“กูฆ่ามึงสักคนดีกว่าปล่อยให้มึงไปฆ่าคนอื่นอีกตั้งหลายคน”

 

ชีวิตไม่เคยมีความคิดอยากเป็นตำรวจ

พล...อรรถพล แช่มสุวรรณวงศ์ อดีตที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบและยาเสพติด วาดฝันอยากเป็นจิตรกร เป็นครูสอนวาดเขียน เพราะมั่นใจในพรสวรรค์ของตัวเอง เกิดจังหวัดฉะเชิงเทรา เรียนจบโรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ เป็นเด็กบ้านนอกอยู่ชนบท ปรากฏว่า พี่สาวให้ไปสอบเตรียมทหารติดเป็นรุ่น 2 เข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 19 แต่ก่อนหน้าเข้าไปเหล่านายเรืออากาศได้ประกาศนียบัตรเรียนดีของนักเรียนเตรียมทหาร 2 ปีซ้อน

อยู่ได้แค่ 2-3 เดือนคิดว่า ไม่ใช่ตัวเอง ขอลาออก อ้างไม่มีเงิน ผู้บัญชาการโรงเรียนนายเรืออากาศพยายามกล่อมถึงกับเสนอทุนให้ เพราะเสียดาย ทว่าเขายังยืนยันคำเดิม คิดเปลี่ยนมาเรียนวิจิตรศิลป์ หรือสถาปนิก  “พ่อผมเสียใจมากจนป่วย เหมือนทำให้พ่อเสียใจ เพราะพ่อเป็นคนบ้านนอก ลูกไปเรียนนายเรืออากาศแล้วลาออก ด้วยความสงสารพ่อเลยกลับไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจใหม่ ได้เป็นหัวหน้าชั้นทั้ง 3 ปี สอบไม่เกินที่ 3 เพราะเป็นคนสมองดี เก่งคณิตศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ เหมือนวาดรูปที่ได้ 5 ดาวตลอด อันนี้คือพรสวรรค์ที่เราได้รับจากพ่อแม่มา” พล.ต.อ.อรรถพลย้อนวันเก่า

เข้าสู่รั้วสามพรานเจ้าตัวรับว่า ไม่ค่อยชอบเท่าไร แต่ถ้าเรียนวิชาเกี่ยวกับพิสูจน์หลักฐาน หรือต้องถ่ายรูปจะรู้สึกสนุก เหมือนวิชาสืบสวนสอบสวนแสวงหาข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐาน ถ่ายรูป ล้างรูปเป็นตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ตอนไปดูที่เกิดเหตุเป็นคนเดียวที่ทำเป็นทั้งหมด ถ่ายรูป ล้างรูป ในห้องแลป ทำได้หมดในทันทีที่ลงไปรองสารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลพญาไท

พล.ต.อ.อรรถพลเล่าว่า โรงพักพญาไทเป็นโรงพักอันดับ 1 ของนครบาลที่มีคดีเยอะที่สุด สัมผัสได้ถึงงาน ตั้งแต่รับแจ้งความ  เกิดคดีลักทรัพย์ ฆาตกรรม ต้องแจ้งกองพิสูจน์หลักฐานมาตรวจที่เกิดเหตุ ถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการสืบสวนสอบสวน แต่กลับมีร้อยเวรตรวจที่เกิดเหตุคนเดียว เป็นร้อยเวรสอบสวนต้องมารอกองพิสูจน์หลักฐานไม่ได้ ถึงสั่งซื้อกระเป๋าตรวจที่เกิดเอง เก็บหลักฐานเอง ขณะเดียวกันยังได้เรียนรู้งานสืบสวนจากพวกจ่าสายสืบ ทำไมรู้ตัวผู้ต้องหาอยู่ตรงนั้นตรงนี้ มาถึงบางอ้อเมื่อเห็นสมุดภาพเก็บประวัติคนในพื้นที่ไว้ทั้งหมด คือ ทะเบียนประวัติอาชญากร ยิ่งพวกจ่าอยู่พื้นที่นาน ไม่ได้ย้ายไปไหนจะรู้จักหมด เราชอบถ่ายรูปอยู่แล้ว ก็เริ่มเก็บข้อมูลเอาไว้ในแฟ้มส่วนตัวไว้

