วาดพิมพ์เขียวหล่อเบ้าทายาทนักสืบรุ่นใหม่ในอนาคต
ย้อนกลับไปในยุค พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตั้งโครงการฝึกอบรมหลักสูตรการสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5G
หมายมั่นจะปั้น 40 ชีวิตรองสารวัตรขึ้นติดทำเนียบนักสืบทดแทนรุ่นพี่เป็น “มรดกโมเดล” ของ “แม่ทัพสีกากี” ที่ได้ชื่อเป็น “อาจารย์นักสืบรุ่นใหญ่” ในปัจจุบัน
เหมือนครั้งหนึ่งในอดีตที่เจ้าตัวเคยร่วมสร้าง 30 นักสืบนครบาลเพื่อสืบสานภารกิจปราบปรามจับกุมเหล่าอาชญากรทุกรูปแบบในเมืองหลวง
กลายเป็นต้นแบบ “โรงเรียนสืบสวนที่ดีสุดในประวัติศาสตร์” แม้หลายคนต้องกระจัดกระจายเจอมรสุมร้ายพัดหายไปตามวิถีวงจรชีวิตข้าราชการตำรวจ
ระดมทัพลูกศิษย์คืนสู่เหย้า คลุกเคล้าปรุงรสผสมผสานนักสืบรุ่นใหม่
ปฐมบทพิมพ์เขียวหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G เริ่มต้นขึ้น เมื่อ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ปัดฝุ่นแบบร่างพิมพ์เขียวในอดีตไปปรับให้ทันโลก ระดมลูกศิษย์ที่ฟูมฟักสมัยนั้นเข้ามาเป็นคณะทำงานเหมือนการคืนสู่เหย้าเอาบรรยากาศเก่าไปคลุกเคล้ารสชาติใหม่เพื่อถ่ายทอดวิทยายุทธ์แก่นายตำรวจรุ่นน้อง ตั้งแต่ พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ทินกร รังมาตย์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดยะลา พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5 พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 พล.ต.ต.ประพันธ์ศักดิ์ ประสานสุข ผู้บังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 พ.ต.อ.ชิตภพ โตเหมือน รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 7 พ.ต.อ.ธีรชาติ ธีรชาติธำรง รองผู้บังคับการปฏิบัติการพิเศษ พ.ต.อ.พุฒิพัฒณ วรรธน์จิรัฐ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ.กฤตยา เลาประสพวัฒนา รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2
พร้อมทีมงาน “นักสืบระดับหัวกะทิ” ในปัจจุบันที่ถูกเรียกมาร่วม “ปรุงรส” ประกอบด้วย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ท.สุรพงษ์ ถนอมจิตร ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล พล.ต.ต.สันติ ชัยนิรามัย รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พล.ต.ต.พันธนะ นุชนารถ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 พล.ต.ต.วสันต์ เตชะอัครเกษม ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 พล.ต.ต.ณัฐนนท์ ประชุม ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 พล.ต.ต.นภันต์วุฒิ เลี่ยมสงวน ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.เชิดพงษ์ ชิวปรีชา รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ รองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล พ.ต.อ.โชติวัฒน์ เหลืองวิลัย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ
มี พ.ต.ท.นิธิธรรม ศุนาลัย อาจารย์(สบ3) กลุ่มงานอาจารย์ กองบัญชาการศึกษา และ พ.ต.ท.นพรัตน์ ตันติเสรีรัตน์ อาจารย์(สบ2) กลุ่มงานอาจารย์ กองบัญชาการศึกษา ร่วมขับเคลื่อน เตรียมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเท่าทันกับรูปแบบอาชญากรรมใหม่ๆ และจำเป็นต้องมีการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการสืบสวนที่ทันสมัย ตลอดจนการปลูกฝังคุณธรรม อุดมการณ์ จิตวิญญาณ และการอุทิศตนของข้าราชการตำรวจฝ่ายสืบสวนให้เพิ่มมากขึ้น ให้ข้าราชการตำรวจผู้ปฏิบัติหน้าที่งานสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กำหนดฝึกอบรมระหว่างวันที่ 20 ธันวาคม 2564 – 8 เมษายน 2565 ที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม พิจารณาคัดเลือกรองสารวัตรระดับชั้นยศ ร.ต.ท.-ร.ต.อ.ผ่านเข้ารับการติวเข้มเพียง 40 คน ไปติดเขี้ยวเล็บเสร็จแล้วพร้อมส่งลงสนาม “ไล่ล่ากวาดอาชญากร” ในตำแหน่งฝ่ายสืบสวนได้ทันที
ชีวิตจริงอยู่ข้างหน้า หวังว่าสักคนจะก้าวขึ้นเป็นใหญ่
ตลอด 110 วันกับการอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G นักเรียนอบรมจำนวน 40 ชีวิตกับ “ค่ายประวัติศาสตร์” ผ่านการติดเข้มมากมายเพื่อนำมาปรับใช้ในสนามชีวิตจริงในอนาคต “สิ่งที่เราเรียนมาทั้งหมดก็เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ชีวิตจริงอยู่ข้างหน้า และความล้มเหลวจะเป็นอาจารย์ เป็นบทเรียนที่ดีที่สุดของเรา” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ในฐานะอาจารย์ใหญ่ผู้วางหลักสูตรให้โอวาทในวันรับประกาศนียบัตรบนเวทีพิธีปิดหลักสูตรการฝึกอบรม
เจ้าตัวให้แง่คิดเตือนสติว่า ในชีวิตการทำงาน การเรียนจบหลักสูตรในวันนี้ เปรียบเหมือนเราเรียนจบ ประถม 4 เท่านั้น ชีวิตการทำงานยังอีกยาวไกลมาก เรายังต้องเพิ่มเติมความรู้ระหว่างที่เราทำงานกันไปอีกเรื่อยๆ อย่าไปตั้งเป้าหมายว่าจะเป็นอะไร ให้ตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไร เพราะไม่สำคัญว่าจะได้ตำแหน่งอะไร ขึ้นกับว่าเราตั้งใจจะทำอะไร การทำความสำเร็จในระยะสั้น ให้สะสมความสำเร็จนั้นไปเรื่อย ๆ จะทำให้เราประสบความสำเร็จในเป้าหมายใหญ่ที่เราคาดหวังนั้นได้เอง ถ้ามีโอกาสเลือกจะไปอยู่กับใคร(คน) กับเลือกจะไปอยู่ที่ไหน(ตำแหน่ง) ให้เลือกอยู่กับคน
“ตำแหน่งนั้นจะอยู่กับเราไม่นาน เดี๋ยวเราก็จะต้องเปลี่ยนตำแหน่งหมุนเวียนกับทีมงานไปเรื่อย ๆ แต่อาจารย์ที่ให้ความรู้ ผู้บังคับบัญชาที่ดี เพื่อนร่วมงานที่ดี ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ดีนั้นหาได้ยากมาก ถ้ามีแล้วจงรักษาไว้ เพราะชีวิตคนเราในการทำงาน จะต้องมีเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ต้องมีทีมงาน ผลักดันกัน เราทำงานคนเดียวไม่ได้ “อนาคตในการทำงานต่อไป เราต้องเป็นนักสืบที่มียี่ห้อ มีแบรนด์เป็นของตัวเอง เราถนัดด้านใด เพราะผู้บังคับบัญชาจะเลือกใช้งาน ไม่ได้เลือกจากตำแหน่งแห่งหน แต่เลือกจากแบรนด์ว่า คนนี้เก่งเรื่องไหน ไม่ว่าเราจะไปอยู่ตำแหน่งแห่งหนใด อยู่ที่เราเลือกว่า เราจะทำตัวอย่างไร ความยุติธรรมมีอยู่ในหนัง แต่ชีวิตจริงเราอาจจะไม่ได้รับความยุติธรรม ตัวเราทำดีแค่ไหนบางครั้งก็อาจจะเจอเรื่องที่ไม่ดีได้ ต้องมีความอดทน ต้องไม่ประมาท เวลา ไม่ย้อนกลับ เวลาจะเดินของมันไปเรื่อย ๆ ไม่ช้า ไม่เร็ว แม้เราจะอยากให้มันช้าหรือเร็ว มันก็จะเดินของมันไปเรื่อย ๆแบบเดิม และไม่เดินย้อนกลับ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ย้ำและฝากแง่คิด “ชีวิตของเรา สั้นนิดเดียว เราจะเจริญก้าวหน้า จะเจริญเติบโตขึ้นเพียงคนเดียวไม่ได้ นกมีขน คนมีพวก ทุกครั้งที่ลงทำงานต้องมองหาเพื่อนร่วมอาชีพ ผมจะเฝ้ารอ 40 นักสืบจะเจริญเติบโตอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
