เพราะต้นทุนต่ำถึงต้องถูกยำใหญ่

ด้วยความเป็นองค์กรที่ต้นทุนทางสังคมต่ำ แต่ความคาดหวังของชาวบ้านสูง เวลาเกิดพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลถึงโดนรุมยำใหญ่ด้วยบรรดา “นักวิชาการ วิชาเกิน” เลือกเดินบนเส้นขนานวิพากษ์วิจารณ์กันสนุกปาก

ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันก่อน เครือข่ายประชาชนปฏิรูปตำรวจ (Police Watch) จัดการเสวนาในหัวข้อ ‘ตำรวจไซด์ไลน์ : ปัญหาจริยธรรมและกาฝากกระบวนการยุติธรรมไทย’

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร อดีตรองผู้บังคับการจเรตำรวจ นายสุนันท์ ศรีจันทรา นักวิเคราะห์เศรษฐกิจและวงการหุ้น และ นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

มีการอ้างนำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพฤติกรรมและจริยธรรมตำรวจทั้งในและต่างประเทศ สรุปความเป็นเรื่องเป็นราวว่า บุคลิกตำรวจค่อนข้างเป็นแบบเผด็จการ วางอำนาจ ยิ่งอยู่ในอำนาจนาน ยิ่งนิยมอำนาจเผด็จการมากขึ้น มองโลกในแง่ร้าย

การตั้งข้อสงสัยผู้อยู่ในเหตุการณ์ว่าจะผิดไว้ก่อน ไม่ค่อยไว้วางใจใคร

สุดท้ายมาลงในสังคมไทยมักเห็นพฤติกรรมตำรวจแบ่งเป็น 8 จอม ได้แก่

  1. จอมโหด คือ ปฏิบัติตัวเป็นศาลเตี้ย
  2. จอมเป่า คือ การเป่าคดี ตั้งแต่ไม่รับคำร้องทุกข์จากชาวบ้าน เป่าคดีจากผู้มีอำนาจให้เบาบางลง
  3. จอมเอื้อ คือ การใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์คนอื่น
  4. จอมรีดไถ เช่น พฤติกรรมรีดไถเงินจากชาวบ้าน ทั้งเรื่องกฎหมายจราจร บ่อน หวย ซ่อง
  5. จอมวิ่ง มักจะพบเจอตอนฤดูกาลโยกย้ายตำรวจ
  6. จอมยัด ที่ยัดทั้งของผิดกฎหมายหรือข้อกล่าวหาให้ประชาชน
  7. จอมไซด์ไลน์ มองงานตำรวจไว้เพียงประดับอำนาจ บารมี
  8. จอมเอาหน้า แย่งผลงานเพื่อนทั้งที่งานไม่ค่อยทำ

คณะบดีของนิด้าระบุว่า ตำรวจมักอ้างเงินเดือนน้อย ทุกคนก่อนรับราชการก็รู้อยู่แก่ใจในเรื่องเงินเดือน นอกจากนี้ ยังเห็นพฤติกรรมต่างที่สะท้อนมาถึงการทำงานอีกหลายปัจจัย เช่น การทำงานตามคำสั่งเจ้านาย

ก่อให้เกิดการรับเงินจากผู้มีอำนาจ นักธุรกิจ คนในวงการตำรวจมักมีกฎในการปกป้องพวกเดียวกัน นโยบายการเมืองบางช่วงเวลา

เอื้อให้ตำรวจทำหน้าที่มิชอบ

สมัยหนึ่งเรื่องนโยบาย “ฆ่าตัดตอน” เพื่อปราบปรามยาเสพติด มีแรงกดดันจากฝ่ายการเมือง สังคม ให้เร่งรัดคดี รีบจับผู้กระทำความผิดเลยมีความเป็นไปได้ในการ “จับแพะ”

ค่านิยมวัฒนธรรมที่ผิดพลาด พฤติกรรมที่ไม่ชอบมีวัฒนธรรมของตำรวจ เลือกลงโรงพักที่มีผลประโยชน์ ขอติดตามนายเพราะได้เลื่อนตำแหน่งเร็ว รวมทั้งการประกอบอาชีพอื่นร่วมกับอาชีพตำรวจ มีค่านิยมเสพสุข ฟุ้งเฟ้อ วัฒนธรรมกฎรักษาความลับ เพื่อเป็นกลไกช่วยรวมตัวกลุ่มตำรวจ ปกปิดพฤติกรรมให้รอดพ้นการสังเกตจากโลกภายนอก ถ้าใครฝ่าฝืนต้องเผชิญถูกขับจากกลุ่ม ลาออก เสียเพื่อน สูญเสียอาชีพการงาน วัฒนธรรมการใช้กำลัง

กระทั่งมีพฤติกรรมคล้อยตามอำนาจ

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ชอบทั้งหลาย ละเมิดทั้งกฎหมายและจริยธรรม

ส่วน พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร ทิ่มใส่องค์กรเก่าแบบไม่เกรงใจว่า พฤติกรรมค่านิยมในแวดวงตำรวจที่ฝังรากลึกมานาน ส่วนหนึ่งมาจากการจัดโครงสร้าง ใช้หลักคิด วินัยแบบทหาร คิดว่า น่าจะนำมาใช้กับตำรวจได้ แต่กลับกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ตำรวจอ่อนแอ

การจับกุมหลายครั้ง ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความรุนแรง ละเมิดสิทธิและมิชอบต่างเป็นปัญหาในวงการตำรวจ

“ กรณีที่เป็นประเด็นตำรวจไซด์ไลน์ ถ้าทำงานเต็มเวลา คงไม่มีเวลาไปทำอาชีพเสริม บางประเทศแม้แต่ให้ภรรยาไปเปิดร้านขายสุรายังไม่ได้ แต่ในเมืองไทยไม่ใช่ ไปเกี่ยวพันทั้งเรื่องบ่อน หวย ซ่อง ผับบาร์ รถโดยสาร รถรับจ้าง ในองค์กรตำรวจแม้มีกฎระเบียบเรื่องจริยธรรม แต่กลับไม่เคยมีตำรวจโดนลงโทษ” พ.ต.อ.วิรุฒม์ว่า

ตีความได้ 2 แบบ คือ ตำรวจมีจริยธรรมที่ดี หรือระบบการตรวจสอบไม่ได้เรื่อง

เหล่านี้คือแค่เศษสาระในวงเสวนายำใหญ่องค์กรสีกากีที่มี “อัตตา” และ“อคติ” ชี้นำ

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES