เมื่อโลกเปลี่ยนแปลง

 

พ.ต.ท.ภูมิรพี  ผลาภูมิ นายตำรวจนักกฎหมายวิเคราะห์ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย ปี 2565

กำลังจะเพิ่มงานตำรวจ

หลังจากจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 (เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 139 ตอนที่ 66 ก ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2565)

เริ่มตั้งแต่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบ(ผู้ปฏิบัติ) ถ่ายวิดีโอการจับกุม คุมขังจนส่งพนักงานสอบสวน หรือจนปล่อยตัวทุกคดี ไม่ว่า คดีแขวง-จังหวัด

ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้รับผิดชอบ(หัวหน้าหน่วย) แจ้งรายงานการจับกุม คุมขัง ไปอัยการ + อำเภอ(ต่างจังหวัด)หรืออัยการ+นิติการ กรมการปกครอง(กรุงเทพมหานคร )ท้องที่ที่ควบคุมตัว ทุกคดี ไม่ว่า คดีแขวง-จังหวัด

ขณะจับกุมเป็นเหตุซึ่งหน้า ไม่มีกล้อง/มือถือบันทึกวิดีโอจะทำอย่างไร

กำหนดให้หมายเหตุในบันทึกจับกุมได้ครับ ถือว่า “เป็นเหตุสุดวิสัย”

แต่การไม่บันทึกวิดีโอโดยไม่มีเหตุสุดวิสัยที่จะทำให้ไม่สามารถทำได้นั้น และการไม่แจ้ง การจับกุม/ควบคุมตัวผู้ต้องหาต่ออัยการ หรือนายอำเภอ แม้พระราชบัญญัติทรมาน-สูญหายไม่ได้กำหนดบทลงโทษไว้

อาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีการพิจารณามาตรา 157 และมีความผิดทางวินัยด้วย

ดังนั้นเมื่อบริบทของโลกเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อะไรที่ทำกันเคยชินให้ระวังความผิดพลาด

ยกตัวอย่าง สาระสำคัญ ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวกำหนดในบททั่วไป

มาตรา 5 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นเกิดความเจ็บปวด หรือความทุกข์ทรมานอย่างร้ายแรงแก่ร่างกายหรือจิตใจ เพื่อวัตถุประสงค์อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(1) ให้ได้มาซึ่งข้อมูลหรือคำรับสารภาพจากผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

(2) ลงโทษผู้ถูกกระทำเพราะเหตุอันเกิดจากการกระทำหรือสงสัยว่ากระทำของผู้นั้นหรือบุคคลที่สาม

(3) ข่มขู่หรือขู่เข็ญผู้ถูกกระทำหรือบุคคลที่สาม

(4) เลือกปฏิบัติไม่ว่ารูปแบบใด

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำทรมาน

มาตรา 6 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐลงโทษหรือกระทำด้วยประการใดที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นเหตุให้ผู้อื่นถูกลดทอนคุณค่าหรือละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือความทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจที่มิใช่การกระทำความผิดตามมาตรา 5

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

การกระทำตามวรรคหนึ่ง ไม่รวมถึงอันตรายอันเป็นผลปกติ หรือสืบเนื่องจากการลงโทษทั้งปวงที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 7 ผู้ใดเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐควบคุมตัว หรือลักพาบุคคลใด โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิเสธว่ามิได้กระทำการดังกล่าว หรือปกปิดชะตากรรมหรือสถานที่ปรากฏตัวของบุคคลนั้นซึ่งส่งผลให้บุคคลนั้นไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหาย การกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งให้ถือเป็นความผิดต่อเนื่องจนกว่าจะทราบชะตากรรมของบุคคลนั้น

มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5  ความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7  นอกราชอาณาจักร ต้องรับโทษในราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้ โดยให้นำความในมาตรา  10  แห่งประมวลกฎหมายอาญา มาใช้บังคับด้วย

มาตรา 9 การกระทำความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5  และการกระทำความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7  มิให้ถือว่าเป็นความผิดที่มีลักษณะทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน และความผิดทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา

มาตรา 10 ในคดีความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ให้ดำเนินการสืบสวนจนกว่าจะพบบุคคลซึ่งถูกกระทำให้สูญหายหรือปรากฏหลักฐานอันน่าเชื่อว่าบุคคลนั้นถึงแก่ความตาย และทราบรายละเอียดของการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด

มาตรา 11 ในคดีความผิดฐานกระทำทรมานตามมาตรา 5 หรือความผิดฐานกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 6 ซึ่งผู้เสียหายไม่อยู่ในฐานะที่จะร้องทุกข์หรือกล่าวโทษด้วยตนเองได้ หรือความผิดฐานกระทำให้บุคคลสูญหายตามมาตรา 7 ให้สามี ภริยา ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรส ผู้อุปการะและผู้อยู่ในอุปการะของผู้ถูกกระทำทรมาน ผู้ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือผู้ถูกกระทำให้สูญหายตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วแต่กรณีเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วย

มาตรา 12 พฤติการณ์พิเศษใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะสงคราม หรือภัยคุกคามที่จะเกิดสงคราม ความไม่มั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ หรือสถานการณ์ฉุกเฉินสาธารณะอื่นใด ไม่อาจนำมาอ้างเพื่อให้การกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

มาตรา 13  ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย

ท่องเอาไว้ โลกเปลี่ยนไปแล้ว อย่าพลาดท่าพลั้งเผลอ

ลุแก่อำนาจอุ้มใครไปรีดทรมาน หรือทำให้หายไปเหมือนในอดีตไม่ได้แล้ว

 

 

RELATED ARTICLES