“เห็นคนนั่งอ่านข่าวในทีวี แล้วคิดว่า เราอยากเป็นอย่างนี้”

นข่าวสาว “นิวส์โฟกัส” ทายาทนายพลทหารบก

“แตงกวา” ธนัญญา พิพิธวณิชการ ลูก พล.ต.ธนิส พิพิธวณิชการ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เกิดครอบครัวทหาร จบมัธยมต้นโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ไปสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

เธอมองเรื่องเรียนเป็นเรื่องง่าย แค่สอบ ทำกิจกรรมก็ผ่านแบบชิล ชิล ทันทีที่จบเตรียมอุดมศึกษาเลยสอบเข้าคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพราะอยากเป็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว ทำงานในแวดวงสื่อมวลชน “ชอบมาตั้งแต่เด็ก เห็นคนนั่งอ่านข่าวในทีวี แล้วคิดว่า เราอยากเป็นอย่างนี้ ตอนนั้นก็ไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้นว่าชอบใคร แต่พอโตขึ้นก็เริ่มเห็นชัด อย่าง กิตติ สิงหาปัด กรุณา บัวคำศรี แนวนี้”

จุดเริ่มต้นของแตงกวา คือ ได้มีโอกาสฝึกงานสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เปิดทางการเรียนรู้งานข่าว เข้าใจเบสิกการเขียนข่าว ลงสนามข่าวเพื่อนำมาทำสคริปต์ให้สอดคล้องกับภาพมากกว่าทฤษฎีที่เรียนในวิชานิวส์ไรติ้งของมหาวิทยาลัย  เจ้าตัวเล่าว่า พอมาสัมผัสจริง เห็นวิธีการทำงาน ทำให้เข้าใจมากขึ้น ได้ไปฝึกงานภาควิทยุที่สถานวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะเขาอยากให้ลงไปใช้ชีวิตในต่างจังหวัดว่า วิทยุเป็นสื่อที่ได้ใช้จริงกับภูมิภาคนั้น ไม่เหมือนในกรุงเทพฯ อาจมีคนอ่านข่าวที่เรารู้จัก แต่ถ้าในต่างจังหวัดมีการสื่อสารที่ใกล้ชิดจริง ที่นั่นไม่มีสัญญาณโทรศัพท์มือถือ ไม่มีอินเตอร์เน็ต อาจารย์คงอยากให้ได้ไปสัมผัสชีวิตวิถีชีวิตอย่างนั้นมากกว่า เพื่อให้ได้เรียนรู้ในกระบวนการทำวิทยุแบบดิบๆ ซึ่งในกรุงเทพฯ มันใช้โปรแกรมหมด เลยอยากให้เราลงไป

ชีวิต 1 เดือนที่แม่ฮ่องสอน แตงกวาว่า เหมือนได้ใช้ชีวิตมากกว่า แต่ละคนก็จะได้อะไรจากการฝึกงานวิทยุที่แตกต่างกันตามแต่หน้างาน หลังจากกลับมามุมานะเรียนจนจบได้เกียรตินิยมอันดับ 1 เหรียญทอง แล้วมาสมัครทำงานที่นี่เลย เลือกเพราะตอนแรกมีรุ่นพี่แนะนำว่า โต๊ะสังคมว่างอยู่คนหนึ่ง แล้วตอนนั้นก็เป็นพื้นที่ของช่อง 11 รายการนิวส์โฟกัส

“ตอนนั้นก็เข้ามาจะเป็นนักข่าวเอ็นบีที คือโดยพื้นฐานรู้อยู่แล้วว่า ตัวเองต้องเริ่มที่การเป็นนักข่าว ให้เวลาตัวเองสักหลายๆ ปีก่อน แล้วค่อยไต่เป็นผู้ประกาศ จริงๆ อยากเป็นผู้ประกาศมากกว่า ไม่ได้วางตัวเองเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนาม รู้สึกว่า หน้างานเอาแค่รู้ ให้เวลานั่งอ่าน ไม่เป็นนกแก้ว นกขุนทองพอแล้ว ก็ไปเริ่มจากภาคสนามมาก่อน คือ ถูกปลูกฝังมาว่าการทำเบื้องหลัง สำคัญกับการที่จะก้าวไปสู่การอยู่เบื้องหน้าที่ดี เรียนอยู่กับกล้อง ฉาก ไฟ ทำเบื้องหลังให้ได้เสียก่อน ถึงค่อยก้าวมาทำสคริปต์ ครูปลูกฝังมาว่ามันควรจะเป็นแบบนี้”

