“การที่จะมาเป็นผู้ประกาศคนหนึ่งให้เป็นที่ยอมรับ ต้องมาจากความสามารถของตัวเอง”

มาชิกใหม่ค่ายทีวียักษ์เขียว

“พี”รพีพรรณ เรือนศรี คนข่าวสาวไทยรัฐทีวี กำลังเดินตามฝันวัยเด็ก

เกิดอำเภอพาน จังหวัดเชียงราย หลังจบชั้นมัธยมปลายโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ได้โควตานักเรียนทุนเรียนดีเข้าไปศึกษาต่อคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายคว้าปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับ 2 เป็นเกียรติประวัติตัวเอง

“ ตอนแรกไม่เคยวางแผนชีวิต แค่อยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เพ้อฝันไปตามประสาเด็ก พอโตก่อนเข้ามหาวิทยาลัย เริ่มคิดว่า ชอบอะไรบันเทิง บันเทิง เลือกเรียนนิเทศดีกว่า แต่ไม่คิดเป็นนักข่าว ไม่เคยชอบอาชีพนี้ อยากเป็นผู้ประกาศข่าวมากกว่า อยากออกทีวีตามประสาเด็กบ้านนอก เห็นเขานั่งสวย ๆ อ่านข่าวแล้วชอบ”เจ้าตัวย้อนวันวาน

เธอบอกว่า พอตอนเรียนก็ไม่สนใจอะไร ไม่รู้ว่า จะได้เป็นหรือไม่ผู้ประกาศข่าว หรือจบไปจะมีงานทำหรือเปล่าจนอาจารย์คนหนึ่งเห็นแวว ไม่รู้เหมือนกันเขาเห็นแววอะไร เพราะตอนเรียนเที่ยวอย่างเดียว ชอบความสนุกสนาน แต่ก็ไม่ทิ้งการเรียน อาจารย์คนนี้เคยเป็นช่างภาพอยู่หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่นแนะนำให้เราไปฝึกงานนักข่าวดีกว่า

เด็กสาวเลยมีโอกาสเข้าโครงการสายฟ้าน้อยเข้ากรุงมาฝึกงานค่ายหนังสือพิมพ์หัวภาษาอังกฤษริมถนนบางนา-ตราดเป็นเวลา 3 เดือนเต็ม พีเล่าว่า  อาจารย์ให้เลือกข่าวการเมืองไม่อย่างนั้นจะไม่ได้อะไรเลยกับการฝึกงานครั้งนี้ แต่ด้วยความที่กลัว มันดูใหญ่มาก รู้จักแค่ว่านายกรัฐมนตรีชื่ออะไรเท่านั้น ไม่เคยสนใจ เหมือนวัยรุ่นทั่วไปไม่ชอบการเมือง อะไรก็ไม่รู้ ทะเลาะกันอยู่ได้ เขาถามว่าอยากฝึกโต๊ะอะไร ก็เปลี่ยนความคิดอยากฝึกสายอาชญากรรม น่าจะสนุกตื่นเต้นกว่า ปรากฏว่า เต็ม สุดท้ายไม่พ้นโต๊ะการเมือง

คนข่าวชาวเหนือเล่าต่อว่า ถูกส่งประจำทำเนียบรัฐบาล ติดตามอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ฝึกได้เดือนเดียวต้นสังกัดก็ปล่อยให้ทำข่าวเองกับช่างภาพ ยอมรับว่า ตอนแรกกลัว เพราะนายกฯอภิสิทธิ์พูดเยอะมากจนจดไม่ทันหลังข้างในกองบรรณาธิการโทรมาเร่งเอาประเด็นแล้ว พอผ่านไป 3 เดือนก็สนุกดี ได้อะไรเยอะมาก รู้สึกว่าการเมืองตื่นเต้น รู้ว่าการเมืองเป็นอย่างนี้หรือ เล่นกันอย่างนี้เลยหรือ มีบริบทหลายอย่างที่คนทั่วไปไม่ได้รู้ เราได้รู้เพราะเราอยู่ตรงนั้นเลยตัดสินใจแน่วแน่ว่า จะยึดอาชีพนักข่าวดีกว่า  มาถูกทางแล้ว

