“ลองมาวิเคราะห์กันดูซิว่า ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไป” ชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ ทีมผู้บริหารหนังสือพิมพ์สยามโพสต์พูดในห้องอบรมนักข่าวใหม่ฆ่าเวลาก่อนปล่อยพวกเราลงสนามไปเกาะสถานการณ์ชุมนุมขับไล่รัฐบาลที่ท้องสนามหลวง
ผมเป็นคนไม่ชอบข่าวการเมือง แต่ห้วงเวลานั้นไม่สนใจไม่ได้ เพราะบ้านเมืองกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียด ขณะที่ผมก็เข้าไปสวมบทบาทเป็นนักข่าวเต็มตัวแล้ว
“ใครคิดว่า คุณอานันต์ ปันยารชุน จะกลับมารับเป็นอีก” ชุ่มชื่นถามย้ำ
ประสบการณ์ของแกดูเหมือนจะมองขาดว่า หมดเวลาเก้าอี้ผู้นำประเทศของ พลเอกสุจินดา คราประยูร แล้ว แม้รัฐบาลคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจะยังแสดงแสนยานุภาพอันแข็งกร้าวอยู่ เหล่าเพื่อนนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 5 น่าจะค้ำบัลลังก์นายกรัฐมนตรีของพลเอกทหารคนดังได้สบาย
“จำลอง ศรีเมือง ล่ะครับ”นักข่าวเลือดใหม่ออกความเห็น
“ไม่แน่เหมือนกันนะ”เรืองชัย ชาญวนิชย์กุลชัย เพื่อนร่วมอบรมหันมาหัวเราะกับผม
“แต่กูไม่เลือกว่ะ” ผมบอกแข็งกระด้าง
ด้วยความที่ผมยังมีรอยฝังใจสมัยพลตรีจำลอง ศรีเมือง ลงสมัครชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามพรรคพลังธรรม แข่งกับพลตำรวจตรีหม่อมราชวงศ์เจตจันทร์ ประวิตร ที่สวมเสื้อพรรคประชากรไทย ตอนนั้นถึงผมยังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 4 ไม่มีสิทธิเข้าคูหากาเบอร์ แต่ผมก็เอาใจช่วยหม่อมผู้มีพระคุณต่อครอบครัวผมเต็มประตู
มหาจำลองสวมเสื้อม่อฮ่อมชนะการเลือกตั้งถล่มทลาย ผมถึงค่อนข้างมีใจไม่เป็นกลางสำหรับนายพลตรีทหารหัวเกรียนท่านนี้
“เฮ้อ…แต่วันนี้กูก็ต้องไปฟังมันขึ้นปราศรัย” ผมตัดพ้อแบบเซ็ง ๆ
“เอาล่ะ ขอให้ทุกคนโชคดีเก็บรายละเอียดบรรยากาศมาให้ได้มากที่สุดแล้วมาเจอกันวันจันทร์นะ” ชุ่มชื่นจัดแจงปิดอบรม
ผมแยกตัวบินเดี่ยวขึ้นรถเมล์ไปลงหลานหลวงแล้วเดินเลาะถนนราชดำเนินที่เต็มไปด้วยฝูงชนนอนระเกะระกะอยู่ทั่วบริเวณรอเวลานัดหมายไปรวมพลท้องสนามหลวงตอนค่ำ
“สวัสดีครับพี่อ๋อย” ผมเข้าทักทายอลงกฎ จิตต์ชื่นโชติ หัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่เคยไปฝึกงานตระเวนอยู่ 2 เดือน หลังพี่แกลงไปบัญชาเกมในภาคสนามด้วยตัวเอง
“ว่าไงไอ้หนู ตอนนี้ทำอะไรอยู่หรือ”
“ผมเพิ่งได้งานทำที่สยามโพสต์ครับ”
“อ๋อ ของป๋าโรจน์นี่นา ดีแล้ว”
“ครับพี่ เดี๋ยวผมขออนุญาตเดินดูบรรยากาศก่อนนะครับ”
“เออ โชคดี แล้วเจอกันนะไอ้หนู” หัวหน้าข่าวหนุ่มใหญ่ส่งท้าย
