“หากทำผิดแล้ว ผมจับไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น”

 

ต้องยกย่องให้เป็นสุดยอดมือสืบสวนสอบสวนแห่งตำนานองค์กรสีกากี ผ่านคดีสำคัญมาอย่างโชกโชนก่อนจะก้าวขึ้นตามบันทึกของ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ที่เขียนไว้นานหลายสิบปีก่อนล่วงลับ มีหลายบททิ้งนาฏกรรมชีวิตให้ตำรวจรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า

เกิดในบ้านซอยบุรณศิริ ตำบลบุรณศิริ อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร เมื่อปี 2464 ลูกชายคนโตของรองเสวกตรี นายพิมานบริรักษ์ (สมาน พันธุ์คงชื่น) ข้าราชการกระทรวงวัง สำเร็จชั้นมูลโรงเรียนศิริปัญญา ไปจบชั้นมัธยมปีที่ 4 โรงเรียนมัธยมวัดมหาธาตุ จากนั้นเข้าโรงเรียนมัธยมวัดบพิตรภิมุข สำเร็จการศึกษามัธยม 8 แผนกภาษาวิสามัญ

วัยเพียง 16 ปี รับทุนนายทาคาโอ โอคาซากี ไปดูงานการศึกษาประเทศญี่ปุ่น เดินทางโดยเรือบางกอกมารู สู่เมืองโกเบโย โกฮามา โตเกียว โอซากา เกียวโต เป็นเวลาเดือนเศษ ก่อนจะข้ามน้ำข้ามทะเลคืนสู่บ้านเกิดเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง

ได้วุฒิปริญญาตรี ธรรมศาสตร์บัณฑิต สมัครเป็นตำรวจ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ สั่งบรรจุประจำการกองกำกับการ 2 กองตำรวจสันติบาล ยศนายดาบตำรวจ ฝึดหัดราชการกองคดี แล้วเลื่อนยศเป็น ร.ต.ต.ในอีก 15 วันต่อมา แต่คงฝึกหัดราชการกองคดีตามเดิม

กรมตำรวจส่งไปศึกษาดูงานตำรวจที่สหพันธ์รัฐมะลายู ระหว่างอังกฤษปกครอง เป็นเวลา 6 เดือน

ต่อมาลงเป็นรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลปากเกร็ด รับเหรียญช่วยราชการเขตภายใน (สงครามโลกครั้งที่ 2 ) แล้วขยับเป็นรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลกลางเขต 2 รองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลสามแยก และรองสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

ฉายแววนักสืบด้วยการตามจับกุมนายสมพงษ์ ภิรมย์รัตน์ นายอนันต์ กุลอาจยุทธ นายเนื้อง สุวรรณทัต ร่วมกันฆ่า พลทหารตู่ หรือเฉลียง จำนงค์วงศ์ ตายที่ถนนกะออม นางเลิ้ง ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้ พล.ต.ท.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ มีหนังสือประกาศชมเชย พร้อมทำพิธีมอบแหวนอัศวินให้ที่สวมอัมพร เมื่อวันที่ 28  มิถุนายน 2493 เป็นบำเหน็จความชอบ ระหว่างพิธีเลี้ยงฉลองยศ พล.ต.อ.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ ต่อหน้านายตำรวจทั่วราชอาณาจักร 1,000 นาย

ย้ายเป็นสารวัตร สถานีตำรวจนครบาลพญาไท เพียง 3 ปีเลื่อนขึ้นสารวัตตรใหญ่ สถานีตำรวจนครบาลพญาไท สืบสวนวางแผนจับกุมพลทหารหนอม หรือเปีย สังกัด ร. 11 ผู้ต้องหาลักทรัพย์บ้าน พล.ร.ต.หลวงมงคลยุทธนาวี ที่ถนนเศรษฐศิริ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ ได้ประกาศชมเชย ยกย่องเป็นความดีความชอบ มอบแหวนอัศวินฝังเพชรให้เป็นบำเหน็จรางวัล อีกทั้งส่งประกาศชมเชยของกรมตำรวจและของพล.ร.ต.หลวงมงคลยุทธนาวี ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ออกข่าวในภาคข่าว และให้ลงประวัติความดีความชอบไว้ด้วย