จบจากรั้วมหาวิทยาลัยบ้านเกิด พีได้เริ่มต้นทำงานจริงจังทันทีที่โต๊ะข่าวการเมือง สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น เธอว่า ตอนแรกกดดันสุด เพราะต้องเร็ว ต้องส่งเอสเอ็มเอส ต้องส่งข่าวให้ทันต้นชั่วโมง เรายังใหม่จับประเด็นไม่ค่อยแข็ง ด้วยความที่ไม่มีพื้นฐานการเมืองเลยตั้งแต่มีชีวิตมา เพิ่งมาได้เรียนรู้ตอนฝึกงานเดอะเนชั่นแค่ 3 เดือน เขามอบหมายให้ไปอยู่กระทรวงมหาดไทย ดูพรรคภูมิใจไทย ยากมาก “เข้าไปใหม่ไม่รู้จักใครเลย คิดในใจไม่เอาดีกว่า ถึงขั้นคิดจะกลับไปอยู่บ้าน ไปทำงานที่บ้านดีกว่า มันเช็กไม่ได้ มันทรมาน จะให้ทำยังไงในเมื่อออฟฟิศไม่เข้าใจเรา เราทำงานใหม่ แหล่งข่าวที่ไหนจะมาให้ข้อมูลเรา เรายังไม่สนิทกับเขา กดดันมาก”  

อยู่ได้ 3-4 เดือน เกิดเหตุการณ์ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ เธอถูกส่งไปอยู่กับม็อบตามสถานการณ์ตั้งแต่เริ่มต้นสะพานผ่านฟ้าถึงวันสลายการชุมนุม “มันเป็นประสบการณ์ที่ถือว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เข้าไปอยู่ในประวัติศาสตร์ของความขัดแย้งในประเทศ ได้เห็นเอ็ม 16 เห็นเอ็ม 79 เห็นคนเจ็บคนตายจริง ในเหตุการณ์นั้น กลัวนะ แต่มันคือ หน้าที่เรา วันแรกที่สลายการชุมนุม อยู่แยกศาลาแดง ตัวสั่น กลัวมาก ถนนเงียบเหมือนกรุงเทพฯร้าง ไม่รู้ปืนจะมาตรงไหน เพราะเป็นเขตใช้กระสุนจริง คิดว่า ถ้าวันนี้โดนยิงจะทำอย่างไร แม่โทรมาทุกวันช่วงที่มีการชุมนุมบอกให้ลาออก ชวนกลับไปอยู่บ้าน คือ คนที่ดูทีวีอยู่ทางบ้านก็จะกลัว เพราะสื่อนำเสนอดูหน้ากลัว จะพยายามบอกแม่ว่า ไม่ได้เป็นอย่างที่แม่เห็นในทีวี”

พีถ่ายทอดประสบการณ์ระทึกบนสนามข่าวอีกว่า มีนักข่าวช่างภาพโดนยิงหลายคน ก็เริ่มคิดจะไปดีไหม แต่ด้วยความที่เป็นนักข่าว เห็นเพื่อนคนอื่นอยู่ เราต้องอยู่ เขาวิ่งไปไหนเราก็ไป ผ่านเหตุการณ์ไปถึงบ่อนไก่เริ่มค่ำ สถานการณ์รุนแรงขึ้น มีระเบิดหลายลูก มืดมาก ข้าวไม่ได้กินทั้งวัน หิวก็หิว ไปกินก็ไม่ได้ ตัดสินใจออกจากพื้นที่ ต้องลัดออกไปกับพี่ทีวีไทยทางกองขยะแถวชุมชนบ่อนไก่ลอดรั้วรูเล็ก ๆ ออกไปเจอแท็กซี่ขึ้นกลับบ้านได้ วันรุ่งขึ้นเขาก็ไม่ให้นักข่าวผู้หญิงเข้าพื้นที่แล้ว สลับให้ไปอยู่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือศอฉ.จนเสร็จสิ้นสถานการณ์ได้ไปอยู่สายทหารแทน ไม่ได้ไปแล้วกระทรวงมหาดไทยควบกับการตามดูพรรคเพื่อไทย

เก็บเกี่ยวประสบการณ์อยู่สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นนาน 2 ปี เธอตัดสินใจลาออกยกทีมเพื่อนร่วมโต๊ะไปทำงานกับหัวหน้าเก่าที่เคเบิลทีวีช่องใหม่ทว่าไม่รอดจึงหักเหเส้นทางเข้าสังกัดสถานีดีเอ็นเอ็น ทีวีของกลุ่มเสื้อแดง พีบอกว่า ไม่ได้หมายความว่า เราแดง หรือเราเหลือง ส่วนตัวก็ไม่เคยชอบเสื้อแดง หรือเหลือง รู้สึกว่า มันผลประโยชน์กันทั้งนั้น เข้าไปทำงานด้วยความที่ต้องเลี้ยงชีพตัวเอง งานที่ไหนต้องเอาไว้ก่อน เข้าใจเหมือนกันว่า คนต้องมองเราเลือกข้างอยู่แล้วเพราะเข้าไปอยู่ตรงจุดนั้นถึงแม้จะปฏิเสธก็ไม่พ้น แต่เราก็ทำหน้าที่ของเรา ไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริง ได้ข่าวมาอย่างไรก็เสนอไปตามนั้น

สาวนักข่าวโทรทัศน์ดิจิทัลว่า ตลอดเวลาที่อยู่ คิดเสมอที่นี่ไม่ใช่ที่ที่เราอยู่ได้ยาว พยายามมองหาที่อื่น ผ่านไปปีเดียว ไทยรัฐเปิดทีวี เรารอเปิดมานานแล้ว ตัดสินใจไปสมัคร เราเชื่อในระบบของเขา ทำอะไรคงไม่ให้เสียชื่อ เพราะอยู่กับสื่อมานาน ได้รับโอกาสมาอยู่สายการเมือง เรายังหลงในมนต์เสน่ห์ข่าวการเมือง แต่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่หมด การทำงานต้องคิด จะมานั่งรอหมายแต่ละวันเหมือนเมื่อก่อนไม่ได้ ต้องฉีก ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ได้ ต้องเหนือกว่าเขา ตอนเช้าต้องรู้ว่า การเมืองมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง สิ่งที่เราควรที่จะตามต่อจากสิ่งที่เป็นอยู่คือ อะไร ต้องมาเสนอให้กองบรรณาธิการทุกวันว่าจะทำอะไร นับเป็นงานใหม่ที่ท้าทาย

“สิ่งที่เราไม่เคย ทำงานแบบเก่ามา 4 ปีจนเคยชิน วันหนึ่งต้องมาเปลี่ยน เหมือนไม้ที่มันแก่แล้ว ห่าม ๆ เริ่มจะดัดไม่ได้ ต้องมาดัดใหม่ มีบ้างที่หวั่น ๆ แต่จะทำให้ดีที่สุด เมื่อเขาให้โอกาส เขาอุตส่าห์เลือกเรามา คงมองว่า เรามีความสามารถ มีดีบ้างในตัวก็ต้องทำให้ได้เพื่อพิสูจน์ตัวเอง” น้องใหม่ไทยรัฐทีวีระบายความรู้สึก ถึงกระนั้นก็ตาม เธอยังคงฝันอยากเป็นผู้ประกาศอยู่ดี แม้ยังก้าวไปไม่ถึง และไม่รู้ว่าจะถึงหรือไม่

“ตอนแรกที่ฝันมองว่ามันง่าย มานั่งหน้าสวย ๆ อยู่หน้าจอ แต่พอมาทำข่าวจริง ๆ การที่จะมาเป็นผู้ประกาศคนหนึ่งให้เป็นที่ยอมรับ ต้องมาจากความสามารถของตัวเอง ไม่ใช่มานั่งอ่านตามสคริปต์ ต้องมีอะไรอยู่ในสมอง มีประสบการณ์ด้านการข่าว ไม่ใช่จบใหม่ก้าวขึ้นมานั่งเลยเพราะมีเส้นสาย พอเรามายืนอยู่ตรงนี้ทำให้รู้สึกว่า ค่อนข้างที่จะยากการจะก้าวไปถึงจุดนั้น แต่ก็ไม่ละความพยายาม” พีอมยิ้มกับแผนปฏิบัติการตามล่าความฝัน

RELATED ARTICLES