ประเดิมบทเรียนแรก แจกการบ้านให้อำพรางตัวเอง
ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นวันปฐมนิเทศก่อนเข้ารับการฝึกอบรมสู่ค่ายนักสืบในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เพื่อถ่ายทอดความเป็นมืออาชีพ นายตำรวจทั้ง 40 คนได้รับการบ้านก่อนรับ “บทหิน” จากพื้นฐานการเป็นนักสืบตามทฤษฎีเก่าเป็นบทแรกการเป็นนักสืบด้วยการปลอมตัว ต่อหน้าพล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้รับเทียบเชิญในฐานะ “บรมครู” ผู้ปลุกปั้นหลักสูตรสืบสวนรุ่นพิเศษของนครบาลเมื่อ 20 กว่าปีก่อน พร้อม พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่กำหนดไม่ต้องพิธีรีตองสวมเครื่องแบบเต็มยศ “คอแบะ” ปล่อยยึดตามสไตล์นายตำรวจนอกเครื่องแบบให้เห็นภาพความเป็น “นักสืบแท้จริง”
“นักสืบต้องมีวินัยเข้มงวด ไม่จำเป็นต้องแต่งเครื่องแบบ แต่ต้องเป็นคนมีวินัยที่อยู่ภายใต้จิตสำนึกของแต่ละคน” คณะครูฝึกให้ความเห็น ระบุนักเรียนทุกคนต้องมีสไตล์การแต่งตัวเพื่อหลบเลี่ยงการจดจำของคณะครูฝึก มีตั้งแต่ปลอมเป็นพระ ไลน์แมน แกร็บส่งอาหาร นักศึกษา พนักงานการไฟฟ้า กุ๊ก บางคนปลอมเป็นผู้หญิง ขณะที่ตำรวจหญิงปลอมเป็นผู้ชาย หลากหลายให้แนบเนียนมากที่สุด คนอื่นไม่เข้าใจคอนเซปต์เลือดนักสืบ อาจจะว่าพวกเขาบ้า
ตบท้ายด้วยพิธีการอันศักดิ์สิทธิ์เหมือนการ “ครอบครู” นักเรียนตามโครงการอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G ทั้งหมดได้มอบดอกไม้ไหว้ครู อย่าง พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี มี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบพวงมาลัยเคารพแด่ พล.ต.ท.วรรณรัตน์ คชรักษ์ บรมครูรุ่นใหญ่ สอนให้ทุกคนรู้จักเคารพครูบาอาจารย์ ก่อนได้รับการถ่ายทอดวิทยายุทธ์
เปิดเรื่องเล่าเท้าความหลัง เป็นพลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่
“ใครจะสละสิทธิ์วันนี้บอกได้ มาแล้วชีวิตท่านจะเปลี่ยน” พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข กระตุกต่อมคิดในวันปฐมนิเทศ สำนึกถึงบุญคุณและความภูมิใจของ พล.ต.ท.โสภณ วาราชนนท์ แม่ทัพนครบาลในยุคนั้นที่ให้ความสำคัญกับงานสืบสวนเป็น ตำราเล่มใหม่ ไว้รองรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างตำรวจเมืองหลวง “ปีใหม่นี้ก็คงไม่ได้ไปไหน มาอยู่ในนี้แล้วนะ ถอยหลังกลับไม่ได้ ใครจะสละสิทธิ์วันนี้บอกได้” พล.ต.อ.สุวัฒน์ถามย้ำกับทุกคนอีกรอบ ก่อนเท้าความเป็นมาของหลักสูตรนับตั้งแต่ตัวเขาเข้ารับราชการตำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2526 มองกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นแม่แบบของตำรวจไทยในเรื่องการสืบสวนสอบสวน เป็นที่ยอมรับของทุกคนในกรมตำรวจ
พล.ต.อ.สุวัฒน์อธิบายว่า กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี ปฏิบัติหน้าที่ ถึงลูกถึงคนนำไปสู่ความสำเร็จในการพิชิตคดีใหญ่ เวลาที่ตำรวจสืบเหนือ สืบใต้ หรือสืบธนไปที่ไหน ได้รับการยอมรับจากทุกที่ พื้นที่ปฏิบัติการไม่ใช่แค่ในกรุงเทพมหานคร แต่ไปตั้งแต่เหนือสุดยันใต้สุดของประเทศไทย ไปทุกเรื่อง เสียดายที่ไม่มีประวัติศาสตร์เขียนกัน นอกจากเป็นการพูดกันปากต่อปาก สร้างนักสืบสมัยนั้นมีชื่อเสียงแตกต่างกันไป
“สมัยผมเป็นรองสารวัตรอยู่สืบสวนเหนือ พี่อู๊ด-ปรีชา ธิมามนตรี เป็นสารวัตรผม เราก็ทำงานด้วยกัน ไปเหนือจรดใต้ 3 วัน 4 วัน 5 วัน 7 วัน 10 วันถึงกลับบ้าน พี่อู๊ดไม่ให้ใส่นาฬิกา ไม่ให้ใส่สร้อย ไปไหนก็รองเท้าแตะ ซื้อเสื้อเอาตามปั๊มน้ำมัน ซื้อเสื้อแถมก็มี ติดต่อกันด้วยเพจ ผมเรียกว่าเป็นยุคเดินดิน ยุคเลี้ยงสาย ใช้สายลับ เป็นยุคที่เราต้องเดินทาง เดินดิน เกาะติด เป็นหมาล่าเนื้อ ก่อนจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเปลี่ยนแปลงชีวิตคนไทย โทรศัพท์มือถือกลับกลายเป็นปัจจัยสำคัญในเรื่องของความสำเร็จของการสืบสวนสอบสวน”
โซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงชีวิต จุดประกายความคิดต้อนรับครอบครัวใหม่
อาจารย์ใหญ่ในหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G ขยายความต่อว่า สุดท้ายพวกเขาเรียนรู้กันว่า คดีไม่สามารถจบลงได้ด้วยการปฏิบัติงานลำพังแค่พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หน่วยงานใดหน่วยหนึ่ง จำเป็นต้องรวมปฏิบัติการของกำลังหลายหน่วยและมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบเป็นต้นกำเนิด ศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม (Command Control Operation Center-CCOC) ที่ พล.ต.ต.ปรีชา ธีมามนตรี เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดตั้งเซ็นเตอร์ทำหน้าที่ควบคุมกำกับดูแลบริหารคุณภาพงาน มีกลุ่มวางแผน มีทีมวิเคราะห์ข้อมูลก่อนแจกจ่ายให้ชุดปฏิบัติไปลงสนาม กระทั่งมาถึงปัจจุบัน เทคโนโลยีพัฒนาเปลี่ยนชีวิตมากมาย ประกอบกับแนวคิดการเมืองการปกครอง แนวคิดในเรื่องของสิทธิมนุษยชน แนวคิดในเรื่องของเสรีแบบสุดขั้ว ทั้งเร็ว และกว้างขวาง มีผลกระทบสูง
“โซเชียลมีเดียเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา เปลี่ยนแปลงการทำงานของทุกอย่าง เปลี่ยนแปลงตำรวจ คดีทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่รับผิดชอบ พนักงานสอบสวนไม่รู้ว่าโรงพักไหน ผู้กระทำผิดกระจายตัวทั้งในและต่างประเทศ การกระทำผิดทำได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ และในยุคต่อไปที่กำลังใกล้เข้ามา ระบบการเงินของประเทศจะเปลี่ยน ตำรวจกำลังเผชิญสถานการณ์โลกใหม่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านถึงต้องเตรียมตัวรับมือ” เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ตัดสินใจปัดฝุ่นตำราเล่มเก่าเอามาผสมผสานรสชาติให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้นเป็นพิมพ์เขียวฉบับ “นักสืบ 5 G” ระดมทัพลูกศิษย์กลับคืนสู่เหย้าพร้อมนายตำรวจนักสืบแถวหน้าของเมืองไทยช่วยปรุงสูตร