บรรยากาศคลื่นมนุษย์เต็มฝั่งถนนราชดำเนินกลางไล่จากสะพานผ่านฟ้าลีลาศเข้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยันหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ใกล้ท้องสนามหลวงวันนั้น ทำให้ผมนึกถึงภาพเก่าสมัยนิสิตนักศึกษาและประชาชนเดินขบวนครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ก่อนจบด้วยการนองเลือด
“หวังว่าครั้งนี้ประวัติศาสตร์คงไม่ซ้ำรอยนะ” ผมคิดลำพัง
“พี่น้องครับ เราจะชุมนุมกันปราศจากอาวุธ เราจะสู้กันอย่างอหิงสา พวกเราทุกคนพร้อมหรือยังครับ” พลตรีจำลอง ศรีเมือง ขึ้นเวทีท้องเคาะระฆังเรียกเสียงปรบมือจากผู้ชุมนุมนับหมื่นคน
ชนวนเรื่องราวของการรวมตัวขับไล่รัฐบาลทหาร ความจริงเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 หลังคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ยึดอำนาจจากรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี ก่อนเชิญนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีรักษาการ มีการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติร่างรัฐธรรมนูญใหม่
ต่อมา มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2535 ได้พรรคสามัคคีธรรม เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เตรียมเสนอนายณรงค์ วงศ์วรรณ หัวหน้าพรรคขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เมื่อนายณรงค์มีชื่ออยู่ในบัญชีดำพัวพันนักค้ายาเสพติดจนห้ามเดินทางเข้าสหรัฐอเมริกา จึงมีการเสนอชื่อ พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน สร้างความไม่พอใจของประชาชนในวงกว้าง เนื่องจากเจ้าตัวเคยปฏิเสธจะรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับตระบัดสัตย์กลื่นน้ำลายตัวเองอ้างว่า “เสียสัตย์เพื่อชาติ” กลายเป็นชนวนสำคัญให้เกิดการเคลื่อนไหนคัดค้านของประชาชน รวมถึงการอดอาหารประท้วงของ ร้อยตรีฉลาด วรฉัตร และ พลตรีจำลอง ศรีเมือง มีกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ รวมตัวออกมาเสนอข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง และเสนอว่าผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
พวกเขาเริ่มชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายนได้คลื่นฝูงชนร่วมก่อตัวเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จนบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะตึงเครียดกำหนดทิศทางความเป็นไปของประเทศไม่ได้
“พวกเราจะสู้ไม่ถอยใช่มั้ย” มหาม่อฮ่อมปลุกเร้า
“ใช่”
“สู้ไม่สู้”
“สู้”
“พวกเราจะชุมนุมกันจนกว่านายกรัฐมนตรีจะลาออกใช่มั้ย” แกนนำม็อบกระตุ้นหนัก
เมื่อเสียงตอบรับกระหึ่มได้ที พลตรีจำลองตัดสินใจทำเซอร์ไพรส์บนเวที ทำเอาผมอดขนลุกตามไม่ได้
“ถ้าอย่างนั้น พวกเราพร้อมหรือยังที่จะเดินไปทำเนียบรัฐบาลกับผม”
“พร้อม” คำตอบของคนเรือนแสนดังเป็นเสียงเดียวกัน
ผมเริ่มมีลางสังหรณ์ทันทีว่า คืนนี้คงบานปลายแน่ เพราะผู้คนจำนวนมากขนาดนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจคงยากคุมสถานการณ์ได้ เนื่องจากไม่ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือล่วงหน้า ผมเลยรีบสาวเท้าก้าวเป็นเสมือนทัพแรก เฉกเช่นบรรดานักข่าวช่างภาพอีกหลายคนไปตามถนนราชดำเนินกลาง
“เอาแล้วไง” ผมพึมพำ
กองกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนสวมชุดฟาติกสีน้ำเงินถือโล่ กระบอง ขึงลวดหนาม ตั้งแถวตรึงอยู่เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ มีรถดับเพลิงอยู่แถวหลังถัดไป ส่งสัญญาณสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านมุ่งหน้าทำเนียบรัฐบาลได้
สักพักกองทัพมนุษย์ก็มาเผชิญหน้าคนในเครื่องแบบ เสียงโห่ไล่ดังอย่างบ้าคลั่ง ผมเลือกหลบแนวหลังตำรวจเพราะคิดว่า น่าจะปลอดภัยกว่า อุณหภูมิเริ่มร้อนระอุขึ้น บรรดามวลชนหยิบก้อนหิน กระถางต้นไม้ คอนกรีตที่ใช้ปูทางเท้าขว้างปาใส่กลุ่มตำรวจจนต้องยกโล่กำบังเป็นพัลวัน อิฐบางก้อนเฉี่ยวหัวให้ผมเสียวเล่นไม่น้อย ทว่าบางก้อนเข้ากระแทกหน้านิพนธ์ ปฏิวงศ์ไพศาล รุ่นพี่นักข่าวตระเวนสำนักหัวเขียวจนเลือดอาบ
ผมรู้สึกไม่สนุกกับเกมเดือดนี้แล้ว
พลังคลั่งของมวลชนที่แกนนำเองไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ต่างแหกวงล้อมฝ่าลวดหนามเข้ารุมทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจจนเกิดการปะทะกันไม่ต่างฉากสงครามกลางเมือง รถดับเพลิงพยายามฉีดน้ำดับอารมณ์ร้อน แต่กลับกลายเป็นเสมือนราดน้ำมันลงบนกองไฟให้ลามใหญ่โต
แสงแฟลชจากกล้องบันทึกภาพนับร้อยกระพริบให้เห็นนาทีตำรวจรุมตีประชาชน ฝูงผู้คนไล่ยำตำรวจ ในจำนวนนั้น มี นรรัตน์ ดิษยบุตร ช่างภาพร่างเล็กของเดอะเนชั่นฉกฉวยวินาทีทองจับภาพสำคัญประวัติศาสตร์การเมืองไทยในเดือนพฤษภาคม 2535 ลงสู่แผ่นฟิล์มไว้ได้คาตา
ยกแรกตำรวจเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ยับเยิน พลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลต้องถอดเครื่องแบบทิ้งแล้ววิ่งหนีเข้าแนวหลังเชิงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จุดสกัดด่านสุดท้ายก่อนถึงทำเนียบรัฐบาล กลุ่มผู้ชุมนุมเฮโลกันทุบสัญญาณไฟจราจร เผารถตำรวจ ก่อนสุมไฟผลาญอาคารโรงพักนางเลิ้งวอดวายจนเกือบปล่อยผู้ต้องขังออกมาจากกรงไม่ทัน
