สังสรรค์ตำนานสืบสวนเหนือ

 

ปฐมบทของกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ

เริ่มต้นเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2503 มี พ.ต.อ.วิเชียร แสงแก้ว นั่งผู้กำกับการคนแรก ก่อนสร้างตำนานเหล่านักสืบมือพระกาฬมากมายประดับวงการสีกากี

กระทั่ง “ยุบสลาย” แตกกระจายไปเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2540 ชะตากรรมเดียวกับกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครใต้ และกองกำกับการสืบสวนตำรวจนครบาลธนบุรี

แลกกับการกำเนิดใหม่ของกองกำกับการสืบสวนนครบาล 1-9

ละลายหายไปพร้อมมนต์ขลังและวิญญาณนักสืบมืออาชีพ

ตลอดระยะเวลาเกือบ 40 ปี กองสืบสวนเหนือ ถือเป็นหน่วยนักสืบที่หลายคนมุ่งมั่นอยากมาใช้ชีวิตนอกเครื่องแบบสักครั้ง เพื่อสัมผัสบรรยากาศ เรียนรู้ประสบการณ์ทำงานอย่างเป็นระบบ หลังจากพวกเขาสร้างชื่อเสียงผลิตผลงานชิ้น “โบแดง” พิชิตคดีสำคัญระดับชาติไว้จำนวนไม่น้อย

กลิ่นควันปืน คาวเลือด น้ำมันกับถังแดงในอดีตไม่เคยจางจากความทรงจำมือปราบหลายคน

พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา และพล.ต.ท.จิรสิทธิ์ มหินทรเทพ จึงเป็น “โต้โผ” นัดพบปะสร้างสรรค์ ศิษยเก่าสืบสวนเหนือ-สืบสวนนครบาล 1 ประจำปี เพื่อถามไถ่สารทุกข์สุขดิบ พูดคุยเรื่องราวเก่า ๆ

กลับมากินข้าวหม้อเดียวกันอีกครั้ง

ไม่แบ่งชั้นประทวน หรือสัญญาบัตร ไม่มีนายพล ไม่มีนายดาบ

ปีนี้นัดกัน ร้านโอวยั๊วะ ใต้สะพานพระราม 7  เมื่อเที่ยงวันที่ 7 ธันวาคมที่ผ่านมา

นักสืบเก่ามาร่วมงานกันหนาตา ระดับอาวุโส อาทิ พล.ต.ต.วาทิน คำทรงศรี พล.ต.ต.คงเดช ชูศรี พ.ต.อ.สัญจัย บุณยเกียรติ พล.ต.ต.มณเฑียร ประทีปวณิช พล.ต.ต.ฐณพล มณีภาค พล.ต.ต.ชัชชรินทร์ สว่างวงศ์ พ.ต.อ.สมภพ พงษ์ฤกษ์ พ.ต.อ.สรรค์หกิจ บำรุงสุขสวัสดิ์ พ.ต.อ.สีห์ศักดิ์ สร้อยศรี

ส่วนรุ่นเล็กสุดน่าจะเป็น พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรระแงะ จังหวัดนราธิวาส ลูกศิษย์ก้นกุฏิ พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ที่บินตรงมาจากชายแดนด้ามขวาน ร่วมกับบรรดา “มดงานมือฉมัง” ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคดีอีกหลายชีวิต

และที่มารวมแจมเป็นประจำ คือ พล.ต.ต.อังกูร อาทรไผท อดีตนายตำรวจแห่งสืบสวนใต้

เสียดายอีกหลายคนติดภารกิจไม่ได้มาร่วมพบปะสังสรรค์

พล.ต.อ.ภาณุพงศ์ บอกว่า ตลอดระยะเวลาที่อยู่สืบสวนเหนือได้เรียนรู้การทำงานจากรุ่นพี่หลายคน เป็นต้นตำราการสืบสวนของกรมตำรวจ และเห็นความเปลี่ยนแปลงของแต่ละยุคสมัย ตั้งแต่ยุคแรกที่ตำรวจสืบสวนยังทำงานนอกระบบ ก่อนปรับมาเลี้ยงสายไว้จับโจร กระทั่งอาศัยร่วมมือจากประชาชน สุดท้ายในโลกปัจจุบัน คือ การทำงานโดยใช้เทคโนโลยี

ไม่มีอีกแล้วมานั่งเฝ้าจุดสะกดรอยตามคนร้ายเป็นวัน

ชีวิตนักสืบสมัยก่อนถึงเสี่ยงคุกเสียงตะราง เสี่ยงออกจากราชการ ทั้งที่ทำตามหน้าที่

ใครยืนอยู่บนเส้นทางจวบจนเกษียณราชการถือเป็นกำไรชีวิต

 

RELATED ARTICLES