โคโลราโดโมเดล เสพกัญชาเพื่อความบันเทิง

 

หัวใจสีกากีฉบับเดือนที่แล้วได้เสนอเรื่องราวชีวิตของผู้ลี้ภัยชาวเขาเผ่าม้งซึ่งได้หลั่งไหลกันเข้าไปทำฟาร์มเพาะปลูกกัญชาในรัฐแคลิฟอร์เนีย  เพื่อรองรับกฎหมายใหม่ที่อนุญาตให้เสพกัญชาเพื่อความบันเทิงได้เมื่อปลายปีที่แล้วนี่เอง  ความจริงรัฐโคโลราโดต่างหากที่เป็นผู้นำในการออกกฎหมายอนุญาตให้เสพกัญชาเพื่อการบันเทิง  เป็นรัฐแรกในสหรัฐมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปี ค.ศ.2014  จึงขอเสนอเรื่องราวของโคโลราโดโมเดล ซึ่งรวบรวมจากบทความต่าง ๆ ในนิตยสาร The Economists ฉบับวันที่ 11-17 มกราคม ปี ค.ศ.2014 เป็นหลัก

ในวันเช้ามืดอันหนาวเหน็บของวันขึ้นปีใหม่ 1 มกราคม ของปีนั้น ผู้คนเป็นจำนวนมากได้ฝ่าความหนาวมายังเมืองเด็นเวอร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของรัฐโคโลราโด ด้วยใจจดใจจ่อเพื่อเข้าคิวเป็นแถวรอให้ร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายกัญชาถูกกฎหมายเปิดร้านเป็นครั้งแรกในวันอันเป็นประวัติศาสตร์  ซึ่งก็มีการคาดหมายไปต่าง ๆ นานา  แต่จากเหตุการณ์ที่ไม่มีการแสดงความวุ่นวายและบ้าคลั่งอย่างที่หลายคนคิดว่าจะเกิดขึ้น  นับเป็นสัญญาณที่ดีที่ร้านจำหน่ายกัญชาในเมืองเด็นเวอร์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมกัญชา เป็นไปด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยเสียยิ่งกว่าร้านผับขายเหล้าของอังกฤษในเวลาใกล้จะปิดร้านเสียอีก  เหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมคนอเมริกันส่วนใหญ่จึงลงคะแนนโหวตให้ผ่อนคลายกฎหมายเกี่ยวกับการเสพกัญชา  ก็เพราะพวกเขามีความเชื่อถือในผลการศึกษาและวิจัยของสถาบันวิทยาศาสตร์และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ว่า “กัญชามีอันตรายน้อยกว่าแอลกอฮอล์”  และมีความคิดเห็นว่ากัญชาควรจะทำให้ถูกต้องโดยรัฐต้องบัญญัติเป็นกฎหมายมีผลใช้บังคับ   มีการเรียกเก็บภาษี  และมีการจัดระเบียบการดำเนินการต่างๆให้บังเกิดความเรียบร้อย

เดิมในสหรัฐ  มีรัฐต่าง ๆ 20 รัฐ(รวมทั้งกรุงวอชิงตัน ดี.ซี  เมืองหลวง) ที่มีกฎหมายยอมให้มีการเสพกัญชาเพื่อวัตถุประสงค์ทางการบำบัดรักษาทางยาเท่านั้น  แต่หลังจากที่รัฐโคโลราโดได้อนุญาตให้เสพกัญชาเพื่อความบันเทิงแล้วก็มีรัฐวอชิงตันที่ได้ดำเนินรอยตามโคโลราโด  ต่อมาในเวลาไล่ ๆ กันทำให้คนวอชิงตัน สามารถเสพ

หากโคโลราโด ซึ่งเป็นรัฐแรกที่มีกฎหมายอนุญาตให้มีการเสพกัญชาโดยเสรีเป็นไปด้วยดีแล้ว  ก็จะทำให้แนวความคิดนี้ได้รับการปฏิบัติอย่างแพร่หลายต่อไป  หากผู้นำรายแรกเกิดความผิดพลาดในรายละเอียดในการดำเนินที่เกิดความไม่เรียบร้อย หรือเกิดความวุ่นวายยุ่งเหยิงตามมา การรณรงค์เพื่อให้มีกฎหมายรองรับการเสพกัญชาเพื่อการสันทนาการก็อาจจะหยุดชะงักลงได้