เขาบอกกับนักเรียนทุกคนว่า พวกเราที่นั่งอยู่ในห้องนี้ อาจจะถือได้ว่าเป็นรุ่นที่ 2 ของ 30 คนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน ปัจจุบันก็อยู่ในห้องนี้หลายท่าน การคัดเลือกเมื่อวันนั้นยังจำความรู้สึกได้ เวลาเราคัดเลือกคนเราคัดอย่างไร แล้วเราก็ได้มีโอกาสไปคัดพวกเราอีกครั้ง ไม่ทราบว่าหลังจากนี้ไปแล้วจะมีการคัดเลือกนักเรียนแบบนี้อีกหรือไม่ และหลังจากจบหลักสูตรไปแล้ว แม่ทัพสีกากีการันตีว่า ทุกคนจะไม่ได้กลับไปอยู่ตำแหน่งเดิม ต่างจากหลักสูตรทุกหลักสูตรของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียนแล้วกลับไปที่เก่า อบรมแล้วก็กลับไปทำงานเดิม “ทว่าที่นี่ไม่ใช่ ไม่ใช่ เราพาพวกท่านเข้ามาในสังคมใหม่ ขอต้อนรับเข้ามาสู่ในครอบครัวของพวกเรา ครอบครัวนักสืบ” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า
กำชับให้เอาตัวรอด ถ่ายทอดดีเอ็นเอความเป็นนักสืบ
“ที่สำคัญอยากจะเน้น เมื่อเรามาอยู่ในครอบครัวเดียวกันแล้ว อยากให้เข้าใจคุณสมบัติของการเป็นตำรวจที่ดี นักสืบที่ดี เอาตัวรอดในทุกสถานการณ์จากภัยคุกคามกับชีวิตรับราชการตำรวจ “เราใช้คำว่า ครอบครัว เพราะนักสืบอยู่กันไม่สนใจยศถาบรรดาศักดิ์เท่าไหร่ เราอยู่กันด้วยความรู้สึกเหมือนเป็นพี่เป็นน้อง เป็นเพื่อนร่วมงานที่เป็นพี่เป็นน้อง เป็นคนในครอบครัวเดียวกัน” นายพลตำรวจเอกเจ้าสำนักปทุมวันน้ำเสียงจริงจัง
กำชับลูกศิษย์ทุกคน ต้องใช้กฎหมายให้เป็น ต้องรู้ว่า กฎหมายอันไหนใช้ได้ อันไหนต้องระวัง สอบปากคำคุยกับพยานเป็นร้อย นักสืบต้องเป็นคนตัดสินว่า จะเลือกคนไหนเข้าไปอยู่ในสำนวนการสอบสวน พนักงานสอบสวนใช้กฎหมายในแบบของเขา มีรายละเอียดในเรื่องของแบบฟอร์มการนำเสนอต่าง ๆในรูปร่างของเอกสารสำนวนไปสู่ชั้นอัยการ การเขียนอธิบายความด้วยภาษากฎหมาย แต่นักสืบนอกจากต้องเข้าใจเรื่องพวกนั้นแล้ว เราอาจจะเขียนไม่ได้อย่างเขา แต่เราต้องเข้าใจเรื่องพวกนั้น ถึงต้องใช้กฎหมายเพื่อหาพยานหลักฐานป้อนให้ฝ่ายสอบสวนเอาไปทำ
เจ้าตำราหลักสูตรนักสืบ 5 G บอกด้วยว่า นักสืบต้องเป็นคนคัดเลือก ไม่ได้มองแค่จับได้ ต้องมองทะลุไปถึงว่าจะทำอย่างไรให้ศาลลงโทษ และต้องรู้ความเป็นมาเป็นไปของสังคมว่า ทุกวันนี้ มีอะไรเป็นภัยคุกคามกับชีวิตของเรา โซเชียลมีเดียมีผลอย่างไร มีอะไรอีกมากมายที่เราต้องเรียนรู้แล้วต้องเอาตัวให้รอด ต้องมีความรู้เป็นอาวุธ
เน้นภารกิจกัดไม่ปล่อย รอคอยความสุขจากผลงานในบั้นปลาย
เขายืนยันว่า การทำงานของนักสืบสามารถถกปัญหากันได้ โต้แย้งกันได้ เพื่อหาสิ่งที่ดีที่สุด แต่ความรักสามัคคีเป็นเรื่องสำคัญกว่า หลายๆครั้งมีความผิดพลาดในการทำงาน เรายังอยู่สามัคคีกันเป็นครอบครัว เป็นคนในบ้านเดียวกัน ความผิดพลาดมันก็ไม่ไหลไปข้างนอก ยกตัวอย่างบางเคสที่ข้อมูลรั่วออกไปกระทั่งเกิดความเสียหาย กระนั้นก็ตาม ความเป็นผู้นำ การครองใจลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา มันอาจจะสอนกันยาก แต่มันมีตัวแบบ ดูตัวแบบที่ดี ผู้นำที่ดี คือ ต้องมีความเป็นธรรม ต้องใจกว้าง ต้องเป็นครู ต้องสอนคนได้ ถ้าเราอยากจะสอนคนได้ เราต้องแตกฉาน ถ้าเราอยากจะแตกฉาน เราต้องทำเองเป็น ทุกอย่างลงมือทำด้วยตัวเอง
ทั้งนี้จุดมุ่งหมายในภารกิจงานสืบสวน พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกว่า เราทำงานกัน 24 ชั่วโมงต่อวัน ทำแบบกัดไม่ปล่อยจนกว่างานจะจบ จนกว่าจะคลี่คลาย ไม่ใช่เป็นงานออฟฟิศ เช้ามาทำงาน เย็นกลับบ้าน นักสืบทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีเวลา ไม่มีวันหยุด เพื่อให้งานสำเร็จ หรือไม่ก็ตายกันไปข้าง “นักสืบเราไม่เคยถามหาว่า ทำไปแล้วใครจะมาเห็นไหม ทำไปแล้วใครจะมาเข้าใจไหม ไม่มี ความสุขของเราภารกิจสำเร็จ ไม่ใช่ความสุขบนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือโซเชียลมีเดีย สิ่งที่เราทำอย่างน้อยคนที่อยู่ด้วยกันก็เห็น คนอื่นไม่เห็นไม่เป็นไร แต่เรารู้ว่าเราทำอะไร”
สมัยเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 7 เจ้าตัวยังเล่าว่า เคยถามลูกน้องระดับนายดาบว่า ทำงานสำเร็จแล้วได้เป็นนายตำรวจหรือไม่ ทำแล้วมีใครมาชมไหม ทำแล้วได้เงินเพิ่มไหม คำตอบทั้งหมดคือไม่ แต่ทำแล้วลูกเมียด่าไหม ด่าประจำอยู่แล้ว ดังนั้นทำไปทำไม บางคนตอบไม่รู้เหมือนกัน เพราะทำเป็นอัตโนมัติ เราทำงานเป็นอัตโนมัติ ทำเพราะว่า เป็นสิ่งที่เป็นความรับผิดชอบ ทำเพราะมีความเป็นมืออาชีพ
ทำงานดีไม่ดีให้คนอื่นเล่า แต่เราต้องมุ่งมั่นและมีเป้าหมาย
“ให้ท่องไว้ในใจ อาชีพพวกเราประสบความสำเร็จ คือ ภารกิจสำเร็จ ภารกิจไม่สำเร็จถือว่า มีความสุขกับการที่เราทำ ผมพูดเสมอนะว่า ความสำเร็จไม่ได้อยู่ที่ตำแหน่งแห่งหน ในชีวิตผมไม่เคยคิดว่าจะต้องมายืนบนนี้ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าใครมาเจอผมสมัยเป็น ร.ต.ต. แบบพวกเรา แล้วมาบอกว่า ผมจะได้เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคงมีคนหัวเราะตายไปข้าง มีแต่ผู้บังคับบัญชามาถามว่า เมื่อไหร่จะออกจากราชการ”
เขาทิ้งท้ายว่า นักสืบที่ดี ทำงานดีไม่ดี ให้คนอื่นเล่าเรื่องของเรา เราไม่ต้องเล่าเรื่องของตัวเองให้ใครฟัง ไม่มีใครฟัง ถ้าเราดี เขาเล่าเรื่องของเรา ถ้าเราดีคนเขาจะพูดเรื่องของเรา ให้จำไว้ เกียรติยศเป็นสิ่งที่คนอื่นให้เรา ศักดิ์ศรีเป็นของเราเอง เราทำได้ เราไม่ได้อยู่ด้วยทรัพย์สินเงินทอง เราไม่ได้อยู่ด้วยประโยชน์ เราไม่ได้หวังว่ามาอยู่ตรงนี้จะเป็นนู้นเป็นนี่ ก็ไม่ใช่ เราหวังว่าเ ราจะทำอะไร ที่ท้าทายความสามารถ เราหวังว่าเราจะเป็นคนที่ขุดค้นพบสิ่งที่กำลังตามหากัน เรามีความสุขกับการที่ได้อยู่ด้วยกันท่ามกลางเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา ผู้ใต้บังคับบัญชา น้อง ๆ พี่ๆ เพื่อน ๆ
“เรากินข้าวข้างถนน เราอดหลับอดนอน เราอยู่กันแบบนี้ ต้องอยู่กันแบบนี้ อุดมคติของเรา เราไม่ทำเรื่องง่ายๆ เราไม่ทำ มาวันนี้ ออกจากนี่ไปชีวิตก็อาจจะไม่ได้สบาย แต่ความสุขสบายมันก็ มันก็เรื่องหนึ่งนะ แต่ยังยืนยันว่าอยากให้มีความสุขกับสิ่งที่ได้ทำแล้วเกิดผลสำเร็จ อีกอย่างหนึ่งเรื่องของนักสืบ การคิดนอกกรอบ กล้าทดลอง คุณสมบัติข้อหนึ่งของพวกเรา ไม่ว่า ภารกิจจะยากลำบากแค่ไหน การดำรงความมุ่งหมายยังต้องคงไว้ ท่านจะต้องฝึกใจให้ได้แบบนี้ มีความสุขกับภารกิจที่สำเร็จ อยู่กับเพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชา สร้างคนรุ่นใหม่ ๆ ถ่ายทอดความเป็นดีเอ็นเอนักสืบให้คนรุ่นต่อไป ส่วนตำแหน่งแห่งที่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง “หวังว่าจะมีหนึ่งในนี้สักวันหนึ่งจะมายืนแทนผมตรงนี้จะด้วยตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือเปล่าไม่ทราบ แต่ถ้าเป็นได้ช่วยบอกด้วยนะ ถ้ายังไม่ตายจะมาดู” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า
สำหรับโครงการฝึกอบรมหลักสูตรสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G มรดกประติมากรรมชิ้นเอกของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หมายจะหลอมเบ้าแม่พิมพ์ “นักสืบต้นแบบ” เวอร์ชั่นใหม่ไว้แทนที่รุ่นเก่าในอนาคต มีนายตำรวจระดับรองสารวัตรสมัครใจเข้าโครงการจำนวน 320 คนเหลือผ่านรอบสุดท้ายไปให้ “อาจารย์ปั๊ด” ซักถามคนละ 15 นาทีจนเหลือเพียง 40 คนบวกสำรองอีก 2 คนไปเข้าค่ายอบรมตลอดระยะเวลา 3 เดือนเศษ ก่อนที่จะมีคำสั่งแต่งตั้งให้ทุกคนลงไปปฏิบัติภารกิจในสายงามสืบสวนตามสัญญา
ร.ต.อ.เขมวัฒน์ พฤกษติกุล รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ร.ต.อ.คมกฤช มัญจาวงษ์ รองสารวัตรกองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ร.ต.อ.เจษพงษ์ มีเพ็ชรทาน รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่ เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.ฉัตรชัย อินทร์บำรุง รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปราม เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ร.ต.อ.ธนพล มโนษร รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลโชคชัย เป็น รองสารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล
ร.ต.อ.หญิง ธิดารัตน์ ผดุงประเสริฐ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา เป็น รองสารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ร.ต.อ.ธีรเมธ ธรรมสุวรรณ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ร.ต.อ.นิขเนตร เผ่าล้วนงาม รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลหลักสอง เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ร.ต.อ.บดินทร์ เปี่ยมมนัส รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ร.ต.อ.ปฏิภาณ ไกรลาศฉิมพลี รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง เป็นรองสารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.ปณวัฒน์ จอกสุวรรณ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรแม่สอด จังหวัดตาก เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล
ร.ต.อ.ปรมา ปราณี รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ร.ต.อ.ปรัชญา โคตรสาขา รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรโคกเคียน จังหวัดนราธิวาส เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.ปรินทร์ ส่วนบุญ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรท่าเรือ จังหวัดกาญจนบุรี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.หญิง ปรียาลักษณ์ ศิริล้วน รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจคนเข้าเมือง 5 เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.พลวัต นากถมยา รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.พิชชากร กองสวัสดิ์ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองสงขลา เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล
ร.ต.อ.พิชญากร แตงรอด รองสารวัตรกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ร.ต.อ.พีรเวธน์ โพธิ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.ภคภูมิ บุญทองแพง รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ร.ต.อ.รัชตะ รัตนจงจิตรกร รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรบางศรีเมือง จังหวัดนนทบุรี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ร.ต.อ.รัชพล เชยสาคร รองสารวัตรกองกำกับการ 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 ร.ต.อ.วรกุล บุญยะจันทร์ รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8
ร.ต.อ.วรดร ใสสุชล รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรกันตัง จังหวัดตรัง เป็น รองสารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ร.ต.อ.หญิง วรดา ชูหน้า รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.วรภัทร แก้วดวงเทียน รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ร.ต.อ.วรภัทร แสงเทียนประไพ รองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตรวจคนเข้าเมือง 3 เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ร.ต.อ.หญิง วันวิสาข์ ปุยะบาล รองสารวัตร (สอบสวน) กองตรวจคดี กองบังคับการกฎหมายและคดีตำรวจภูธรภาค 4 เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4
ร.ต.อ.วัลลภ อั้นวงศ์ นายเวรผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 ร.ต.อ.วิศรุต พจน์มนต์ปิติ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.วีระพงษ์ คุณสมิตปัญญา รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 2 เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.วุฒินันต์ คงดี รองสารวัตรสืบสวน สถานีตำรวจภูธรตาลสุม จังหวัดอุบลราชธานี เป็นรองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ร.ต.อ.ศิวัช ยังอุ่น รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองปัตตานี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล
ร.ต.อ.ศุภกิจ ชูดำ รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ร.ต.อ.ศุภเดช ธนชัยศิริ รองสารวัตรกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ร.ต.อ.เสกสิทธิ์ กุลเจริญ นายเวรผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8 ร.ต.อ.อนุวัฒน์ ณ ปัตตานี รองสารวัตรกองกำกับการ 6 กองบังคับการปราบปราม เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม ร.ต.อ.อภิชัย ชัชวาลย์ปรีชา รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองนราธิวาส เป็น รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.เอกภพ พันธุ รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 1 เป็น รองสารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ร.ต.อ.เอื้ออังกูร ชินโชติธีรนันท์ รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม เปลี่ยนเลขตำแหน่งเป็น รองสารวัตรกองกำกับการสนับสนุน กองบังคับการปราบปราม
….
เปิดตัว 4 นายตำรวจนักสืบสาว
กับเรื่องราว “ค่ายสืบสวน 5 G”
“นักสืบไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องอาศัยความเป็นทีมเวิร์ก”
ผู้กองกุ้ง–ร.ต.อ.หญิงธิดารัตน์ ผดุงประเสริฐ รองสารวัตรกองกำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 2 ชาวจังหวัดชลบุรี เกิดในครอบครัวเกษตรกร จบประถมโรงเรียนจุฑาทิพย์ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มัธยมต้นโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา มัธยมปลายโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา
สอบเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 71 ทั้งที่ตอนนั้นไม่อยากเป็นตำรวจ แต่ทำเพื่อพ่อแม่ หลังจากการศึกษาแล้วถึงรู้ว่า งานตำรวจแต่ละหน้างานไม่ง่าย ทั้งเครียดและไม่มีเวลาส่วนตัว แต่แปลกที่กลับรู้สึกว่า รักในอาชีพตำรวจมากขึ้น และไม่เสียใจที่วันนี้ได้เป็นตำรวจ เป็นอาชีพที่มีเกียรติ และได้ช่วยเหลือประชาชน
เจ้าตัวเริ่มต้นไปดำรงตำแหน่งเป็น รองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรเมืองฉะเชิงเทรา ทำหน้าที่รับแจ้งความ รวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ จากผู้เสียหาย เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อมาดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดตามกฎหมาย “การเป็นพนักงานสอบสวนจะได้พบปะกับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน มีเรื่องความทุกข์ใจ ต้องการความช่วยเหลือจากเรา การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการได้แก้ไขปัญหาให้เขาได้ สิ่งที่ได้รับกลับคืนมา คือ ความสุขใจ ทำให้ตัวเราเองก็มีความสุขเช่นกัน”
ถามว่า ทำไมถึงอยากเป็นนักสืบ 5G ผู้กองสาวให้เหตุผลว่า งานสืบสวนเปรียบเสมือนภาพลักษณ์ของตำรวจ เวลาพูดถึงตำรวจ ภาพที่เกิดขึ้นคือ สืบสวนหา ผู้กระทำความผิด จับกุมผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย งานสืบสวนเป็นงานที่ท้าทาย เลยอยากเรียนรู้ อยากรู้ว่าใช้วิธีการใด แสวงหาพยานหลักฐานอย่างไร ทำไมถึงรู้ตัวผู้กระทำผิด และเห็นว่ามีหลักสูตรสืบสวนคดีอาญ รุ่นพิเศษ 5G เปิดอบรมจึงตัดสินใจสมัครเข้ามาอบรมหลักสูตรนี้
ผ่านการสัมภาษณ์จาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่นั่งหัวโต๊ะสอบถามทัศนคติเอง เธอคิดว่า ผ่านได้จากความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะเรียนรู้ อยากทำงานในหน้างานสืบสวน มองว่าผู้หญิงผู้ชายมีศักยภาพเท่าเทียมกัน การที่มีผู้หญิงมาทำงานสืบสวนจะเป็นการเพิ่มความหลากหลาย เติมเต็มในส่วนที่ขาด เพื่อให้งานสืบสวนออกมามีประสิทธิภาพมากที่สุด
“รู้สึกภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 42 คน ที่ผู้บังคับบัญชาไว้วางใจให้มาเรียนรู้เกี่ยวกับงานสืบสวน เพื่อให้จบออกไปเป็นนักสืบยุคใหม่ที่มีใจรักในงานสืบสวน และพร้อมที่จะทำงานเพื่อประชาชน รู้สึกโชคดีที่ได้รู้จักกับพี่ๆ เพื่อนๆ รุ่น 5G อีก 41 คน ที่มีความตั้งใจเหมือนกัน ขณะเดียวกัน รู้สึกกดดัน เพราะกลัวทำได้ไม่ดีพอตามที่ผู้บังคับบัญชาคาดหวัง แต่จะทำให้ดีที่สุด” เธอว่า ตลอด 3 เดือนเต็มบ่มเพาะวิชา เจ้าตัวยังบอกว่า ได้ข้อคิดและแนวทางในการทำงานสืบสวน รวมถึงการทำงานในอาชีพตำรวจจากรุ่นพี่นักสืบ นักสืบที่ดีต้องมีใจรักในงานสืบสวน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ขยัน อดทน เสียสละ ไม่โอ้อวด เก็บความลับได้ดี และที่สำคัญ มีความซื่อสัตย์ ไม่ทรยศต่อวิชาชีพของตัวเอง มีพี่ๆนักสืบและคณะวิทยากรผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้ความรู้ คำแนะนำ และเล่าถึงประสบการณ์การทำงานของงานสืบสวนในคดีต่างๆ กับนักสืบรุ่น 5G
“ทำให้รู้ว่า นักสืบไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ ต้องอาศัยความเป็นทีมเวิร์ก ไม่มีชั้นยศ รับฟังความคิดเห็นของทุกคน และพี่ๆนักสืบได้มอบสิ่งที่สำคัญให้กับพวกเรา คือ ทีมนักสืบ 5 G แม้ว่าการอบรมครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งให้เรารู้ถึงวิธีการสืบสวน แต่จะนำความรู้ที่ได้จากการฝึกอบรมหลักสูตรสืบสวนในครั้งนี้ ไปใช้ในทางที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด”
เธอมั่นใจด้วยว่า ในอนาคตอาจมีตำรวจหญิงไปที่ยืนในงานสืบสวนจนเติบโตเป็นระดับผู้บริหาร และอาจเป็นผู้นำหน่วยได้อย่างแน่นอน เพราะส่วนตัวมองว่า งานสืบสวนไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้นที่ทำได้ ออกภาคสนามได้ ทุกคนมีศักยภาพในตัวเอง มีความรู้ความสามารถ มีความตั้งใจที่จะทำงานเพื่อประชาชนเหมือนกัน และการที่มีผู้หญิงเป็นนักสืบ ปัจจัยด้านเพศสภาพก็มีส่วนสำคัญในการเติมเต็มความหลากหลายในสายงานที่ได้ชื่อว่า เป็นงานของผู้ชายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
….
“รู้สึกภูมิใจมาก ๆที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ 5G”
ผู้กองอ๋องแอ๋ง– ร.ต.อ.หญิง วันวิสาข์ ปุยะบาล รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 บ้านเกิดอยู่ ตำบลนาสิงห์ อำเภอศรีวิไล จังหวัดบึงกาฬ เป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่ที่รับราชการครู เข้าประถมศึกษาโรงเรียนบ้านนาสิงห์ ไปต่อมัธยมต้นโรงเรียนศรีวิไลวิทยา มัธยมปลายโรงเรียนบึงกาฬจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ก่อนสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 เพราะเพื่อนชวน ไม่ด้วยซ้ำว่า สอบไปทำอะไร และนายร้อยตำรวจหญิง คือ อะไร ว่ายน้ำก็ไม่เป็น พอสอบติดข้อเขียน ต้องสอบพละ มีว่ายน้ำ มีวิ่ง พ่อแม่มาให้กำลังใจด้วย “ตอนแรกจะว่ายน้ำไม่ถึง สำลักน้ำ แต่คิดว่าไม่อยากยอมแพ้ เพราะพ่อแม่มาไกลมาก คงเสียใจถ้าเราว่ายน้ำไม่ผ่าน ก็เลยอดทนว่ายไปจนถึงฝั่ง และเป็นครั้งแรกที่รู้สึกว่าต้องพยายามทำอะไรสักอย่างให้ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ค่อยได้ทำอะไรด้วยตัวเอง ไม่มีระเบียบวินัยและความอดทน เลยคิดว่าโรงเรียนนายร้อยตำรวจคงเป็นที่ฝึกระเบียบวินัยให้กับเราได้ดี”
เริ่มต้นบรรจุตำแหน่งรองสารวัตร (สอบสวน)สถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น เก็บเกี่ยวเป็นประสบการณ์ที่ดี เมื่อรับผิดชอบทุกคดี ด้วยความคาดหวังอยากช่วยเหลือผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด แต่มีหลายครั้งที่ไม่สามารถทำงานให้สมบูรณ์แบบ เธอรับว่า บางครั้งชาวบ้านที่มาก็ไม่ได้คาดหวังว่าให้พนักงานสอบสวนสั่งฟ้องทุกคดี แต่การช่วยเหลือไกล่เกลี่ยเบื้องต้นให้ปัญหาได้รับการแก้ไขเป็นสิ่งสำคัญ และบ่อยครั้งที่ต้องวิ่งไปถามพี่ ๆที่มีประสบการณ์ให้มาช่วยเหลือให้คำแนะนำ มีหลายครั้งที่มีลืมวันผัดฟ้อง ฝากขัง และบางครั้งก็ต้องมีน้ำตา แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยความช่วยเหลือจากพี่ๆเพื่อนๆที่ทำงานด้วยกัน
สุดท้ายเจ้าตัวตัดสินใจสมัครเข้าอบรมหลักสูตรนักสืบ 5 G เพราะอยากเป็นคนเก่ง และเชื่อว่าเป็นหลักสูตรที่ให้ความรู้กับงานสืบสวนได้มากที่สุด อยากพัฒนาความรู้ด้านงานสืบสวนของตัวเองให้สามารถปฏิบัติงานได้ มีความเชี่ยวชาญ ช่วยเหลืองานของผู้บังคับบัญชา เป็นหลักให้ลูกน้อง และนำไปทำงานแก้ไขปัญหาของประชาชนได้ กระทั่งผ่านบทสัมภาษณ์ต่อหน้า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
เธอไม่ลืมเมื่อเจอถามว่า ทำไมถึงเข้ามาเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ วันนั้นตอบคำถามไปว่า เพราะโรงเรียนนายร้อยตำรวจสอนให้มีความอดทน พยายาม และมีวินัย ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังถามต่อว่าถ้าให้เลือกตำแหน่งที่สูงสุดที่สามารถจะเป็นได้ อยากเป็นตำแหน่งอะไร “ตอนที่ได้ยินคำถาม คิดว่า ถ้าตัวเองเป็นผู้บังคับการ ก็ต้องอยากเป็นผู้บัญชาการ ถ้าเป็นผู้บัญชาการ ก็ต้องอยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถ้าเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ คงไม่ได้อยากเป็นอะไรอีก เพราะมันสูงที่สุดแล้ว ก็เลยตอบท่าน ไปว่าอยากเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”
ในที่สุดผ่านการคัดเลือกเข้าค่ายอบรม นายตำรวจหญิง รู้สึกว่า รักหลักสูตรนี้ รักเพื่อนๆในหลักสูตร และสัมผัสได้ถึงความเมตตาจากท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และคณะครูพี่เลี้ยง พี่ ๆอาจารย์และวิทยากรทุกคน “ รู้สึกภูมิใจมาก ๆที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ 5G สิ่งแรกที่ได้ คือ ความรู้ที่เราอยากมาเพิ่มเติมในงานสืบสวน มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการทำงาน โครงสร้างการสืบสวนมากขึ้น ต่อมา คือ ความอดทน เพราะในหลักสูตรมีการเรียนการสอนที่ค่อนข้างหนัก บางวันเรียนถึงตีหนึ่งตีสอง ในช่วงเวลานั้นก็ต้องทำภารกิจที่อาจารย์ประจำวิชามอบให้ไปด้วย ไม่มีวันหยุด ต้องผ่านคืนข้ามปีไปพร้อมกับเพื่อนๆ ไม่ได้ออกไปไหน”
“สิ่งที่ได้ต่อมาความเคารพซึ่งกันและกัน การเรียนและทำภารกิจแต่ละอย่างด้วยกันมีทั้งพี่และน้อง แต่ละคนมีมุมมองในการทำงานแตกต่างกันไป จุดประสงค์หลักคืองานต้องสำเร็จ จะต้องมีการระดมความคิด จะยึดถือว่าเป็นพี่เป็นคนสำคัญไม่ได้ การเปิดรับความคิดมุมมองของกันและกันจะทำให้งานแต่ละชิ้นนั้นผ่านไปได้ และสิ่งสุดท้ายที่สำคัญที่สุดที่ได้จากหลักสูตร คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ว่าคนหนึ่งคนใด จะหกล้ม เพลี่ยงพล้ำ หรือไม่มั่นใจ คนที่เหลือพร้อมที่จะซัพพอร์ต ให้กำลังใจ ช่วยเหลือ จนก้าวผ่านมันไปได้ และทำให้ไม่กลัวว่าเราจะต่อสู้ไปคนเดียวในเส้นทางการทำงาน เพราะเราจะมีพี่มีเพื่อน มีน้องพร้อมต่อสู้ไปกับเราเสมอ” เธอระบายความรู้สึก
อนาคตเจ้าตัวยังวาดหวังจะนำความรู้ที่ได้รับมาทั้งหมด ไปทบทวน พัฒนาตัวเอง และถ่ายทอดให้กับหน่วยงานที่ตัวเองสังกัดอยู่ให้มากที่สุด อยากเป็นนักสืบที่มีความเชี่ยวชาญ อยากทำคดีที่รับผิดชอบให้ประสบความสำเร็จทุกคดี มองด้วยว่า ผู้หญิงก็ คือ บุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์คนหนึ่งเช่นเดียวกันกับผู้ชาย ไม่อยากให้ใช้ความเป็นเพศมาแบ่งแยกว่าแต่ละคนจะต้องได้รับข้อยกเว้นอย่างไร ทุกคนควรได้รับการเคารพอย่างเท่าเทียมกัน และควรได้รับการยกย่องจากความสามารถของบุคคลนั้น ๆเอง และปัจจุบันอาชญากรรมต่างๆ ก็มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น หากจะใช้แนวคิดดั้งเดิมที่จะยอมรับแค่ผู้ชายมาเป็นผู้นำหน่วยเท่านั้น อาจทำให้มุมมองคดีที่เกิดขึ้นไม่หลากหลาย
“ด้วยความสามารถของตำรวจหญิง โดยเฉพาะนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงที่ผ่านการฝึกฝนมาร่วมกันกับผู้ชาย ผ่านการฝึกอบรมมาด้วยกัน และมีความสามารถไม่แตกต่างกัน ด้วยความสามารถดังกล่าวเชื่อว่าตำรวจหญิงจะมีที่ยืนในงานสืบสวนเติบโตเป็นระดับผู้บริหาร ถึงขั้นอาจเป็นผู้นำหน่วยได้อย่างแน่นอน”เธอมั่นใจ
…..
