ไม่ใช่แดนสวรรค์ของผีน้อย

 

ระดมพลังมันสมองช่วยกันคลี่คลายปัญหา

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำคณะประกอบด้วย พ.ต.อ.สุรพงษ์ ชาติสุทธิ์ รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ต.อ.มารุต กาญจนขันธกุล รองผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์  พ.ต.อ.ทนงศักดิ์ ปันไชย ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ต.อ.รัชภูมิ กุสุมาลย์ ผู้กำกับการ 4  กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ต.อ.กึกก้อง ดิศวัฒน์ ผู้กำกับการ 5 กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เป็นตัวแทน พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เดินทางไปประชุมศึกษาดูงานบังคับการใช้กฎหมายที่สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 22-27 พฤษภาคม 2566

มี พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำ พ.ต.ท.ก่อเกียรติ วุฒิจำนงค์ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.จักรี กันธิยะ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม พ.ต.ท.ธัช โพธิ์สุวรรณ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการตำรวจทางหลวง ร่วมเดินทางไปด้วย

พวกเขาเข้าพบพูดคุยกับ น.ส.อาภรณ์ อุปการรอด รองผู้ช่วยทูตฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ หารือเกี่ยวกับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของแรงงานไทยที่แฝงตัวลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย

พร้อมด้วย น.ส.เมนะกา ฐิตสาโร เลขานุการเอก ฝ่ายกงสุล นางวนิดา รังสิมาเทวัญ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายกงสุล เข้าประชุมพร้อม นางปาลิตา ชอง เจ้าหน้าที่ตัวแทนคนไทยของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ น.ส.จีรพรรณ พิมละมาศ อาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ และ พ.ต.ท.หญิง มัณฑนา ยาวิละ สารวัตรฝ่ายวิชาการสถาบันฝึกอบรมระหว่างประเทศว่าด้วยการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่นายตำรวจประสานงานตำรวจเกาหลีใต้

เนื่องจากเป็นห่วงแรงงานไทยเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็น “ผีน้อย” ตกเป็น “เหยื่อค้ามนุษย์” อยู่ในนรกดินแดนโสมขาว

แม้บางส่วนสมัครใจบินไปทำงานเอาตัวเข้าแลก “ก้อนเงินวอน” หวังกอบโกยกลับมาใช้ชีวิตบั้นปลายที่บ้านเกิด

สุดท้ายสวรรค์ไม่มีดีอยู่อย่างวาดฝันไว้ตามเสียงเพลง “อารีดัง”

หลายคนเคว้งคว้างหาที่พึ่งพาไม่ได้ เนื่องจากหลบหนีเข้าเมืองตามแบบฉบับ “ผีน้อย” โดน “ลอยแพ” ทิ้งขว้างไม่ต่าง “คนเถื่อน”

ที่พึ่งเดียว คือ สถานเอกอัครราชทูตประเทศไทยในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ พล.ต.ต.ศารุติ แขวงโสภา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ถึงต้องส่งคณะทำงานไปเจาะข้อมูลเพื่อช่วยเหลือ “เหยื่อ” เหล่านี้ แม้บางรายไม่เข้าข่ายฐานความผิดการค้ามนุษย์

“ผู้หญิงไทยหลายคนถูกนายหน้าชวนมาทำงานนวดแบบสมัครใจบ้าง ไม่สมัครใจบ้าง ก่อนโดนหว่านล้อมให้ค้าบริการแฝง หลายคนยอมเพราะรายได้ดี” น.ส.จีรพรรณ พิมละมาศ อาสาสมัครช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศเกาหลีใต้ให้ข้อมูล

เธอสัมผัสเรื่องราวหลากหลายของสาวไทยที่ต้องหนีเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อพลาดท่าเสียที เพราะยอมเสียตัวรับแขกวันละหลายสิบคนตามสถานบันเทิงคาราโอเกะที่มีฉากค้าประเวณีอยู่เบื้องหลัง

ยากจะแจ้งขอความช่วยเหลือเนื่องจากเข้ามาอย่าง “ผีน้อย”

วิธีการดีที่สุด พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางบอกว่า ต้องเน้นประชาสัมพันธ์ป้องกันจากต้นทางประเทศไทยอย่าหลงเชื่อการชักชวนมาทำงานบางอาชีพในประเทศเกาหลีใต้

ยิ่งโดยเฉพาะ “นวด” เพราะเป็นอาชีพที่สงวนไว้สำหรับ “คนตาบอด” ของชาวเกาหลีใต้เท่านั้น

ขณะที่ นางปาลิตา ชอง เจ้าหน้าที่ตัวแทนคนไทยของศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างชาติ เตือนด้วยว่า การมาทำงานในเกาหลีใต้ไม่เหมาะสำหรับคนไทยที่ไม่มีความรู้ด้านภาษา โอกาสถูกเอารัดเอาเปรียบสูง แถมต้องเผชิญสภาพอากาศที่หนาวเหน็บเป็นส่วนใหญ่

อย่าคิดว่ามาง่ายแล้วจะหอบเงินกลับไป

ถึงขนาดเปิดกลุ่มไลน์และเฟซบุ๊กประกาศเชิญชวนบินมา “ค้ากาม” กันอย่างโจ่งแจ้ง

สุดท้ายเหมือนตกนรกทั้งเป็น

 

 

RELATED ARTICLES