ความก้าวหน้าในโลกการสื่อสารที่ไร้พรหมแดน ทำให้ “อาชญากรรมไซเบอร์” กระจายไปทั่วทุกสารทิศ เกี่ยวพันสร้างความเดือดร้อนกับผู้ใช้ชีวิตประจำวัน
ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์
กลายเป็นการบ้านชิ้นสำคัญของตำรวจต้องทำหน้าที่กวาดล้าง “ขยะดิจิทัล” เหล่านี้ให้พ้นไปจากสุจริตชน
เปรียบเสมือน “ทรชน” บน “แป้นคีย์บอร์ด”
ภารกิจหนักของบรรดา “โปลิศสาว” สังกัดกองบัญชาการตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หน่วยงานใหม่ที่ประชาชนตั้งหน้าตั้งตารอความหวัง
พวกเขาจะทำดีแค่ไหนตราบใดที่วิวัฒนาการของ “อาชญากร” เปลี่ยนไปหากินอยู่บนอากาศ
ไม่ใช่โจรเดินดินตระเวนลักวิ่งชิงปล้นในอดีต
รู้เท่าทันวายร้ายไซเบอร์ ควานหาพยานหลักฐานที่ต้องเจอ
“ปัจจุบัน เราไม่ได้พูดถึงมิติในเรื่องของการปราบปรามอย่างเดียวเราต้องเน้นหรือให้ความสำคัญในเชิงป้องกันด้วย ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันโลกดิจิทัลด้วย” พ.ต.อ.หญิง มนชนก จำรูญโรจน์ ผู้กำกับการกลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมองสถานการณ์ความเปลี่ยนของโลกยุคใหม่แบบนั้น
เธอได้รับโอกาสจากผู้บังคับบัญชาเข้ามาเป็นตัวหลักในการเสริมทัพของหน่วยตั้งแต่เริ่มต้นกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปรับจูนภารกิจเดิมจากกองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้นสังกัดเก่า เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกองบังคับการ กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่มี พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน เป็นแม่ทัพ
พ.ต.อ.หญิง มนชนกบอกว่า ได้รับมอบหมายให้มาทำหน้าที่ในส่วนของการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานทางดิจิทัลแทบจะครบวงจรในการเชื่อมโยงพยานหลักฐานร่วมกับกลุ่มงานตรวจพิสูจน์ วิเคราะห์ข้อมูลอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ได้มาจากคดีเพื่อสนับสนุนข้อมูลให้ฝ่ายปฏิบัติเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามตัวผู้กระทำความผิด “หน้างานเยอะ ทำให้งานของเราเยอะขึ้น เพราะพยานหลักฐานทางดิจิทัลในปัจจุบัน ไม่ได้จำกัดอยู่แค่อาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ งานหลักฐานทางดิจิทัลเราเจอได้ทั้งหมด ตั้งแต่เคสจากเดิม ๆ จนกระทั่งเคสที่ไฮเทคมากขึ้น พยานหลักฐานพวกนี้ เปลี่ยนแปลงเร็ว พัฒนาไปเร็ว ตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป”
มิติปราบปรามอย่างเดียวไม่ได้ผล ต้องตั้งค่ายกลเชิงป้องกันด้วย
เจ้าตัวอธิบายว่า ทำให้งานของตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีทั้งทำงานในหน้าที่ รวมทั้งต้องหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของเทคโนโลยีที่มันเปลี่ยนไปด้วย ขณะเดียวกันยังมีงานเป็นวิทยากรให้กับหน่วยงานต่าง ๆ อีกทั้งเป็นผู้ประสานงานให้หน่วยงานบังคับใช้กฎหมายต่างประเทศอีกทาง ถึงบอกว่า บทบาทของเรา จริง ๆ แล้ว ไม่ได้พูดถึงมิติในเรื่องของการปราบปรามอย่างเดียว ในส่วนขององค์ความรู้ต่าง ๆ เราต้องเน้น หรือให้ความสำคัญในเชิงป้องกันด้วย เชิงการสร้างความตระหนักรู้เท่าทันโลกดิจิทัลด้วยว่า ประชาชนจะใช้งานอย่างไรถึงปลอดภัย
“เปรียบเหมือนกับว่า การใช้ชีวิตบนโลกทั่วไป พื้นที่ไหนที่ไม่ควรไป พื้นที่ไหนไปแล้วเสี่ยงในการที่จะถูกดักลักข้อมูล หรือทิ้งร่องรอยต่าง ๆ ไว้ที่มันจะย้อนกลับมาเป็นอันตรายต่อเรา เพราะว่า การไล่ตามจับอย่างเดียว ไม่พอแล้ว เนื่องจากจะมีหลักฐาน และในเรื่องของขอบเขตของข้อกฎหมาย เรื่องของอำนาจตามกฎหมายที่มันแตกต่างกัน ระหว่างโลกไซเบอร์ กับโลกของความจริง”
เธอเชื่อว่า การให้ความรู้ เรื่องของการป้องกันจะมีส่วนสำคัญ แต่ในส่วนของเจ้าหน้าที่ต้องพัฒนาศักยภาพควบคู่กันไปด้วย ด้วยต้องกทำงานกับพยานหลักฐานแบบใหม่ๆ รูปแบบการก่ออาชญากรรมแบบใหม่ๆ เพราะว่า ปัจจุบันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะซับซ้อนมากขึ้น เรียกว่า เหมือนกับแยกกันไม่ออก ระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือนจริง
องค์ความรู้ผู้ถือกฎหมาย มีความหมายในการกวาดผู้กระทำความผิด
พ.ต.อ.หญิง มนชนกมองอีกว่า อีกไม่นานจะมี เมตาเวิร์ส (metaverse) คือ แนวคิดที่บริษัทด้านเทคโนโลยี นักการตลาด และนักวิเคราะห์ กำลังพูดถึงกันอย่างมากว่าจะเป็นสิ่งล้ำยุคในโลกอนาคต สำหรับคนภายนอก เมตาเวิร์สอาจจะเป็นเทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Virtual Reality—VR) ในแบบที่ล้ำสมัยขึ้นไป แต่สำหรับบางคนอาจคิดว่า เมตาเวิร์ส คือ อนาคตแห่งโลกอินเตอร์เน็ตมีอะไรต่าง ๆ เหล่านี้ จะถูกเปรียบเทียบ ตัวเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายเองต้องมีองค์ความรู้เพียงพอในการที่จะเข้าใจการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น
ผู้กำกับการกลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลยังแสดงความเห็นว่า เป็นเหมือนแบบองค์กรอาชญากรรม ในการกระทำความผิดต่าง ๆ ที่จะสามารถซื้อหาได้ง่ายๆ โดยทั่วไป แล้วเอามาปรับแต่งได้ เจ้าหน้าที่รักษากฎหมายคงต้องเข้าไปช่วยเสริมกำลังตำรวจท้องที่เพื่อรับมือกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะช่วยเสริมทัพในเรื่องของการค้นหาพยานหลักฐาน ในเรื่องของการป้องกัน เรื่องของการสนับสนุนทางไซเบอร์ต่าง ๆ
“ถามว่ายากไหม ในการปรับตัวที่ต้องมาทำงานสืบสวนทางอากาศ ต้องบอกว่า ไม่ง่าย เพราะว่าในรูปแบบใหม่ๆ เทคโนโลยี วิทยาการใหม่ๆ มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะระบุตัวบุคคล ผู้กระทำความผิด หรือข้อมูลที่จะไปบ่งชี้พิสูจน์การกระทำความผิด ไม่อยู่แค่การสอบสวนในประเทศเราอย่างเดียว บางทีอาจจะอยู่ที่ผู้ให้บริการในต่างประเทศ การติดต่อสื่อสารที่เราเคยคุยกันถึงเรื่องแนวทางการสืบสวน เส้นทางการเงินอาจจะอยู่ต่างประเทศ ยิ่งตอนนี้ มีคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เหล่านี้ คือ อุปสรรค เป็นความท้าทายของผู้บังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันว่า เราจะสร้างเครือข่ายของคนที่ทำงานด้านนี้อย่างไร แล้วเราจะเพิ่มพูนองค์ความรู้ให้เจ้าหน้าที่อย่างไร ให้ดำเนินการได้ทันกับโจรที่มันไปเร็วในปัจจุบัน “ พ.ต.อ.หญิง มนชนกว่า
ย้อนประวัติสาวสถาปัตย์จุฬาฯ จับพลัดจับผลูมาเป็นตำรวจ
เธอยังมีหน้าที่คอยดูแลทีมงานตำรวจหญิงรุ่นใหม่ที่เข้ามาช่วยดูหน้างานแกะรอยปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำเอาประสบการณ์สมัยทำงานอยู่สังกัดกองบังคับการสนับสนุนทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาช่วยถ่ายทอดให้ลูกทีมได้องค์ความรู้ในการตามรอยอาชญากรบนโลกไซเบอร์ที่ พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน ผู้บังคับบัญชาเห็นแววความสามารถถึงเป็นเหตุผลในการดึงตัวเข้ามาร่วมทีมกันอีก
จะว่าไปแล้วเส้นทางประวัติชีวิตของเธอไม่ได้มุ่งมาทางตำรวจแต่แรก เป็นคนกรุงเทพมหานคร เข้าเรียนมัธยมโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา สำเร็จปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านออกแบบอุตสาหกรรม ก่อนเข้ามาดูงานด้านสเกตช์ภาพคนร้าย
“เรียนหลายอย่างมาก แต่ก็มีคำพูดติดตลกว่า เด็กสถาปัตย์จุฬาฯ ทำได้ทุกอย่าง ยกเว้นเป็นสถาปนิก” พ.ต.อ.หญิง มนชนก หัวเราะในโชคชะตาชีวิต ลิขิตให้มาสอบเข้าเป็นตำรวจในหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 21 มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่สำนักงานสอบสวนกลาง ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือเอฟบีไอด้วย “ ที่มาเป็นตำรวจ คือ เป็นโอกาสที่ได้รับมาในช่วงนั้นเลยลองดู เป็นความท้าทายอยู่ว่า อาชีพผู้บังคับใช้กฎหมาย เอาจริง ๆ มุมมองในสายตาคนทั่วไป หลากหลายนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เราจบสถาปัตย์มา ชีวิต ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องกฎหมาย หรือกฎระเบียบยิ่งห่างไกล อยากลองดูว่า เราจะทำได้ไหม เป็นความท้าทายของตัวเราเอง”
