“เราก็เป็นนักการเมืองอาชีพ เราก็อดทน ทนดูว่า บ้านเมืองจะเดินไปยังไง”

ดีตรัฐมนตรีช่วยผู้มีชีวิตไม่ธรรมดา

บุญลือ ประเสริฐโสภา ชาวดำเนินสะดวก เกิดครอบครัวชาวสวน แค่ประถม 4 ต้องหนีน้ำท่วมย้ายเข้ามาเรียนวัดอุดม ย่านหนองแขม ไปต่อมัธยมโรงเรียนราชวินิตบางแคปานขำ กระทั้งมัธยม 3 ย้ายไปอยู่มัธยมหนองแขม เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียนพาทีมเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายฟุตบอลนักเรียนกรุงเทพมหานคร

มันเป็นสิ่งที่จุดประกายให้เขาคิดว่า กีฬาฟุตบอลน่าจะทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิตเลยมีความคิดอยากเป็นนักฟุตบอล แต่แล้วหนทางที่วาดหวังไว้ในยุคนั้นมันถึงทางตันอย่างรวดเร็วเมื่อโรงเรียนต้นสังกัดไม่สนับสนุน

เมื่อสิ้นสุดชีวิตนักเรียนมัธยม บุญลือเลือกเรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เหตุผลสำคัญ คือคิดว่า เกิดมาต้องรู้อะไรผิด อะไรถูก นิติศาสตร์เป็นอะไรที่ทำให้ตัวเองรู้ คนรู้กฎหมายจะไม่ทำผิด ถึงเข้าไปเรียนคณะนิติศาสตร์ ประกอบกับบุญส่ง ประเสริฐโสภา พี่ชายก็จบนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ถือเป็นต้นแบบที่ดี

อยู่รั้วพ่อขุนไม่นานชีวิตก็หักเห เพื่อนรุ่นพี่เป็นหัวหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด ยุคสีลม ชวนไปเที่ยวโรงพิมพ์ เห็นการทำงานเลยติดใจ บุญลือเล่าว่า ได้พบผู้หลักผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเผด็จ ภูริปฏิภาณ ผู้อำนวยการ เห็นว่าเป็นผู้ชายที่ครบเครื่อง ถึงเข้าทำงานข่าวสด และเรียนมหาวิทยาลัยไปด้วย แต่เปลี่ยนจากรามคำแหงไปอยู่มหาวิทยาลัยศรีปทุม

เด็กหนุ่มชาวดำเนินสะดวกก้าวไปเป็นนักข่าวตระเวน เกิดเหตุการณ์ปฏิวัติเมื่อปี 2534 นำไปสู่การนองเลือดในพฤษภาทมิฬ หนังสือพิมพ์ข่าวสดกรุแตกเปลี่ยนแปลงไปรวมกับมติชน เจ้าตัวมีความรู้สึกว่า ต้องเรียนต่ออย่างจริงจัง และขวนขวายหาสำนักเพื่อตัวเองเลยสมัครไปอยู่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ได้รับความเมตตาจากมานะ แพร่พันธุ์ เพราะช่วงนั้นกำลังเนื้อหอม เพิ่งรับรางวัลข่าวยอดเยี่ยม คดีสมีเจี๊ยบเหลือบในชายผ้าเหลือง แถมได้อนันต์ อัศวนนท์ เป็นคอลัมน์ตำรวจให้เขียน ใช้นามปากกาวังปารุสก์ ดำเนินชีวิตแบบนักข่าวสายอาชญากรรมเต็มตัวนาน 3 ปี

เขาตัดสินใจลาวงการ เพราะเห็นว่า จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยศรีปทุมแล้ว ประสบการณ์จากการทำงานหนังสือพิมพ์ก็เยอะจนอิ่มตัว “ผมมองว่า ถ้าอยู่หนังสือพิมพ์ต่อไป ไม่แน่ใจว่าจะมีความมั่นคงในชีวิตหรือเปล่า เห็นตัวอย่างจากรุ่นพี่หลายคนเลยลาออกกลับไปอยู่บ้านเกิดดำเนินสะดวกหันไปลงสมัครสมาชิกสภาจังหวัดที่เปิดเลือกตั้งทั่วประเทศเมื่อปี 2538 พอดี”

บุญลือเห็นการเปลี่ยนแปลงของการเมืองก่อนปฏิวัติไปถึงหลังปฏิวัติช่วงพฤษภาเลือด เห็นต้นแบบนักการเมืองอย่างอลงกรณ์ พลบุตร อดีตนักหนังสือพิมพ์ที่เคยทำงานร่วมกันตอนอยู่ข่าวสด ที่ทำให้เขาเกิดความศรัทธาถึงเลือกเจริญรอยตาม ก่อนได้ความไว้วางใจจากชาวดำเนินสะดวกให้เป็นสมาชิกสภาจังหวัดครั้งแรกที่ลงเลือกตั้ง

นับเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานการเมืองของเขา

“ตอนแรกคิดว่า มันต้องลองดูก่อนนะ ไม่ลองไม่รู้ แต่พอลงไปแล้วก็มีความมั่นใจในระดับหนึ่ง เนื่องจากว่า ช่วงนั้น เตี่ยกับแม่ และตระกูลเราเป็นอะไรที่ได้ยอมรับจากเพื่อนบ้าน ประชาชนในดำเนินสะดวก เพราะเราก็ทำมาหากิน ทำสวน ค้าขาย เป็นพ่อค้าแม่ค้า ชื่อเสียงก็ไม่ได้เป็นสองรองใคร เตี่ยก็พาไปหาเสียงกับอาเจ็ก อาแปะ คนจีนในนั้นซึ่งเป็นคนที่เตี่ย รู้จัก เป็นพ่อค้าด้วยกัน แม่ก็พาไปตามสวน บ้านเกิดผม มีประชากรเยอะ ก็ทำให้เราได้เปรียบผู้สมัครที่เป็นผู้สมัครในพื้นที่เป็นจุดที่คิดว่าเป็นพลัง ให้ผมได้มีโอกาส”

บุญลือโกยคนเป็นอันดับ 2 ของเขตอำเภอดำเนินสะดวกในสมัยแรก แต่สมัยต่อมาเขาทำคะแนนเป็นอันดับ 1 เพราะแสดงให้ชาวบ้านเห็นถึงการทำงานที่มุ่งมั่นพัฒนา แก้ไขปัญหาในพื้นที่ และยังได้ตำแหน่งพ่วงท้ายเป็นประธานสภาจังหวัดที่หนุ่มที่สุดในประเทศวัยเพียง 28 ปี ต่อมาปี 2540 เกิดการเปลี่ยนแปลงเลือกตั้งท้องถิ่น อีกทั้งมีรัฐธรรมนูญแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เป็นแบบวันแมนวันโหวต มันทำให้เขาคิดว่าน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนสู่การเมืองระดับประเทศ

เวลานั้นพรรคไทยรักไทยเปิดตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค อนันต์ อัศวนนท์ ตามให้บุญลือไปพบที่ซอยพหลโยธิน 8 ถามว่าสนใจอยากลงสมัครผู้แทนที่ราชบุรีหรือไม่  “ผมคิดว่าคุณทักษิณน่าจะทำโพลล์มาแล้ว ผมขอคิดดูก่อน พี่อนันต์ให้ผมไปคุยกับคุณสรอรรถ กลิ่นประทุม เพราะบ้านผมเป็นฐานเสียงให้ สุดท้ายก็ลงตัว ผมลงสมัครในนามพรรคไทยรักไทย เขต 5 ราชบุรี และได้รับคะแนนเป็นอันดับ 1 ชนะคู่แข่งพรรคประชาธิปัตย์”

เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมัยแรก บุญลือว่า นโยบายพรรคตอนนั้นถือว่า จับต้องได้ นำมาสู่การแก้ปัญหา พัฒนาพื้นที่ เป็นการออกนโยบายที่ตรงใจ โดนใจประชาชน ช่วงนั้นทำงานหนักพอสมควร ไปอยู่กรรมาธิการการตำรวจ  เป็นรองกรรมาธิการร่วมผลักดันงบประมาณให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่จนยุบสภา มีเลือกตั้งใหม่ก็ชนะเป็นผู้แทนอีกสมัย และนั่งตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช

ทำอยู่กระทรวงมหาดไทยถึงวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดปฏิวัติยึดอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี “พอดีเตี่ยผมเสีย จัดงานศพอยู่ราชบุรี สวดศพคืนสุดท้าย ผมจุดธูปต่อหน้าศพพ่อว่า ผมอยากทำงานการเมืองต่อ แต่ถ้าอนาคตยังไม่ประสบความสำเร็จทางการเมืองจะยังไม่เผา ต้องเก็บศพเตี่ยไว้ประมาณปีกว่าถึงมีเลือกตั้งใหม่ เปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน รัฐบาลพยายามแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ ผมเป็นผู้แทนหนุ่ม ฝ่ายทหารพยายามจะล้มผมให้ได้”  อดีตนักการเมืองเล่าฉากชีวิต

ในที่สุดบุญลือก็ผ่านสนามเลือกตั้งเข้าป้ายอันดับ 1 ของเขตอีกครั้ง ขณะที่ลูกทีมสอบตกหมด มีการจัดตั้งรัฐบาลพรรคพลังประชาชน สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี บุญลือ ประเสริฐโสภา ได้รับโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2551 ให้เป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษา ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บริหารโดยตรง และเป็นรัฐมนตรีหนุ่มที่สุด อายุ 38 ปี ได้รับมอบหมายจากสมชาย  วงศ์สวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ดูแลทบวงมหาวิทยาลัยทั้งหมด