“มันขนาดนี้เชียวหรือ” ผมยืนน้ำตาซึมท่ามกลางเปลวเพลิงที่กำลังเผาอารมณ์มนุษย์
กองทัพขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรียึดหัวหาดสะพานผ่านฟ้าลีลาศเป็นที่เรียบร้อย พลตรีจำลอง ศรีเมือง ยืนอยู่บนรถบรรทุกที่ทำเป็นเวทีเคลื่อนที่ประกาศผ่านไมค์ถึงชัยชนะพร้อมให้ทุกคนหยุดพักเพื่อดูท่าทีของรัฐบาลก่อน
ผมต้องเดินหวาดระแวงหวั่นเจ้าหน้าที่จะเข้าใจผิดคิดว่า เป็นพวกผู้ชุมนุม เนื่องจากไม่มีบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว แถมต้นสังกัดดันเป็นหนังสือพิมพ์น้องใหม่ที่ยังไม่ได้วางแผงในท้องตลาด ผมเลยตัดสินใจวนเวียนปะปนอยู่กับกลุ่มนักข่าวตระเวนอาชญากรรมหลายสำนัก ซึ่งพอคุ้นหน้าคุ้นตาสมัยไปฝีกประสบการณ์ที่ต่างนั่งอ่อนระโหยโรยแรงพักผ่อนอยู่หน้าอาคารกรมโยธาธิการ หัวถนนดำรงรักษ์ เชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
“อ้าวพี่เน สวัสดีครับ”
“เฮ้ย มึงมาทำอะไรวะ”
ยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ผมอุ่นใจทันทีที่เจอหน้าสมคะเน ศิริวัฒน์ รุ่นพี่คณะนิเทศศาสตร์เป็นนักข่าวประจำอยู่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ทักทายไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบพอประมาณ ผมชิงออกตัว
“พี่ครับ ถ้ามีอะไรเรียกผมด้วยนะ แบตวิทยุผมหมดแล้ว”
“เออ มึงอยู่แถวนี้แหละ ได้ข่าวว่า พรุ่งนี้เช้าเขาจะเคลียร์ว่ะ” สมคะเนเตือนให้รับมือ
“ถ้าอย่างนั้น ถ้าพี่ไปไหน ผมไปด้วยนะครับ”
“โอเค”
ล่วงเข้าเวลาตีสี่เศษ เสียบตบเท้าท็อปบูทของกองกำลังทหารดังมาจากฟากสะพานมัฆวานรังสรรค์ ปลุกให้บรรดานักข่าวหายงัวเงีย ส่วนผู้ชุมนุมกลับมาคึกคัก
“เฮ้ย สงสัยเขาจะเคลียร์แล้วว่ะ” นักข่าวรุ่นใหญ่คนหนึ่งจุดประเด็น
ผมมองซ้ายมองขวาไม่เห็นพี่ชายร่วมชายคานกน้อยไร่ส้มแล้ว แต่ยังพอใจชื้น เพราะนักข่าวกลุ่มใหญ่ยังรวมตัวกันอยู่ที่เดิม
“ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง” เสียงกระสุนคำรามมาแต่ไกล เหล่าประชาชนไร้อาวุธต่างวิ่งกระเจิงจากหน้าสนามมวยราชดำเนินมาทางเชิงสะพานผ่านฟ้าลีลาศที่กองทัพใหญ่ตั้งฐานอยู่ตรงนั้น ผมกับบรรดานักข่าวช่างภาพหลายสำนักตัดสินใจวิ่งสวนไปตามเสียงปืนที่ดังขึ้นเพื่อต้องการให้รู้ว่า เกิดอะไรกันแน่
กระสุนห่าใหญ่ดังอีกระลอก