“ผู้หญิงก็เป็นนักสืบที่เก่งและดีได้ ไม่ใช่เป็นแค่ดอกไม้ประดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
ผู้กองตาล– ร.ต.อ.หญิง วรดา ชูหน้า รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 3 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล ชาวจังหวัดสุโขทัย พ่อรับราชการครู แม่ทำสวน วัยประถมจบโรงเรียนบ้านท่าวิเศษ ตำบลบ้านใหม่ไชยมงคล อำเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ไปต่อมัธยมศึกษาโรงเรียนสวรรค์อนันต์วิทยา อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย แล้วสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 71
เหตุผลที่ตัดสินใจเดินเข้ารั้วสามพราน เธอบอกเกิดจากแรงบันดาลใจที่ครอบครัวมีแค่พ่อที่เป็นข้าราชการครู เติบโตมาด้วยไม้เรียวของพ่อ อยู่ในกฎระเบียบที่พ่อวางไว้ตลอดมาจนทำให้ใช้ชีวิตอยู่ในกฎระเบียบได้อย่างรู้สึกว่า ไม่ใช่กฎระเบียบอะไร และถือเป็นการวางแผนการใช้ชีวิตได้ด้วย เมื่อได้เห็นพี่ศิษย์เก่านำเรื่องราวเกี่ยวกับนักเรียนนายร้อยตำรวจมาแนะแนวก่อนเรียนจบมัธยมศึกษา มีความคิดว่า นี่คือสถานที่ที่จะทำให้เราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ากับการมีชีวิตต่อไป งานที่จะได้ทำก็ได้ช่วยเหลือประเทศชาติและประชาชน ถึงตั้งใจที่จะสอบเข้าไปเรียนให้ได้ เพื่อจะได้เป็นตำรวจตามที่ตั้งใจไว้
หลังจากจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจได้ลงตำแหน่งรองสารวัตร(สอบสวน)สถานีตำรวจภูธรเมืองกำแพงเพชร ทำงานด้านงานสอบสวน พบกับคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายความคิด มีทั้งชื่นชมและเกลียดชัง แต่มีสิ่งที่รู้สึกโชคดี คือ ได้พบเจ้านายและเพื่อนร่วมงานที่ดี ตลอด 3 ปีที่ได้ทำงานสอบสวน แม้พบเจอปัญหาอุปสรรคอะไร เพื่อนร่วมงานทุกคนจะเข้ามาช่วยเหลือเสมอ
“มีสิ่งหนึ่งที่ยังคิดว่าตำรวจโรงพักเรายังทำได้ไม่ดีพอ คือ การสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของเจ้าหน้าที่สืบสวนของโรงพักที่เราอยู่และการให้ความร่วมมือกับพนักงานสอบสวน เป็นส่วนสำคัญในสำนวนการสอบสวน เมื่อไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเพียงพอหรือพยานหลักฐานที่รวบรวมมาส่ง ไม่ละเอียดและรัดกุม จึงทำให้การสรุปสำนวนการสอบสวนเป็นไปได้อย่างยากลำบากและทำให้พนักงานสอบสวนลำบากใจที่จะทำสำนวนต่อ เนื่องจากสุ่มเสี่ยงที่จะโดนร้องเรียนต่อไป ส่วนตัวคิดว่า ในคดีนั้น ๆ เจ้าหน้าที่สืบสวนสามารถรวบรวมพยานหลักฐานได้ดีมากกว่านี้ หากตั้งใจและใส่ใจกับหน้าที่ของตัวเอง หรือหากติดขัดประการใดควรแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ ไม่ใช่เงียบหายไป ส่วนนี้เป็นประสบการณ์การทำงานที่ไม่ค่อยประทับใจซักเท่าไหร่”
ต่อมาทราบว่ามีการเปิดหลักสูตรสืบสวนรุ่นพิเศษ 5G เจ้าตัวตั้งความหวังไว้ทันที ถ้ามีโอกาสขอให้ได้รับคัดเลือกเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ เพราะอยากจะรู้ว่า จะแตกต่างจากหลักสูตรสืบสวนทั่วไปยังไง “ “อยากพิสูจน์ให้ทุกคนได้เห็นด้วยว่า ผู้หญิงก็เป็นนักสืบที่เก่งและดีได้ ไม่ใช่เป็นแค่ดอกไม้ประดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” ผู้กองตาลว่า
สิ่งที่คิดว่าทำให้สัมภาษณ์จนผ่านการคัดเลือกเข้ามาเรียนหลักสูตร 5 G เธอเชื่อว่า เกิดความมั่นใจในตัวเองตอนตอบคำถามและการนำเสนอว่า เป็นคนอึด ถึก ทน ความหมายก็ตามตัวอักษรเลย เพราะส่วนตัวมีความเชื่อว่า ไม่มีความพยายามใดที่จะทำให้งานไม่สำเร็จ มีแต่ความพยายามที่ไม่มากพอเท่านั้นที่ทำให้งานไม่สำเร็จ พอเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรสืบสวนรุ่นพิเศษ 5G แล้วเห็นว่า โลกนี้ยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้และต้องพบเจอผู้คนอีกมาก หากไม่ออกจากโซนปลอดภัยของตัวเอง เราก็จะจมปลักอยู่กับเรื่องเดิมๆ คนเดิมๆ สภาพแวดล้อมเดิมๆ การพัฒนาก็จะไม่เกิด
เจ้าตัวย้ำว่า เมื่อได้เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้แล้วรู้สึกว่า ส่วนที่ตัวเองยังไม่รู้และตั้งข้อสงสัยมากมายไว้ตอนเป็นพนักงานสอบสวน ได้ถูกเติมเต็มเข้าไปพร้อมกับความสามารถเฉพาะตัวที่เพิ่มมากขึ้น กลายเป็นว่าตอนนี้ เราสามารถเข้าใจงานสอบสวนและเป็นนักสืบได้ในคราวเดียวกัน การทำงานก็มีความละเอียดรอบคอบมากขึ้น ตลอด 16 สัปดาห์ที่เรียนกับหลักสูตรนี้มา คณะวิทยากรและครูพี่เลี้ยงทุกท่าน ได้ทุ่มเทและตั้งใจถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนสืบ 5G เป็นอย่างมาก
“หลักสูตรนี้ไม่ได้บ่มเพาะเพียงแค่ความรู้ด้านการสืบสวนเท่านั้น แต่ยังบ่มเพาะให้นักเรียนสืบ 5G ทุกคนมีความรักใคร่กลมเกลียว ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ก้าวผ่านอุปสรรคไปพร้อมกัน มีความสุขร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะเป็นความทรงจำเฉพาะกับนักเรียนสืบ 5G เท่านั้น และความรู้สึกเหล่านี้จะสำคัญมากในการทำงานในอนาคต เพราะจะเป็นความทรงจำให้เราระลึกถึงตลอดชีวิตว่า กว่าจะมาอยู่ในจุดนี้ เราผ่านอะไรมาบ้างและพี่นักสืบกับวิทยากรที่มาสอนคาดหวังอะไรกับเราไว้บ้าง เพื่อที่เราจะได้ไม่ลืมจุดกำเนิดการเป็นนักสืบของตัวเราเอง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การบ่มเพาะให้นักเรียนสืบ 5G มีความกระหายที่จะสืบสวนคดีต่างๆ จนกว่าจะถึงที่สุด มิใช่ทำงานแบบขอไปทีและมีชีวิตอยู่อย่างเรื่อยเปื่อยไปวันๆ”
ความรู้และประสบการณ์ที่ได้ในการฝึกหลักสูตร 5 G เธอเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาบุคคลากรสายงานสืบสวนเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นความรู้ที่จะทำให้การสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่าทันกับโจรผู้ร้ายในยุคปัจจุบัน หากเราเก็บเทคนิคใหม่ๆเหล่านี้ไว้เพียงคนเดียว คาดว่า คงไม่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานมากนัก ในอนาคตคาดหวังว่า ถ้ามีโอกาสจะช่วยสร้างคนที่ตั้งใจและไว้ใจได้มาเรียนรู้เทคนิคการสืบสวนที่ได้เรียนมาจากหลักสูตรนี้เพิ่มเติม ในเวลาเดียวกัน หากมีเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มเติมอีก อยากได้รับโอกาสเข้าไปเรียนรู้ด้วย เพื่อเพิ่มความรู้ให้กับตนเองและนำมาขยายผลให้กับทีมงานของตัวเองต่อไป
สุดท้ายกับภาพตำรวจหญิงในสายตาคนรอบข้างจะเจริญเติบโตบนเส้นทางได้มากน้อยแค่ไหน เธอบอกทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในหน่วยงานไหนย่อมคาดหวังที่จะไปยืนอยู่จุดสูงสุดของหน่วยงานนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่ความสามารถ และโอกาสของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดั่งคำที่ว่า หวังได้ แต่อย่าคาดหวัง ส่วนที่ว่าตำรวจหญิงจะสามารถมีที่ยืนในงานสืบสวนและเติบโตในงานสืบสวนเป็นถึงระดับผู้บริหาร หรือผู้นำหน่วยได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป
“แต่หากเปลี่ยนเป็นว่า ตำรวจหญิงและตำรวจชายมีความสามารถพอที่จะทำผลงานแข่งขันกันเพื่อไปให้ถึงจุดนั้นได้หรือไม่นั้น ส่วนตัวเชื่อว่า ตำรวจหญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าตำรวจชาย อยู่ที่ว่า ตำรวจหญิงคนนั้นจะได้มีโอกาสลงไปในสนามแข่งขันเพื่อนำเสนอความสามารถและผลงานของตัวเองได้หรือไม่เท่านั้น และขอฝากข้อความถึงตัวเองในอนาคตว่า หากได้เป็นผู้นำคนจะไม่ตัดสินคนด้วยเพศสภาพและภาพที่จงใจสร้างแค่เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แยกธาตุให้ออก แล้วจะเห็นความเป็นจริงข้างใน” ทายาทนักสืบสาว 5G ทิ้งคำคม
……
“ผลงาน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ในภายหน้า”
ผู้กองฟิล์ม–ร.ต.อ.หญิงปรียาลักษณ์ ศิริล้วน รองสารวัตรกองกำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล สาวชาวเหนือจังหวัดเชียงราย พ่อแม่รับราชการครู เรียนจบประถมศึกษาและมัธยมตอนต้น โรงเรียนศิริมาตย์เทวี อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ไปต่อมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนสามัคคีวิทยาคม อำเภอเมืองเชียงราย
ตัดสินใจสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 70 แม้ตอนแรกไม่คาดหวังจะมาเป็นตำรวจ พอสอบติดโรงเรียนนายร้อยตำรวเหมือนเลือกเข้ามาเรียนแล้ว แถมได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ที่ดีต่ออาชีพตำรวจ ท่ามกลางความตั้งใจศึกษาต่อและตั้งใจที่จะเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจที่ดี เพื่อจบไปเป็นตำรวจที่ดีต่อไป
เริ่มต้นเป็นรองสารวัตร (สอบสวน) สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ แล้วย้ายเป็นรองสารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตรวจคนเข้าเมือง 5 กระทั่งทราบข่าวโครงการอบรมหลักสูตรสืบสวนรุ่นพิเศษ 5 G เจ้าตัวบอกว่า อยากมาเรียนรู้งานสืบสวน และนำความรู้ไปใช้การทำงานจริงเกี่ยวกับการสืบสวน จนไปถึงการจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษให้ได้ เนื่องจากตอนเป็นพนักงานสอบสวน มีประชาชนมาแจ้งความแต่ก็ยังไม่มีความรู้ หรือความเข้าใจมากพอเกี่ยวกับการหาพยานหลักฐานต่างๆ เมื่อมีโอกาสจึงอยากมาพัฒนาตนเอง
ตอนสัมภาษณ์เธอตอบไปอย่างตรงไปตรงมาว่า เคยมีโอกาสได้สัมผัสหน้างานสืบมาบ้างเล็กน้อย ตอนอยู่กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตรวจคนเข้าเมือง 5 แล้วรู้สึกชอบ เมื่อมีโครงการเปิดอบรมสืบ 5G จึงตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ เพราะอยากมาเรียนรู้งานสืบเพิ่มเติม แล้วนำกลับไปถ่ายทอดต่อให้ลูกน้อง ที่ผ่านการคัดเลือกอาจด้วยบุคลิกภาพที่มุ่งมั่น มั่นใจ จริงใจ ที่ตอบคำถามพี่ๆ จนทำให้พี่ๆ และผู้บังคับบัญชาเห็นและเชื่อมั่นในความสามารถถึงถูกคัดเลือกมา
“รู้สึกภาคภูมิใจและดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของนักสืบ 5G ในการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับความรู้งานสืบสวนจากปรมาจารย์ที่มีความรู้ ความสามารถระดับต้นๆของประเทศไทยที่น้อยคนนักจะได้รับโอกาสนั้นแล้ว ยังได้รับรู้ถึงความเป็นพี่น้อง ความเป็นทีมของพี่ๆ ที่มาให้ความรู้ รู้สึกถึงความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือร่วมกัน ได้ร่วมงานกันทำงานกับเพื่อนๆ ความรัก ความสามัคคีกันในหมู่คณะ เห็นแล้วรู้สึกประทับใจมากๆ”
ตลอดระยะเวลาสามเดือนที่เข้ารับการฝึกอบรมโครงการสืบสวนคดีอาญารุ่นพิเศษ 5 G ผู้กองฟิล์มมองว่า นอกจากจะได้รับความรู้ด้านงานสืบสวนอย่างเต็มเปี่ยม ทั้งเทคนิคการสืบสวนคดีต่างๆ ของอดีต ปัจจุบัน เพื่อนำมาปรับใช้ในอนาคต เทคนิคการซักถาม การสะกดรอย การใช้เครื่องมือต่างๆเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลแล้วนั้น ยังมีสิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งไม่แพ้ไปกว่าความรู้ คือ เพื่อน หรือ 朋友 ในที่นี้ไม่ใช่แค่เพื่อนที่มาอบรมเพียงอย่างเดียว ทั้งครูที่สอน ทีมงานต่างๆที่มาให้ความรู้ มาให้คำแนะนำ ทั้งหมดคือเพื่อน ที่เราต้องช่วยเหลือกัน เอื้อเฟื้อต่อกัน ไม่ใช่เฉพาะแค่พวกของเรา ให้เกิดการทำงานเป็นทีม ความรักความสามัคคีกัน ที่บ่มเพาะพวกเรามาตลอดสามเดือนนี้
หลังจากจบการอบรม เธอคาดหวังได้ลงทำงานสืบสวนจริงๆ อยากนำความรู้ที่ได้เรียนมานำไปใช้สืบสวนคดี จนจับผู้กระทำผิดได้และให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ได้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ท่ามกลางความท้าทายกับคำถามที่ว่าตำรวจหญิงจะเจริญก้าวหน้าเติมโตไปไกลเพียงใดในเส้นทางนักสืบ “ เป็นคำถามที่แฝงความท้าทายและความคาดหวังอยู่ลึกๆ มีคำพูดจากรุ่นพี่ท่านหนึ่ง ที่พูดว่า จงอย่าโต้ตอบคำดูถูกด้วยการเถียง แต่ให้เปล่งเสียงด้วยผลงาน คือ สิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ในภายหน้า คงไม่ใช่แค่พูดที่สวยหรู ดูดี คำกล่าวอ้างต่างๆนานา แต่คงต้องเป็นผลงานที่แสดงออกมาให้เห็นเป็นประจักษ์ เป้าหมายที่ตั้งใจไว้คือ จับผู้กระทำความผิดให้ได้รับโทษตามกฎหมาย ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ทำงานรับใช้ประเทศชาติ ถ้าเราตั้งใจทำงานอย่างจริงใจแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่า ลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นแค่ผลพลอยได้ จะตามมาเอง”
นายตำรวจนักสืบสาว 5 G ทิ้งท้ายว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ดีมาก โครงการหนึ่ง ทุกคนที่ได้รับคัดเลือกมาล้วนแต่มีความตั้งใจอยากเป็นนักสืบทั้งสิ้น และการเป็นนักสืบที่ดีนั้น ไม่ใช่แค่เป็นนักสืบที่เก่งคนเดียวจะทำงานประสบความสำเร็จเสมอไป จะเป็นนักสืบที่ดี และเก่งได้ เพราะมีทีมที่ดีต่างหาก ถึงจะทำงานประสบความสำเร็จได้ โครงการนี้สอนและบ่มเพาะเรื่องพวกนี้ อยากขอบคุณผู้บังคับบัญชาทุกๆท่านที่มีส่วนให้เกิดโครงการดีๆ นี้ขึ้นมา ขอบคุณที่ตั้งใจ เสียสละเวลา พร้อมถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาให้กับน้อง ๆ สุดท้ายอยากให้พวกท่านเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ท่านให้มา หรือคาดหวังอยู่จะไม่สูญเปล่า