อยู่นครบาลปีเดียวคดีเยอะมาก เข้าร้อยเวรรับเกือบพันคดี รู้สึกไม่ไหว เบี้ยวไม่มาเข้าเวร พ.ต.ท.สนั่น ตู้จินดา สารวัตรใหญ่โรงพักพญาไทขณะนั้นถึงกับมาเข้าเวรแทน ทำให้ได้โอกาสเรียนรู้วิชาสอบสวนจากนายตำรวจใหญ่ชั้นครู นอกจากสนั่น ตู้จินดา ยังมี ธนู หอมหวล จำรัส จันทรขจร วิเชียร แสงแก้ว  ได้ความรู้งานสืบสวนจากพวกสายสืบ เกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อมูล กระนั้นก็ตาม เพราะงานหนักมากถึงตัดสินใจขอย้ายออกจากนครบาล เป็นช่วงเกิดปัญหาการก่อการร้ายในภาคอีสานเมื่อปี 2508 เกิดเสียงปืนแตกครั้งแรกอำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม

เขาถูกส่งลงพื้นที่อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี ถิ่นของนายครอง จันดาวงศ์ หัวหน้าความเคลื่อนไหวในภาคอีสาน เข้าไปเริ่มศึกษาพื้นที่เป็นป่าหมด อยู่โรงพักแต่ทำหน้าที่ไม่ต่างตำรวจตระเวนชายแดน มีบังเกอร์ล้อมรอบ “มันทำให้ผมเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีสาน ความยากจน ความยากไร้ ผมเริ่มเห็นใจชีวิตชาวบ้านเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางสังคมระหว่างคนรวยกับคนจน ช่องว่างของสัจธรรม ช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน คือ สาเหตุที่ทำให้พวกเขาต้องไปเป็นคอมมิวนิสต์ จับปืนขึ้นต่อสู้กับรัฐบาล”

เจ้าตัวทำงานในป่า เลือกใช้รัฐศาสตร์ครึ่งหนึ่ง นิติศาสตร์ครึ่งหนึ่ง ไม่ใช้นิติศาสตร์ทั้งหมด ใช้ความเมตตา ให้ความยุติธรรมชาวบ้าน ก่อนโยกไปอยู่หนองบัวลำภูที่ยังขึ้นอยู่กับอุดรธานี เป็นโรงพักที่ผู้ก่อการร้ายบุกขึ้นไปยิงตำรวจตาย แต่ ส.ต.ต.คนหนึ่งนอนอยู่บนกรงขังยิงต่อสู้ผู้ก่อการร้ายตาย 9 คนกลายมาเป็นลูกน้องเขาในเวลาต่อมา

ออกจากหนองบัวลำภูย้ายไปทำงานเมืองอุดรธานี  พล.ต.อ.อรรถพล นำเอาความรู้จากนครบาลไปใช้แก้ปัญหาคดีอาชญากรรมในพื้นที่ จัดระบบงานสอบสวน ควบคู่กับการทำงานสืบสวนปราบปราม ตั้งศูนย์วิทยุรวมข่าวแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อควบคุมรถสายตรวจวิทยุ เริ่มวางรากฐานการทำทะเบียนประวัติอาชญากร เก็บข้อมูลบุคคลอันธพาล ตัวแสบในพื้นที่มาถ่ายรูปบันทึกประวัติใส่แฟ้มโยงใยผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ลูกเมียญาติพี่น้องใกล้ชิด