คราวนี้กองพลสีขี้ม้าเดินเรียงแถวหน้ากระดานสาดคมอาวุธไล่ขึ้นฟ้าปรากฏเป็นสีแดงฉาน อีกกลุ่มกระหน่ำแนวราบสร้างความแตกตื่นพาเอาฝูงมนุษย์หนีตายอลหม่าน
“ช่วยด้วยครับ ช่วยด้วย ทหารยิงประชาชน” ชายคนหนึ่งหิ้วปีกเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่เต็มไปด้วยเลือดร้องตะโกนลั่น
เสียงปืนสงบ ทว่าสถานการณ์ความรุนแรงยังไม่มีทีท่ายุติลง
มหาจำลอง และแกนนำถูกคลื่นประชาชนหลายหมื่นรายล้อมดุจดั่งเกราะเหล็กกันกระสุนตั้งหลักอยู่ใกล้ป้อมชัยปราการตัดสินใจขึ้นเวทีปลุกระดมเรียกขวัญ
“พี่น้องครับ ไม่ต้องกลัวครับ พวกเราอย่าถอย พวกผมพร้อมจะยืนเคียงข้างต่อสู้ร่วมกับท่านจนกว่าสุจินดาจะลาออก…สู้ไม่สู้ ”
พลังมวลชนที่ตอนแรกเหมือนจะสลายตัวกลับมามีแรงฮึดอีกครั้ง หน่วยกล้าตายลุกฮือเดินไปประจันหน้ากองทัพทหารติดอาวุธตรงสะพานมัฆวานรังสรรค์ ไม่นานก็มีเสียงปืนดังขึ้นต่อเนื่อง และยิ่งใกล้ผมเข้ามาทุกที
ผมต้องก้ม ๆ เงย ๆเหลียวหลังไปมอง เห็นพายุกระสุนพุ่งมาหลายแนววิถีตรงเข้ากลุ่มผู้ชุมนุมจนพากันร้องครวญครางระงมด้วยความเจ็บปวด
“มันตั้งใจยิงจริง ๆ นี่หว่า ไม่ได้ยิงขึ้นฟ้าข่มขู่แล้ว” นักข่าวแถวแรกตะโกนวิ่งหนียมทูตออกมา
ผมเลยต้องใส่เกียร์ถอยกลับมาตั้งหลักใหม่ตรงหน้าอาคารกรมโยธาธิการ ท้องฟ้าเริ่มสางทอแสงสว่างเป็นประจักษ์พยานความวิบัติของประเทศกับเหตุการณ์คนไทยล้างเลือดด้วยกันเอง
ทหารยังคงระดมยิงอย่างมันมือ ผู้คนล้มกลิ้งโดนคมกระสุนบาดเจ็บไม่น้อย ส่วนตัวผมพยายามเดินเลี่ยงหลบไปทางถนนดำรงรักษ์ รอดูสถานการณ์อยู่ตรงสะพานมหาดไทยอุทิศใกล้สถานีตำรวจดับเพลิงภูเขาทอง
“ปุ๊ย แกมายังไงเนี่ย”
วรางคณา ชนะภัย เพื่อนสาวนักกิจกรรมตัวยงสมัยเรียนอยู่คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิ่งหอบมาเจอผมพอดี
“แล้วแกล่ะ” เธอถาม
“ทำข่าว แกล่ะ ยังไม่ตอบเลย”
“มาชุมนุมกะเขาตั้งแต่เมื่อวานแล้ว”
“แล้วนี่จะเอายังไงต่อ แม่นักอุดมการณ์จ๋า” ผมแหย่
เพื่อนผมคนนี้ค่อนข้างอุดมการณ์สูง เรียนดี แถมยังเป็นตัวหลักของกลุ่มทำกิจกรรมคณะ ชีวิตเธอน่าสงสาร เพราะต้องสูญเสียพ่อจากอุบัติเหตุรถมอเตอร์ไซค์คว่ำในวันครบรอบวันคล้ายวันเกิดของตัวเธอเองตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย นับจากนั้นมาแววตาอันเศร้าของเธอมักจะปรากฏเปื้อนอยู่บนใบหน้าเจ้าตัวเสมอ
“ชั้นอยู่ต่อ ชั้นจะสู้ต่อ ชั้นจะไม่กลับ”
“บ้าแล้วแก” ผมชักหมั่นไส้ ขณะที่เสียงปืนเริ่มไล่ใกล้เข้ามาทุกที
“ตายเป็นตาย” สาวเจ้าไม่หยุดพล่าม
“เราว่าไปก่อนเถอะปุ๊ย”
“ชั้นจะยอมตาย ชั้นไม่ไป แกไปเถอะ” ยอดหญิงนักประชาธิปไตยประกาศจุดยืนยอมพลีชีพสังเวยกองกำลังใจทมิฬ