เริ่มต้นปรับปรุงงานสเกตช์ภาพ ความสามารถเข้าตาผู้เป็นนาย
นิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าอบรมเป็นตำรวจด้วยความที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องการบุคคลภายนอกที่มีความสามารถด้านสเกตช์ภาพ เป็นคุณสมบัติเฉพาะทางทำให้เธอผ่านการคัดเลือกมาช่วยปรับรบบซอฟต์แวร์ใหม่ไปช่วยในการทำงานสเกตช์ภาพอาชญากรของกองบังคับการทะเบียนประวัติอาชญากรในทันสมัยมากยิ่งขึ้นจากคอมพิวเตอร์
เธอยอมรับว่า สำนักงานพิสูจน์หลักฐานในสมัยนั้นเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะด้านศิลปะอาจไม่เยอะมากพอ จำเป็นต้องหาบุคลากรเข้ามาช่วยทำงานด้านนั้น เป็นไกด์เอาเทคโนโลยีไปเสริม ถึงได้มีโอกาสฝึกฝีมืออยู่กองทะเบียนประวัติอาชญากรจนได้เลื่อนเป็นสารวัตร และยังเก็บประสบการณ์ช่วยงานงานสันติบาลเกี่ยวกับภารกิจรักษาความปลอดภัย เป็นหัวหน้าสำนักงานท่านชาตรี สุนทรศร สมัยเป็นผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ต่อมาขยับเป็นรองผู้กำกับการกลุ่มงานวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำงงานเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยแกะรอยตามหาหลักฐานสนับสนุนหน่วยจากส่วนกลางในข้อมูลเชิงสืบสวน วิเคราะห์ข้อมูลหลักฐาน ทำงานเป็นคีย์หลักของคดีสำคัญแต่อยู่เบื้องหลังมาตลอดจนได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้เข้ามาอยู่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
เตือนระวังภัยในการใช้ชีวิตดิจิทัล เรียนรู้ไม่ทันจะตกเป็นเหยื่อ
“เราก็ต้องเตรียมองค์ความรู้ เตรียมอะไรไว้รองรับกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจจะพอคาดการณ์ได้ว่า เราจะต้องเจอ อะไรอย่างนี้ คือ ตำรวจท้องที่เอง หรือผู้เสียหายเอง ต้องเก็บหลักฐานเพื่อจะพิสูจน์ทราบตัวคนร้าย ในส่วนของประชาชน ถ้าเอาง่ายๆ คือ การใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลในปัจจุบัน เรื่องสำคัญ คือการรับมือข้อมูลข่าวสาร ต้องมีการตรวจสอบ อย่าเชื่อง่ายจนเกินไป” เธอว่า
“ปัจจุบันเรื่องในโลกออนไลน์ เรามองว่า ไม่ได้มองแค่เฟกนิวส์อย่างเดียว อาจจะมีอย่างเช่น เป็นลิงก์ต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เข้าใจว่า เป็นแพลตฟอร์มอย่างนี้นะ เป็นการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลแบบนี้นะ แต่จริงๆ แล้ว เราอาจจะต้องตรวจสอบ ใช้เวลา ในการตั้งสติว่า เป็นลิงก์ที่เชื่อถือได้จริงๆ หรือไม่ เบื้องต้นที่ประชาชนทุกคนสามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือ รีเช็กหน่วย ทำแฟกเช็กนิดหนึ่ง ไม่ใช่เรื่องที่เป็นอาชญากรรมทั่วไป แต่เป็นเรื่องการใช้งานมันด้วย ข้อมูลส่วนบุคคล เราจะไปกรอกอะไรที่ไหน ต้องมีความระมัดระวัง เพราะเป็นข้อมูลที่มีค่ามากสำหรับตัวเราเอง และสำหรับพวกโจรด้วย”
พ.ต.อ.หญิง มนชนกฝากด้วยว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ต้องพัฒนาศักยภาพ ความรู้ความสามารถให้ทัน แล้วต้องปรับกลยุทธ์ในการทำงานให้สอดรับกับอาชญากรรมที่มันเปลี่ยนรูปแบบไปค่อนข้างมาก ตามที่โอกาสทำงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจต่างประเทศพอสมควร พวกนั้นจะมีมุมมองใหม่ ไม่ใช่การไล่จับคนร้ายรายย่อย เหมือนผู้ค้ารายย่อย แต่มองสเต็ปหนึ่งไปข้างหน้า เน้นการทลายโครงสร้างองค์กรอาชญากรรม ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูล ดึงเอาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปทำคดีตั้งแต่แรกๆ เพราะเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติโดยทั่วไปอาจจะไม่เคยเจอเคสแบบนี้ ถ้าได้มุมมองจากผู้เชี่ยวชาญหลายๆ ด้าน จะทำให้การดำเนินคดีครบถ้วนมากขึ้น เป็นมุมมองที่จะต้องเห็นในเทรนด์ของทั่วโลก
