“ชีวิตผม ผมคิดว่า เกินคุ้มแล้ว ถือว่า โชกโชน

ลั่นไกกดชัตเตอร์อยู่ในสนามข่าวมานานจนเรียกได้ว่าเป็น “ตำนานช่างภาพ”ฝีมือดีคนหนึ่งของวงการหนังสือพิมพ์

สุรพล พรหมสาขา ณ สกลนคร หนุ่มใหญ่รุ่นเก๋าสังกัด “บางกอกโพสต์” หอบสังหารที่บอบบางแต่หัวใจเต็มไปด้วยไฟการทำงานที่ยังไม่มีวันมอดมาถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตสมบุกสมบันว่า เกิดอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลาเป็นลูกชายทหารพลร่ม กำพร้าพ่อตั้งแต่ยังเล็ก และต้องใช้ชีวิตเติบโตอยู่กับปู่ย่าที่จังหวัดพิจิตรจนจบมัธยมต้นโรงเรียนตะพานหินแล้วเข้ากรุงเทพฯต่อช่างก่อสร้างดุสิต

เรียนไม่ทันจบต้องเปลี่ยนไปเข้าวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ แผนกช่างภาพ ไม่ทันไรมีคนจ้างไปถ่ายรูปประจำอยู่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีซ ริมทะเลพัทยา ชลบุรี โชว์ผลงานเข้าตาทำให้เขาจ้างยาวเลยตัดสินใจไม่เรียนต่ออาศัยศึกษาหาความรู้จากสนามชีวิตจริง เขาบอกว่า อยากเป็นช่างภาพตั้งแต่เด็ก ตอนอยู่ชั้นประถมอ่านหนังสือพิมพ์เจอภาพข่าวสงคราม ข่าวรบกันตามแนวชายแดนยุคคอมมิวนิสต์เข้ามาแทรกซึมในประเทศนึกสงสัยว่า หนังสือพิมพ์เอาภาพมาจากไหน ถามใครก็ตอบไม่ได้ ถึงเลือกลงเรียนรู้เอง

ทิ้งการเรียนยึดอาชีพ “ช่างภาพอิสระ” ลองผิดลองถูกเก็บประสบการณ์จนได้งานทำเป็นเรื่องเป็นราวในโรงแรมหรู มีกล้องนิคอน เอฟ 2 ตัวเดียวสะพายถ่ายรูปแนวโฆษณาประชาสัมพันธ์กระทั่งไปเจอทหารอเมริกันริมหาดพัทยาชักชวนให้ไปทำงานเป็นช่างภาพงานคอนสตรัคชั่นที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย

“ผมพูดภาษาอังกฤษได้ เพราะเวลาว่างผมไปเรียนเอยูเอ ตัดสินใจขอลาออก เจ้านายยังเสียดาย ไปทำงานซาอุฯ ไปแบบคนเดียวเลย ตอนนั้นก็คิดว่า คิดผิด หรือคิดถูก ไปถ่ายรูปพระราชวังที่กำลังก่อสร้างใหม่ มีสนามบิน ทำเป็นเมืองทหาร ที่อเมริกาไปตั้งฐานทัพอยู่ด้วย รับเงินเดือน 2 หมื่นกว่าบาท ที่ตอนนั้นถือว่าเยอะมาก” สุรพลเล่าอดีตวัยหนุ่ม

อยู่กลางทะเลทรายตะวันออกกลางนาน 3 ปี วันหนึ่งเขาไปเห็นนิตยสารไทม์ตีแผ่สถานการณ์ความไม่มั่นคงของซาอุดิอาระเบียกับคูเวตที่วิกฤติอาจถึงขั้นประกาศสงคราม ช่างภาพมือทองบอกว่า ที่ตัวเองอยู่ห่างจากคูเวตเพียง 200 กิโลเมตร เห็นท่าไม่ดี เครื่องบินอิสราเอลก็บินข้ามหัวไปมาเลยขอลาออกได้เงินสะสมกลับเมืองไทยมาเป็นล้านกว่าบาทลงทุนเปิดสตูดิโอ ซื้อกล้อง ซื้อไฟ มีแบ็กแพ็ก รับงานถ่ายโฆษณาให้โรงแรมแอมบาสเดอร์ และอีกหลายแห่ง

ชีวิตเขากลับพลิกผันอีกครั้ง เมื่อไปอ่านหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์เจอประกาศรับสมัครช่างภาพบริษัทนักสืบเอกชนของต่างประเทศไปทำงานเป็นสายลับคล้ายซีไอเอประจำประเทศไทย คอยสะกดรอยตามล่าอาชญากรข้ามชาติที่มาหลบกบดานอยู่ในแดนสยาม

“งานแรกตามสะกดรอยชาวต่างชาติหนีคดีฉ้อโกงมาลงสนามบินดอนเมือง ผมมีหน้าที่ตามถ่ายรูปเฝ้าดูพฤติกรรมอยู่ 7 วันก็จับได้ มันทำให้ผมเรียนรู้วิชาสืบสวน วิชาสะกดรอย กับฝรั่ง ทำงานขโมยถ่ายภาพไปเรื่อยแล้ววันหนึ่งก็ไปโดนตอเข้าถูกดึงฟิล์ม ถูกข่มขู่”

เขาเลยต้องคิดหาทางออก สุดท้ายปรึกษาเพื่อนขอเข้าสังกัดบางกอกโพสต์เป็นใบเบิกทางเป็นเกราะคุ้มกันตัวนานอยู่ 10 ปีไม่มีเงินเดือนให้ แต่ยอมถ่ายรูปส่งให้ฟรี ๆ ทำไมทำมาบางกอกโพสต์เห็นผลงานจึงชวนเข้าทำงานอย่างจริงจังเต็มตัว “ตอนทำงานกับนักสืบเอกชน ผมมีหน้าที่เดียว คือ ไปถ่ายรูป ถามประวัติ ติดตามความเคลื่อนไหวเป้าหมายว่า ออกจากบ้านตอนไหน ไปไหน กลับตอนไหน ผมละเอียดมาก นายผมชอบมาก ตอนหลังผมไปอยู่บางกอกโพสต์เขาเสียดายผมมาก แต่มีงานยากๆ บางงานก็ยังเรียกใช้ผมอยู่”

ทำงานหนังสือพิมพ์เต็มตัวตอนแรกมักออกไปต่างจังหวัดพยายามศึกษาเขียนเรื่องประกอบภาพด้วยลงในคอลัมน์เอาต์ลุกเป็นงานสารคดีส่วนใหญ่ ช่างภาพบางกอกโพสต์ว่า ทำแนวสารคดีอยู่ระยะตอนหลังถึงโดดลงสนามข่าวด้วยครั้งแรกไปลุยชายแดนภาคใต้สมัยที่มีไฟไหม้ใหญ่ เผาโรงเรียนของพวกกลุ่มพูโล ลงไปคนแรกเลย ต่อมาก็มีอีกหลายงาน ส่วนใหญ่จะไปงานด่วนๆ อย่างรถชน รถไฟตกรางที่ประจวบคีรีขันธ์ขับรถไปเองตอน 5 ทุ่ม เช้ามาก็รีบวิ่งเอาฟิล์มมาส่งต้นสังกัด

“ผมชอบผมตรงนี้ ไม่เรื่องมาก เวลามีเหตุไปเองเลย ไม่ต้องรอใครสั่ง ตอนหลังมาเวรอยู่กลางคืนตั้งแต่ 5 ทุ่มถึงสว่างได้งานตลอด 2-3 หมายทุกวันจนเขาบอกว่า มึงนอนบ้างก็ได้ เพราะบางเรื่องก็ไม่ได้ลง แต่มันทำให้ผมรู้จักคนเยอะ ตำรวจก็เยอะ”

 ผู้ช่ำชองในวงการภาพข่าวยังมองความแตกต่างระหว่างการทำงานในอดีตกับปัจจุบันด้วยว่า ต่างกันมาก ปัจจุบันง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อน เช่น ตึกถล่มที่นครราชสีมา ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ นครปฐมเราจะไปก่อนที่เขาจะสั่งงาน ต้องใช้ประสบการณ์ไหวพริบด้วย อยากตึกถล่มมีคนติดอยู่ในซากอาคารต้องมุดเข้าไปถ่าย บางทีก็ให้บิณฑ์ บันลือฤทธิ์ อาสาสมัครร่วมกตัญญูที่อยู่ข้างในช่วยกดชัตเตอร์ ทำให้บางกอกโพสต์ได้ภาพฉบับเดียว

งานอาคารโรงแรมถล่มครั้งนั้น สุรพลบอกด้วยว่า ต่อมาเขาไล่นักข่าวลงหมด เพราะจะตัดขาผู้หญิงที่ติดอยู่ข้างในซากตึก เราเลยแลกเสื้อกับอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเอสกล้องซุกไว้ในเสื้อ เพราะจำเป็นต้องอยู่ ฉบับอื่นลงไปมองตาปริบๆ เราได้ภาพคนเดียว อันนี้ คือ เทคนิคและไหวพริบแตกต่างจากสมัยนี้ที่ส่วนมากจะเฮโล ไปกันเป็นทีม จริงๆ ก็ดี ที่ไม่ตกข่าว สมัยก่อนจะแข่งกับตัวเองจะใช้สติ ใช้มันสมองเอาเอง

“ความจริงผมไม่ได้ไปเบียดเบียนเพื่อน ไม่มีเอ็กซ์คลูซีฟ มีแต่บอก ทว่าคุณจะทำได้รึเปล่า เดี๋ยวนี้เขาไปไหนไปเป็นทีมอยู่กันเป็นกลุ่ม แทนที่จะหามุมดีที่สุด อย่างเหตุการณ์ม็อบ ผมก็ผ่านมาเยอะ ไม่ค่อยอยู่กลุ่มกับใคร เพราะจะเป็นเป้า ต้นไม้ผมปีนหมด ตอนหลังก็มาอยู่สายทหาร ชอบเลย ผมรักทหารอยู่แล้ว ไปประจำกองทัพบก กองทัพอากาศ ถ่ายภาพกิจกรรมเต็มไปหมด อยากได้อะไร อยากทำอะไรเราก็ทำ เพราะไม่รู้ต่อไปจะมีโอกาสหรือเปล่า”

ช่างภาพหนุ่มใหญ่ยังเล่าว่า อยากโดดร่ม โดดหอ ขอทหารเขาก็ให้ทำ เราอยากถ่ายรูปใต้น้ำ ก็ได้ทำ เคยไปฝึกดำน้ำ เสียดายเราเป็นโรคกลัวงู กลัวปลิงทะเล ตอนนั้นเคยเจอ เกือบช็อก ทหารต้องจับประคองขึ้นมาบนน้ำ เขาไม่รู้ว่า เรากลัวงู ตั้งแต่นั้นก็ไม่ได้ดำน้ำอีกเลย กลัวทะเลไปเลย ระยะหลังก็กลับมาลุยเรื่องข่าวอาชญากรรม ถ้าบางครั้งมีพวกซ้อมรบใหญ่ เช่น คอบบร้าโกลด์ ก็จะขอไปเองอยู่ เพราะเราพูดภาษาอังกฤษได้ สถานทูตเขาจะระบุชื่อเราไว้เลย ในฐานะบางกอกโพสต์ สนิทกันจนเหตุการณ์น้ำท่วม ไม่มีใครขึ้นเฮลิคอปเตอร์ถ่ายรูปได้ทุกวันอย่างเรา

“ชีวิตผม ผมคิดว่า เกินคุ้มแล้ว ถือว่า โชกโชน ตอนไปซาอุฯ ต้องขึ้นตึกอาทิตย์ละครั้ง มีมุมถ่าย ต้องจำมุมให้แม่น ขึ้นเครื่องบินมีเลนส์มอง ซ้ายขวา ลำตัว ผมก็ต้องศึกษา ถ้าผมไม่ได้เรียนภาษาอังกฤษไป ตอนนั้นน็อกเลย ใช้ประสบการณ์ชีวิตล้วนๆ แบบปากกัดตีนถีบ เรียนรู้ด้วยตัวเราเองทำให้ได้ทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นสู้เขาไม่ได้หรอก ผมผ่านมาแบบนั้น บู๊กันแบบนั้น” สุรพลทิ้งรอยยิ้มหลังม่านชัตเตอร์

 

 

RELATED ARTICLES