อาวุธกำราบโจรไซเบอร์

 

พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พุทธศักราช 2566

กฎหมายตัวใหม่ เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 จากเหตุผลและความจำเป็นเพื่อคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตที่ถูกหลอกลวงจนสูญเสียทรัพย์สิน ผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่แต่ละวันมีผู้ตกเป็นเหยื่อจำนวนมาก มูลค่าความเสียหายสูง

สมควรต้องมีมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมประเภทนี้ให้หมดไปโดยเร็ว อันเป็น “กรณีฉุกเฉิน” ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ

ต่อไปนี้คดีออนไลน์เพื่อฉ้อโกง กรรโชก และรีดเอาทรัพย์ ผู้เสียหายแจ้งธนาคารให้อายัดเงินได้ด้วยตัวเอง ธนาคารต้องอายัดให้ทันที  และอายัดต่อเนื่องตามที่โอนไปทุกธนาคารเป็นทอดๆด้วย

ธนาคารและผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันได้โดยไม่เข้าข่าย พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พุทธศักราช 2562

ขณะที่  ตำรวจสั่งธนาคาร หรือผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคมอื่น ผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลให้ตำรวจนำไปใช้ประโยชน์ในคดีได้ โดยไม่ผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พุทธศักราช 2562

ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนที่ใดก็ได้ หรือแจ้งผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ถือว่าเป็นการร้องทุกข์ และพนักงานสอบสวนนั้นมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

การซื้อขายบัญชีม้า/ซิมโทรศัพท์เพื่อใช้ หรือควรรู้ว่าไปใช้กระทำความผิด เป็นความผิดกฎหมาย

มี พ.ต.ท.ภูมิรพี  ผลาภูมิ เจ้าของเพจกฎหมายและตำรวจ ช่วยขมวดข้อสรุปของพระราชกำหนดฉบับใหม่ถึงประเด็นสำคัญที่ผู้บังคับใช้กฎหมายและประชาชนควรรู้เอาไว้

ตั้งแต่ เมื่อประชาชนถูกฉ้อโกงทางออนไลน์ สามารถโทรอายัดเงินธนาคาร “เจ้าของบัญชีม้า” ได้ทันที รวมทั้งธนาคารตรวจพบการโอนถอนเงินผิดปกติ สามารถอายัดได้เองโดยไม่ต้องร้องขอ และให้ธนาคารแห่งแรกแจ้งธนาคาร/สถาบันการเงิน/ผู้ประกอบธุรกิจ แถวอื่น ๆ “ต้องอายัดต่อทุกทอด”

กำหนดให้ผู้เสียหายเดินทางไป “สถานีตำรวจที่สะดวก” แจ้งความร้องทุกข์ ภายใน 72 ชั่วโมง เพื่อให้มีการสอบสวน และมีหมายอายัดเงินกับทางธนาคารต่อไป

ให้ธนาคารอายัดไว้ 7 วัน เมื่อครบ 7 วัน หากไม่มีหมายอายัดจากพนักงานสอบสวนให้ธนาคารถอนการอายัดทันที

กำหนดมาตรการลงโทษไว้ชัดเจน

ผู้เปิดบัญชีม้า ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 3 ปี /ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว เพื่อให้มีการ ซื้อ ขาย ให้เช่า ให้ยืม บัญชีม้า ต้องระวางโทษ จำคุก 2-5 ปี และปรับ 2-5 แสนบาท

ผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา ไขข่าว เพื่อให้มีการ ซื้อ ขาย เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ “ผี” ต้องระวางโทษ จำคุก 2-5 ปี และปรับ 2-5 แสนบาท

เจ้าตัวระบุไว้ด้วยว่า  ธนาคารทั้งสิ้น 15 แห่ง เปิด “ศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงิน” จากมิจฉาชีพของธนาคารให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพโทรแจ้งเหตุตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน บรรเทาความเสียหายให้เร็วที่สุด  

ประกอบด้วย ธนาคารกสิกรไทย 0-2888-8888 กด 001 ธนาคารกรุงไทย 0-2111-1111 กด 108 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5 ธนาคารกรุงเทพ 1333 หรือ 0-2645-5555 กด *3 ธนาคารไทยพาณิชย์ 0-2777-7575 ธนาคารทหารไทยธนชาต 1428 กด 03 ธนาคารออมสิน 1115 กด 6 ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 0-2626-7777 กด 00

ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 0-2697-5454 ธนาคารยูโอบี 0-2344-9555 ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 0-2359-0000 กด 8 ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 0-2645-9000 กด 33 ธนาคารซิตี้แบงก์ 0-2344-9555 ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 0-2165-5555 กด 6 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 0-2555-0555

พ.ต.ท.ภูมิรพี ผลาภูมิ แนะนำควรเซฟเก็บไว้  หรือแชร์ต่อให้เพื่อน หากเกิดเหตุไม่คาดคิดทางการเงินจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

เสมือนเป็นวัคซีนคุ้มกันมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ได้ไม่มากก็น้อย

ขอบคุณภาพประกอบ :   ธนาคารไทยพาณิชย์

 

 

RELATED ARTICLES