“ในอนาคตอาชญากรรมไซเบอร์จะคงอยู่กับเราทุกคนตลอดไป”
สารวัตรโย-พ.ต.ต.หญิง ภาคีพรรณ ทองจันทร์ สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ลูกสาว ร.ต.อ.ยงยุทธ ทองจันทร์ ข้าราชการบำนาญกับนางวาสนา ทองจันทร์ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอ่างทอง
จบประถมโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ไปต่อมัธยมโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย สอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 66 และจบปริญญาโท คณะรัฐประศาสนศาตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้แรงบันดาลใจจากพ่อทำให้เจริญรอยตามมาเป็นตำรวจ มองว่า เป็นอาชีพที่มั่นคง ได้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ส่วนตัวเป็นคนขี้สงสารคนอยู่แล้ว หากประชาชนเดือดร้อนเข้ามาแจ้งความเราพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่
การมาเป็นพนักงานสอบสวนสังกัดกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เธอต้องขอบคุณผู้บังคับบัญชาที่ให้ความไว้วางใจ มองว่า อยู่ที่ใดก็ได้ ตำแหน่งที่ดีคือ ตำแหน่งที่ทำงานแล้วได้ประโยชน์กับประชาชน เช่นเดียวกับการับมือสถานการณ์มิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ในอดีตยังเป็นอาชญากรรมทั่ว ๆ ไป ที่ไม่ซับซ้อน ไม่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้อง ต่อมาได้พัฒนาปรับเปลี่ยนรูปแบบนำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น มีความซับซ้อน กระจายหลายพื้นที่ สร้างความเสียหายเป็นจำนวนมาก
“ในอนาคตอาชญากรรมไซเบอร์จะคงอยู่กับเราทุกคนตลอดไป มิจฉาชีพจะอาศัยความไม่รู้ ความโลภความกลัวของประชาชนเป็นเครื่องมือ ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือมากกว่าเดิม” เจ้าตัวมองแบบนั้น
เธอบอกว่า เป็นพนักงานสอบสวนทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการพิสูจน์ทราบการกระทำความผิดในอาชญากรรมไซเบอร์มาลงโทษตามกฎหมาย ในแต่ละรูปแบบของการกระทำความผิดในอาชญากรรมไซเบอร์ก็จะแตกต่างกันออกไป การได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนจะทำให้เรารู้ถึงรูปแบบการกระทำความผิดรวมไปจนถึงวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมไซเบอร์ หากสามารถนำรูปแบบและวิธีการป้องกัน ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนทั่วไปได้รับรู้และป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้ก็จะช่วยระงับยับยั้งอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อีกส่วนหนึ่ง
สารวัตรสาวเตือนด้วยว่า การทำธุรกรรมใด ๆ ก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่า บุคคลที่ทำธุรกรรมด้วยนั้นจะโกงเราเมื่อใดก็ได้ ก่อนโอนเงินควรตรวจสอบให้ดีเสียก่อน ชื่อนามสกุล เบอร์โทร ชื่อบัญชีธนาคาร ว่ามีประวัติไม่ดีหรือไม่ เช็กกูเกิลการซื้อของออนไลน์ต้องระมัดวัง ควรซื้อของที่มีหน้าร้าน ไม่เห็นแก่ของถูก ใช้สื่อโซเชียลอย่างมีสติ และสร้างสรรค์
“อยากฝากถึงเด็กเยาวชนว่า เรื่องหนึ่งที่ในปัจจุบันควรระมัดระวัง คือ การแบล็กเมล์ทางเพศ ไม่ควรส่งภาพ หรือวิดีโอคอล เต้นโป๊เปลือยให้ใครดูทั้งนั้น แม้จะเป็นแฟน เพราะหากเลิกกันแล้วก็อาจจะนำมาใช้ได้ทุกเมื่อ” นายตำรวจหญิงไซเบอร์จริงจัง
……
“อาชญากรรมไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องรู้”
สารวัตรกันยา-พ.ต.ต.หญิง ภิญญาพัชญ์ พิชัย สารวัตร (สอบสวน) กองกำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2 เกิดจังหวัดเชียงใหม่ ลูกสาว ด.ต.อัศวิน พิชัย ข้าราชการตำรวจโรงพักแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ กับนางนงคราญ พิชัย ครูโรงเรียนบ้านหนองปลามัน จังหวัดเชียงใหม่
จบมัธยมโรงเรียนปรินส์รอยเยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ ไปสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 68 และมีดีกรีปริญญาโท บริหารธุรกิจมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง แรงบันดาลใจที่มาเป็นตำรวจ เหตุผลเดี่ยวเพราะพ่อรับราชการตำรวจ เห็นมาตั้งแต่จำความได้แล้วประทับใจ เห็นพ่อไปสอนให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ความรู้เกี่ยวกับจราจร และยาเสพติด (D.A.R.E) ตามชุมชน และโรงเรียนในพื้นที่ พ่อเป็นที่รู้จักและเป็นที่รักของชาวบ้าน ไม่ว่าจะไปทางไหนก็มีแต่คนยิ้มแย้มทักทายเสมอ ถึงอยากเป็นตำรวจเหมือนพ่อ
เหตุผลที่มาอยู่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เจ้าตัวมองเป็นกองบัญชาการที่จัดตั้งใหม่ เป็นการท้าทายความรู้ ความสามารถในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นการพัฒนาความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พัฒนาเทคนิคการใช้เทคโนโลยี สื่อโซเชียลต่างๆ และได้รับความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้มาดำรงตำแหน่งนี้
“พัฒนาการของอาชญากรรมไซเบอร์มีการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยและความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ในอดีตอาชญากรรมทางไซเบอร์ยังมีไม่มากเนื่องจากเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังไม่ค่อยพัฒนา แต่เมื่อเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น อาชญากรรมไซเบอร์ก็มีมากขึ้น ซับซ้อนและหลากหลายมากขึ้น แปรผันตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และความไม่รู้ ความโลภ ความกลัวของประชาชน”
เธอว่า การป้องกันจากทั้งทางหน่วยภาครัฐและเอกชนจะมีมากเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทั้งบุคลากร ความรู้ และเครื่องมือป้องกันต่างๆ เพื่อให้ทันต่ออาชญากรเหล่านี้ ส่วนตัวมีหน้าที่ ในการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในการพิสูจน์ทราบการกระทำความผิด นำผู้กระทำความผิดในอาชญากรรมไซเบอร์มาลงโทษตามกฎหมาย ยอมรับว่า ในแต่ละรูปแบบของการกระทำความผิดในอาชญากรรมไซเบอร์จะแตกต่างกันออกไป
“การได้ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนจะทำให้เรารู้ถึงรูปแบบการกระทำความผิด รวมไปจนถึงวิธีการป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ นำรูปแบบและวิธีการป้องกัน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปได้รับรู้และป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อได้จะช่วยระงับยับยั้งอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้อีกส่วนหนึ่ง เพราะอาชญากรรมไซเบอร์เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนต้องรู้ ทุกคนต้องร่วมกันประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ แชร์เตือนภัยข่าวสารให้บุคลใกล้ชิด เพื่อจะได้รู้เท่าทันกลโกง ไม่ตกเป็นของมิจฉาชีพ”
สารวัตรสาวไซเบอร์ฝากเตือนด้วยว่า วิธีการของมิจฉาชีพ มีอยู่ 3 อย่างที่จะตกหลุมพราง คือ ทำให้กลัว เช่น แจ้งว่าท่านพัวผันกับคดียาวเสพติด สิ่งของผิดกฎหมาย ตำรวจจะไม่ตรวจสอบด้วยวิธีการโอนเงิน แต่จะออกหมายเรียก ตรวจสอบเส้นทางการเงินกับทางธนาคาร เท่านั้น วิธีการอื่นๆ ถือเป็นการหลอกหลวง ทำให้โลภ ไม่ว่าจะเป็นข้อความ หรือลิงค์ ที่หลอกลวง ว่าคุณได้รับเงินหนึ่งแสนบาทนั้น ไม่เป็นความจริง อย่าหลงเชื่อ เงินจำนวนมากได้มาโดยชอบอย่างไร ต้องมีสติเท่านั้น สุดท้ายทำให้รัก หรือ โรแมนซ์สแกม การหลอกลวงไม่ว่าจะมาในแชทข้อความ หรือเพื่อนในเฟซบุ๊ก อย่าไว้ใจ คนแปลกหน้าที่เราไม่รู้จักมาก่อน อย่าทำธุรกรรมใด ๆ เพื่อความปลอดภัย
“การที่เราใช้อินเตอร์เน็ตในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเพื่อความบันเทิง การทำธุรกรรม รับฟังข่าวสาร ท่านต้องมีสติทุกครั้ง คิดก่อนคลิก เช็กก่อนโอน ที่สำคัญคือ ไม่เชื่อ ไม่รีบ ไม่โอน หรือ ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวใด ๆของท่านไป” พ.ต.ต.หญิง ภิญญาพัชญ์ย้ำ
…
“เป็นภัยที่ไร้พรมแดน สะดวกสบายเพียงปลายนิ้ว”
สารวัตรชูใจ -พ.ต.ต.หญิง พรณับพัน มะโนคำ สารวัตรฝ่ายอำนวยการ กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 เกิดในครอบครัวที่มีพ่อเป็นตำรวจ แม่เป็นครู จบการศึกษ ปริญญาตรี คณะศิลปศาสตรบัณฑิต (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต
“ตั้งแต่เด็กจำความได้ อาชีพเดียวที่อยากเป็น คือ ตำรวจ ไม่เคยนึกถึงอาชีพอื่น เพราะเกิดในครอบครัวตำรวจที่มีพ่อเป็นตำรวจ ทำให้ born to be เป็นตำรวจจากสายเลือดตำรวจที่แท้จริง ตอนนี้ได้เป็นตัวแทนของพ่อ มาดูแลรับใช้ประชาชนต่อ ไม่เสียใจที่วันนี้ได้เป็นตำรวจตามที่ไฝ่ฝันไว้ เพราะเป็นอาชีพที่ความมั่นคงและมีเกียรติ ได้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน แม้จะเป็นฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น แต่เมื่อสิ่งที่คนอื่นเดือดร้อนได้รับการแก้ไข ความเดือดร้อนเปลี่ยนเป็นความสุขใจ เราก็มีความสุขไปด้วย”
ส่วนเหตุผลที่เลือกมาอยู่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เธอว่าเพราะได้มีโอกาสและจังหวะที่ดีจากผู้บังคับบัญชาให้มาดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นเพื่อทำหน้าที่ปราบปรามอาชญากรรมทางไซเบอร์ “เมื่อก่อนเราอาจจะเตือนให้บุตรหลานระวังคนแปลกหน้า แต่ในปัจจุบันคนแปลกหน้าสามารถเข้ามาหาเราถึงห้องนอนได้เลย เพียงใช้ปลายนิ้ว ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดบนโลกก็ตาม เพราะอาชญากรรมทางไซเบอร์มาพร้อมกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เป็นภัยที่ไร้พรมแดน สะดวกสบายเพียงปลายนิ้ว เพียงแค่เปิดคอมพิวเตอร์ หรือต่ออินเทอร์เน็ต เราอาจจะตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมทางไซเบอร์ได้โดยไม่รู้ตัว อาชญากรรมไซเบอร์มีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีกลยุทธ์ที่ใช้ก้าวหน้ามากขึ้น เร็วขึ้น อยู่ตลอด ต้องอาศัยความร่วมมือในหลายๆ ฝ่าย เรียนรู้และรับมือให้ทันกับอาชญากรรมที่เปลี่ยนแปลงไป” เจ้าตัวแสดงความเห็น
เธอยังมองว่า อาชญากรรมไซเบอร์เป็นอาชญากรรมที่ทุกคนสามารถตกเป็นเหยื่อได้ และจะยังคงอยู่กับเราตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและไม่หมดไปจากโลกนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราอยากเรียนรู้ และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตำรวจไซเบอร์ เพื่อที่จะได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ในการช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องและให้แนวทาง ตลอดจนการเตือนภัย ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมในช่องทางต่าง ๆ ให้แก่ประชาชน ให้ได้มีการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่เปลี่ยนไป เกิดความตระหนักรู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกง ตลอดจนเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ประชาชนให้ปลอดภัยจากอาชญากรรมทางไซเบอร์
พ.ต.ต.หญิง พรณับพัน ยืนยันจะดำรงวิชาชีพโดยมี พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นแบบอย่าง ตั้งทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด และสำคัญกว่าหน้าที่คือ มีจิตสำนึกในความเป็นตำรวจ เป็นตำรวจมืออาชีพ ไม่ใช่มีอาชีพแค่เป็นตำรวจ ส่วนตัวมีแนวคิดว่า การป้องกันอาชญากรรมทางไซเบอร์ เริ่มได้ที่ตัวเราเอง ส่วนใหญ่จะรู้ตัวอีกทีต่อเมื่อถูกหลอกลวงและสูญเสียทรัพย์สินไปแล้ว เราต้องมีสติอยู่ตลอดเวลา ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ คิดให้รอบก่อนเสมอ ระมัดระวังการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ แต่หากตกเป็นเหยื่อแล้ว ตำรวจไซเบอร์พร้อมจะเป็นที่พึ่ง เบื้องต้นสามารถแจ้งเหตุอาชญากรรมบนโลกออนไลน์ ผ่านสายด่วนตำรวจไซเบอร์โทร 1441 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อีกทาง
….
“การใช้ชีวิตอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นโลกหนึ่งที่มีความอันตรายอยู่ไม่น้อย”
หมวดจินนี่-ร.ต.ท.หญิง บวรลักษณ์ คล้ายคลึง รองสารวัตรกลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล กองบังคับการตรวจสอบและวิเคราะห์อาชญากรรมทางเทคโนโลยี ลูกสาว พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกับ นางณสุดา คล้ายคลึง
จบมัธยมโรงเรียนเซนต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ ไปต่อปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (การจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์) วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แล้วสอบเข้าเป็นตำรวจตามรอยพี่น้องในตระกูลคล้ายคลึงในหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 45
เธอรับว่า เป็นตำรวจแบบงง ๆ เพราะตอนเรียนจบมหาวิทยาลัยเกิดช่วงระบาดของโรคโควิด ทำให้เคว้ง พ่อกับแม่เลยเสนอให้มาเป็นตำรวจ เพราะการงานมันมั่นคง ยังไงไม่โดนไล่ออกแน่ ทั้งที่ไม่อยากเป็นตำรวจสักนิด เนื่องจากเห็นพ่อทำงานหนักมาตั้งแต่เด็ก สุดท้ายมองว่า คนในตระกูลคล้ายคลึงทำสิ่งดี ๆ ไว้ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเยอะมากเลยอยากเป็นอีกฟันเฟืองเล็ก ๆ ที่จะขับเคลื่อนพัฒนาและเปลี่ยนแปลงองค์กรตำรวจให้ดีขึ้น
ส่วนการเข้ามาอยู่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เจ้าตัวให้เหตุผลว่า ได้ไปงานเปิดตัวของหน่วย ได้ฟังวิสัยทัศน์ของพ่อแล้วดูยิ่งใหญ่มาก หากได้มาทำงานอยู่ตรงนี้ต้องเป็นอะไรที่สุดยอดและท้าทาย ได้ทำสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนในชีวิต ประกอบกับได้คำแนะนำพ่อว่า หน่วยยังขาดกำลังพลระดับรองสารวัตรที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ถึงได้มีโอกาสมาลง ตำแหน่งรองสารวัตรกลุ่มงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัล
“จินคิดว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์มีพัฒนาการตลอดแบบไม่หยุดนิ่ง เพราะเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงทุกยุคทุกสมัย ขนาดการใช้ชีวิต การแต่งตัว เทคโนโลยีทางด้านต่าง ๆ ของคนเรายังเปลี่ยนไปทุกวัน อาชญากรรมไซเบอร์ก็เช่นกัน ต้องบอกเลยว่า คนที่เป็นโจรทางโลกไซเบอร์เก่งมาก ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ นต้องคอยพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเพื่อที่จะได้รู้กลโจรเหล่านั้น จินคิดว่า อาชญากรรมไซเบอร์อาจจะยังไม่หมดไปในอนาคต เพราะโจรไซเบอร์พัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอด ถ้าในอนาคตเรามีความร่วมมือที่หนาแน่นมากขึ้นจากทั้งภาครัฐ และเอกชน อีกทั้งความร่วมมือในต่างประเทศด้วยมาช่วยร่วมกันสร้างการรับรู้ ให้กับประชาชนและในวงกว้าง ในอนาคตอาจจะมีการวางระบบบางอย่างเพื่อจัดการกับโจรในรูปแบบนี้ ทำให้อาชญากรรมนั้นเบาบางลงได้” ลูกสาวนายตำรวจมือปราบไซเบอร์เผยแนวคิด
เธออธิบายหน้างานของตัวเองด้วยว่า ทำหน้าที่ในการสืบหาข้อมูลพยานหลักฐานจากเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และออกรายงานผลการตรวจพิสูจน์ประสานตำรวจท้องที่ แต่ยับยั้งอาชญากรรมไซเบอร์ คงไม่หมดไปจากโลกนี้ได้แน่นอน สิ่งที่เราพอจะทำได้คือ การประชาสัมพันธ์ การป้องกัน สร้างความตระหนักและการรู้เท่าทันในระบบเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้เราอยู่ในโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และไม่ตกเป็นเหยื่อให้กับอาชญากรรมทางไซเบอร์
“การใช้ชีวิตอยู่ในแพลตฟอร์มดิจิทัล ถือเป็นโลกหนึ่งที่มีความอันตรายอยู่ไม่น้อย มีคนมากหน้าหลายตาจากทั่วทุกมุมโลก เปรียบเทียบกับคนเราไม่มีใครไว้ใจได้ทุกคน ช่องทางออนไลน์ก็เช่นกัน สมัยนี้อะไร ๆ เข้าถึงง่ายไปหมด แค่เรากูเกิลอยากรู้นู้นนี้ก็หาให้เราได้ละ เราอยากรู้จักคนนี้ก็แค่กดติดตาม หรือขอเป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กแป๊บเดียวจบ และการที่เข้าถึงง่ายตรงนี้ คือ ช่องโหว่ที่ทำให้โจรสามารถหาช่องทางในการกระทำความผิดได้ง่าย”
หมวดจินนี่ย้ำว่า ดังนั้นเราควรอยู่ในความไม่ประมาท ไม่ว่าจะเป็นการเสพสื่อผ่านช่องทางต่าง ๆ การ ซื้อของผ่านช่องทางออนไลน์ การลงทุนออนไลน์ ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ มีสติ คิดก่อนทำเสมอ ระมัดระวังการโพสต์ข้อมูลส่วนตัวต่าง ๆ รวมทั้งของบุคคลรอบข้าง หากทำสิ่งเหล่านี้ได้ ทุกท่านก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมไซเบอร์ สำคัญมาก คือ ต้องมีสติ
….
“อาชญากรรมทางไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
หมวดมุก- ร.ต.ท.หญิง รัตนาวดี หวังพลายเจริญ รองสารวัตรฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เกิดและโตที่จังหวัดกรุงเทพฯ พ่อและแม่เป็นข้าราชการตำรวจทั้งคู่ สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนซางตาครูสศึกษา, มัธยมศึกษาจากโรงเรียนศึกษานารี และปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยมหิดล คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ก่อนเข้าหลักสูตรการฝึกอบรมข้าราชการตำรวจและบุคคลที่บรรจุหรือโอนมาเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรรุ่น 48
แรงบันดาลใจที่มาเป็นตำรวจ เจ้าตัวสารภาพว่า เกิดและเติบโตมาในครอบครัวตำรวจ เพื่อนเล่นในวัยเด็กส่วนใหญ่เป็นลูกของตำรวจทั้งนั้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ซึมซับและเรียนรู้ความเป็นอยู่สังคมและสิ่งแวดล้อมในอาชีพตำรวจมาตลอด เรียกอีกอย่างว่าสภาพแวดล้อมหล่อหลอม ทำให้มีความรู้สึกที่อยากจะลองมาเป็นตำรวจดูสักครั้ง และมีโอกาสสอบเข้ารับราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตรสำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรีทางคอมพิวเตอร์ หรือวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
เลือกมาอยู่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เธอให้เหตุผลว่า เป็นกองบัญชาการที่คิดว่าจะได้ใช้ความรู้ความสามารถที่เรียนจบมาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ขณะเดียวกันเราได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกอาชญากรรม เพราะในอดีตอาชญากรรมทางไซเบอร์ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก เนื่องจากคนในสังคมไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอย่างรวดเร็วเหมือนในปัจจุบันที่ทุกคนมีเครื่องมือสื่อสารหลายรูปแบบ สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารหรือทำธุรกรรมต่าง ๆ เพียงปลายนิ้วมือ ทำให้เกิดการก่ออาชญากรรมไซเบอร์หลายรูปแบบ เช่น เฟกนิวส์ โรแมนซ์สแกม และหลอกลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ ในอนาคตอาชญากรรมไซเบอร์คงมีการพัฒนาไปพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เราต้องเรียนรู้อยู่เสมอ และตามให้ทันกับการใช้เทคโนโลยี
ผู้หมวดสาวยอมรับว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นกองบัญชาการที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ต้องทำทุกอย่างตั้งแต่เริ่ม ทั้งการติดตั้งเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ ระบบสารสนเทศต่าง ๆ เราก็เป็นเจ้าหน้าที่คนหนึ่งที่ได้ทำงานให้โครงสร้างพื้นฐานของหน่วยจนเสร็จสมบูรณ์ นำไปสู่การจัดตั้งศูนย์ความร่วมมือและรวบรวมข้อมูลตำรวจไซเบอร์ (Cyber Cop Cooperation and Consolidation Center) หรือ “ศูนย์ 5C” เพื่อให้บริการประชาชนในการรับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของประชาชน
“เมื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ชัดเลยว่า อาชญากรรมทางไซเบอร์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนมากมิจฉาชีพเป็นคนที่เก่งทางด้านเทคโนโลยี เคยเจอเคสหนึ่งที่มิจฉาชีพทำแอปพลิเคชันลอกเลียนแบบอัปเทรดคริปโตขึ้นมาหลอกลวง เหมือนกับต้นฉบับมาก ขนาดเราที่พอจะมีความรู้ทางด้านนี้ยังรู้สึกเลยว่า เหมือนจนแยกไม่ออก แล้วประชาชนจะสามารถแยกออกได้อย่างไร การที่จะหยุดยั้งอาชญากรรมไซเบอร์ไม่ง่ายเลย แค่ประชาสัมพันธ์วิธีป้องกันคงไม่พอ ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ Security Awareness เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันจากการคุกคามทางไซเบอร์ด้วย” ร.ต.ท.หญิง รัตนาวดีว่า