ซึม เศร้า เหงา เครียด

 

โศกนาฏกรรมชีวิตของ “สารวัตรป๊อบ” พ.ต.ต.สหัสวรรษ พันธ์เกตุ สารวัตรฝ่ายแต่งตั้ง สำนักงานกำลังพล ยังคงเป็นปริศนา

ที่ไม่มีใครไขว่คว้าหาคำตอบ

เหตุให้นายตำรวจหนุ่มกำลังมีอนาคต บุคลิกเป็นคนอารมณ์ดี เป็นที่รักในหมู่พี่น้องผองเพื่อนต้องด่วนระเบิดขมับตัวเองคาห้องทำงาน

ภายในอาคารสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ทิ้งจดหมายบอกลาด้วยเพราะว่าเป็น “โรคซึมเศร้า” แค่นั้นจริงหรือ

ข่าวว่า กลุ่มนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 63 ยังติดใจชนวนมรณะของเพื่อนรัก ปักใจเชื่อว่า “ความกดดัน” ในเนื้องานการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายเปลี่ยนความคิดให้เขาตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง

ราวกับการแต่งตั้งโยกย้ายนอกจากสร้างความเครียดแก่บรรดาตัวละครที่ต้องวิ่งเต้นกัน ขาลอย-ขาขวิด ยังสร้าง “ความวิตกจริต” แก่นายตำรวจผู้มีหน้าที่ทำบัญชีแต่งตั้งไปด้วย

ระบบไม่ได้ห่วย แต่นายบางคนมันเฮงซวยหรือไม่

คำตอบคงมีหลายคนอยากรู้ ทว่าไม่มีใครกล้าสืบสาวเอาความจริง โยนพิษของ “โรคซึมเศร้า” เป็นตัวการทำลายอนาคตสารวัตรหนุ่มติดกลุ่มนำเพื่อนในรุ่น

ถึงกระนั้นก็ตาม มีข้อมูลจาก พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาระบุว่า ปี 2560 ตำรวจขอรับการรักษาโรคซึมเศร้าที่กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ 49 นาย เป็นชาย 30 คน หญิง 19 คน แนวโน้มการรักษาเริ่มจากทานยาต่อเนื่อง 3-6 เดือน พบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อวินิจฉัยอาการ รวมทั้งให้คำปรึกษา หรือทำจิตบำบัดช่วยในการปรับตัว

พ.ต.อ.กฤษณะบอกว่า ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาต่อเนื่องในระยะเวลา 1-2 ปีจะสามารถกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับอาการผู้ป่วยแต่ละคนที่เริ่มเข้ารับการรักษาและรับยาต่อเนื่องแค่ไหน ขอประชาสัมพันธ์สำหรับตำรวจหรือญาติที่พบว่ามีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า ควรปรึกษาพูดคุยหรือขอแนะนำจากญาติหรือผู้บังคับบัญชา หรือเพื่อนร่วมงาน และขอรับคำปรึกษา รักษาอาการได้ที่กลุ่มงานจิตเวชและยาเสพติด โรงพยาบาลตำรวจ โทรศัพท์หมายเลข 0-2207-6144 0-2207-6000 ต่อ 6144 และมือถือ 06-3195-8001

ส่วนอาการซึมเศร้าเราจะรู้ได้อย่างไร พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขแนะนำว่า ในผู้ที่เริ่มมีอาการจะสามารถสังเกตตัวเองได้ แต่หากมีอาการรุนแรง ครอบครัว ผู้ใกล้ชิดต้องช่วยกันสังเกต

  1. มีอารณ์ซึมเศร้า
  2. ความสนใจในกิจกรรมต่างๆ แทบทั้งหมดลดลงอย่างมาก
  3. น้ำหนักลดลงหรือเพิ่มขึ้นมาก เบื่ออาหารหรือเจริญอาหารมาก
  4. นอนไม่หลับหรือหลับมากเกินไป
  5. กระวนกระวายอยู่ไม่สุขหรือเชื่องช้าลง
  6. อ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
  7. รู้สึกตนเองไร้ค่า
  8. สมาธิลดลง ใจลอย หรือลังเลใจไปหมด
  9. คิดเรื่องการตายหรือคิดอยากตาย

แต่สิ่งที่น่ากังวลสุดสำหรับอาชีพตำรวจ เมื่อมีปืนอยู่ข้างกาย แค่ตัดสินใจพลาดด้วย “อารมณ์ชั่ววูบ”หมายถึงชีวิต

ทว่าจะเป็นชีวิตของใคร

ตัวเอง ครอบครัวลูกเมีย เพื่อนร่วมงาน ชาวบ้าน หรือผู้บังคับบัญชา

เพราะฉะนั้นอย่าแก้ปัญหาปลายเหตุ โดยไม่มองถึงต้นเหตุที่แท้จริง

 

RELATED ARTICLES