“ผมคิดว่าไม่มีใครทำเหมือนผม คือ เริ่มระบบสายสืบ มีแฟ้ม มีสมุดภาพคนร้าย มีประวัติคนร้าย เวลาเข้าเวร ผมถ่ายรูปเป็นจะถ่ายรูปผู้ต้องหา เรียกมาคุยทำประวัติ คนนี้ลักทรัพย์ คนนี้เกี่ยวข้องยาเสพติด บ้านอยู่ตรงไหน กลางคืนไปถ่ายรูปบ้านมาทำเป็นสมุดภาพ เวลามีคดีจะนำภาพบุคคลเหล่านี้มาให้ผู้เสียหายดูว่า ใช่หรือไม่” อดีตนายตำรวจอีสานเหนือว่า “ผมเป็นสารวัตรป้องกันปราบปรามเมืองอุดรธานีตั้งแต่ ยศ ร.ต.ท. ควบคุมรถสายตรวจ ร่วมสายสืบ มีทีมล่าสังหาร คือ วิธีการทำงานของผม”

ในเวลาเดียวกัน พล.ต.อ.อรรถพลยังเล่าว่า จากชีวิตที่อยู่ในป่า เห็นความยากจน ความยากไร้ ทำให้เข้าใจ สงสารชาวบ้าน มีคนขับรถโรงทอกระสอบขโมยรถไปเผาทิ้ง เจ้าของแล้วมาแจ้งความปล้นทรัพย์  สืบจนรู้ว่าไปเช่าบ้านอยู่แคมป์ทหารหน้าสนามบิน เจอเมียกำลังท้อง 6 เดือนบอกผัวไปข้างนอก ค้นห้องพบระเบิดมือซ่อนอยู่บนเพดาน ตามประสาเด็กบ้านนอกไม่รู้อะไร เราจำเป็นต้องจับมาก่อน ใช้ดุลยพินิจแล้วคิดว่า ถ้าเด็กคนนี้ติดคุกทั้งที่สารภาพ ลูกจะไปคลอดในคุก กลายเป็นเด็กขี้คุก ถึงต้องคำนึงเรื่องคุณธรรม ทำสำนวนสั่งไม่ฟ้อง ผู้หญิงคนนั้นเอาเงินมา 1,500 บาท ปฏิเสธบอกเอาเก็บไว้คลอดลูก พอส่งเรื่องไปให้อัยการดันถูกรีดเงิน 5,000 บาท

เขาไปบอกหัวหน้าศาลแฉฤติกรรมอัยการจนออกจากราชการ ส่วนคดีปล้นทรัพย์ข้อเท็จจริงเกิดจากเหตุผลที่แค้นโดนไล่ออกจากงาน “ผมไปพูดกับบริษัทไม่ให้เอาเรื่องก็เลยจบ มันเป็นการใช้หลักรัฐศาสตร์ ไม่ใช้นิติศาสตร์ปกครองคนในพื้นที่ที่มีการก่อการร้าย เป็นการแย่งชิงประชาชน ต้องทำอย่างนี้  แต่เป็นพวกฆ่าแท็กซี่ ชาวบ้าน ชาวนา ขายที่ขายทางได้เงินมาหมื่นสองหมื่นไปดาวน์รถมาขับแท็กซี่ โดนหลอกไปฆ่าศพแล้วศพเล่า เอารถข้ามขายฝั่งลาว มันทำให้เกิดความเจ็บแค้นแทน ผมก็ตามไปเจอฝั่งลาวไอ้พวกนี้ ผมจะเก็บเลย เก็บทีละคน ผมก็จะมีทั้งทีมสืบ และทีมสอย มีทั้งทีมนิติวิทยาศาสตร์ ในตัวผมจะเป็นพร้อมหมด”