การบัญญัติกฎหมายเป็นขั้นตอนแรกเท่านั้น  แต่การเสพกัญชาต้องได้รับการควบคุมกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด  เพราะว่าจะอย่างไรกัญชาก็มีอันตรายมากกว่าช็อกโกแลต และขนมหวานหรือของขบเคี้ยวต่าง ๆ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบควบคุมมากเป็นพิเศษ อย่างเช่นกับแอลกอฮอล์ผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายจะต้องมีใบอนุญาตเสียชั้นหนึ่งก่อน และร้านจำหน่ายก็ต้องมีใบอนุญาตด้วย ตัวสินค้าก็ต้องมีฉลากที่ชัดเจนระบุบอกปริมาณของสารเคมีที่สำคัญคือ Tetrahydrocannabinol (THC) ว่ามีปริมาณเท่าใดเพราะผู้บริโภคควรจะรับทราบว่าได้เสพสารอะไรจำนวนเท่าใดเข้าสู่ร่างกายของเขา

เกี่ยวกับภาษี จะเรียกเก็บภาษีสักเท่าใด ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการพื้นฐานของรัฐนั้นๆ  หากรัฐไม่ต้องการที่จะบิดเบือนการตลาด วิธีเก็บภาษีที่ดีที่สุดก็คือการเก็บในแบบ flat fee หรือเหมาจ่าย ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจจะมีแรงจูงใจที่จะทำยอดจำหน่ายให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในรัฐที่ต้องการจำกัดปริมาณการเสพของพลเมือง ดั่งเช่นกรณีบุหรี่หรือแอลกอฮอล์  ก็ควรเก็บภาษีตามจำนวนหน่วยของสินค้าที่ขายได้

หลังจากการดำเนินการตามกฎหมายใหม่อย่างเต็มตัวในโคโลราโดมาได้ประมาณ 5 เดือน เศษ ฝ่ายที่ต่อต้านการเสพกัญชาเพื่อการสันทนาการก็ยังคงคัดค้านต่อไปอย่างแข็งขัน แต่ก็ไม่เป็นผลสำหรับฝ่ายที่สนับสนุนก็พยายามที่จะชี้ให้เห็นสถิติคดีอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในเมืองเด็นเวอร์ พบว่าในรอบ 5 เดือน (ม.ค. – พ.ค. 2014) คดีอาญารุนแรง อันได้แก่ปล้นทรัพย์ชิงทรัพย์ลดลง 4.8% คดีทำร้ายร่างกายลดลง 3.7% และจากตัวเลขของตำรวจทางหลวงของรัฐ ปรากฏว่ามีผู้ที่ถูกจับฐานขับขี่รถยนต์ขณะมึนเมา มีเพียง 1.5% เท่านั้นมาจากการเสพกัญชา  สำหรับที่เหลือทั้งหมดเป็นผลมาจากอิทธิพลของแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดอื่น ๆ ทั้งสิ้น  และในร้านจำหน่ายกัญชาซึ่งมีลูกค้านับแสน ๆ รายก็ไม่มีเหตุร้ายใด ๆ เกิดขึ้นเลย  สิ่งที่ผิดหวังมีประการเดียว ก็คือเก็บภาษีได้น้อยกว่าที่คาดหวังได้ (12.6 ล้านเหรียญสหรัฐ)

สิ่งที่เป็นความกังวลก็คือ ได้มีการนำเอากัญชาไปผสมเป็นส่วนประกอบของขนมหวานต่าง ๆ เช่น ช็อกโกแลต แคนดี้ หรือคุกกี้ รวมทั้งของกินเล่นอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวและผู้ที่อยากจะทดลองลิ้มรสกัญชา  แต่มีการหวั่นเกรงกันว่าขนมและของกินเล่นเหล่านี้จะตกไปอยู่ในมือของเด็กและเยาวชนซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก  กรณีนี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่าย  ทั้งฝ่ายที่นิยมแนวทางการเสพกัญชาโดยเสรีและฝ่ายที่คัดค้านอย่างหัวชนฝาก็มีความเห็นตรงกันว่ารัฐควรจะออกกฎหมายมาควบคุมการผลิตและการจำหน่ายอาหาร ขนมหรือของกินเล่น ที่มีกัญชาเป็นส่วนผสมให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