ขยับขึ้นตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจนครบาล 3 เป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ร่วม พ.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ นำกำลังจับกุมนายตง หรืออ่งเซ้ง แซ่ตั้ง กับพวกอีก 2 คน ก่อคดีปล้นทรัพย์นายสุดใจ นิลวรางกูร ยี่ปั๊วสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ร้านใกล้สะพานหัน ปรากฏว่า นายตง กับสมุนร่วมแก๊งไม่ทราบชื่อ ยิงต่อสู้เลยถูกวิสามัญฆาตกรรม จับเป็นได้ 1 คน ยอมรับสารภาพ ศาลพิจารณาจำคุก กรมตำรวจลงประวัติความดีความชอบอนุมัติให้เลื่อนเงินเดือน 2 ขั้น

เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2503 ขณะเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือเช่นกัน เจ้าตัวพร้อมด้วย จ.ส.ต.ทองหล่อ เฉลิมชัย คนขับรถประจำตัว จ.ส.ต.อรุณ ขันสัมฤทธิ์ และเสมียนพิเศษ สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ทลายโกดังโรงงานผลิตเฮโรอีนในบ้านเลขที่ 38 ซอยชื่นแย้ม ถนนสุทธิสาร ได้ตัวนายแดง โพธิมิตร นายแบน แซ่ลี้ กับนายเล่งเจ็ง แซ่ง้อ กำลังผลิตเฮโรอีนอยู่หลังบ้าน นางอำไพ กิมเจียก เฝ้าอยู่ห้องรับแขก

พล.ต.อ.มนต์ชัย บันทึกไว้ว่า ได้ให้ จ.ส.ต.ทองหล่อ ปีนรั้วบ้านเข้าไปเปิดประตูหน้าบ้านและเฝ้าประตูไว้ ส่วนตัวเขาวิ่งเข้าจับกุมนายแดง และนายแบน จ.ส.ต.อรุณ จับนายเล่งเจ็ง ขณะกำลังเดินเครื่องผลิตเฮโรอีน ได้เฮโรอีนหยดตกลงเป็นผลึก 13 กะละมัง พร้อมอุปกรณ์การผลิตครบถ้วน พบเฮโรอีนผลิตสำเร็จแล้วบรรจุซองเครื่องหมาย ลักกี้สไตรค์ 555 และมาร์โบโร ประมาณ 1,000 ซอง มอร์ฟีนตรา 999 รวม 100 แท่ง ขยายผลตรวจค้นห้องใต้ดินเอาเตียงนอนทับไว้ ซุกซ่อนฝิ่นเถื่อนอีก 1 ตัน ราคาของกลางหลายล้านบาท

นับเป็นการจับกุมโรงงานผลิตเฮโรอีนได้เป็นครั้งแรกใจกลางพระนคร แต่ก็ต้องพบความผิดหวังเมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี ประกาศว่าจะให้ความดีความชอบแก่ผู้จับกุมผู้ตั้งโรงงานผลิตเฮโรอีนเป็นกรณีพิเศษ ทว่ากรมตำรวจไม่อนุมัติให้เขากับตำรวจอีก 3 คนลงประวัติความดีความชอบ หรือให้บำเหน็จความชอบแต่ประการใด

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.มนต์ชัย ได้รับคำสั่งให้รักษาการในตำแหน่งผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ระหว่างนั้นเกิดคดีปลงพระชนม์พระนางเธอลักษีลาวัณย์พระมเหสีองค์ที่ 2 ในรัชกาลที่ 6 ถูกคนร้ายตีด้วยชะแลงเหล็กสิ้นพระชนม์มาประมาณ 7 วัน พระศพเน่าเฟะ เหตุเกิดตำหนักใกล้โรงพักพญาไท เขาลงไปอำนวยการสืบสวนได้ข้อมูลว่า นายแสง หรือเสงี่ยม หอมจันทร์ และนายเจริญ หรือวิรัช สูงเนิน  หายไปพร้อมทรัพย์สินบนตำหนักส่วนมากเป็นเครื่องทองรูปพรรณ และเครื่องราชอิสริยาภรณ์

ไม่นานตำรวจตามจับกุมนายแสง ขณะจะหนีเข้าประเทศลาว ให้การรับสารภาพนำไปค้นบ้านซอยสวนอ้อย สามเสน พบสายสร้อย ตราจักรี และเครื่องราชอิสริยาภรณ์หลายรายการหมกอยู่ในแอ่งน้ำครำ ก่อนจับกุมนายเจริญ หรือวิรัช ผู้ต้องหาอีกคนได้ที่จังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมของกลางเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ชิ้น มีจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ รองอธิบดีกรมตำรวจร่วมสอบสวนปากคำตั้งแต่เวลา 21.00-01.15 น. ผู้ต้องหาสารภาพ ศาลพิจารณาประหารชีวิต แต่ลดเหลือจำคุกตลอดชีวิต

ขึ้นผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ อำนวยการสืบสวนคนร้ายใช้ปืนยิงนายดาเรล เบอริแกน บรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ชาวอเมริกัน ถึงแก่ความตายในรถที่จอดอยู่หน้าบ้านซอยลือชา ถนนพหลโยธิน เหยื่อยังเคยเป็นหัวหน้าหน่วยสืบราชการลับกลายเป็นข่าวดังครึกโครม พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ เรียกไปกำชับให้สืบจับกุมคนร้ายให้ได้  เขาสืบสวนด้วยตัวเองได้ความว่า คนร้ายชื่อ นายชัยยันต์ มากสัมพันธ์ บ้านอยู่มหาชัย สมุทรสาคร จึงสั่งการให้ ร.ต.อ.พินิจ สุนสะธรรม คนเกิดสมุทรสาครที่รู้จักตัวนายชัยยันต์ไปตามจับกุมพร้อมของกลาง ผู้ต้องหาสารภาพว่า สาเหตุเกิดขัดใจกันในเรื่องรักร่วมเพศ ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต

นอกจากนี้ ยังอำนวยการสืบสวนจับกุม “เสือปุ้ย” นายบุญมี เชี่ยวบางยาง กับพวกปล้นร้านทอง ยิงเจ้าทรัพย์ตายในเขตกรุงเทพธนบุรี ก่อคดีรวม 9 ครั้ง นั่งเรือหางยาวมาจากอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร นำเรือจอดเทียบท่าแล้วเข้าปล้นร้านทอง คดีนี้ เขาสั่งให้ พ.ต.อ.พิชิต มีปรีชา ไปดักคนร้ายที่สะพานข้ามแม่น้ำนครชัยศรี พบเสือปุ้ยกับพวกนั่งเรือหางยาวหนีมา เกิดยิงต่อสู้กัน กระสุนปืนฝ่ายตำรวจเจาะทะลุเรือยาวล่ม แต่เสือร้ายกับสมุนหนีขึ้นฝั่งรอดได้

อีกเดือนถัดมา เขากับพวกไปล้อมจับนายสุเทพ หรือเซ้ง หรือตี๋ใหญ่ เบญจกาญจน์ สมุนเสือปุ้ย นำไปสู่การจับกุมเพื่อนร่วมแก๊งอีกคนที่อำเภอบ้านแพ้ว สมุทรสาคร ก่อนล่าตะครุมตัวเสือร้ายที่หนีกบดานอยู่เขาตะเกียบ หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายบุญธรรม เรืองนุช ลูกน้องยิงต่อสู้จึงถูกยิงตาย ส่วนเสือปุ้ยถูกจับเป็น สอบปากคำได้ความว่า นายวิเชียร ปิยะมะ มือปืนประจำตัวอีกคนหนีไปอยู่อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อตามไปจับกุม นายวิเชียร ยิงต่อสู้เลยโดนวิสามัญฆาตกรรมไปอีกราย

วันที่ 17 พฤษภาคม 2509 จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี มีมติคณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจมาตรา 17 รัฐธรรมนูญ สั่งประหาร “เสือปุ้ย” นายบุญมี เชี่ยวบางยาง ส่วนสมุนที่เหลือให้จำคุกตลอดชีวิต

บันทึกของอดีตอธิบดีกรมตำรวจมือปราบรวบรวมผลงานสืบสวนปราบปรามคดีน่าสนใจอีกมากมาย อาทิ ระหว่างเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อำนวยการจับกุมเสือเชียร สร้อยจำปา ร่วมฆ่า พ.อ.จำนง สังขะดุลย์ หน้าวัดเศวตรฉัตร ปล้นร้านทองแม่ทองสุก บางพลัด ธนบุรี และปล้นร้านทองอีกหลายแห่ง  มีนายนคร หรือสาคร นามพ่วง และนายชาญ ศรีโหร อยู่ในแก๊ง ต่อมาให้ พ.ต.อ.พิชิต มีปรีชา จับกุมนายชาญ ส่วน ร.ต.อ.ชูเดช มัชฌิมานนท์ ล่าจับตายนายนคร ที่ตำบลสระกระเทียม อำเภอเมืองนครปฐม

คลายปมพบศพคุณหญิงวิบูลย์ อายุรเวช ถูกรัดคอหมกศพไว้ตุ่มน้ำในบ้าน ท้องที่ สถานีตำรวจนครบาลบางยี่ขัน สืบสวนพบว่า นายสุข เกตุอ่ำ คนข้างบ้านเป็นคนร้าย นำตัวมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลสอบสวนปากคำ รับสารภาพ

สุดท้ายระหว่างเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2519 เวลาประมาณ 18.00 น. พ.ต.อ.นรินทร์ วิทยาวุฑฒิกุล นายตำรวจประจำสำนักงาน ถูกคนร้ายยิงตายระหว่างขับรถไปตามถนนพหลโยธิน และเลี้ยวขวาเกาะกลางถนนจะกลับบ้านย่านบางเขน สืบทราบว่า มีคนร้ายด้วยกัน 6 คน เป็นคนจังหวัดฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี นายอบ หรือเสืออบ ขยันกิจ เป็นหัวหน้า นายเหล็ก โชติช่วง เป็นคนลงมือยิง

การติดตามแกะรอยเป็นไปอย่างรวดเร็ว พบนายเหล็ก โชติช่วง มือปืนหนีหลบอยู่ที่บ้านอำเภอพนมสารคาม และนายหวาน หอมสมบัติ ผู้ร่วมมือหลบไปอยู่ปราจีนบุรี จึงได้ให้ พ.ต.อ.ธนู หอมหวล และร.ต.อ.โชติพงษ์ โชติช่วง ไปตามจับนายเหล็ก แต่นายเหล็กยิงต่อสู้ เป็นเหตุให้ถูก พ.ต.อ.ธนู ยิงตาย ส่วนนายหวาน ยิงสู้ ร.ต.อ.สมศักดิ์ ทิวถนอม เลยถูกยิงตับแตกส่งโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์ ก่อนตามจับนายเพชร โชติช่วง นายใช้คง แสงไชย นายสมยศ หรือแอ๊ด แซ่ซิ้ม ในเวลาต่อมา

วันที่ 12 มีนาคม 2520 พ.ต.อ.พิชิต มีปรีชา กับพวกไปตามจับนายอบ ขยันกิจ หัวหน้าที่ป่าอำเภอแกลง จังหวัดระยอง เสืออบยิงต่อสู้จึงถูก พ.ต.อ.พิชิต กับพวกยิงตายในป่า พล.ต.อ.มนต์ชัย เป็นอธิบดีกรมตำรวจแล้ว เดินทางไปร่วมชันสูตรพลิกศพด้วย

การสอบสวนผู้ต้องหาทุกคนสารภาพยืนยันว่า เสืออบพาตัวมากรุงเทพมหานครเพื่อยิง พล.ต.อ.มนต์ชัย พ.ต.อ.นรินทร์ วิทยาวุฑฒิกุล ผู้ตาย และพ.ต.ท.พิชัย ชำนาญไพร นายเวร รวม 3 คน สาเหตุเพราะบุคคลที่ 3 เกี่ยวข้องกับการจับกุมคนร้ายลักทรัพย์สินของ พี.เอ็กซ์. ที่มีนายตำรวจร่วมด้วย ผู้ต้องหาทุกคนยังรับว่า เคยมาดูตัวเป้าหมายที่ตึกที่ทำการกรมตำรวจมาแล้ว 3 ครั้ง และมาดักยิงที่บ้านซอยลือชาของ พล.ต.อ.มนต์ชัย มาก่อนถึง 4

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวในบันทึกของตำนานผู้นำกรมตำรวจมากฝีมือคนหนึ่ง

“หากทำผิดแล้ว ผมจับไม่ไว้หน้าใครทั้งนั้น” เจ้าตัวย้ำเสมอ

มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น !!!

 

RELATED ARTICLES