นายตำรวจมือดีของอุดรธานีเก่าเชื่อว่า ด้วยความที่มีคุณธรรม ไม่เคยไปรีดไถใคร ทำให้ได้เลื่อนเงินเดือน 2 ขั้นมาตลอด 20 กว่าครั้ง จับคนร้ายทองคำมา 40 กิโลกรัม ใช้หลักวิทยาศาสตร์เข้าไปจับ จากที่ค้นรถถอดยาง  ถอดถังน้ำมันไม่เจอ ด้วยความเป็นคนละเอียด เป็นจิตรกรช่างสังเกต ชอบใช้ไหวพริบ เอารถไปชั่งทั้งคัน ขอยืมตัวอย่างรถรุ่นเดียวกันไปชั่งพบความแตกต่างของน้ำหนักเกินมา คราวนี้เอารถมาถอดรื้อทั้งคัน เหลือบไปเห็นเสาตรงกลางประตู หัวสกรูนอตมีลักษณะถอดเข้าถอดออกผิดสังเกต เอามือล้วงเข้าไป คีบดูถึงเจอทองคำ  “การใช้ความละเอียด ไหวพริบปฏิภาณ และความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย ทำให้ผมประสบความสำเร็จในการทำงาน”

ผ่านอบรมโรงเรียนผู้บังคับกองสอบได้ที่ 1 พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น อธิบดีกรมตำรวจ มีนโยบายให้ พล.ต.ท.จำรัส มังคลารัตน์ ผู้บัญชาการตำรวจภูธรกำหนดถ้าใครได้อันดับ 1 สามารถเลือกที่ลงได้ เขาเตรียมเลือกลงเมืองอุดรธานี แต่มีรุ่นพี่ขวาง แกล้งให้ผู้ใหญ่ขอตัวไปช่วยราชการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เจ้าตัวต้องไปหา พล.อ.สายหยุด เกิดผล ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรถามหาเหตุผลถึงรู้ความจริง

สมหวังย้ายเป็นผู้บังคับการกองเมืองอุดรธานีไม่ทันไรพื้นที่ทางใต้มีปัญหาในจังหวัดนราธิวาสเกี่ยวกับขบวนการค้าข้าวสารขอกรมตำรวจคัดนายตำรวจมือดีไปอยู่ พล.ต.อ.อรรถพลถูกเสนอไปประจำอำเภอสุไหงโก-ลก เล่นเอาลูกน้องงง เพราะเป็น 1 ใน 5 อำเภอที่ตำรวจวิ่งกันไปลง เจ้าตัวบอกว่า ไม่รู้เรื่อง ไม่เคยคิดถึงผลประโยชน์ ผู้ใหญ่ให้มาแก้ปัญหา แต่ต้องเดินทางจากอุดรธานีเป็นระยะ 1,200 กิโลเมตร จะขอไม่ไปก็ไม่ได้ ประกอบกับไม่เคยอยู่ทางใต้ ที่นั่นไม่พูดภาษาไทย พูดแต่ยาวี เราไม่ใช่คนใต้ ลูกน้องก็ไม่มี นายก็ไม่มี ไปคนเดียว

การไปอยู่ชายแดนประเทศ เขารับว่า ปัญหาเกิดขึ้นแล้วจากตำรวจในพื้นที่เมืองชายแดนภาคใต้รับผลประโยชน์ ทั้งค้าของหนีภาษี ของเถื่อน ยาเสพติด กว่า 90 เปอร์เซ็นต์มีเส้นทั้งหมด เหลืออีก 10 เปอร์เซ็นต์ มีเจ้าพ่อคุม พัวพันขโมยรถกับของหนีภาษี ไปอยู่ 6 เดือนแรก ต้องเดินเข้าชุมชนหลังโรงพัก มีลูกน้องแต่งชุดเขียว เอาปืนเอ็ม 16 ใช้โสร่งคลุมหัวให้เหมือนมุสลิม เลาะไปริมคลองจะเห็นความเคลื่อนไหวขบวนการของหนีภาษี ขนยาเสพติดเต็มไปหมด ต้องนอนหลับในสวนยางยันสว่าง เพราะเวลาจะออกทำงานทีไร ตำรวจจะกระซิบบอกต่อๆ กันว่า ผู้กองออกแล้วนะ ทำให้ทำงานลำบาก