ลูกสาวนายพลเลขานุการรัฐมนตรีแรงงานยังความเห็นว่า การจะเป็นผู้ประกาศข่าวไม่ใช่สิ่งที่แบบทีวีดิจิตอลสมัยนี้ นั่งอ่านก็ได้ หรือแค่สวยก็พอ แต่ต้องให้ทุกคนรู้เบื้องหลังก่อน จุดเริ่มต้นของเราถึงทำข่าวภาคสนามอยู่กับข่าวสังคม เช่น ภัยแล้ง สภาพดินฟ้าอากาศบ้าง แล้วก็มีพวกอีเว้นต์ ตามเทศกาล ประเพณีต่างๆ ก็มีหมายสังคม ก็จะกว้างขึ้น มีบริบทของต่างประเทศ กับบริบทของออนไลน์เข้ามาเกี่ยวด้วย ออนไลน์นี่ก็เริ่มจะเห็นภาพของทีมเราเปิดเลยที่ช่อง 11 เขาจะเล่นเรื่องอื่นๆ เป็นหลัก สีสันของข่าวที่เรานำเสนอ ก็เลยจะมาเน้นน้ำหนักเรื่องออนไลน์ รวมถึงต่างประเทศในมุมที่มันพลิกไปจากช่องอื่น

ทำมาประมาณปีเดียว นิวส์โฟกัสเปลี่ยนมาป้อนงานให้วอยซ์ทีวีแทน แต่ยังรับจัดรายการหันหน้าเข้าหากันของทางช่องเอ็นบีที เป็นรายการทอล์กในประเด็นร้อนทางสังคมกับสิ่งที่รัฐบาลต้องการประชาสัมพันธ์   “ถามว่าชอบไหม ก็ชอบ เพราะได้ประสบการณ์ มัน คือ ตัวเรา ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว รู้สึกว่า เราถามไปได้เรื่อยๆ ไม่รู้สึกอึดอัดที่จะถาม คนตอบเขาก็ไม่ได้อึดอัดที่จะตอบ มันสัมผัสได้ เราเป็นคนที่ชอบทำรายการตรงนี้ เวลาทอล์กก็เลยรู้สึกว่า มัน คือ ตัวตนของเรานะ เป็นตัวตนที่เราก็วางเอาไว้ว่าเราจะทำตรงนี้ ไปนั่งในจอสี่เหลี่ยมตรงนี้ คือ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่พ้นแวดวงสื่อ อยากจะอยู่ในแวดวงนี้ต่อไปก่อน”

แต่ในท้ายที่สุด แตงกวายอมรับว่า จริง ๆ ตัวเองวางตัวอยากเป็นอาจารย์มากกว่า อยากกลับไปสอนที่มหาวิทยาลัย เป็นอาจารย์พิเศษ สอนวิชาเกี่ยวกับการเขียนข่าว เป็นสิ่งที่เราชอบ แค่รู้สึกว่า คนสมัยนี้ไม่ค่อยอยากจะกลับไปเป็นอาจารย์ เลยอยากเป็นคนรุ่นใหม่ที่จะกลับไปเป็นอาจารย์ ถ่ายทอดวิธีคิดแบบคนรุ่นใหม่ ให้กับเด็กที่เราเหมือนเราเข้าใจเขา เหมือนอาจารย์รุ่นเก่าไม่เข้าใจเด็กรุ่นใหม่ คือ อาจารย์เก่ง แต่อาจไม่มีวิธีการสื่อสาร อาจจะไม่ทำให้รู้สึกอิน

“เราต้องมีวิธีที่ต้องทำให้อยู่ในโมเดล เพราะอย่างน้อยเราต้องรู้โมเดลมาก่อน อยากจะเป็นครูที่ทำให้เด็กรู้โมเดล อยากจะเป็นคนที่เข้าไปบอกเด็กว่า วิธีการทำงานจริงๆ มันมีวิธีพลิกแพลงได้ ไม่ทำให้เราหลุดกรอบหรอก เรายังทำงานในวิชาชีพได้”คนข่าวสาวเกียรตินิยมเหรียญทองจากรั้วพระเกี้ยวทิ้งแนวคิด

 

 

 

RELATED ARTICLES