จากบทความ Puff away pain โดยคุณ Arusa Pisuthipan ในนสพ.บางกอกโพสต์ประจำวันที่ 30 พ.ค. ปีนี้ ได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับคุณสมบัติในการบำบัดรักษาที่น่าทึ่งของกัญชาไว้หลายประการ ซึ่งเป็นที่รับรู้กันดีจากผลการวิจัยทั่วโลก โดยล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ The US National Academy of Sciences ซึ่งเป็นที่รวมของนักวิจัยหัวกะทิได้ออกรายงานผลการวิจัยเกี่ยวกับผลทางยาของสารประกอบทางเคมีที่อยู่ในกัญชา 2 ชนิดคือ Cannabis และ Cannabinoids   ผลการศึกษาวิจัยพบว่า  Cannabis มีผลอย่างสำคัญในการลดอาการเจ็บปวดในผู้ใหญ่ที่มีอาการเรื้อรัง  รวมทั้งสามารถที่จะบรรเทาผลข้างเคียงที่เกิดจากการที่คนไข้ซึ่งรับการบำบัดทางเคมี (Chemotherapy) อันได้แก่อาการวิงเวียนคลื่นเหียนและอาเจียน และยังมีคุณสมบัติในการลดอาการเกร็งในผู้ใหญ่ที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทส่วนกลาง (MS) อันทำให้เป็นอัมพาตได้ ซึ่งที่เป็นผลมาจากสรรพคุณของสารประกอบทางเคมีที่เรียกว่า Tetrahydrocannabinol หรือเรียกกันว่า THC แต่การใช้ THC มักจะเกิดปฏิกิริยาทางประสาททำให้เกิดผลกระทบต่อความจำ  ความรู้สึกรับรู้ความสุขสบาย  การเคลื่อนไหว  สมาธิ และการรับรู้เกี่ยวกับเวลา  ดังนั้นนักวิจัยจึงมองไปที่สารประกอบเคมีอีกตัวหนึ่งคือ Cannabidiol หรือเรียกง่าย ๆ ว่า CBD ซึ่งพบว่ามีคุณสมบัติที่คล้ายกับ THC ในการลดความเจ็บปวดแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการลดอาการอักเสบได้อีกด้วย  และที่สำคัญคือ CBD ไม่มีผลกระทบอันเกิดจากปฏิกิริยาทางประสาทที่เกิดขึ้นกับการใช้ THC แต่อย่างใด ดังนั้นการวิจัยต่อไปจึงมุ่งไปที่ CBD อย่างโดดๆหรือการใช้ THC กับ CBD ร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลในทางบำบัดรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการลดความเจ็บปวดแล้วยังมีสรรพคุณในการเป็นตัวเอเย็นต์ในการลดอาการอักเสบต่าง ๆ ได้อีกด้วย และที่สำคัญคือ CBD ไม่มีผลกระทบอันเกิดจากปฏิกิริยาทางประสาทอย่างที่เกิดขึ้นกับการใช้ THC แต่อย่างใด ดังนั้นการวิจัยต่อไปจึงเพ่งไปที่ CBD และการใช้ THC และ CBD ร่วมกัน เพื่อให้ได้ผลในทางการบำบัดรักษาที่เหมาะเจาะพอดีและมีประสิทธิภาพสูงสุด

ประเทศไทยโชคดีตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการปลูกพืชกัญชาคุณภาพดีจึงควรถือโอกาสนี้เปิดการ ดีเบทถกเถียงกัน ของทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรวมทั้งภาควิชาการเพื่อหาความเห็นร่วมกัน ในทิศทางของประเทศเกี่ยวกับปัญหาและประโยชน์ของการใช้กัญชา   รวมทั้งแนวทางที่ไทยจะผลิตยารักษาโรคร้ายแต่หายยาก  เป็นสินค้าส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก

ไม่ว่าผลการดีเบทจะเป็นอย่างไรก็ตาม  แต่สิ่งที่ควรดำเนินการเป็นอันดับแรกคือการศึกษาวิจัยทางลึกเกี่ยวกับคุณสมบัติทางเภสัชหรือทางยาของกัญชา   ซึ่งต้องการความร่วมมือจากสถาบันทางการวิจัยมหาวิทยาลัยต่าง  พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทั้งนี้ภายใต้สายตาที่แสดงความเข้าใจ และอยู่ในการเฝ้าดูระมัดระวังอย่างใกล้ชิดของรัฐ  เพื่อป้องกันการละเมิดกฎหมาย เพราะกัญชายังคงเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย

นอกจากนั้นหากผลการศึกษาวิจัยของไทยเอง แสดงว่าการเสพกัญชามีประโยชน์ทางยาที่สามารถรักษาโรคและไม่มีผลร้ายในการออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทในระยะยาว “กัญชา” อาจจะเข้ามาแทน “ยาบ้า” ซึ่งเป็นยาเสพติดที่ปัจจุบันกำลังทำลายสุขภาพและจิตวิญญาณของคนไทยอย่างหนักได้โดย “อัตโนมัติ” โดยไม่ต้องมีการบังคับจับกุมกัน  ก็เป็นไปได้

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES