ก้าวที่ 15 ประจำนครบาล

พ้นรัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร จากพิษเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ

มีชัย ฤชพันธ์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี รักษาการตำแหน่งผู้นำไม่ถึงเดือน อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เสนอชื่ออานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 ของเมืองไทยขึ้นทูลเกล้าฯ กลับมาเป็นผู้นำขัดตาทัพอีกครั้ง

ยามนี้นักข่าวสายการเมือง หนังสือพิมพ์สยามโพสต์เริ่มคึกคักเหมือนปลาเปลี่ยนน้ำ อานันท์ ปันยารชุน ยืนยันจะนั่งบริหารประเทศไม่กี่เดือนแล้วจะยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ตามระบอบประชาธิปไตย

ณ เวลานั้น ตัวเต็งจ๋าที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 20 คือ ชวน หลีกภัย หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แต่เกือบทุกคนกลับลืมเหตุการณ์นองเลือดบนถนนราชดำเนิน

วีรกรรมยักษ์ท่าเตียนยุค 2535 คู่กรณีระหว่างพลเอกสุจินดา คราประยูร กับพลตรีจำลอง ศรีเมือง เลิกราด้วยต่างฝ่ายต่างเก็บตัวสงบเสงี่ยม ทิ้งความเจ็บปวดให้แก่ญาติผู้เสียชีวิต และผู้หายสาบสูญจากเหตุวิบัติชาติหนนั้นหน้าตาเฉย

พวกเขายังคงก้มหน้าก้มตาร้องหาความเป็นธรรม ทว่าฟ้าไม่มีตา ดาวไม่มีแสงเจิดจรัส เสียงโหยหาเลยเป็นเพียงคำคร่ำครวญอันแสนเบาหวิว

“คนไทยลืมง่ายจัง” ผมคิดและเชื่อว่า คงไม่ใช่ครั้งสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในแผ่นดินสยาม ตราบใดที่อำนาจยังวนเวียนอยู่กับเก้าอี้ผู้นำประเทศที่ไม่มีหัวใจประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ข้าจะให้เอ็งไปประจำนครบาลนะ” อัมพร พิมพ์พิพัฒน์ หัวหน้าข่าวอาชญากรรมกระชากวิญญาณหัวรุนแรงทางการเมืองโยนติ้วให้ผมรับภารกิจสายงานข่าวอาชญากรรม

“ข้าว่า เอ็งทำได้ เพราะเอ็งเคยฝึกงานตระเวนมาก่อน ถ้ามีเหตุอะไรก็ติดรถฉบับอื่นไป พยายามสร้างมนุษย์สัมพันธ์สนิทสนมกับพวกเขา”

“ครับพี่” ผมรับบัญชาทั้งที่ยังไม่รู้ว่า จะทำได้ดีแค่ไหน

“ส่วนสุทิน กับไพฑูรย์ เอ็งไปประจำกรมตำรวจ” อัมพรขยายความมอบแผนงานให้สุทิน พรหมมา และไพฑูรย์ เสาสูง 2 นักข่าวที่มีประสบการณ์มาแล้วไปเฝ้าทุ่งปทุมวัน

“แล้วกองปราบล่ะครับ ไม่มีคนไปหรือ” ผมถาม

“ที่นั่นมันแดนสนธยาเกินไป ไม่เหมาะสำหรับพวกเอ็งหรอก ไว้มีข่าวใหญ่แล้วค่อยโฉบไปทำ ตอนนี้เอาแบบนี้กันก่อน” หัวหน้าให้เหตุผล

ผมคิดว่า โชคดีที่ได้ประเดิมเป็นนักข่าวอาชญากรรมประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างน้อยทุกเช้า ผมสามารถติดรถพ่อไปทำงานด้วยกันได้ เพราะพ่อผม พันตำรวจโทประสงค์ กฤษณสุวรรณ รองผู้กำกับการ 5 กองบังคับการตำรวจดับเพลิง มีที่ทำงานอยู่ในรั้วเดียวกันพอดี

“ไปหาไอ้วิตรบางกอกโพสต์นะ เพื่อนพ่อเอง มีอะไรก็ถามมัน มันเก่ง รู้จักนายพลเยอะ”

ถึงวัยเด็ก ผมจะเติบโตวิ่งเล่นอยู่ในกองบังคับการตำรวจดับเพลิงที่ตอนหลังกองบัญชาการตำรวจนครบาลย้ายมายึดพื้นที่ด้วย เหตุจากสถานที่เดิมใกล้โรงพักนางเลิ้งถูกเผาไปเมื่อคราวตุลาเลือด 2516 แต่ผมก็ไม่เคยย่างกายเข้าไปเหยียบพื้นที่ราชการระดับน้องกรมตำรวจเลยสักครั้งเดียว เพราะส่วนใหญ่ถ้าไม่วนอยู่บนแฟลตดับเพลิงก็จะไปห้องทำงานพ่อ และสำนักงานผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง

วันแรกของชีวิตนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผมมะงุมมะงาหราไปถึงแต่เช้า เดินเข้าห้องนักข่าวที่อยู่ติดกับแผนกประชาสัมพันธ์ชั้นล่างหน้าลิฟต์ขึ้นตึกกลับไม่มีนักข่าวสักคนมาทำงานเลย

“มาหาใครไอ้น้อง” จ่าสิบตำรวจสุภัทร อธิวรินทร์ ไว้หนวดเฟิ้ม ผมยาวปะบ่าแต่งเครื่องแบบถามอย่างมิตรไมตรี

“ผมเป็นนักข่าวอยู่สยามโพสต์ครับ”

แกทำหน้างง “ฉบับไหนนะ”

“สยามโพสต์ครับ”

“มีด้วยหรือ”

ผมยิ้มอธิบายอยู่นานว่า กำลังเป็นรูปเป็นร่างยังไม่ได้วางแผง แกพยักหน้าเหมือนเข้าใจ ผมถึงรู้ว่า แกเป็นฝ่ายประชาสัมพันธ์ กองกำกับการบริการประชาชน กองบังคับการอำนวยกา กองบัญชาการตำรวจนครบาล มีห้องติดกับห้องนักข่าว สมัยนั้น พันตำรวจตรีพิสิฏฐ โปรยรุ่งโรจน์ เป็นสารวัตร ลูกน้องในห้องนอกจากจ่าสุภัทรแล้ว ยังมีร้อยตำรวจเอกสมชาย ว่องไวเมธี ร้อยตำรวจเอกไพสิฐ แก้วจรัส ร้อยตำรวจโทเมธี ธรรมวิมล จ่าสิบตำรวจสายันต์ ทับทิมทอง จ่าสิบตำรวจภัทรพล ทีเจริญ จ่าสิบตำรวจหญิงถาวร ผ่องวิถี สิบตำรวจเอกสมเกียรติ คัมภิรานนท์ สิบตำรวจตรีมาโนช วทานียเวช สิบตำรวจตรีหญิงวีระวรรณ วีระโชติ และสิบตำรวจตรีหญิงกรรณิกา สุริยกุล ณ อยุธยา

“นั่งเล่นไปก่อนน้อง นักข่าวพวกนั้นกว่าจะมาโน้น สายโด่เด่ ไม่ก็เที่ยง” จ่าตำรวจมากประสบการณ์ว่า

“พี่รู้จักพี่วิตรบางกอกโพสต์หรือเปล่าครับ”

“อ๋อ น้าวิตรเหรอ แกไม่ค่อยมาสุงสิงห้องนี้หรอก แกชอบไปดูพระอยู่ใต้ถุนสโมสรดับเพลิง บ่าย ๆ เดินไปหาซิ เจอแน่”

“ครับ ขอบคุณครับ”

ผมนั่งเก็งอยู่ห้องนักข่าวอยู่พักใหญ่ก็เริ่มมีคนข่าวอาวุโสทยอยกันเข้ามา ผมได้แต่นิ่งไม่กล้าทักทายใคร ซุ่มเงียบอยู่มุมโซฟาลำพัง

“น้องมาใหม่หรือ” หนุ่มใหญ่ท่าทางเหมือนยังไม่สร่างเมาทัก ผมเลยได้โอกาสแนะนำฝากเนื้อฝากตัวถึงรู้แกชื่อปัญญา พันธ์เผือก สังกัดหนังสือพิมพ์วัฏจักร จากนั้นแกก็นำพาให้ผมรู้จักนักข่าวประจำนครบาลเกือบทุกคน เริ่มตั้งแต่ ชัยวุฒิ มั่นสิงห์ เดอะเนชั่น ศักดา เจ๊กจั่น เดลิมิเรอร์ ไชยรัตน์ ส้มฉุน เดลิมิเรอร์ บุญเสริม พัฒฑนะ ค่ายใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วัลลภ ชัดแววศรี เดลินิวส์ ชาญชัย กายพันธ์ และเจตนา จนิษฐ์ คู่นักข่าวมือดีสังกัดมติชน

“เป็นสมาชิกชมรมหรือยัง” ปัญญาถาม

“ชมรมอะไรครับ”

“ชมรมผู้สื่อข่าวช่างภาพอาชญากรรม”

“แล้วต้องทำอย่างไรครับ”

“เอาค่าสมัครมา 200 บาท” เสียงแกจริงจัง ทำเอาผมหวั่น คิดในใจวันแรกก็โดนไถเงินแล้วหรือเนี่ย

ไอ้ปัญญา มึงอย่าไปขู่น้องมัน เอาไว้ก่อนก็ได้น้อง” ชัยวุฒิหัวเราะสอดขึ้นมาทำบรรยากาศหายตึงเครียด

การเผชิญหน้ากับนักข่าวรุ่นพี่มิตรใหม่ครั้งแรก ผมไม่เคยลืม ถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตนักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลอย่างเป็นทางการด้วยวิธีการผูกสัมผัสสร้างแหล่งข่าวจากคนอาชีพเดียวกันก่อน

สนทนาแนะนำทำความรู้จักกันจนบ่าย ผมถึงพบสุวิตร โสรจชนะ นักข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ คนที่พ่อผมชี้ทางให้มาเจอ

“ลูกพี่สงค์หรือ เรากับพ่อนายสนิทกันมากนะ สมัยก่อนเคยไปถ่ายรูปทำข่าวมาด้วยกัน ตั้งแต่เรายังอยู่เสียงอ่างทอง พ่อนายชอบถ่ายรูปมาก ดีเลยมาอยู่นครบาล เวลามีอะไรดี ๆ เราจะบอกนะ” สุวิตรบอกอย่างเอ็นดูก่อนก้มหน้าส่องพระต่อ

นอกจากชัยวุฒิ ศักดา ปัญญา แล้ว ผมยังได้บุญเสริม ที่สุวิตร ฝากฝังให้ช่วยรับบทพี่เลี้ยงเป็นไกด์นำทางหาข่าวในกองบัญชาการตำรวจนครบาลอย่างดีอีกคน

“ผมเคยฝึกงานตระเวนไทยรัฐ ทำไมผมไม่เจอพี่ล่ะ”

“ตอนนั้น เราอยู่ช่อง 7 เพิ่งลาออกมาอยู่ไทยรัฐ”

“อยู่ช่อง 7 ไม่ดีหรือพี่”

แกว่า ดี แต่ต้องออกไปประจำศูนย์ข่าวต่างจังหวัดเดือนเว้นเดือน ไม่มีเวลาให้ครอบครัวเลยตัดสินใจลาออกมาสมัครเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ทั้งที่ก่อนหน้าเคยอยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์มาแล้ว

“เดี๋ยวกินข้าวเสร็จแล้วไปเดินข้างบนกัน” บุญเสริมบอก

“ไปไหนครับ”

“ก็หาแหล่งข่าวไง” นักข่าวประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาลรุ่นพี่แย้มแผนงานตอนบ่าย

“ครับ แล้วพี่เจอพี่ทีปบ้างหรือเปล่า” ผมเอ่ยถึงประทีป สุวรรณพืช นักข่าวตระเวนที่เคยเป็นพี่เลี้ยงติวเตอร์สอนทำข่าวอาชญากรรมสมัยไปใช้ชีวิตนักศึกษาฝึกงานสำนักข่าวหัวเขียวนาน 2 เดือน

“ทีป ลาออกไปแล้วนะ”บุญเสริมบอก

ผมฟังแล้วใจหาย ยังจำวันที่นั่งรถตระเวนข่าววันสุดท้าย จำภาพใบหน้าอันเศร้าของรุ่นพี่ฝึกงานหลังถูกหัวหน้าด่ายับที่ตกภาพข่าวหนุ่มคลั่งจี้ตัวประกันในย่านหัวหมาก เพราะเขามัวกังวลใจเฝ้าอาการไข้ของแฟนสาวอยู่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ

ประทีปลาออก เพราะเลือกทำตามใจคนรักไปยึดงานประจำเป็นพนักงานธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนักงานใหญ่

“เขาไม่เข้าใจเรา เขาหาว่าเราไม่มีเวลา” ประทีปคุยกับผมในคืนวันสุดท้ายของชีวิตนักศึกษาฝึกงาน สุดท้ายกลายเป็นเหตุผลสำคัญครั้งใหญ่ที่ทำให้นักข่าวหนุ่มอนาคตไกลต้องทิ้งวงการน้ำหมึกเพื่อคนที่เขารัก

น่าเสียดายพรสวรรค์ของคนข่าวรุ่นพี่ผมคนนี้

แกเป็นคนแรกที่เปิดข่าวดังกระฉ่อนประเทศกรณีของพระนิกร ยศคำจู ไปมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับสีกาสาวอรปวีณา บุตรขุนทอง จนตั้งท้อง กระทั่งข่าวนี้ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐในรางวัลข่าวยอดเยี่ยมสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

ผมเคยถามถึงเบื้องหลัง แกกลับเล่าด้วยความขมขื่นไม่ได้มีความรู้สึกภูมิใจแม้แต่น้อย

“มีคนหาว่า เราร่วมกับญาติอรปวีณาไปขู่แบล็กเมล์กรรโชกทรัพย์พระนิกรพอไม่ได้ก็ตีข่าว พอข่าวได้รางวัล เราก็ไม่ได้เป็นคนไปรับ”เจ้าตัวเสียงอ่อย

ประทีปลำดับเรื่องราวประวัติศาสตร์ฉาวของวงการศาสนาเมืองไทยว่า พระครูใบฎีกานิกร ธัมมวาที หรือนายธรรมรัตน์ ยศคำจู เป็นพระนักเทศน์เสียงทองแห่งยุคที่เชียงใหม่ มีผู้คนแห่ไปฟังการเทศน์ไม่ขาดสาย แม้หนทางสู่วัดจะยากลำบากเพียงใดก็ไม่เป็นปัญหาด้วยพลังศรัทธาถึงขั้นต้องเปิดสำนักปฏิบัติธรรมหลายสิบแห่งทั่วประเทศ

วันหนึ่งพี่ชายของอรปวีณา บุตรขุนทอง ที่รู้จักกับประทีปโทรมานัดให้ไปเจอสนามบินดอนเมืองบอกจะมีข่าวใหญ่ให้

“เราไปถึงก็รู้ว่า อรปวีณาและพี่ชาย พ่อกับแม่ รวมทั้งพระนิกรอยู่ห้องสอบสวนของสนามบิน ก็ไปนั่งฟังกับเขาเลยรู้เรื่องว่า พระนิกรมีอะไรกับอรปวีณาจนตั้งท้อง แต่กำลังจะบินไปอเมริกา ทิ้งอรปวีณาเผชิญชะตากรรมคนเดียว ฝ่ายหญิงไม่พอใจ เตรียมปืนจะไปยิง พี่ชายอรปวีณาเลยรีบโทรหาเราให้ไปทำข่าว”

ตอนแรก พระนิกรยอมอ่อนไม่เดินทางไปอเมริกาแล้ว และยินดีนัดญาติฝ่ายหญิงไปเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่เชียงใหม่ “เราเห็นเป็นเรื่องส่วนตัวก็เลยไม่ทำข่าว ไม่กี่วันถัดมาพี่ชายอรปวีณาโทรมาว่า โดนพระนิกรแจ้งจับข้อหากรรโชกทรัพย์ เราก็รีบไป ปรากฏว่า พระนิกรเห็นจะแจ้งว่า เราร่วมตบทรัพย์ด้วย ตอนนั้นติดสินใจหลบออกมาหารองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลท่านหนึ่งรับรองให้ว่า เราไม่ได้เกี่ยวข้อง”

ประทีปบอกอีกว่า พอหลุดออกมาเลยพยายามหาหลักฐานตีข่าวกลับทันที ไปหาข้อมูลจากญาติของอรปวีณาจนได้ภาพพระนิกรกำลังผูกข้อมือแต่งงานกับอรปวีณาเป็นหลักฐานเด็ดเปิดประเด็นข่าวใหญ่โตเป็นฉบับเดียว เปลว สีเงิน ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการไฟเขียวให้เล่นเต็มที่ตีแผ่อยู่หลายเดือน

พระนิกรพยายามตอบโต้ข่าวว่ามีผู้อิจฉาในชื่อเสียงของตน อีกทั้งบรรดาลูกศิษย์ก็พยายามหาหนทางตอบโต้ข้อกล่าวหาเป็นการกลั่นแกล้ง โดยไม่เชื่อว่า พระที่ยึดมั่นในศีลธรรมและเทศน์ได้ไพเราะจะทำตัวเช่นนั้น สุดท้ายพระดังต้องจำนนด้วยหลักฐาน ตั้งแต่จดหมายรัก ภาพถ่าย ถูกดำเนินคดีทั้งศาลยุติธรรม และศาลสงฆ์ที่ระบุความผิดพระนิกรเป็นปฐมปาราชิก คือ การเสพเมถุนกับอิสตรี ขาดจากความเป็นพระ แม้จะกลับมาบวชใหม่ก็ไม่สามารถดำรงความเป็นสมณเพศได้ เปรียบดังตาลยอดด้วนที่ไม่สามารถเจริญเติบโตและงอกเงยได้อีกต่อไป

“เราก็ยังไม่วายโดนข้อครหาไปร่วมกรรโชกทรัพย์ ให้พี่ชายกับพ่อของอรปวีณามายืนยันกับโรงพิมพ์ก็ไม่ยอมมา” นักข่าวหนุ่มบอกด้วยอารมณ์เซ็ง

แต่อย่างน้อยผมก็ภูมิใจที่ได้สัมผัสชีวิตคนข่าวอาชญากรรมต้นแบบอย่างประทีป สุวรรณพืช กลายไปเป็นมีส่วนผลักดันให้ผมเลือกเดินตามแนว

ฝันว่าสักวันต้องทำข่าวให้ได้รางวัลอย่างพี่เขา

 

RELATED ARTICLES