อดีตผู้บังคับกองสุไหงโก-ลกสารภาพว่า ตอนแรกทำงานไม่ได้ คือไม่มีลูกน้อง มีตัวคนเดียว ต้องปรับวิธีการทำงาน ไม่รับผลประโยชน์อะไรทั้งสิ้น แล้วขอกำลังตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษที่อยู่หน่วยรบมาเสริม 5 คน เอาตำรวจบรรจุใหม่ที่โรงพัก 10 คนรวมเป็น 15 คนส่งไปฝึกชุดรบพิเศษที่ค่ายนเรศวร ลงทุนซื้อปืนจากฝั่งลาวมาสร้างชุดรบขนาดเล็กเพื่อทำงานปราบปรามควบคู่กับงานพัฒนาด้วยการส่งตำรวจไปเรียนสารพัดช่างเทคนิคช่วยชาวบ้านวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ทำทุกอย่างด้วยหลักคุณธรรม เมตตาธรรม ใช้รัฐศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ เรื่องของหนีภาษี ถ้าชาวบ้านทำเพื่อกินเพื่ออยู่ อย่าไปจับ ไม่ใช่ปล่อยรายใหญ่ไปจับรายเล็ก ตำรวจมีหน้าที่รักษากฎหมายจริง แต่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดความขัดแย้ง แต่หากตัวไหนแสบต้องเด็ดหัวทิ้ง

เขายืนยันว่า ทำงานคนเดียวไม่ได้ ต้องสร้างทีมขึ้นมาไล่น้ำเสียออก เอาคนดี ๆ เข้ามาทำงาน ต้องให้ขวัญกำลังใจ หางบประมาณสร้างโรงพักใหม่เปลี่ยนจากไม้เป็นตึก สร้างชุดรบขึ้นมาเป็นผู้นำลุยตรวจค้นเอง กระทั่งพลาดท่าโดนแทงเข้าหน้าอกหามเข้าโรงพยาบาล ตอนนั้นพวกผู้มีอิทธิพลเริ่มมองเราแล้วว่า ตัวเล็กแต่ใจถึง  “เพราะพวกปล้นฆ่า ผมยิงทิ้ง แก๊งเจ้าพ่อเอาลูกน้องจากหาดใหญ่มาปล้นมอเตอรไซค์รับจ้าง 3 คืน 3 ศพ เล่นกันคืนละศพ ผมไม่เอาไว้ ผมมีอุดมการณ์ กูฆ่ามึงสักคนดีกว่าปล่อยให้มึงไปฆ่าคนอื่นอีกตั้งหลายคน ทำตั้งแต่อยู่อุดรธานีแล้ว เป็นวิธีการทำงานทั้งสืบ ทั้งสอบ ทั้งสอยในตัวของผม”

เริ่มสร้างศรัทธาในการทำงานจนเข้าพระเนตรพระกรรณในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้เข้าเฝ้าร่วมโต๊ะเสวยที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ พระองค์รับสั่งว่า ทราบที่เขาทำอะไรไปบ้าง เป็นแนวความคิดที่ดี พยายามขยายแนวความคิดนี้ให้คนอื่นทำด้วย  ก่อนพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์จากพระหัตถ์เป็นภาพบันทึกความทรงจำสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่เจ้าตัวไม่เคยลืม

ทุ่มเททำงานอยู่สุไหงโก-โลกนาน 4 ปี ถูกแทงบาดเจ็บไม่เท่ากับถูกคำสั่งจากปลัดกระทรวงมหาดไทยให้ย้ายภายใน 3 วัน เมื่อถูกข้อกล่าวหาว่า เลี้ยงโจร พล.ต.อ.อรรถพลเล่าถึงเหตุผลว่า เราไม่ยอมอยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าพ่อ และอาจเป็นกุศลกรรม ไม่เคยรับเงินมาจากคนจนยิ่งพวกที่มาจากซ่องโสภณี ปรากฏว่า เกิดไฟไหม้ซ่องในภูเก็ต ผู้หญิงถูกล่ามโซ่ตายคากองเพลิงกลายเป็นเรื่องใหญ่ อธิบดีกรมตำรวจสั่งว่า หากท้องที่ไหนมีซ่อง โดนหน่วยอื่นจับ ต้องตั้งกรรมการสอบและย้ายสารวัตรในพื้นที่ เราบอกให้ผู้หญิงพวกนี้กลับบ้านไป  ปิดได้ 3 เดือนเศรษฐกิจตก โรงแรมจะเจ๊ง ให้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดของผ่อนผัน แต่ผู้ว่าฯไม่ทำ เจ้าของโรงแรมดันไปหาปลัดกระทรวงมหาดไทยหาว่า เราเลี้ยงโจร ต้องวิ่งโร่เข้ากรุงเทพฯไปแก้ต่างจนพ้นข้อกล่าวหา

จาก ร.ต.อ. เลื่อนเป็น พ.ต.ท.อยู่สุไหงโก-ลกนานสุดในประวัติศาสตร์โรงพัก ขยับเป็นรองผู้กำกับการนโยบายและแผนกองบัญชาการตำรวจภูธร 4  เสร็จแล้วขึ้นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสตูล เข้าไปแก้ปัญหาผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เผาโรงพัก นำหลักรัฐศาสตร์ที่ใช้แก้ปัญหาทางภาคอีสานและสมัยอยู่สุไหงโก-ลกไปลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ช่องว่างระหว่างข้าราชการกับประชาชน พัฒนาสตูลเป็นจังหวัดท่องเที่ยวเชิญนักข่าวส่วนกลางไปสัมผัสทะเลอันดามันในเขตอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตาจนบูมขึ้นมา

“ผมเป็นตำรวจที่มีหัวทางศิลปะ มันจะคิดแก้ปัญหาทางบวก  ทำให้มันเจริญ ให้คนมีอาชีพ มีงานทำ พัฒนาโรงพัก รื้อบังเกอร์ออก อยู่สตูล 3 ปี ไม่มีการยิง ไม่มีการปะทะกันสักครั้งเดียว เปิดเมือง ไม่วายโดนหมั่นไส้เจอกล่าวหาว่า ค้ายาเสพติดข้ามชาติไปฮ่องกง ทั้งที่ไม่เคยไปสักครั้ง แต่ผมถูกย้ายไปแล้ว” พล.ต.อ.อรรถพลเล่ามรสุมชีวิต

คืนถิ่นอีสานเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดยโสธร เสร็จแล้วเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 6 ขอนแก่น  รับผิดชอบงานเกี่ยวกับการปราบปรามโจรกรรมรถ เรียกพ่อค้ารถ ทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในพื้นที่มาประชุมแก้ปัญหาขโมยรถข้ามฝั่งลาว  ทำบัญชีผู้เกี่ยวข้องริมแม่น้ำโขง คุยกับบริษัทประกันภัยขอเงินรางวัลคันละ 5,000 บาท หากตามรถได้คืน และถ้าเก็บพวกแก๊งขโมยรถที่เอาข้ามไปลาว ขอศพละหมื่น ส่งผลให้คดีลักรถลดฮวบ

นายตำรวจมือปราบเก่ามองว่า หากแก้ปัญหาทางบวกไม่ได้ ก็ต้องไปทางลบจนได้รับรางวัลสังข์เงิน จาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะนายตำรวจนักพัฒนาประจำปี 2531 ส่งผลให้ขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร 1 เอานิติวิทยาศาสตร์มาช่วยจัดการแก๊งปล้นรถทัวร์แถวสระบุรี ลพบุรี ทำเป็นทะเบียนประวัติอาชญากร จัดหมวดหมู่ มีแฟ้ม มีไฟล์ เป็นสารบบ กระทั่งจับคนร้ายแก๊งปล้นผู้โดยสารทิ้งกล่องปืนคาร์บินไว้ไปหาลายนิ้วมือแฝงลากตัวคนร้ายได้ 7 คน

“ผมจะทำอย่างนี้ ทั้งยิง ทั้งนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยด้วย ฝึกอบรมทุกโรงพัก ตรวจที่เกิดเหตุให้เป็น ใช้งานนิติวิทยาศาสตร์ สร้างกระเป๋าตรวจที่เกิดเหตุไว้ให้ แจกทุกโรงพักเลย มีกล้องถ่ายรูปเหมือนสมัยผมเป็นรองสารวัตร แล้วให้รางวัล ถ้าใครจับคนร้ายโดยใช้หลัdนิติวิทยาศาสตร์ เช่น คดีข่มขืนคนแก่ที่อ่างทอง เก็บเส้นผม เส้นขน คราบเลือด คราบอสุจิไปพิสูจน์ตรงกับคนร้าย ศาลประหารชีวิตด้วย ทำให้ตำรวจเริ่มตื่นตัวเรื่องนิติวิทยาศาสตร์”

พล.ต.อ.อรรถพลยังใช้รัฐศาสตร์ไปใช้แก้ปัญหาในพระนครศรีอยุธยาเมืองมรดกโลกที่เต็มไปด้วยโจร จัดระเบียบให้เป็นเมืองสะอาดปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว หาสถานที่ให้พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ระเกะระกะ  เรียกอาสาสมัคร กลุ่มตุ๊กตุ๊ก มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เปิดอบรมหลักสูตรการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว พร้อมถ่ายรูปทำประวัติเก็บไว้อยู่ในมือ มีส่วนลดอาชญากรรมลงได้มากมาย

ต่อมาขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 วางแนวความคิดด้านนิติวิทยาศาสตร์กระจายไปทั่วพื้นที่รับผิดชอบ ก่อนย้ายเป็นรองผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจมีส่วนคลี่คลายคดีฆ่าศยามล ก่อนผงาดนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางนาน  2 ปีโยกเป็นผู้บัญชาการสำนักงานวิทยาการตำรวจ ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเกษียณในตำแหน่งที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านการปราบปรามทุจริตและประพฤติมิชอบและยาเสพติด

“ผมคิดอยู่อันเดียวว่า สิ่งที่ผมเดินมาตลอดชีวิต ผมเดินมาถูกทาง คือ การใช้นิติวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ตำรวจทำงานง่ายขึ้นและให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน เขียนหนังสือมา 4 เล่มแจกไปทุกโรงพักเป็นคู่มือในการทำงานของตำรวจ เพื่อตอบแทนกรมตำรวจที่เลี้ยงผมมาจนก้าวหน้าเป็น พล.ต.อ.” เจ้าตำรานิติวิทยาศาสตร์ว่า

ทิ้งท้ายความภูมิใจในชีวิตที่ว่า ตลอดการรับราชการไม่เคยซื้อตำแหน่ง ไม่เคยวิ่งเต้นขอ 2 ขั้น แต่ได้ 2 ขั้นมา 20 กว่าครั้งจากการทำงาน เมืองที่มีปัญหาไปแก้จนจบหมด อำเภอสุไหงโก-ลกเป็นเมืองเถื่อนก็ไปแก้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ ถูกเสนอย้าย 2-3 ครั้ง แต่ดำรงตนอยู่ได้ด้วยการยืนหยัดในความถูกต้อง และยุติธรรม  “ความเป็นจิตรกร ผมจะแก้ปัญหาสังคมในทางบวก แก้ที่สาเหตุก่อนจะมาถึงปลายเหตุ แล้วคนที่กระทำผิด เราก็พร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับเขา ใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์ ไปจับมันจะสำเร็จ”

“ฝากไว้ว่า การทำงานของตำรวจ อย่าไปใช้นิติศาสตร์อย่างเดียว ต้องใช้รัฐศาสตร์คู่กันไป ป้องกันไม่ให้เกิด ดีกว่าเกิดขึ้นแล้วต้องตามมาเข้าคุก เข้าตะราง ผมเป็นตำรวจแบบนี้ ให้ทำเรื่องการสืบ การสอบ การสอย ผมก็ทำได้” ตำนานนายพลคนดังว่า

อรรถพล แช่มสุวรรณวงศ์ !!!

 

 

RELATED ARTICLES