดตามเสด็จพระราชดำเนินสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินสอนโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าด้วย รู้สึกภูมิใจ และเป็นเกียรติที่ได้เป็นผู้การนครนายก

“ ผมว่า ปัญหาที่นครนายก คือ เรื่องอุบัติเหตุจราจร ขับรถไปจากรังสิตครั้งแรก จำได้ว่า พอเข้าเขตองครักษ์ ช่วงถนนรังสิต-นครนายก รถสวนทาง ย้อนศร เป็นร้อยคัน  ผมสนใจมาก ๆ คือ รถบรรทุกวิ่งสวนเหมือนกัน  ตอนนั้นตกใจ มีความรู้สึกว่า วิ่งกันอิสระมาก แม้กระทั่งช่วงใกล้ๆ เข้าเขตจังหวัด เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ เข้าโค้ง เด็กก็ขี่สวนทางมา ผมต้องมากวดขันเรื่องนี้มากขึ้น ให้ผู้กำกับโรงพักองครักษ์ ช่วยไปตรวจสอบวันนั้นวันเดียว ได้รถมอเตอร์ไซค์มาร้อยกว่าคันที่ขับย้อนศร”

พล.ต.ท.ธัชชัยหันมาวางนโยบายเข้มงวดกวดขันวินัยจราจร รณรงค์จิตสำนึกให้หยุดทำร้ายผู้อื่น เช่น เวลาเมาแล้วขับ คุณกำลังทำร้ายผู้อื่น ทำร้ายครอบครัวผู้อื่น กำลงฆ่าลูกคนอื่น กำลังฆ่าพ่อแม่พวกเขา การรณณรงค์แบบนี้น่าจะถูกต้องมากกว่า  เพราะหลายๆ เคส คนที่บริสุทธิ์ จะต้องมาเสียชีวิต สูญเสียหัวหน้าครอบครัวไป พอรณณรงค์มากๆ จะเริ่มลงไปที่นักเรียนให้ความสำคัญ เด็กขี่มอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกกันน็อก และต้องมีใบขับขี่ เราจะต้องให้ความสำคัญกับเด็ก เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เพราะเด็ก ไม่มีความรู้เรื่องกฎหมายจราจร ไม่มีความรู้เรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัย  ยังไม่เข้าใจเรื่องมิติทางสังคม ความคึกคะนองของเด็ก หรือความไม่เข้าใจอาจจะทำให้คนอื่นเดือดร้อน ตัวเด็กอาจจะตาย หรือบาดเจ็บ แต่คนอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยต้องเดือดร้อน ต้องมารับผิดชอบในสิ่งที่หรือ ต้องคิดแบบกลับหัวว่า เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อสังคม ให้คิดว่าต้องรับผิดชอบสังคมมากกว่าตัวเอง

 

เข้าแสดงวิสัยทัศน์พลาดชิงครูใหญ่ กว่าจะได้นั่งเก้าอี้บริหารเต็มตัว

หลังจากนั้นขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 ปีแรกไปแสดงวิสัยทัศน์เสนอชิงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจทันที “ผมคิดว่า ถ้าจะเปลี่ยนตำรวจ ต้องเปลี่ยนที่นักเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องเริ่มต้นจากตรงนี้ ถ้าเราจะปฏิรูปตำรวจ ต้องมาเริ่มต้นจากต้นน้ำก่อน เริ่มจากการเรียนการสอน เรื่องหลักสูตร ผมเห็นศักยภาพของโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามารถพัฒนาต่อยอดไประดับอาเซียนได้  สามารถที่จะพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ ไปช่วยเหลือประชาชนได้” พล.ต.ท.ธัชชัยบอกมุมคิด

เขาตัดสินใจเสนอตัวครั้งแรกไม่ผ่าน แต่ไม่เคยถอดใจ ปีถัดมายังเข้าแข่งขันอีก ผลก็เหมือนกัน ไม่ใช่แค่เรื่องคะแนน ยังมีเรื่องความเหมาะสมเข้ามาด้วย ต้องรอชิงเก้าอี้เข้าสู่ครั้งที่ 4 ถึงได้รับความไว้วางใจให้มาเป็นครูใหญ่สามพราน  “ผมรู้สึกว่า ผมมาตรงเวลามาก เพราะว่าปัจจุบันเราต้องปรับเรื่องการพัฒนาโรงเรียน  5 ปี จากนี้ไป ต้องเดินอย่างไร โรงเรียนนายร้อยตำรวจมีการปรับปรุงหลักสูตรเริ่มต้นปีนี้ เป็นหลักสูตรใหม่”กำลังทำกันอยู่”

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีแนวทางชัดเจนว่า สมัยตัวเองเป็นอาจารย์อาจไม่มีอำนาจมากพอไปเสนอผู้บังคับบัญชา เราเห็นเรื่องความแตกต่างในเรื่องความคิด ยกตัวอย่าง  การเอานักเรียนนายร้อยตำรวจต่างประเทศ อาทิ เวียดนาม เมียนมา มาเรียน  คิดว่าคนทั่วไปจะสนับสนุน แต่มีคนบางส่วนที่คิดว่า ไม่ควร เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคง แต่เราไม่เคยคิดเลย กลายความเชื่อที่อนุรักษ์นิยม เป็นการขัดแย้งกันทางความคิด แม้กระทั่งการเขียนกฎหมายโรงเรียนนายร้อยตำรวจที่ให้มีสภาการศึกษาเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย แต่เขียนให้มีนายกสภาการศึกษาที่มาจากการสรรหา  มีกรรมการสภาหลากหลายน่าจะดีกว่า

 

ดิ้นต่อรองเพิ่มหลักสูตรปริญญา ฝ่าฟันกันมาจนประสบความสำเร็จ

“ผมว่าหัวใจสำคัญ คือ การหารายได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องพึ่งพากระทรวง เนื่องจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจจเป็นลักษณะพิเศษ ไม่ใช่นิติบุคคล สมัยนั้นเราต่อสู้กัน แม้กระทั่งเรื่องของการเปิดหลักสูตรปริญญาโท และปริญญาเอก  คณะกรรมการบางท่านก็ไม่เห็นด้วย คิดว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจควรมีแค่ระดับชั้นปริญญาตรี แต่ผมมองว่า เหมือนสถาบันการศึกษา ถ้ามีแค่ปริญญาตรี จะไม่มีการพัฒนาองค์ความรู้ ต้องมีการเปิดปริญญาโท มาตรานี้เป็นมาตราที่แปลกมาก ผมคิดว่า เรื่องเงินรายได้เป็นมาตราสุดท้ายที่จะไม่ผ่าน แต่นี้เป็นเรื่องที่แขวนไว้ช่วง 1 เดือนครึ่ง

ท้ายที่สุดก็พบกันครึ่งทาง พล.ต.ท.ธัชชัยระบุว่า คณะกรรมการยอมให้เปิดได้ แต่หมายเหตุไว้ว่า เฉพาะด้าน ถือเป็นวัตถุประสงค์ของเราอยู่แล้ว  ทำให้พระราชบัญญัติโรงเรียนนายร้อยตำรวจผ่านมาได้ โรงเรียนนายร้อยตำรวจถึงเปิดหลักสูตรปริญญาโทนิติวิทยาศาสตร์ มีคนแห่มาเรียนแน่น  รวมถึงปริญญาโทด้านความปลอดภัย ด้านอาชญาวิทยา ปัจจุบันกำลังเปิดระดับปริญญาเอก คือ องค์ประกอบสำคัญของสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องมี ความรู้เหล่านี้จะถูกถ่ายทอด วิทยานิพนธ์หลายๆ เรื่องถูกนำไปใช้ประโยชน์ได้ในการก้าวเดินด้านวิชาการ

เนื่องจากเป็นความถนัดเฉพาะทาง ครูใหญ่สามพรานอธิบายเพิ่มเติมว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเน้นในให้นโยบาย ส่วนสภาการศึกษาเน้นในเรื่องการบริหาร ให้เกิดความสมดุล ตลอดระยะเวลาที่เป็นอาจารย์มา 12 ปี ช่วงตั้งแต่ปี 2551 คิดว่า เรามาถูกทาง เพราะว่า โรงเรียนเติบโตไปในทิศทางที่ดี ไม่ได้ไปเหมือนตอนที่เราไม่มีกฎหมาย ทำให้เดินไม่ได้  ก่อนหน้ากฎหมายบังคับให้มีแค่หลักสูตรเดียว คือ ปริญญาตรี ต่อไปนักเรียนนายร้อยตำรวจจะมี 2 ปริญญา คือ รัฐประศาสนศาสตร์ และปริญญาตรีนิติศาสตร์ อนาคตอาจจะมีด้านนิติวิทยาศาสตร์ เป็นการเติบโตตามธรรมชาติ ผลิตคนออกมาหลายด้าน

 

อนาคตสู่การเปลี่ยนแปลง นักเรียนนายร้อยต้องแสดงศักยภาพ

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจยังมองไปถึงอนาคตเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะต้องให้สอดคล้องการเรียนการสอนของนักเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดต้นน้ำ ให้ไปสู่โลกดิจิทัล  คำว่า เข้าไปให้ได้ คือ ต้องเข้าใจ สมัยก่อนเราอาจจะเป็นออฟเซิร์ฟเวอร์ เป็นผู้สังเกตการณ์ เวลามีคดีอะไร เราก็เอาคดีเข้ามา แล้วเราก็เรียนรู้ วัฒนธรรม เครื่องมือการทำงาน ปัจจุบันไม่ได้แล้ว เพราะว่าโลกออนไลน์ ทุกวันนี้เร็วมาก เวลาไม่มีเหมือนแต่ก่อน แค่การตามอายัดเงินคอลเซ็นเตอร์ก็กระทบในวงกว้าง เราต้องมองในเรื่องเพลย์เยอร์ คือ อะไร ตำรวจต้องเข้ามามีบทบาท เข้ามาอยู่ในสังคมนั้นเลย เราถึงจะตามทัน

“ยกตัวอย่าง ตำรวจจะเข้าไปทำคดีคริปโตเคอร์เรนซีให้ได้ ตำรวจต้องเล่นคริปโตเคอร์เรนซีเป็นก่อน ไม่ใช่ว่า ไปทำคดีแล้วค่อยไปเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญในนั้น ค่อยทำคดี ไม่ได้ ตำรวจต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้น ต่อไปเมตาเวิร์สกำลังจะเกิด กำลังจะพัฒนา เด็กของเราต้องเข้าไปอยู่ตรงนั้น ต้องทำเป็น ต่อไปอาจจะเป็นโปลิศสเตชั่นเมตาเวิร์ส อาจจะมีโลกอีกโลกหนึ่งที่เราสร้างขึ้นมาเองก็ได้ อาจจะตั้งโปลิศสเตชั่นเวอร์เชียล เข้าไปในโลกเมตาเวิร์สที่สร้างขึ้นมา สิ่งพวกนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องให้เข้าไปอยู่ตรงนี้”

“ นักเรียนนายร้อยตำรวจ ต่อไปอาจจะต้องเขียนโปรแกรมได้ในระดับหนึ่ง ต้องเข้าใจแล้วสามารถเข้าไปอยู่ในโลกนั้นได้ นี่คือสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นในอนาคต เราไม่สามารถจะมารอจากผู้เชี่ยวชาญ  ผมเคยเรียนการบรรยายของสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอ บางเรื่องต้องเอาคนที่เคยทำพวกนี้เก่งๆ มาเป็นครูสอน ผมคิดว่า วิธีการนี้ต้องเปลี่ยน เราจะต้องเป็นเพลย์เยอร์เองให้ได้ ประเทศไทยได้เปรียบ เพราะว่าเด็กต้องเรียนตรงนี้ แต่ของต่างประเทศ คนเรียนตำรวจไม่ได้ถูกสอน นั่นคือจุดแข็งของเรา เด็กเราเก่งอยู่แล้วโดยธรรมชาติ  คือ ทิศทางที่ผมมองไว้ ทำอย่างไรให้นักเรียนนายร้อยตำรวจเข้าไปอยู่ในโลกดิจิทัลได้” พล.ต.ท.ธัชชัยว่า

 

เน้นความรู้ด้านดิจิทัลมากขึ้น พร้อมตั้งศูนย์เรียนรู้นวัตกรรมใหม่

เจ้าตัวยืนยันว่า ต้องปรับหลักสูตรให้เข้ามาทางด้านดิจิทัลมากขึ้น ปริญญาอาจจะเปลี่ยนจากรัฐประศาสนศาสตร์ เป็นคอมพิวเตอร์ซายด์ หรืออาจเป็นโปลิศซายด์ เป็นนิติคอมพิวเตอร์ หรือสาขาใหม่ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่เรายังไมได้ข้อสรุป แค่ว่าทิศทางการเตรียมตัวเข้าสู่โลกดิจิทัล เพราะปัจจุบันคน 80-90 เปอร์เซ็นต์ใช้โทรศัพท์มือถือทำธุรกรรม ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ทุกอย่างอยู่ในมือถือ อยู่ในคอมพิวเตอร์หมด อยู่ในเซิร์ฟเวอร์ อยู่ในคลาวด์  ตำรวจต้องคิดว่า  จะทำยังไงให้สามารถที่เวลามีเหตุ สามารถที่จะยิงข้อมูลจากมือถือได้จากคอมพิวเตอร์  รูปแบบการสืบสวนต้องเปลี่ยนไปจากเดิม

ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจเชื่อว่า การปฏิสัมพันธ์กับคนอาจจะน้อยลงไปเรื่อยๆ  เปลี่ยนมาปฏิสัมพันธ์กับพวกเทคโนโลยี เพราะคนไปอยู่ในโลกออนไลน์กันหมด คนจะเฟซบุ๊กไลฟ์ เราอาจจะต้องเข้าไปดูในเฟซบุ๊ก  อาจจะต้องนั่งเฝ้าในทวิตเตอร์ ไอจี แม้อัตราการเติบโตของทางเฟซบุ๊กลดลง แต่การเติบโตอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่น ติ๊กต่อก คนเริ่มชอบดูคลิปวิดีโอ เพราะว่าคนชอบดูด้านความเร็ว เราต้องวางหลักสูตร หลักสูตรจะต้องเปลี่ยน

“หลักสูตรต้องปรับปรุง 5 ปี ทดลองใช้แล้วต้องใช้ไปอีก 5 ปี เราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลง อีกส่วนหนึ่ง  คือ เราสร้างสิ่งแวดล้อมขึ้นมา เช่น ศูนย์อินโนเวเตอร์ อินไซเบอร์ซิเคียวริตี้การด์ และดิจิทัล เป็นนโยบายของพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้เทียบเท่าของเอฟบีไอ เป็นศูนย์ฝึกอบรมเรียนรู้ วิจัย นวัตกรรมใหม่ๆ”

 

ล้อมรั้วทำเมืองในอุดมคติ จำลองมิติเหตุการณ์ดูแลประชาชน

ขณะเดียวกัน พล.ต.ท.ธัชชัยยังบอกด้วย โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะทำเป็นแซนด์บ็อกซ์ คือ เมืองในอุดมคติ จำลองภาพ ถ้าในกรณีที่การดูแลประชาชน เราจะทำอย่างไร จะใช้เทคโนโลยีเอไอเข้ามา อาจจะทดลองดูว่า การมอนิเตอร์คนในเมืองของเรา แล้วก็การดูแลเขา เราจะดูแลยังไง เหมือนแซนด์บ็อกซ์ แล้ว วางเทคโนโลยีเอไอ ทดลองว่า เวลาเหตุเกิด เราใช้อะไรเข้ามาระงับ ใช้โดรน ใช้เครื่องมืออะไร การรวบรวมพยานหลักฐาน เราจะใช้เทคโนโลยีเข้ามา ต่อไปตำรวจจะใช้เทคโนโลยีได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ครูใหญ่โรงเรียนนายร้อยตำรวจมั่นใจว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจจะเป็นแซนด์บ็อกซ์เริ่มต้นด้านการวิจัยนวัตกรรม และเป็นจุดที่จะต้องทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เราเสียเงินไปมากให้กับต่างชาติ อนาคตเราจะพัฒนาของเราเอง ควบคู่การทำศูนย์กลางการเรียนรู้ ปรับปรุงห้องสมุด สร้างพิพิธภัณฑ์ด้านอาชญากรรม ทั้งหมดจะเป็นศูนย์แห่งแรกในอาเซียน สามารถเรียนรู้เรื่องที่เป็นลักษณะอินเตอร์แอ็กทีฟ เรียนรู้เรื่องการสืบสวน   วัตถุประสงค์ คือ ให้นักเรียนนายร้อยตำรวจเรียน อีกส่วนเปิดให้ประชาชนเข้ามาเรียนรู้ เกี่ยวกับเรื่องปัญหาอะไรต่าง ๆ  ในการดูแลซึ่งกันและกัน

“เราจะทำให้การเรียนการสอนเป็นอินเตอร์แอ็กทีฟมากขึ้น แล้วไม่มีข้อจำกัด สำคัญที่สุด ต้องมองนายร้อยตำรวจในระยะยาว 10-20 ปี ไปบริหารตรงนี้ เพราะว่า แผนแม่บทไม่ว่า ผู้บริหารจะอยู่ หรือจะเปลี่ยนไปกี่คน แผนต้องเดินไปตามนั้น ผมมาเป็นผู้บัญชาการ ผมก็ต้องมีไกด์ไลน์ที่คิดไว้ ผมต้องเดินตามนี้ แล้วก็ไปให้ถึงตรงนั้น เหมือนอย่างที่ผมทำโครงการจะเกิดได้ ต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเปลี่ยนผู้บัญชาการกี่คน  แผนพวกนี้ต้องเดินหน้าต่อ มองแค่ 3-4 ปี ไม่ได้ สั้นไป และเป็นเรื่องยากที่จะตอบได้ว่า ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจคนนั้นคนนี้จะอยู่ได้นานเท่าไหร่ มันมีปัจจัยหลายอย่าง” พล.ต.ท.ธัชชัยย้ำแนวคิด

 

นโยบายต้องก้าวอย่างต่อเนื่อง อย่าเอาเรื่องเปลี่ยนครูใหญ่มาเป็นข้อกำหนด

ลูกชายนายพลตำนานมือปราบภูธรทิ้งท้ายว่า ต้องวางแผนให้ดี วางเรื่องคนให้ดีเพื่อการเดินไปของงานตรงทิศทางที่ถูกต้อง ไม่รวน ไม่ใช่เปลี่ยนผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจทีก็เปลี่ยนนโยบายที ปัจจุบันเรามีแผนพัฒนา 5 ปี อาจมีสอดแทรกเป็นแผนระยะยาว ระยะกลางอยู่ในนั้น  ปัจจุบันค่อนข้างปรับเปลี่ยน ต่อไปโรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจเน้นในเรื่องของการทำจริง เน้นการปฏิบัติ การเรียนการสอนทุกวิชาของโรงเรียนนายร้อยตำรวจต้องเน้นเรื่องของการปฏิบัติจริง อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจจะเป็นโคออดิเนเตอร์ ผู้ที่เข้ามาสอนจะต้องเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญด้านนั้น เป็นคนที่อยู่ในฟิล เพราะไม่เช่นนั้น การอัปเดตข้อมูลมันจะไม่ทัน

“อาจารย์ก็ต้องเปลี่ยน ต้องทำหน้าที่พัฒนาต่อยอดงานวิจัย ผมมองว่า โรงเรียนนายร้อยตำรวจถ้าจะเติบโต ก้าวไปให้ทันโลกยุคดิจิทัลได้ ต้องปรับโรงเรียนให้เน้นหนักด้านงานวิจัย อาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ต้องมาเน้นทำงานวิจัยจะได้ก้าวทัน และอาจจะก้าวนำ ไม่เป็นแค่ครูสอนตามโรงเรียน เราจะทำงานวิจัยให้เป็นตัวหลักของนักเรียน ผมว่าเรื่องของการเรียนการสอน ไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่งานวิจัยสำคัญกว่า สามารถตอบโจทย์สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แค่ไหน เราต้องมาเส้นทางนี้”

พล.ต.ท.ธัชชัยสรุปว่า นักเรียนนายร้อยตำรวจจบไปแล้วสามารถทำงานได้เลย เราเชื่อในศักยภาพของนักเรียนนายร้อยรุ่นใหม่ที่เติบโตมาอีกโลกหนึ่ง  มีความพร้อม และเก่งด้านเทคโนโลยี นักเรียนนายร้อยตำรวจเป็นคนหัวดี มีครบทั้งเรื่องวิชาการ และเรื่องของร่างกาย เรื่องของสมรรถภาพ สุขภาพ ความมีวินัย เราโชคดี ตั้งแต่เราได้วางโครงสร้างไว้ดี ถ้าเราทำให้นักเรียนนายร้อยตำรวจ เข้ามาสู่ในโลกดิจิทัลได้ เราจะแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ดี และมีประสิทธิภาพ

 

 

 

RELATED ARTICLES