เจ้าตัวเล่าว่า พยายามทำงานเต็มที่ แก้ไขปัญหาการสอบแอดมินชั่น จะทำอย่างไรให้เด็กที่จบมัธยมศึกษาตอนปลายมีที่เรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ แก้ปัญหานักเรียนตีกัน ดูเรื่องของเงินกู้ยืมของกองทุนให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา ที่เด็กนักเรียนร้องเรียนว่า ได้รับเงินกู้ไม่เท่าเทียมกัน เด็กที่เรียนคณะวิทยาศาสตร์ก็จะได้เงินกู้ยืมเยอะกว่าเด็กที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ ก็จะเข้าไปดูแลแก้ปัญหา

นั่งรัฐมนตรีเกือบ 8 เดือนนายกฯสมัคร สุนทรเวช ถูกปลด คณะรัฐมนตรีทั้งชุดต้องออกหมด เกิดวุ่นวายทางการเมืองเมื่อมีผู้ชุมนุมมากดดัน สมชาย วงษ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่นาน มีคำสั่งศาลให้ยุบพรรคพลังประชาชน บุญลือถูกหางเลขโดนตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย “ระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีได้ 3 เดือน ก็จัดการพระราชทานเพลิงศพเตี่ยเรียบร้อยตามความตั้งใจ เพราะถือว่าสำเร็จไปแล้ว ในช่วงที่โดนตัดสิทธิ จุดพลิกผันตอนนั้น ถามว่าเสียใจไหม ก็ไม่ได้เสียใจ คิดว่า ในเมื่อการเมืองมันเป็นอย่างนี้ เราก็เป็นนักการเมืองอาชีพ เราก็อดทน ทนดูว่า บ้านเมืองจะเดินไปยังไง”

ยุติบทบาทมา 5 ปี หลังจากนั้นมีการเลือกตั้งผู้แทนอีกครั้งเมื่อปี 2554 เขาส่งพี่ชายลงในนามพรรคภูมิใจไทยแทน ส่วนตัวเองปลีกตัวออกมาทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ก่อตั้งทีมฟุตบอลสโมสรราชบุรี เอฟซี ที่กลายเป็นราชบุรีมิตรผล เอฟซี ในปัจจุบัน อีกทั้งไปเรียนปริญญาเอกเพิ่มเติมสาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ เรียนหลักสูตรสถาบันวิจัยตลาดทุนรุ่น 12 เรียนวิทยาการพลังงานรุ่นที่ 2 อีกทั้งหลักสูตรมหานครรุ่น 1

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษามองว่า การเรียนหลักสูตรต่างๆ ทำให้เราได้รู้จักคนมากขึ้น ได้เพื่อนเพิ่มมากขึ้น แต่ละคนก็มีหน้าที่การงานที่หลากหลาย เป็นอะไรที่คิดว่าเราได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่มีมา ผนวกกับได้เจอคนที่ได้เรียนด้วยกัน เคยทำงานด้วยกัน เป็นประสบการณ์ที่ดี ได้มีโอกาสมาทำงานหลายๆ อย่าง

วันนี้ เขายังเป็นบอร์ดกรรมการสรรหาบริษัท เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)ที่ถือว่าเป็นความรู้ใหม่เกี่ยวกับเรื่องเงินตรา การเงินการคลัง เขายอมรับว่า ไม่ได้จบเศรษฐศาสตร์ มีแค่ปริญญาตรีนิติศาสตร์ ปริญญาโทวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และปริญญาเอกรัฐประศาสนศาสน์ ต้องมาทำเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ การเงินการคลัง ก็ถือว่า โอเค บริษัทนี้เป็นสถาบันที่ได้รับการยอมรับจากพวกนักลงทุนที่เราศึกษาจนเข้าใจอย่างดี

เมื่อถามว่าจะลงสนามเล่นการเมืองอีกหรือไม่ บุญลือคิดเล็กน้อยก่อนตอบว่า ขอรอดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน จะเปิดช่องให้บุคคลที่เป็นอดีตนักการเมืองหวนกลับคืนหรือไม่ ต้องบอกว่า ประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2475 เราปฏิวัติมานับครั้งไม่ถ้วน ปฏิวัติก็เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายหลัก กฎหมายสำคัญสูงสุดในการปกครองประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการแก้ มีไม่ต่ำกว่า 300 มาตรา จะทำยังไงให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุด

“ถ้าเป็นประชาธิปไตยจริงๆ ผมก็คิดว่าเป็นสิทธิของผมที่จะมาเล่นการเมืองอีกครั้ง ส่วนผมจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินใจ”  อดีตนักการเมืองคนหนุ่มชาวดำเนินสะดวกทิ้งคำคม

 

 

RELATED ARTICLES